(1)
14 ธันวาคม ค.ศ.2012 ณ เมืองนิวทาวน์ เมืองเล็กๆ ในรัฐคอนเนคทิคัต (Connecticut) สหรัฐอเมริกา 2 ชั่วโมงจากมหานครอันวุ่นวายอย่างนิวยอร์กเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเมื่อ อดัม ลานซา (Adam Lanza) วัย 20 ปี พกปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติไปที่โรงเรียนอนุบาล Sandy Hook
ก่อนหน้านั้นไม่นาน ลานซา เพิ่งยิงแม่ของเขาบนเตียงที่บ้าน และเป้าหมายต่อไปคือที่โรงเรียน Sandy Hook ไม่ไกลจากละแวกบ้านของเขา ทันทีที่ถึงโรงเรียน ลานซา ใช้ปืนกลสังหารครูใหญ่ ครู และเด็กอนุบาลซึ่งส่วนใหญ่วัย 6-7 ขวบ รวมไปมากกว่า 26 คน ก่อนจะสังหารตัวเองด้วยปืนสั้น ไม่นานหลังจากตำรวจเริ่มจะบุกเข้าไปได้
เหตุการณ์ที่ Sandy Hook กลายเป็นเหตุสังหารหมู่ที่รุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอเมริกาในเวลานั้น เป็นรองเพียงแค่เหตุกราดยิงที่มหาวิทยาลัย Virginia Tech เมื่อ ค.ศ. 2007 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 32 คน รวมถึงยังสร้างความสะเทือนใจให้กับอเมริกันชนอย่างแรง เพราะผู้ที่เสียชีวิตล้วนเป็นเด็กอนุบาล ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกี่ยวโยงอะไรกับความรุนแรง อาวุธปืน และคงเป็นตัวเลือกท้ายๆ หากมีใครคิดจะใช้วิธี ‘สังหารหมู่’
ที่สำคัญก็คือ การกราดยิงที่ Sandy Hook ยังคงเป็นปริศนาอยู่ถึงทุกวันนี้ว่าเกิดอะไรขึ้น และ ‘แรงจูงใจ’ คืออะไร เพราะผู้ก่อเหตุไม่ได้มีความเกี่ยวพันอะไรกับโรงเรียน ไม่ได้มีความแค้นส่วนตัวอะไร ขณะเดียวกัน การชันสูตรศพของลานซาในภายหลัง ก็ไม่พบทั้งแอลกอฮอล์ สารเสพติด หรือกลไกผิดปกติในสมอง
แต่ที่แน่ๆ คือมีการวางแผนมาอย่างดี ลานซาทำลาย ‘ฮาร์ดดิสก์’ ไม่ให้ตำรวจรู้ว่าเขาสืบค้นอะไรก่อนที่จะเกิดเหตุ ซึ่งในเวลาต่อมามีการกู้ฮาร์ดดิสก์แล้วพบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับการสังหารหมู่หลายครั้งก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่นอร์เวย์ 1 ปีก่อนหน้า หรือเหตุการณ์ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ เมื่อ ค.ศ.1999 ขณะเดียวกัน เขายังเสิร์ชด้วยคลิปด้วยเกี่ยวกับการ ‘ฆ่าตัวตาย’ ด้วยปืนสั้น ว่าจะมีผลอย่างไรบ้าง
(2)
อย่างไรก็ตาม 1 ปีให้หลัง มีข้อมูล ‘หลุด’ จากการสอบสวนผ่านหนังสือพิมพ์ว่า ลานซา เตรียมความพร้อมด้วยกระดาษขนาดใหญ่ รวมเหตุการณ์ว่าด้วยการสังหารหมู่ทั่วโลก 500 เหตุการณ์ไว้ด้วยกัน พร้อมด้วยรายละเอียดว่าแต่ละครั้งใช้อาวุธชนิดใด และมีคนตายไปกี่คน รวมถึงยังใช้เวลาส่วนใหญ่ซ้อมเหตุสังหารหมู่ที่ห้องใต้ถุนบ้าน
หลังเหตุการณ์ มีการทำรายงานสรุปอย่างเป็นทางการหลายฉบับ โดยฉบับของอัยการรัฐพบว่าลานซา มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เกี่ยวกับการเข้าสังคม และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าเขาจะเป็นอันตราย หรือจะก่อเหตุแบบนี้ขึ้นในเวลาต่อมา
ขณะที่รายงานของหน่วยพิทักษ์สิทธิเด็กของสหรัฐฯ ได้ให้ข้อสรุปว่า ลานซา มีปัญหาหลายอย่างรุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นการถูก ‘เขี่ย’ ออกจากระบบการศึกษา ไม่สามารถหางานทำได้ ไม่มีเพื่อน มีปัญหากับแม่ ซึ่งเป็นคนเดียวที่มีปฏิสัมพันธ์กับเขาในโลกภายนอก สุมไฟเข้าจนกลายเป็นแรงกดดัน นำไปสู่เหตุสังหารหมู่ โดยเหตุที่เลือกโรงเรียนอนุบาล ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับตัวเขาเลยนั้น มีโอกาสสูงว่าจะเป็นเพราะผู้ก่อเหตุรู้ดีว่าจะไม่มีใครขัดขวางเขาได้ง่าย และเขา ‘เหนือกว่า’ เหยื่อที่เป็นเด็กอย่างแน่นอน
“หากระบบการถึงจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา เป็นไปได้ง่ายกว่านี้ และลานซาเข้าถึงได้เร็วกว่านี้ เหตุการณ์แบบนี้ คงสามารถระงับได้ล่วงหน้า” รายงานฉบับนี้สรุป
ที่น่าสนใจก็คือทุกครั้ง ที่มีเหตุสังหารหมู่ในอเมริกา จะมีรายการสืบสวนจากหลากหน่วยงานเปิดเผยทั้งสาเหตุ บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง และข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุครั้งต่อไปเสมอ…
(3)
เย็นวันนั้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Obama) เปิดแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวทันที โอบามาเริ่มต้นด้วยการกล่าวแสดงความเสียใจไปยังผู้ว่าการรัฐ และในฐานะรัฐบาลกลาง พร้อมจะสนับสนุนทุกวิถีทางในการสืบสวน การดูแลเหยื่อ และการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตกับครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคน
“พวกเราอดทนกับโศกนาฏกรรมแบบนี้มากเกินไปตลอดหลายปีที่ผ่านมา และทุกครั้งที่ผมได้รับรู้เหตุการณ์เหล่านี้ ผมไม่ได้รู้สึกในฐานะประธานาธิบดีเท่านั้น แต่ในฐานะปุถุชนทั่วไปที่จะรู้สึกเสียใจ และในครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมเองรู้สึกเสียใจในฐานะของพ่อแม่คนหนึ่ง และผมเองก็รู้ว่าพ่อแม่คนอื่นๆ ทั่วอเมริกา คงรู้สึกเสียใจไม่ต่างกัน”
“ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ในเหตุการณ์นี้ล้วนเป็นเด็ก” โอบามาพูด พร้อมกับเว้นช่วง ปาดน้ำตาหนึ่งครั้ง ก่อนจะพูดต่อว่า “เด็กเล็กๆ ที่สวยงามเหล่านี้ ล้วนมีอายุแค่ 5 – 10 ปีเท่านั้น พวกเขายังมีชีวิตที่เหลืออีกมากรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นวันเกิด วันรับปริญญา งานแต่งงาน หรือมีลูกเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ ผู้ที่เสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่งยังเป็นครู ที่พร้อมสละชีวิตของตัวเอง เพื่อปกป้องชีวิตเด็กๆ ของพวกเขา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ใจสลาย” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลง
เพราะฉะนั้น โอบามา ในฐานะประธานาธิบดี จึงใช้โอกาสนี้ส่งแรงใจไปถึงพ่อแม่ และครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และคงไม่มีคำใดที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ พร้อมกับร้องขอให้คนอเมริการ่วมกันทำให้เรื่องโศกเศร้าแบบนี้ ไม่เกิดซ้ำขึ้นอีก และย้ำว่าความโศกเศร้านี้ ไม่ใช่เรื่อง ‘การเมือง’
“เย็นนี้ ผมและมิเชลล์ จะทำสิ่งที่ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนในอเมริกาจะทำเหมือนกัน.. นั่นคือกอดลูกของเราแน่นขึ้นอีกนิดหนึ่ง เพื่อบอกว่าเรารักพวกเขามากแค่ไหน และเราจะเตือนกันและกันซ้ำอีกรอบ ว่าเรารักกันมากเพียงใด”
“แต่พ่อแม่ในคอนเนคทิคัตอีกหลายคน ไม่มีสิทธิ์ได้ทำแบบนั้น และสิ่งที่พวกเขา เรียกร้องจากพวกเราก็คือ ในวันที่ยากลำบากอีกหลายวันข้างหน้า พวกเรา… ในฐานะชาวอเมริกัน จะช่วยชุมชนแห่งนี้ และผม.. จะช่วยทุกวิถีทางในฐานะประธานาธิบดี เพื่อย้ำเตือนพวกเขา ว่าเราจะอยู่เคียงข้างพวกเขา และความสูญเสียของพวกเขา จะไม่ได้อยู่ในความทรงจำของพวกเขาเท่านั้น แต่จะอยู่ในใจพวกเราทุกคน” โอบามากล่าว
(4)
หลังเหตุการณ์ที่ Sandy Hook สื่อมวลชนหลายสำนักระบุว่าการแถลงข่าววันนั้น ถือเป็นแถลงการณ์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของโอบามา เพราะไม่เพียงแต่จะแสดงความรู้สึกโศกเศร้า พร้อมช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อทุกคน และหาทางก้าวไปข้างหน้า ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกแล้ว ยังสามารถรวมชาวอเมริกันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกด้วย หลังเกิดเหตุ โอบามา สั่งลดธงครึ่งเสาที่ทำเนียบขาว และหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ 4 วัน พร้อมกับเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้เคราะห์ร้ายด้วยตัวเองที่คอนเนคทิคัต 2 วันถัดมา
หลังจากนั้นอีก 1 เดือน โอบามาเซ็น ‘คำสั่งพิเศษ’ ของประธานาธิบดี ว่าด้วยอาวุธปืนถึง 23 ฉบับ เพื่อปิดช่องโหว่การตรวจสอบ ‘แบ็คกราวนด์’ ของผู้ซื้ออาวุธปืน เพิ่มความยากในการซื้อปืนกลกึ่งอัตโนมัติ และเปิดช่องให้การเข้าถึงนักจิตวิทยาทำได้ง่ายขึ้น แต่กฎหมายหลายฉบับที่ต้องผ่านสภา ก็ไปตกในชั้นวุฒิสภา เช่น กฎหมายควบคุมอาวุธร้ายแรง ปี ค.ศ.2013
เป็นที่รู้กันว่า การจะแตะต้องกฎหมายอาวุธปืนนั้น เป็นหนึ่งใน ‘สิ่งต้องห้าม’ เพราะกลุ่มรณรงค์สิทธิในการพกปืนนั้น เป็น ‘ของแรง’ มีโครงข่ายโยงใยไปถึงนักการเมืองทุกก๊วน ทุกขั้ว ทำให้กฎหมายอาวุธปืน ไม่เคยผ่านสภาได้ เนื่องจากไปละเมิดสิทธิ์ในการ ‘ป้องกันตัวเอง’ และใครก็แล้วแต่ที่เข้าไปแตะ ย่อมไม่มีทางที่จะเอาชนะได้สักคน..
(5)
“นั่นเป็นวันที่แย่ที่สุดในช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของผม” โอบามาให้สัมภาษณ์ภายหลังจากพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 1 ปี ส่วน มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า วันที่ประธานาธิบดี ต้องไปพบกับญาติผู้สูญเสียที่คอนเนคทิคัต ก็เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิตของประธานาธิบดีโอบามาเช่นเดียวกัน
ถึงวันนี้ แม้อาคารเดิมของโรงเรียน Sandy Hook จะถูกรื้อ – สร้างใหม่ ไปแล้ว แต่ภาพจำการแถลงข่าวของโอบามา และปฏิกิริยาของเขา ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวอเมริกัน และแม้แต่ตัวโอบามาเอง ก็รู้สึกนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ Sandy Hook ทุกครั้ง เมื่อเกิดเหตุกราดยิงครั้งหลังๆ จนกลายเป็นความรู้สึกผิดติดตัว ที่ไม่สามารถผลักดันกฎหมายอาวุธปืนได้สำเร็จ แม้จะมีอำนาจเต็มที่ในฐานะผู้นำประเทศก็ตาม
แต่เหนือสิ่งอื่นใด คนอเมริกันจำนวนมาก ได้เห็น ‘ภาวะผู้นำ’ ของโอบามา ในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้า ‘ภาวะผู้นำ’ ที่ไม่ใช่ซุปเปอร์ฮีโร่ แต่พร้อมจะโศกเศร้าไปด้วยกัน พร้อมจะยืนเคียงข้างผู้สูญเสีย และตั้งใจพาประเทศก้าวข้ามความโศกเศร้านี้ โดยนำเอาบทเรียน ข้อสรุป เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย ไปจนถึงการใช้ความพยายามทุกอย่างในฐานะรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกครั้ง
แค่นี้ก็ดีที่สุดแล้ว แม้สุดท้าย จะไม่สำเร็จก็ตาม…