โลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย ไม่ต้องถึงขั้นอภิสิทธิ์หรือคุณภาพชีวิตก็ได้ เอาแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างบางคนกินเยอะเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ในขณะที่บางคนแค่จิ้มๆ น้ำหนักก็ขึ้นแล้ว บางคนลงสกินแคร์เป็นสิบตัวแต่หน้าก็ยังเป็นสิว ในขณะที่บางคนหน้าใสกิ๊กเพียงแค่ล้างน้ำเปล่า บางคนดูดีแม้จะถ่ายรูปตอนเผลอ ในขณะที่บางคนเก๊กแทบตายก็ยังไม่ได้สักรูป
แต่ที่รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมที่สุดเลยก็คือ บางคนนอนเป็นสิบชั่วโมง ตื่นมาก็ยังรู้สึกงัวเงีย อยากนอนต่อ ในขณะที่บางคนนอนไปไม่กี่ชั่วโมง กลับตื่นมาสดใส มีเอเนอร์จี้ พร้อมลุยตลอดวัน
นี่มันโกงกันชัดๆ เลย ใครอธิบายเรื่องนี้ได้บ้าง?
นอนน้อยแต่สดชื่นนะ
หากใครเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา มาบ้าง อาจพอทราบว่าเขาเป็นคนที่นอนน้อยมาก คือหลับเพียง 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น แต่กลับตื่นตัว รู้สึกพักผ่อนเต็มที่ ทั้งยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
แม้จะเป็นเรื่องที่น่าแปลก และพบได้ในประชากรเพียงน้อยนิดราวๆ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่อาการที่ว่านี้มีอยู่จริง เราเรียกว่า Short Sleeper Syndrome คนที่นอนน้อยโดยธรรมชาติ (Natural Short Sleeper) นอนน้อยจนเป็นนิสัย หรือไม่สามารถนอนได้มากกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งแตกต่างไปจากคนที่มีอาการนอนไม่หลับ (Insomniac) ตรงที่กลุ่มคนที่มีอาการนี้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ในวันรุ่งขึ้น เปรียบเทียบกับคนที่เป็นโรคนอนไม่หลับ ที่พบว่าพวกเขาจะรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ มีอาการเหนื่อยล้า และง่วงซึมตลอดทั้งวัน
ยิ่งไปกว่านั้น คนที่มีอาการนอนน้อยจนเป็นนิสัย ไม่ได้มองหาการรักษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเหมือนกลุ่มคนที่นอนไม่หลับ เพราะพวกเขามองว่าพฤติกรรมการนอนของตัวเองไม่ได้มีปัญหาหรือผลกระทบอะไร บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองโชคดีกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นแม้จะนอนไปเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
แล้วจะสังเกตได้ไงว่าเราเป็น short sleeper syndrome หรือ insomniac แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ลองสังเกตพฤติกรรมและสรุปออกมาได้ว่า คนที่นอนน้อยจนเป็นนิสัยจะมีลักษณะ ดังนี้
- พวกเขาจะมีรูปแบบการนอนแบบนี้ ‘เกือบทั้งชีวิต’ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น และเป็นคนที่นอนน้อยไม่ว่าจะเป็นวันธรรมดา วันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดเทศกาลต่างๆ
- พวกเขา ‘ไม่ได้ใช้ตัวช่วย’ เพื่อทำให้ตัวเองนอนหลับ และมักจะหลับเวลาเดิมๆ ทุกคืน นอนไม่เกิน 6 ชั่วโมง และตื่นเวลาเดิมทุกวันโดยที่รู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่าอยู่
- คนที่นอนน้อยโดยสัญชาตญาณ พวกเขาจะสามารถ ‘นอนติดต่อกัน’ เป็นเวลาหลายชั่วโมงได้ ในขณะที่คนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับอื่นๆ มักจะรายงานว่าพวกเขามีอาการหลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืน และรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอในวันรุ่งขึ้น
ไม่ใช่ความสามารถพิเศษ แต่เป็นที่ ‘ยีน’
แล้วที่มาของความสามารถที่น่าอิจฉานี้คืออะไร? ตอนนี้ยังไม่มีใครหาสาเหตุของอาการนี้เจอ แต่นักวิจัยพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า อย่างน้อยส่วนหนึ่งของ short sleeper syndrome อาจมาจาก ‘พันธุกรรม’ โดยนักวิจัยชื่อ หยิง หุย ฟู (Ying-Hui Fu) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาที่ University of California/San Francisco ได้ศึกษาอาการนี้มากว่า 25 ปี ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะคนที่มีอาการนี้มีเพียงแค่ 1% ของประชากรทั้งหมด
ถึงอย่างนั้น เธอก็ค้นพบยีนที่เรียกว่า ‘ยีนนอนน้อย’ โดยในปี ค.ศ.2009 เธอและเพื่อนนักวิจัยก็ได้ระบุการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่เรียกว่า DEC2 ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นยีนที่ส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ จากการหาตัวอย่างเลือดจาก 70 ครอบครัว พวกเขาพบว่ามีการกลายพันธุ์ในสมาชิก 2 คน ได้แก่ แม่และลูกสาว ทั้งสองคนแสดงอาการทั่วไปที่พบในคนนอนน้อย นั่นก็คือมีการนอนเฉลี่ยคืนละ 6.25 ชั่วโมงเท่านั้น โดยเริ่มนอนตั้งแต่เวลาประมาณ 5 ทุ่ม จนถึงตี 5 ทุกคืน และยังรู้สึกว่ายังใช้ชีวิตได้ปกติดีในวันถัดไป
นอกจากนี้ เธอและเพื่อนๆ ก็ได้ทำการทดลอง DEC2 ในสัตว์ด้วยเช่นกัน โดยการเพาะพันธุ์หนูและแมลงหวี่ที่มีการกลายพันธุ์ในแบบเดียวกัน พบว่าพวกมันน้อยนอนลง แต่สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าพวกที่ไม่มีการกลายพันธุ์
แต่ 10 ปีให้หลัง หรือช่วงกลางปี ค.ศ.2019 เธอและเพื่อนก็ได้พบกับยีนตัวที่ 2 ในครอบครัวที่อาการนอนน้อย 3 รุ่นต่อมา พวกเขาพบการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า ADRB1 จากนั้นก็นำไปทดสอบกับหนูเพื่อยืนยันว่า ยีนนี้ทำให้มีอาการนอนน้อยตามธรรมชาติ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ครอบครัวที่มีการกลายพันธุ์ในยีน ADRB1 กลับไม่มียีน DEC2 นั่นแปลว่า คนที่อยู่ในกลุ่มอาการนอนน้อย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ยีนใดยีนหนึ่งเท่านั้น แต่มีความซับซ้อนกว่าที่คิดไว้มาก
และในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เธอและเพื่อนก็ได้ค้นพบยีนตัวที่ 3 หรือ NPSR1 โดยพวกเขาพบยีนตัวนี้ในพ่อและลูกชาย ซึ่งมีการนอนหลับเฉลี่ย 5.5 และ 4.3 ชั่วโมงต่อคืน ทำให้เห็นความสอดคล้องกับกลุ่มคนที่มียีน DEC2 และ ADRB1 และก็เป็นไปตามที่คาดไว้ เมื่อลองนำไปทดสอบกับหนูก็พบว่า พวกมันมีความกระตือรือร้นและนอนน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น NPSR1 ยังช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับความจำ ที่มักจะเกิดขึ้นจากการอดหลับอดนอนด้วย
อันตรายมั้ย? จำเป็นแค่ไหนต้องรักษา?
พฤติกรรมการนอนน้อยดูจะเป็นอะไรที่ขัดแย้งสุดๆ กับสิ่งที่เราเคยได้ยินมาว่า การนอนที่เพียงพอต้องนอนให้ถึง 7-8 ชั่วโมง ทำให้สงสัยว่าคนที่เป็น short sleeper นั้น จะต้องเข้ารับการรักษาเหมือนคนที่เป็นโรคนอนไม่หลับหรือเปล่า เพราะการนอนน้อยหรือนอนไม่เพียงพอ สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
แต่เนื่องจากคนที่เป็น short sleeper นั้น ยังคงสามารถใช้ชีวิตช่วงกลางวันได้อย่างปกติ หรือไม่มีอะไรบกพร่องจากการนอนน้อย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนลงความเห็นว่า การรักษาไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับพวกเขาเท่าไหร่
“เราไม่สามารถรักษาได้หากคนๆ นั้นเป็นคนนอนน้อยจริงๆ เพราะพวกเขาจะยังคงนอนน้อยต่อไป และคิดว่าตัวเองโชคดีที่มีเวลามากขึ้นในแต่ละวัน เพื่อได้ทำสิ่งที่ชอบ” ลีเนลล์ ชนีเบิร์ก (Lynelle Schneeberg) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Yale School of Medicine และ American Academy of Sleep Medicine Fellow กล่าว
ที่สำคัญ เราต้องแยกให้ออกระหว่างคนที่นอนน้อยเป็นปกติ กับคนที่อดหลับอดนอนด้วยเหตุผลบางอย่าง ถ้าหากเราสามารถอธิบายหรือสรุปได้ว่า การที่เรานอนน้อยนั้นเป็น ‘ความผิดปกติ’ เกี่ยวกับการนอน หรือได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากชั่วโมงการนอนของตัวเอง แบบนั้นจึงจะนำไปสู่การวินิจฉัยหรือการรักษาต่อมา
หากรู้สึกว่าการนอนน้อยนั้นเป็นปัญหาเมื่อไหร่ คำแนะนำหลักๆ ของผู้เชี่ยวชาญก็คือ ควรสร้างพฤติกรรมการนอนใหม่ ให้ตื่นและนอนในเวลาเดิมทุกวัน ก่อนนอนไม่ควรกินสารกระตุ้นให้ตื่นตัว เช่น คาเฟอีน ไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน หลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่ก่อนเข้านอน 2-3 ชั่วโมง ควบคุมอุณหภูมิและแสงที่เอื้อต่อการนอนหลับ ควรออกกำลังกายระหว่างวัน และไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลานอนมากเกินไป
ในตอนนี้ผู้ที่มีการนอนน้อยจนเป็นนิสัย อาจยังไม่รับรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมา แต่สำหรับวัยผู้ใหญ่ การไม่นอนไม่ครบ 7-9 ชั่วโมงตามคำแนะนำ สามารถทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้ เช่น ภาวะวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน
ถึงแม้นักวิจัยจะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าคนที่เป็น short sleeper จะได้รับผลกระทบระยะยาวเหล่านี้หรือเปล่า แต่พวกเขาก็เชื่อว่า ไม่มีใครสามารถหนีผลกระทบจากการนอนน้อยไปได้ ซึ่งพวกเขาก็จะเดินหน้าทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบกันต่อไป ถ้าหากเป็นไปได้ ลองปรับพฤติกรรมใหม่ที่ทำให้นอนหลับได้อย่างเพียงพอก็จะดีกว่านะ
อ้างอิงข้อมูลจาก