แม้เราจะมีความก้าวหน้าทางนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science) ที่ค่อนข้างโอเคในปัจจุบัน แต่ในกระบวนยุติธรรมสอบสวนอาชญากรรมยังโบราณเต่าตุ่นจนย้อนเวลาได้เกือบ 100 ปี แถมยังพึ่งพาพยานบุคคลเป็นหลักในการสอบสวนคดี ซึ่งล้วนมีความผิดพลาดสูง เต็มไปด้วยอคติร้อยแปด เปลี่ยนผิดเป็นถูกได้แค่พลิกฝ่ามือ จากการกลับกลอกหรือความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ปิดอนาคตเหล่าผู้บริสุทธิ์ไปหลายต่อหลายชีวิต
วิทยาศาสตร์จึงตั้งคำถามกับกระบวนทัศน์ใหม่ โดยพึ่งพาการตัดสินใจของมนุษย์ให้น้อยลง และจัดการมันด้วยชุดข้อมูล Big Data ให้มากขึ้น รีดเค้นประสิทธิภาพ หรือเพื่อให้อัลกอริทึมคำนวณความเป็นไปได้ของอาชญากรที่อาจก่อคดีซ้ำอีกในอนาคต
คิดตามดูก็คล้ายหนังเรื่อง Minority Report หรือนิยายชุด Sci-fi แนวอาชญากรรม แต่ในความเป็นจริง หลายแนวคิดที่ฟังดูเฟ้อฝันกำลังจะถูกผลักดันให้มีการทดสอบจริง และใช้เป็นเครื่องมือในการสอบสวนเชิงนิติวิทยาศาสตร์ยุคหน้า ทดแทนกระบวนการเดิม หรือทำให้มันเจ๋งกว่าเก่า โดยสร้างข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด
พยาน ‘จมูก’
ไม่ใช่เพียงแค่สุนัขหรอกที่เป็นอัจฉริยะแห่งการดมกลิ่น เพราะมนุษย์ยังมีประสาทการรับรู้กลิ่นที่รวดเร็ว ตอบสนองกับสิ่งเร้าได้ทันท่วงที กลิ่นสามารถอยู่ในความทรงจำได้นาน แต่เรากลับใช้ประโยชน์จากทักษะการดมกลิ่นได้น้อยมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เวิร์กเลยเสียทีเดียว
ลองจินตนาการว่าคุณเป็นโจทย์ในคดีสำคัญและเคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่เรียกคุณมาสำนักงานตำรวจ พวกเขานำคุณมายังห้องที่เต็มไปด้วยกลิ่นต่างๆ มากมาย จากนั้นภารกิจคุณคือ ‘การดม’ เพื่อหากลิ่นที่เป็นของผู้ต้องหา แม้คุณอาจรู้สึกถูกปฏิบัติราวสุนัข แต่มันก็ไม่ได้เป็นกระบวนการที่เลอะเทอะ เพราะพยานจมูก (nose-witnesses) ก็มีแนวโน้มในการช่วยไขคดีเช่นกัน
งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Frontier in Psychology เมื่อไม่นานมานี้ นำโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากสวีเดนและโปรตุเกส ทดลองประสาทสัมผัสการดมกลิ่นในการไขคดี โดยอาสาสมัครจำนวน 73 รายทั้งหญิงชาย จะเป็นผู้ร่วมรู้กลิ่นในเหตุก่ออาชญากรรม (ทีละคน) จากนั้นพวกเขาจะถูกทดสอบดมกลิ่นต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับอาชญากร
เริ่มจากสิ่งของเพียงไม่กี่กลิ่นให้ชี้ตัว เช่น 3 กลิ่น 5 กลิ่น และ 8 กลิ่น โดยคนส่วนใหญ่สามารถชี้ตัวได้ถูกต้องราว 96 เปอร์เซ็นต์ แต่ยิ่งมีตัวเลือกมากขึ้นโอกาสผิดพลาดก็ตามมาสูง และมีการทดลองต่อเนื่องไปว่า คนส่วนใหญ่สามารถจดจำกลิ่นได้ราว 1 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย
แม้มันจะไม่ได้ปฏิวัติวงการนิติวิทยาศาสตร์แบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ทักษะการดมกลิ่นก็บิดเบือนได้ไม่ต่างจากประสาทสัมผัสการมองเห็นและการได้ยินเสียง แต่ความน่าสนใจคือ การผลักดันเรื่องกลิ่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองผู้ต้องสงสัยให้แคบลงได้
Big Data อาชญากรก่อเหตุซ้ำ
ทุกครั้งที่ผู้ต้องสงสัยถูกจับกุม แต่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการตัดสิน ผู้พิพากษามีทางเลือกเพียงฝากขังหรือปล่อยตัว รอจนกว่าจะถึงเวลาเรียกตามหมายศาลเพื่อรับฟังคำตัดสิน เกิดช่องว่างสุญญากาศที่ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์พฤติกรรม ‘ทำซ้ำ’ ได้ มีคดีราว 20 เปอร์เซ็นต์ที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นอีกภายใน 2 ปี
นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายพยายามออกแรงผลักดันกว่า 10 ปี เพื่อใช้ประโยชน์จากการประมวลผลของ Big data ในการช่วยตัดสินคดีที่ยากจะคาดเดา
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้สอนคอมพิวเตอร์ด้วยอัลกอริทึมเฉพาะ จากการป้อนข้อมูลอาชญากรรมกว่า 29,000 คดี ที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว งานค้นพบตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Empirical Legal Studies ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยคอมพิวเตอร์จะคำนวณความเป็นไปได้ที่ผู้ต้องสงสัยจะมีพฤติกรรมก่อเหตุซ้ำหลังจากปล่อยตัวแล้ว โดยคำนวณจากจำนวนข้อหาและหมายศาล แม้คอมพิวเตอร์จะเผชิญกับคดีที่มันไม่คุ้นเคย แต่ก็สามารถคาดเดาได้โดยมีความแม่นยำที่ 90 เปอร์เซ็นต์
แม้คอมพิวเตอร์เองจะไม่สามารถทดแทนการพิจารณาคดีโดยมนุษย์ แต่มันช่วยลดความซ้ำซ้อนและตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ลงไปเกือบครึ่ง
สืบอัตลักษณ์ด้วยการถอดรหัส เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)
แม้ในทางนิติวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน จะมีของเล่นให้ชี้อัตลักษณ์บุคคลจากหลากหลายสิ่ง ทั้งรอยนิ้วมือ วิถีกระสุน หรือ DNA แต่ล่าสุดที่เริ่มมีการปรับใช้การสืบคดีด้วย ‘ฟีโนไทป์’ (Phenotype) หรือลักษณะที่ปรากฏออกมา อย่างสีดวงตา หรือสีผม ช่วยขยายขอบเขตในการหาเบาะแสได้มากขึ้น จากการค้นพบใหม่ๆ ของขีดความสามารถพันธุศาสตร์และชีวโมเลกุล
ในงานสัมมนา 24th International Symposium on Human Identification เพื่ออภิปรายเรื่องความก้าวหน้าในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล Manfred Kayser นำเสนอการใช้ ‘ฟีโนไทป์’ (Phenotype) ในการสอบสวนร่วมไปกับ DNA โดยเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์ mRNAs และ microRNAs โดยตัวอย่างของเหลวจากร่างกายที่ทิ้งในที่เกิดเหตุ การแสดงออกของ RNAs ช่วยระบุตัวตนให้แม่นยำขึ้นถึง 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม แม้จะเป็นคดีเก่าเก็บซุกไว้ในลิ้นชัก (Cold Case) แต่การใช้ฟีโนโทป์ทำให้เราสามารถรื้อปูมคดีเก่ามาชำระได้
แม้เทคโนโลยีจะก้าวไปขนาดไหน แต่หากกระบวนยุติธรรมไม่นำมาใช้ ก็เปล่าประโยชน์
ยิ่งหากตั้งคำถามจริยธรรมการใช้อำนาจกับผู้ใช้กฎหมายไม่ได้แล้ว
มนุษย์จะไม่มีทางอยู่บนรากฐานของความยุติธรรมได้เลย ไม่ว่าตราชั่งนั้นสร้างมาด้วยนวัตกรรมอะไรก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก