ตีสองตีสาม เปิดเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ขึ้นมา ก็เห็นสเตตัสเพื่อนบ่นนอนไม่หลับกันแทบทุกคืน อาการนอนไม่หลับ ดูเหมือนจะเป็นอาการสามัญประจำยุคของคนสมัยนี้ไปแล้ว
แต่บียอนด์กว่าอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) คืออาการคิดว่าตัวเองนอนไม่หลับ (Insomnia Identity) ซึ่งนักจิตวิทยาบอกว่า ส่งผลร้ายกับร่างกายและจิตใจมากกว่าอาการนอนไม่หลับทั่วไปเสียอีก!
นักจิตวิทยาที่ว่านี่ก็คือ Kenneth Lichstein ซึ่งสนใจศึกษาพฤติกรรมการนอนไม่หลับของผู้คน แล้วก็พบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า จากการที่เขาค้นคว้าและทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนที่ผ่านมาในรอบ 20 ปี เขาพบความทับซ้อนกันเล็กน้อยระหว่าง การนอนหลับจริงๆ กับ ความคิดเกี่ยวกับการนอนหลับ ในตัวบุคคล
เขายกตัวอย่างงานวิจัยเมื่อปี 1995 ที่ศึกษาพฤติกรรมการนอนของผู้สูงอายุ ซึ่งบอกว่าตัวเองนอนหลับปกติดี ไม่ได้มีอาการนอนไม่หลับใดๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่มีปัญหาหลับยาก คือใช้เวลามากกว่าครึ่งชั่วโมงหลังล้มตัวลงนอนในการหลับ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน กลายเป็นว่าพวกเขาก็ไม่มีอาการเหนื่อยล้าหรือวิตกจริตใดๆ อันเป็นผลมาจากอาการนอนน้อยเลย ส่วนผลของงานวิจัยอีกชิ้นบอกว่า ทั้งที่คนที่มีอาการนอนหลับผิดปกติมักจะมีความเสี่ยงเป็นความดันเลือดสูงถึง 350-500% แต่คนที่คิดว่าตัวเองนอนหลับปกติ ทั้งที่มีอาการนอนไม่หลับ กลับไม่มีความเสี่ยงในการเป็นความดันเลย
ในทางกลับกัน มีคนจำนวนมากที่คิดว่าตัวเองมีอาการนอนไม่หลับ ทั้งที่ตัวเองนอนหลับได้เป็นปกติ จากการวิเคราะห์ของ Lichstein พบว่า 37% ของคนที่บ่นเรื่องนอนไม่หลับ จริงๆ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ และแม้จะนอนหลับเพียงพอตามจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมแล้ว พวกเขาก็ยังตื่นมาด้วยอาการเหนื่อยล้า หดหู่ เครียด และวิตกกังวลเหมือนคนนอนไม่หลับอยู่เสมอ
คนนอนไม่หลับ ที่ไม่บ่นว่านอนไม่หลับ ยังจะมีสุขภาพดีกว่าเสียด้วยซ้ำ!
Michael J. Sateia อาจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Dartmouth’s Geisel School of Medicine อธิบายอาการนี้ด้วยหลักทางจิตวิทยาว่าเป็น ‘ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง’ (Self-fulfilling Prophecy) คือเมื่ออาการนอนไม่หลับกลายมาเป็นจุดสนใจหลัก ความคาดหวังในเชิงลบก็เลยนำไปสู่อาการของคนนอนไม่หลับต่างๆ นานา
แม้จะอธิบายผลได้ แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ยังไม่สามารถอธิบายเหตุได้ว่า ทำไมคนที่นอนหลับปกติถึงคิดว่าตัวเองนอนหลับผิดปกติ แต่สำหรับ Lichstein เขาเชื่อว่าน่าจะเกิดจากบุคลิกภาพบางอย่าง อย่างเช่นคนที่มีอาการทางประสาท อาจจะตีโพยตีพายความผิดปกติเล็กน้อยในการนอนเป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงว่าเป็นผลจากคนที่เป็นโรคอุปาทาน (hypochondria) หรือคนที่วิตกจริตด้วย
แต่การจะแยก Insomnia Identity ออกจาก Insomnia ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการวินิจฉัยอาการนอนไม่หลับ โดยปกติแล้วก็จะอ้างอิงการซักถามจากคนไข้เป็นหลัก ประกอบกับการทดสอบการนอนเล็กๆ น้อยๆ แต่จริงๆ แล้ว คนที่เลือกจะมาหาหมอเพราะอาการนอนไม่หลับ ส่วนใหญ่จะแปะป้ายตัวเองว่า “ฉันเป็นโรคนอนไม่หลับ” ตั้งแต่ตอนเดินออกจากบ้านมาแล้ว การตรวจเป็นเพียงการยืนยันความคิดของตัวเองเท่านั้น
Sateia และ Lichstein เห็นตรงกันว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีการแยกชัดระหว่าง Insomnia Identity กับ Insomnia อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของ Lichstein สิ่งหนึ่งที่บอกได้คือ คนที่เป็น Insomnia Identity จะมีความไม่เสถียรทางอารมณ์ (Neuroticism) ในการประเมิน Big Five personality traits สูง แต่จะมีความฉลาดทางอารมณ์ในการประเมิน Trait Emotional Intelligence (TEI) ต่ำ ซึ่งหากมีการระบุอาการให้ได้แน่ชัด ก็สามารถใช้แนวคิดพื้นฐานสำหรับการบำบัดโรควิตกกังวล (CBT) เพื่อบำบัดอาการได้
ถ้ายังไม่ถึงขั้นจะไปทำการประเมินต่างๆ อะไรนั่น เราจะทำยังไงได้ ที่นอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ นี่เป็น Insomnia Identity หรือ Insomnia จริงๆ?
Lichstein บอกว่า (อาจฟังดูเป็นเรื่องของ ‘ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ อยู่หน่อยๆ) การนอน นอกจากจะเป็นเรื่องของชีวภาพแล้ว ก็ยังเชื่อมโยงกับจิตวิทยาด้วย เมื่อไหร่ที่เราแปะป้าย สร้าง Identity ให้ตัวเองว่าเรา ป่วยหรือไม่ป่วย เป็นหรือไม่เป็น ร่างกายก็มีแนวโน้มว่าจะมีอาการไปทางนั้น
เพราะงั้น เราก็อาจลองทดสอบความคิดเรานิดหน่อย ด้วยการเลิกกังวลเรื่องนอนไม่หลับ น่าจะช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้น แต่ถ้ามีปัญหายังไม่หมดไปจริงๆ ก็ควรปรึกษาหมอนั่นแหละ!
อ้างอิงจาก
thecut.com
bustle.com
medicalnewstoday.com