การนอนหลับเป็นเรื่องใหญ่ โลกนี้ดูจะมีคนอยู่สองประเภท คือพวกที่ยังไงๆ ก็ต้องขอนอนคนเดียวเงียบๆ ถึงจะนอนหลับได้อย่างมีสันติสุข กับอีกประเภทคือคนที่นอนคนเดียวไม่ได้ ต้องมีเพื่อนหรือใครซักคนนอนเคียงข้าง
ยิ่งพอเราโตมาจนถึงจุดหนึ่ง ชีวิตเริ่มมีคนอื่นมาร่วมเตียงเคียงหมอน ไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้นหรือระยะยาว การที่เรามีคนอยู่มาเคียงคู่ก็ฟังดูน่ารักกุ๊กกิ๊กดี แต่เอาเข้าจริง การ ‘แชร์เตียง’ หรือการมีสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชีวิตมาอยู่ข้างๆ ในช่วงเวลานอนหลับอันเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของวันก็อาจจะส่งผลต่อ ‘คุณภาพการนอนหลับ’ ได้ และเจ้าคุณภาพการนอนหลับนี่แหละที่ส่งผลกับคุณภาพความสัมพันธ์ของผู้ร่วมเตียงกันต่อไป
การนอนร่วมเตียง ยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ระยะยาวๆ ดูจะเป็นธรรมเนียมสำคัญที่ว่า คนรักกันก็ต้องนอนเตียงเดียวกัน แต่นั่นแหละบางทีการนอนหลับก็อาจเต็มไปด้วยความเละเทะ โดยเฉพาะสาวๆ ที่อาจจะพบว่าการร่วมเตียงกับชายหนุ่มอาจจะไม่ได้ตื่นขึ้นมาอย่างสดใส ได้ปรายตามองคนรักเบาๆ เหมือนในโฆษณา สาวๆ อาจต้องเจอกับแขนขา เสียงกรนจนทำให้มักจะตื่นก่อนอีกฝ่าย มีงานศึกษาพบว่าผู้หญิงมักเจอปัญหาการนอนเมื่อมีคนนอนข้างๆ แต่ก็มีข้อสังเกตที่บอกว่าการที่สาวๆ มีคุณภาพการนอนที่ลดลงจากการที่มีคนเคียงข้างก็อาจจะได้ประโยชน์ในแง่อื่นๆ สุดท้ายโดยเฉพาะในความสัมพันธ์ที่ยาวนานมากๆ ก็เริ่มมีข้อเสนอว่า บางทีอาจจะไม่ต้องร่วมเตียงเคียงหมอนอะไรขนาดนั้นก็ได้
อีกสิ่งมีชีวิตบนเตียงเป็นเรื่องใหญ่
จริงๆ แทบไม่ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาอธิบายมากขนาดนั้น นึกสภาพการที่เตียงแคบๆ มีอีกหนึ่งชีวิตมาอยู่ข้างๆ ในช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต่างเข้าสู่ภาวะหลับใหล มีเหตุผลมากมายที่คนสองคนบนเตียงเดียวกันจะ ‘กวน’ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว
มีงานสำรวจจากอังกฤษไปถามคนมีคู่ 2,000 คนพบว่า 20% จากกลุ่มตัวอย่างเจอปัญหาการนอนและเสียเวลานอนไปอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวันและปัญหานี้กลายเป็นเรื่องจริงจังขึ้นเมื่อมีข้อมูลว่า 1 ใน 10 ของคู่รักที่เลิกกันมีผลจากปัญหาการนอนหลับที่ไม่ตรงกัน นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาที่สำรวจปัญหาของคนรัก 167 คู่ พบว่า ปัญหาการนอนมักจะเกิดจากเรื่องเล็กๆ เช่น แย่งผ้าห่ม เสียงกรน นอนไม่ถูกฝั่ง ฟังดูเป็นเรื่องงี่เง่า แต่ถ้าทำให้นอนไม่ได้ก็ไม่แปลกที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกับชีวิตต่อมา
ในระดับชีวภาพ การที่มีอีกคนมาหลับอุตุอยู่ข้างๆ เป็นเรื่องที่ต้องปรับเข้าหากันพอสมควร ปัจจัยที่เกิดจากอีกฝ่ายซึ่งทำให้เราหลับไม่สนิทมีตั้งแต่อุณหภูมิของร่างกายที่ไม่ตรงกัน จังหวะการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน บางคนตื่นเร็ว ตื่นเช้า Dr. Els van der Helm ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Shleep ซึ่งเป็นผู้สนใจเรื่อการนอนหลับบอกว่า ยิ่งถ้าเป็นคนรักใหม่ล่ะก็ สมองของเราจะยังไม่ชินกับการมีอีกคนอยู่บนเตียงเดียวกันและตีความว่าสิ่งมีชีวิตนั้นอาจจะเป็นภัยคุกคาม ยิ่งไปกว่านั้นพฤติกรรมเล็กๆ เช่น แสงหรือเสียงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราไม่ชิน เช่น มือถือ นาฬิกาดิจิตอลก็ส่งผลกับคุณภาพการนอนและการตื่นของเราได้ง่ายๆ
สาวๆ เจอปัญหากว่าผู้ชาย?
ดูเหมือนว่าภาพในละครที่เรามักเห็นภาพหญิงสาวตื่นขึ้นก่อนผู้ชายอาจจะมีส่วนจากประสบการณ์จริง งานศึกษาในปีค.ศ. 2007 จากวารสาร Sleep and Biological Rhythms นักวิจัยพบว่าผู้หญิงมักตื่นขึ้นกลางดึกเมื่อมีคนนอนข้างๆ ในขณะที่ผู้ชายไม่ได้มีปัญหาอะไร ในงานศึกษานี้รายงานว่าสาวๆ นอนหลับได้ดีขึ้นในวันที่มีเลิฟซีน แต่งานศึกษาต่อมาจาก University of Vienna ได้ข้อมูลแย้งว่ายิ่งคืนที่มีเลิฟซีน สาวๆ ก็มีปัญหากับนอนหลับมากขึ้นด้วย
แต่ทีนี้ดูเหมือนว่าระยะทางของความสัมพันธ์ก็มีผลกับคุณภาพการนอน และดูเหมือนว่าความรักที่มั่นคงจะทำให้การมีคนรักเคียงข้างส่งผลพิเศษต่อร่างกายและจิตใจของสาวๆ ในงานศึกษาของ Wendy Troxel จาก University of Pittsburgh พบว่าผู้หญิงที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่แข็งแรงมั่นคงมีแนวโน้มจะหลับได้ไวและนอนหลับสนิทยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับสาวโสดและสาวๆ ที่เพิ่งมีรักหรือเสียคนรักไปในเวลา 6-8 ปี
นักวิจัยบอกว่า การมีคนนอนเคียงข้างส่งผลกับความรู้สึก คือสาวๆ จะรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ทำให้ cortisol ฮอร์โมนความเครียดลดต่ำลงและเพิ่ม oxytocin ฮอร์โมนแห่งความรัก ทั้งหมดนี้ทำให้วงจรการหลับและตื่นในสมองทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุปแล้วการมีอีกคนหนึ่งเคียงข้างในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของวันเช่นเวลานอนดูจะเป็นอีกเรื่องราวการปรับตัวของร่างกายและสมอง งานศึกษาของเวนดี้ดูจะมองผู้หญิงว่าต้องการความอบอุ่นปลอดภัย แต่ระยะหลังเราเริ่มเห็นผู้หญิงที่ต้องการ ‘พื้นที่ส่วนตัว’ และเริ่มมองว่าไอ้เจ้าภาพความสัมพันธ์ที่จะต้องตื่นขึ้นบนเตียงเดียวกันอาจจะไม่จำเป็นก็ได้ การแยกเตียงกระทั่งแยกห้องนอนเพื่อการนอนหลับที่มีคุณภาพอาจจะเป็นอีกไลฟ์สไตล์ที่ไม่ได้หมายความว่าความรักนั้นร้าว แค่ต่างฝ่ายต่างต้องการการนอนที่คุณภาพดีเท่านั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก