การนอนที่ดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ กลับกลายเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับ ‘โรคซึมเศร้า’ โดยเฉพาะหนุ่มสาวในวัยทำงานกับภาระชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมทัศนคติ ‘เวลานอนมีมาก ตอนตาย’ กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้ามากที่สุด
เหมือนจะเป็นข่าวดี
คุณได้รับข่าวดีในวงประชุม ในที่สุดก็ได้ยินคำว่า ‘เลื่อนขั้น’ เสียที ฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว สมุดบัญชีมีเลขฐานสวยๆ ที่คุณไม่เคยได้รับมาก่อน แน่นอน ภารกิจและงานที่ได้รับมอบหมายชิ้นใหม่ มันก็ท้าทายมากขึ้นและเรียกร้องศักยภาพของคุณสุดฤทธิ์ ไม่มีใครขึ้นเงินให้โดยไม่คาดหวังอะไรกลับมาหรอก จริงไหม?
เพียงไม่กี่สัปดาห์ความเครียดจากตำแหน่งงานใหม่ก็เริ่มคืบคลานคุณในทุกขณะ งานที่จ่ายมากมักเรียกร้องการจัดการที่ละเอียดถี่ยิบ ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวเท่ากับความล้มเหลว หัวหน้าย้ำนักย้ำหนา คุณใช้เวลา 80% ระหว่างวันไปกับงานที่มีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะทำได้ และมันค่อยๆ ดึงชีวิตออกห่างจากเรื่องส่วนตัว เหมือนมีเชือกล่องหนเส้นหนาที่พันธนาการคุณ จนค่อยๆ ห่างจากครอบครัว คนรัก หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง
ช่วงเวลากลับถึงบ้านไม่สามารถคาดเดาได้อีกต่อไป ตารางชีวิตคุณยุ่งเหยิงไปหมด แน่นดุจตารางธาตุที่จำไม่หวาดไม่ไหว การจัดสรรเวลาส่วนตัวเพื่อสุขภาพพังไม่เป็นท่า บอกล่าคลาสโยคะที่ลงเงินไปได้เลย ฟิตเนสที่เป็นสมาชิกก็ไม่เคยสวมรองเท้า Trainer คู่ละหมื่นไปเหยียบด้วยซ้ำ อาหารคลีนกลายเป็นหมูปิ้งชิ้นมะเร็งหน้าตึก กิจกรรมที่เคยทำอย่างมีความสุขช่วงพระอาทิตย์ขึ้นกลับกลายเป็นความเบื่อหน่ายเกินจะทานทน
และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ ‘พระอาทิตย์ตกดิน’
“เฮ้ย ใครเขานอนกัน เอาเวลาไปปั่นงานดีกว่า”
กลางคืนกลายเป็นช่วงเวลาสุดเลิศในการเคลียร์งานที่คั่งค้าง แต่พักหลังเตียงอุ่นๆ หมอนนุ่มๆ ที่เคยหลับใหลได้ทุกครั้ง กลายเป็นสถานที่ไม่คุ้นเคย มันแข็งกระด้าง แสงในห้องทะลุเปลือกตาให้คุณต้องตื่น ข้อความ Unread ไม่ต่ำกว่า 200 ข้อความ หลอกหลอนคุณไม่ต่างจากวิญญาณเร่ร่อน การนอนหลับซึ่งเป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์กลายเป็นเรื่องยากและบั่นทอนชีวิต ยิ่งพยายาม ยิ่งฝืนตัวเอง
คุณไปทำงานทุกเช้าในสภาพไม่ต่างจากรีโมททีวีที่แบตเตอรี่กำลังหมด กดอะไรก็ไม่ติด สั่งอะไรก็ไม่ได้ เคาะรีโมทซ้ำไปซ้ำมาเพื่อรีดพลังงานไฟฟ้าที่เหลืออยู่ริบหรี่จากถ่าน AAA บุบๆ และตัวคุณเองดันกลายเป็นปัญหา ไม่ใช่ใครที่ไหนเลยที่สามารถพังงานจนราบเป็นหน้ากลองได้เท่าตัวคุณเอง
ความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลายเป็นความโศกเศร้า มารู้ตัวอีกทีคุณมีแนวโน้มเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ เสียแล้ว จากปัญหาการนอนที่ทวีความเรื้อรัง ความมืดที่เคยเป็นมิตรกลับกลายเป็นศัตรูชีวิต โชคร้ายที่คุณเห็นทุกอย่างกำลังพังไปต่อหน้าต่อตาด้วยตาเนื้อของคุณเอง
มีทางลัดไหมนะ?
หนุ่มสาวช่วง 20 กลางๆ ถึง 30 ย่อมๆ ในปัจจุบันมีแนวโน้มพึ่งพายารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressant Drugs) เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากสถิติภายใน 5 ปี
แม้แพทย์จะมีการจ่ายยาอยู่ตามปกติ แต่การติดตามผลผู้ป่วยแต่ละรายอย่างละเอียดเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าถึงยารักษาอาการซึมเศร้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าวิตกกังวล จนไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ออกโรงเตือนถึงการใช้ยาระงับอาการซึมเศร้าในกลุ่มอายุคนทำงานตอนต้น เพราะมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง และมี 70 กรณีตัวอย่าง ที่ยาเชื่อมโยงถึงอาการพยายามฆ่าตัวตาย และจ้องเอาผิดบริษัทยาที่หลีกเลี่ยงการรายงานผลข้างเคียงจากยาที่พวกเขาผลิต
แพทย์กระบวนการใหม่จึงพยายามรักษาอาการซึมเศร้าโดยพึ่งพายาให้น้อยลง แต่เน้นไปที่กระบวนการสืบสวนรูปแบบการนอนของแต่ละคนมากขึ้น เพราะการนอน เป็นกุญแจสำคัญอีกหนึ่งดอก ที่ผู้คนมองข้าม ยังมองว่าการนอนไม่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ (Counterproductive) และมักพร่ำสอนเสมอว่า “คุณมีเวลานอนมากมาย ในหลุมฝังศพ” ซึ่งค้านกับความเป็นจริงของธรรมชาติมนุษย์
เศร้าแล้วไม่นอน แต่ไม่นอนก็เพราะเศร้า
อารมณ์ความโศกเศร้า เป็นประสบการณ์พื้นฐานของชีวิตมนุษย์ มันรบกวนทุกผัสสะที่คุณมีต่อโลก รสอาหารในปากเปลี่ยนไป ผิวสัมผัสต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่น่าปรารถนา แม้ยามหลับตา แต่ภาพในหัวยังเตลิดเข้าป่าเข้าดง โดยเฉพาะทักษะการนอนหลับ จริงๆ มันเหมือนปัญหาแบบงูกินหาง ความเชื่อมโยงระหว่าง ความเศร้ากับอาการนอนไม่หลับมับซ้อนกันจนยุ่งเหยิงไปหมด หลายคนมีปัญหาการนอนหลับเรื้อรังจนสะสมเป็นอาการซึมเศร้า แต่หลายคนมีอาการซึมเศร้ามาก่อนจนรบกวนการนอนหลับ แต่แน่นอนทั้ง 2 กรณีมันเชื่อมโยงกันและส่งอิทธิพลไปมาอยู่
โรคนอนไม่หลับ หรือหลับยาก (Insomnia) พบเห็นได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีหลักฐานว่าคนที่มีอาการ Insomnia เสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นอาการซึมเศร้าเรื้อรังถึง 10 เท่า มีปัญหาหัวใจ ระบบไหลเวียนของเลือดผิดพลาด ไมเกรน และเสี่ยงต่อหัวใจล้มเหลว เพราะความเศร้าและการไม่นอนเป็นมือสังหารที่เก่งกาจพอๆ กัน
สิ่งมีชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ต้องการนอน (แม้แต่ต้นไม้ก็ด้วย) พวกเรามีนาฬิกาชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาราว 100 ล้านปี ที่รับอิทธิพลจาก ‘ความสว่างและความมืดจากดวงอาทิตย์’ ที่เรียกว่า Circadian Rhythm โดยเซลล์ประสาทจะทำหน้าที่รับแสงมาสังเคราะห์และกำหนดว่าคุณควรนอนเวลาไหน ซึ่งพบเซลล์นี้ได้ในสมอง Superchiasmatic Nucleus หากสมองส่วนนี้ได้รับการกระทบกระเทือน ถูกทำลาย หรือจากรูปแบบพฤติกรรมที่เราฝืนอยู่บ่อยครั้ง จังหวะนาฬิกาของร่างกายจะสับสนในการตอบสนองต่อเวลา
การแสดงออกของอาการซึมเศร้าแตกต่างไปในแต่ละคน โดยมีอาการพื้นฐานบางอย่างร่วมกัน เช่น
- รู้สึกไร้ความหวัง เหนื่อยอ่อน เศร้าใจ ทำงานประสิทธิภาพลดลง และมักไม่แสดงออกถึงต้องการความช่วยเหลือ
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตายเข้ามาในหัวบ่อยครั้ง คิดถึงความตายบ่อยๆ ในหลายรูปแบบ
- หมดความสนอกสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปอย่างดื้อๆ โดยไม่มีเหตุผล ทั้งๆ ที่เคยทำแล้วรู้สึกดี
- โฟกัสไปที่ปัญหา พูดถึงปัญหาออกมาบ่อยๆ
- ขี้หลงขี้ลืม สัญญาอะไรไว้มักรักษาสัญญาไม่ได้
- หมดความต้องการทางเพศ
- น้ำหนักตัวขึ้นมากหรือลงมาก รสนิยมการกินอาหารเปลี่ยนไป
- ไร้เรี่ยวแรง หมดพลังงานในแต่ละวัน
- พัฒนาเป็นอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง
อาการเหล่านี้แท้จริงแล้ว สามารถสังเกตได้จากคนที่อยู่รอบๆ ข้างหรือเพื่อนร่วมงาน แต่ส่วนใหญ่มองว่า คนเหล่านี้กำลัง ‘สร้างปัญหา’ มากกว่าที่จะคิดว่ากำลัง ‘ประสบปัญหา’ และต้องการความช่วยเหลือ กลายเป็นการเตะปัญหาให้พ้นตัวเสียอย่างนั้น
วิธีรักษาไม่สามารถแก้ไขด้วยการให้ยาอย่างเดียว มันจะเข้าสู่ปัญหาแบบงูกินหางอีหรอบเดิม จิตแพทย์จึงต้องมาปรับทัศนคติการใช้ชีวิตผ่านการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม Cognitive-behavioral therapy หรือ CBT และติดตามอาการโดยละเอียด แพทย์จะหลีกเลี่ยงการให้ยาระงับอาการซึมเศร้า เพราะหลายกรณีที่อาการซึมเศร้าสามารถบรรเทาด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนอน
เรากำลังเป็นห่วงหนุ่มสาวยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความฝันและอยากทำให้มันเป็นความจริงในสมรภูมิการทำงาน พวกเขาพร้อมแลกทุกอย่างเพื่อความก้าวหน้า แม้สุขภาพจะมีของล้ำค่าชิ้นเดียวที่พวกเขามี การทำงานหามรุ่งหามค่ำกลายเป็นเรื่องเท่ และหลายสังคมมองว่าการนอนเป็นความเกียจคร้าน
การบอกตัวเองว่าสามารถฝืนนาฬิกาชีวิตได้ไม่ใช่เรื่องเท่
ตราบใดที่ทุกชีวิตบนโลกต้องการการนอน ดังนั้นหากไม่นอนจะเรียกว่าเป็นชีวิตได้อย่างไร?
อ้างอิงข้อมูลจาก
Antidepressants in young people may do more harm than good, warn scientists
Out of Sync : Scientific American Mind 26, 30 – 39 (2015)