ช่วงนี้ ถ้าเดินไปบ่นกับใครว่านอนไม่หลับ น่าจะมีคนตบบ่าเข้าใจเยอะเลย เพราะสถานการณ์ที่เราเผชิญร่วมกันในตอนนี้ ทำเอาผู้คนตาแป๋วจนถึงรุ่งสางกันเป็นโขยง ซึ่งเราเรียกว่าปรากฏการณ์ ‘โคโรนาซอมเนีย’ (Coronasomnia) ที่มาจากชื่อไวรัสโคโรนา (Corona) บวกกับอาการนอนไม่หลับ (Insomnia)
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก อธิบายถึงภาวะที่ผู้คนนอนไม่หลับ เนื่องจากความเครียดที่มีต่อการใช้ชีวิตในช่วงโรคระบาด COVID-19 และจากผลการสำรวจของ University of Southhamptom ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา ก็ระบุว่า ยอดของผู้ที่ประสบอาการนอนไม่หลับมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น จาก 1 ใน 6 เป็น 1 ใน 4
เช่นเดียวกับในประเทศจีน อัตราการนอนไม่หลับของผู้คนก็เพิ่มจาก 14.6% เป็น 20% ในช่วงล็อกดาวน์ ประเทศอิตาลีและกรีกก็พบกับการแพร่ระบาดที่น่าตกใจของกลุ่มคนนอนไม่หลับเช่นกัน หรือเอาใกล้ๆ ตัวเราก็ได้ ที่มักจะพบสเตตัสเฟซบุ๊กของเพื่อนหลายคน ที่บ่นนอนไม่หลับในช่วงเวลาตี 3 แล้วเห็นได้ยังไง? เพราะเราก็นอนไม่เหมือนกันไงล่ะ และนั่นก็ทำให้คำว่า ‘นอนไม่หลับ’ ถูกเสิร์ชบนกูเกิ้ลมากกว่าที่เคยมีมา
ภาวะนอนไม่หลับกับ COVID-19 ที่เป็นเหตุ
ถึงอย่างนั้น ปรากฏการณ์นี้ก็เป็นเรื่องที่อธิบายได้ เพราะตั้งแต่โรคระบาดถือกำเนิดมาร่วมปีกว่าๆ การเว้นระยะห่างทางสังคม การเปลี่ยนรูปแบบทำงานไปเป็น work from home การไม่ได้ท่องเที่ยวที่ไกลๆ อย่างเมื่อก่อน ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมๆ ของพวกเราไปหมด ถึงแม้จะผ่านมาเป็นปีแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเอ็นจอยกับชีวิตประจำวันเก่าๆ มากกว่า และไม่แฮปปี้กับ new normal ที่เขากำหนดไว้สักเท่าไหร่
การที่วิถีชีวิตแบบใหม่เข้ามาปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทำให้นาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ที่เคยปกติของเราปั่นป่วน ซึ่งถ้านาฬิกาชีวภาพผิดเพี้ยนไป การใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงการนอนของเราก็จะรวนไปด้วย
นาสตาเซีย ไอรอนส์ (Nastasia Irons) แพทย์แผนสุขภาพบำบัดในรัฐโตรอนโต กล่าวว่า ตั้งแต่กักตัวจากโรคระบาดเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2020 ผู้ป่วยที่เผชิญกับปัญหาการนอนมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เธอระบุว่า อาการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์อย่างกระทันหัน ที่ทำให้คนจำนวนมากต้องอยู่กับที่มากขึ้น บางคน work from bed หรือทำงานบนเตียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราควรจะได้ผ่อนคลาย ได้นอนหลับอย่างสบาย แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นพื้นที่ทำงานไปแล้ว
การที่เราไม่ได้แบ่งแยกพื้นที่ระหว่างทำงานและใช้ชีวิตให้ชัดเจน จึงทำให้ work-life balance เริ่มพังไปด้วย ทุกอย่างผสมปนเปกันไปหมด จนรู้สึกว่าแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน และไม่ใช่แค่เฉพาะคนที่มีอาการนอนไม่หลับมาก่อนเท่านั้น ถึงจะประสบกับโคโรนาซอมเนียได้ แต่รวมถึงทุกคนที่วิตกกังวลกับข่าวร้ายในช่วงโรคระบาด ทั้งกังวลว่าติดเชื่อ ทั้งโศกเศร้าเพราะความสูญเสีย และไม่ได้ออกกำลังกายหรือปลดปล่อยฮอร์โมนแห่งความเครียดเลย เนื่องจากฟิตเนสถูกสั่งปิดหมด
ไม่ว่านอนไม่หลับเพราะอะไร ยังไงก็แย่อยู่ดี
อาการนอนไม่หลับเป็นความผิดปกติในการนอน (Sleep Disorder) ชนิดหนึ่ง ถึงต่อให้ไม่ได้เกิดขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาด ก็เป็นอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตของมนุษย์อยู่ เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอ ย่อมนำไปสู่ผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง รวมไปถึงผลกระทบทางด้านจิตใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า
นอกจากนี้ การที่เราพักผ่อนไม่เพียงพอยังกระทบต่อระบบตัดสินใจด้วยเช่นกัน งานวิจัยหลายชิ้นเผยว่า การนอนน้อยทำให้เรามีแนวโน้มจะตัดสินใจหรือทำอะไรผิดพลาดมากขึ้น ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ ทำให้เราตอบสนองช้าลง และส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ เคยสังเกตมั้ยว่าเวลานอนน้อย อารมณ์เราจะสวิงอยู่บ่อยๆ หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย สักพักก็กลับมาอารมณ์ดีจนคนรอบข้างงุนงง
Sleep care is the new self-care
ในปี ค.ศ.2020 ไม่ได้มีเพียงแค่โรคระบาดเท่านั้นที่รบกวนสภาพจิตใจ แต่ยังมีความไม่สงบทางการเมือง รวมถึงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาด้วย จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะหันมาสนใจชั่วโมงพักผ่อนของตัวเองมากกว่าเมื่อก่อน เพราะนอกจากการกินและการออกกำลังกาย การนอนยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยคงสุขภาพให้แข็งแรง และโรคระบาดก็ทำให้เราตระหนักได้ว่า การมีสุขภาพที่แข็งแรง ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
แต่ในขณะที่วิธีนอนหลับในกูเกิ้ลมักจะแนะนำว่า ให้ปรับพฤติกรรมของตัวเองซะ เข้านอนตรงเวลาทุกคืน อย่าเล่นมือถือก่อนนอน อย่ากินดึก หรืออย่าออกกำลังกายใกล้เวลานอนมากไป ซึ่งอะไรที่ว่ามานี้ทำได้ยากเหลือเกิน มนุษย์จึงต้องการ ‘ตัวช่วย’ ที่ทำให้ไม่ว่าจะเข้านอนกี่โมง ก็ยังสามารถหลับได้อย่างสบายใจ
ใครบอกว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ แสดงว่ายังไม่เคยลงทุนกับการนอนแน่ๆ Pinterest เผยว่า เทรนด์ที่มาแรงในปีนี้คือ Sleep care is the new self-care. การลงทุนกับการนอนคือการดูแลตัวเองแบบใหม่ หรือการที่ผู้คนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อความสะดวกสบายให้กับการนอนของตัวเองมากขึ้น ซึ่งการลงทุนที่ว่านี้ทำให้อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการนอนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นที่นอนทอปเปอร์ เทียนหอม น้ำมันหอมระเหย ครีมอาบน้ำ โลชั่น หรือหมอนคัสตอม และใน Pinterest ก็ได้สำรวจว่ามีผู้คนสนใจโยคะเพื่อการนอนหลับ ชุดนอนผ้าไหม และเครื่องมือที่ช่วยให้หลับเพิ่มมากขึ้น เช่น แอปพลิเคชันที่มีเสียงฝน เพลย์ลิสต์เพลงกล่อมนอน หรือคลิป ASMR ต่างๆ
แล้วสิ่งเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับได้จริงๆ หรือเปล่า? นาสตาเซียกล่าวว่า ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่อย่างน้อยก็ได้รับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อยู่ ที่ดังๆ เลยก็คือน้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ ที่ผลวิจัยหลายแห่งพบว่ากลิ่นของมันช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่การสูดดมน้ำมันหอมระเหยเป็นเวลานาน ก็อาจกระทบต่อระบบหายใจได้เช่นกัน นอกจากนี้เธอก็ได้แนะนำผ้านวมที่ค่อนข้างมีน้ำหนักหน่อย ซึ่งช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลได้ เนื่องจากผ้านวมจะช่วยให้เราเกิดการตอบสนองทางร่างกาย คล้ายกับเวลาที่ถูกกอด
แต่การเข้าถึงเครื่องมือหรือตัวช่วยที่ว่านี้ ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่แสนแพง “ฉันคิดว่าผู้คนเริ่มแพนิก เมื่อพบว่าตัวเองนอนไม่หลับ และเริ่มนอนน้อยลงเรื่อยๆ ทุกวัน ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้ออะไรก็ตามที่อ้างว่าสามารถช่วยให้นอนหลับง่าย ซึ่งพวกเขาอาจถูกเอาเปรียบจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ง่าย” เพราะฉะน้ัน อาจจะต้องดูดีๆ ว่าสิ่งที่เรากำลังเสียเงินให้ สามารถช่วยแก้ปัญหาได้จริงอย่างที่ว่าหรือเปล่า
สุดท้าย การหลับง่าย อาจไม่ต้องใช้เงินเยอะ
การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเสมอ และไม่ใช่ว่าผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจะใช้ได้ผลกับผู้ใช้ทุกคน ดังนั้น การกลับมาที่ฮาวทูตามที่อากู๋บอกอาจเวิร์กที่สุด เนล สแตนลีย์ (Neil Stanley) ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับจากสหราชอาณาจักร มองว่า วัฒนธรรมคลั่งไคล้การนอนนี้ ทำให้เกิดการตัดสินใจใช้จ่ายเงินอย่างรวดเร็ว เพื่อให้คืนแห่งการนอนหลับของพวกเขาวิเศษมากขึ้น ซึ่งจริงๆ การนอนหลับง่ายๆ อาจไม่ต้องทำอะไรให้ซับซ้อนขนาดนั้น
เนลแนะนำว่า จริงๆ แล้วเราต้องแค่ 3 สิ่งเท่านั้นในการนอนหลับ โดยทั้งหมดสามารถเริ่มได้ที่ตัวเราเอง (คำพูดคล้ายใครๆ นะ) นั่นก็คือ 1.ห้องที่มืด เงียบ และอุณหภูมิเย็นสบาย 2.ร่างกายที่ผ่อนคลาย 3.จิตใจที่สงบ อะไรที่ว่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเสียเงินซื้ออะไรเพิ่มเลยสักบาทเดียว
สิ่งที่เนลแนะนำมาอาจจะฟังดูทิพย์ๆ ไปนิด แล้วในแง่ของการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต้องทำยังไง? ถ้าในวิธีของการบำบัดพฤติกรรม หรือ Cognitive Behavioural Therapy for Insomnia (CBT-I) จะแนะนำว่าให้สร้างสุขอนามัยในการนอน โดยการงดดื่มหรือสูบบุหรี่ก่อนเข้านอน และฝึกสมองให้เชื่อมโยงเตียงกับการนอนหลับให้มากที่สุด โดยการงดทำงานหรืองดเล่นโซเชียลมีเดียบนเตียงนอน ให้เตียงนอนเป็นพื้นที่แห่งการนอนหลับเท่านั้น
หลักๆ คำแนะนำก็คงเหมือนกับที่อากู๋บอก แต่ในช่วงโรคระบาด สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือ การทำงานบนเตียงนี่แหละ เนื่องจาก work from home อาจไม่เหมาะกับคนที่บ้านไม่มีพื้นที่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน แองเจลา เดรค (Angela Drake) ศาสตราจารย์คลินิกด้านสุขภาพ กล่าวว่า กฎเหล็กของเดียวของเธอคือห้ามทำงานบนเตียงเด็ดขาด เธอไม่สนว่าบนเตียงนั้นจะสบายแค่ไหน แต่สุดท้ายสมองของเราจะเชื่อมโยงเตียงเข้ากับงาน ซึ่งเป็นแรงเสริมอย่างหนึ่งที่ทำให้เรานอนไม่หลับ
และอย่างที่รู้ว่าแสงสีฟ้า (Blue Light) จากหน้าจอมือถือหรือแล็ปท็อป มีส่วนในการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการหลับของเรา เมื่อฮอร์โมนนี้ลดลง จึงทำให้เราหลับยากขึ้น ไม่นับข่าวสารที่เราเสพก่อนนอน ซึ่งมีแต่ข่าวร้ายที่ทำให้เครียดและวิตกกังวล จนอาจเก็บไปฝันร้าย เพราะมีสถิติเผยอีกว่า ในช่วงล็อกดาวน์ ผู้คนฝันร้ายเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ
“มนุษย์เรานอนหลับสบายมาได้หลายล้านปี โดยไม่ต้องมีหุ่นยนต์หรือโลชั่นใดๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ที่เราต้องทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ทำในเรื่องที่เราสามารถทำได้เองตามธรรมชาติ”
ฉะนั้นแล้ว การละตัวเองออกจากอุปกรณ์ที่สร้างความกังวลเหล่านี้ อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะเริ่มทำเพื่อการนอนของเรา ก่อนจะไปสู่การซื้อทางเลือกเสริมต่างๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทียนหอมที่ว่านั้นช่วยสร้างความภิรมย์ในการนอนได้มากขึ้นเหมือนกันนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก