เมื่อผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาด ความสัมพันธ์ของผู้คนอาจดำเนินช้าลง ไม่รีบร้อนจนเกินไป และใช้เวลาเรียนรู้กับมันมากขึ้น หรือเทรนด์นี้จะมีผลมาจากช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา?
มี slow life แล้ว ก็ถึงจุดที่คนเรา slow love กันบ้าง เมื่อผลการศึกษาของ เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) นักมานุษยวิทยาชีวภาพ เผยว่า ชาวมิลเลนเนียลเริ่มมีแฟนน้อย หรือออกเดตน้อยลง ทั้งยังแต่งงานช้ากว่าคนรุ่นก่อนๆ และก็ดูเหมือนว่าวัยที่เด็กกว่านั้นที่เรียกว่า generation z ก็จะเริ่มมีวิถีชีวิตแบบนี้ตามกันไปเรื่อยๆ
มีบทความหนึ่งจาก The Atlantic มองว่าขณะนี้พวกเรากำลังอยู่ท่ามกลาง ‘ภาวะถดถอยทางเพศ’ เนื่องจากคนในหลายๆ วัย เริ่มมีเซ็กซ์น้อยลง อาจด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ความกดดันทางเศรษฐกิจ ความวิตกกังวล การเข้าถึงยากล่อมประสาทที่ง่ายขึ้น ผู้ปกครองที่คอยจับตามองตลอดเวลา ยุคทองของไวเบรเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย
ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม สิ่งที่เฮเลนเลือกศึกษาจากปรากฏการณ์นี้นั่นก็คือ มุมมองที่กว้างมากขึ้น โดยเรียนรู้จากวิถี slow love ของคนมิลเลนเนียล ว่าจริงๆ แล้วมันมีไม่ใช่การทำลายวัฒนธรรมการแต่งงาน แต่มันอาจหมายถึง พวกเขาอาจกำลังให้คุณค่าของการแต่งงานกันมากขึ้นต่างหาก
ในปี ค.ศ.2017 ผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ เผยว่า คู่รักชาวอเมริกาในช่วงวัย 25-34 ปี ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเฉลี่ย 6 ปีครึ่ง ก่อนจะตัดสินใจแต่งงาน เทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี
หนึ่งในคำอธิบายนั้นก็คือ มิลเลนเนียลเป็นวัยที่เกิดมาพร้อมกับอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อวิถีชีวิต การติดต่อสื่อสาร และการทำงานของมนุษย์ ซึ่งนักวิจารณ์ต่างก็ให้ความเห็นว่า อาจเป็นเพราะความอิ่มตัวต่อระบบดิจิทัล ทำให้มิลเลนเนียลเกิดความโดดเดี่ยวทางสังคมมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้พวกเขามีเซ็กซ์กันน้อยลง ซึ่งต่อให้พวกเขามีเซ็กซ์กัน ความหมายของมันก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน เพราะการเข้ามาของวัฒนธรรม hookup และ friend with benefit ที่รู้จักกันดีว่า เป็นการมีเซ็กซ์แบบไม่ต้องคบหากันเป็นแฟนก็ได้
อีกทั้งยังไม่รวมถึง generation z ที่วัยเด็กส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับสมาร์ทโฟน ทำให้พวกเขาใช้เวลาพบปะแบบตัวต่อตัวน้อยลง คุยกันผ่านแชทและวิดีโอคอลมากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือสาเหตุที่ว่าทำไมคนรุ่นหลังถึงมีเซ็กซ์กันน้อยลงเรื่อยๆ
แต่แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือตัดสินว่าคนรุ่นหลังว่าเป็นวัยที่เอาแต่รักความสนุก ไม่ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์และชีวิตคู่ เฮเลนกลับมองว่าจริงๆ แล้ว คนในวัยนี้กำลังเรียนรู้การมีชีวิตคู่ที่ยั่งยืนกว่าคนรุ่นก่อนๆ ต่างหาก ซึ่งเธอได้ตั้งข้อเกตไว้ว่า ผู้คนที่ใช้เวลาคบหาดูใจกัน 3 ปีขึ้นไปก่อนที่จะแต่งงาน มีโอกาสที่จะหย่าร้างน้อยกว่าผู้ที่รีบแต่งงาน เพราะพวกเขามีช่วงเวลาในการเตรียมตัวรับมือกับชีวิตคู่มากกว่า และมีเวลาเรียนรู้วิธีที่จะรักษาคนที่พวกเขากำลังคบมากขึ้น
ทุกวันนี้ คนโสดพยายามที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับคนที่กำลังคบหาดูใจให้ได้มากที่สุด ก่อนจะตัดสินใจลงทุนด้านเวลา พลังงาน และเงินไปกับคนๆ นั้น ซึ่งทำให้เส้นทางสู่ความรักโรแมนติกเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเมื่อก่อน เดตแรกอย่างการนัดทานข้าว ดูหนัง หรือเดินเล่น อาจเป็นขั้นตอนการทำความรู้จักกันของคนสองคน ที่เรียกว่าช่วง getting-to-know-you แต่ตอนนี้การเดตนั้นได้ถูกเลื่อนออกไป เพราะบางคนใช้เซ็กซ์เป็นช่วงเวลาในการทำความรู้จักแทน โดยกว่า 34% ของคนโสดมีเซ็กซ์กันก่อนจะไปเดต หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘sex interview’ เพื่อดูว่าคนๆ นั้นควรค่าแก่การไปเดตต่อหรือไม่ เพราะพวกเขามองว่าเซ็กซ์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่บอกว่าคู่รักจะไปกันรอดหรือไม่รอด
เดิมทีการแต่งงานเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์คู่รัก
แต่สมัยนี้การแต่งงานได้กลายเป็นปลายทางสุดท้าย
และสำหรับมิลเลนเนียล การเงินก็ยังคงเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่จะมีชีวิตคู่ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาได้เห็นวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นพ่อแม่ ประกอบกับตอนนี้มีวิกฤตโรคระบาดที่กระทบการเงินใครหลายคนอย่างหนัก จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการหย่าร้าง ทำให้พวกเขาตระหนักและพูดคุยถึงภาระหนี้และงานที่ให้เงินเดือนได้อย่างมั่นคงมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่อาจทำให้การแต่งงานล่าช้ากว่าเดิม เนื่องจากงานแต่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง
ในสถานการณ์ตอนนี้ ก็ถือว่าเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยรวมถึงเรียนรู้กันและกันเป็นอย่างดี เพราะในช่วงล็อกดาวน์ที่มีมาตรการกักตัว หรือทำงานที่บ้าน ก็ทำให้ผู้คนมีเวลาพูดคุยกันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การพูดคุยหยอดกันแบบสมัยก่อนที่เรียกว่า small talk ก็เริ่มหายไป กลายเป็นการพูดคุยกันในประเด็นที่จริงจังและสำคัญมากขึ้น เช่น แลกเปลี่ยนมุมมอง หรือความคิดในช่วงการเปลี่ยนแปลงของชีวิต ปรึกษาหารือ ระบายความกลัว และความหวังในช่วงวิกฤต เป็นช่วง getting-to-know-you ที่เห็นทัศนคติของอีกฝ่ายมากขึ้นผ่านการเปิดเผยตัวตน ซึ่งการเปิดเผยนี้ก็กระตุ้นให้เกิดความใกล้ชิด ความรัก และความมั่นใจอีกที นำไปสู่การตัดสินใจในความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ทำให้เห็นว่าการไปอย่างช้าๆ ไม่ได้แปลว่าไม่ให้ความสำคัญ แต่อาจหมายถึงการละเมียดละไมให้เกิดความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก