การมีพิพิธภัณฑ์ มีสถาบันเพื่อการศึกษาดีๆ ให้เราได้ไปใช้เวลาหาความรู้ใส่ตัวถือเป็นเกียรติเป็นศรีแก่เมืองนั้นอย่างยิ่ง …วันนี้ (10 สิงหาคม) เมื่อปี 1846 เป็นวันก่อตั้งสถาบันสมิธโซเนียน หนึ่งในสถาบันเพื่อความรู้และการศึกษาวิจัยที่ใหญ่โตและอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก
สถาบันสมิธโซเนียนถือเป็นหนึ่งในดินแดนของความรู้ที่ใครหลายคนอยากไป พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติสมิธโซเนียน (Smithsonian Museum of Natural History) เป็นหนึ่งในไฮไลต์สำหรับทริปไปวอชิงตัน ดี.ซี. ถือเป็นพิพิธภัณฑ์แถวหน้าที่เราอยากกลับไปเติมเต็มความฝันวัยเด็ก อยากไปดูไดโนเสาร์ ดูสิ่งมีชีวิตและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ซึ่งหลายคนอาจได้เห็นความยิ่งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ชื่อดังแห่งนี้จากหนังเรื่อง Night at the Museum
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่ดังๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาณาจักรของสถาบันสมิธโซเนียน ตัวสถาบันเองประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนพฤกศาสตร์ และสวนสัตว์ระดับโลกอีกกว่า 19 แห่ง แถมยังมีสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของตัวเองอีกด้วย นับเป็นสุดยอดอาณาจักรแห่งความรู้ขนานแท้
มรดกจำนวนมหาศาลของเจมส์ สมิธสัน (James Smithson) นักวิทยาศาสตร์และมหาเศรษฐีผู้เป็นที่มาของชื่อสมิธโซเนียน ที่มาของเงินทุนตั้งต้นให้ก่อตั้งสถาบันยิ่งใหญ่ระดับโลกนี้ได้
คืองี้ คุณเจมส์เนี่ยแกเป็นลูกขุนนาง (ตอนหลังถือสัญชาติอังกฤษ) แถมยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติที่รับการยอมรับ แกจบจากสถาบัน Pembroke College ที่ Oxford ความสนใจหลักๆ ของแกก็เช่นเรื่องแร่ เรื่องธรณีวิทยาและเคมี เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมกันบุกเบิกวางรากฐานให้กับโลกวิทยาศาสตร์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18
ทีนี้พี่แกก็ทั้งรวย ทั้งมีใจมอบให้กับความรู้ต่างๆ ในปี 1829 พี่แกก็แกตายลงที่อิตาลี แกได้ทิ้งมรดกที่มีโน้ตแปลกๆ (เหมือนในละครไทยหลายเรื่อง) ว่าถ้าหลานๆ แกตายหมดโดยไม่ทีทายาท พี่แกจะยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดของแกให้กับ ‘สหรัฐอเมริกา เพื่อก่อตั้งสถาบันที่ชื่อสมิธโซเนียน เป็นสถาบันเพื่อเพิ่มพูนและเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ’ ซึ่งการยกมรดกอันมหาศาลให้อเมริกา-ประเทศที่สมิธสันไม่เคยเหยียบไปด้วยซ้ำ ในครั้งนี้กลายเป็นทอร์กออฟเดอะทาวน์ของโลกตะวันตกในช่วงนั้นไปเลย
หกปีหลังจากเจมส์ สมิธสันเสียชีวิต เฮนรี่ เจมส์ ฮังเกอร์ฟอร์ด (Henry James Hungerford) ก็เสียชีวิตลงโดยไม่มีทายาทสืบทอดสมบัติต่อ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1836 สภาคองเกรสแห่งสหรัฐ ที่ในขณะนั้นมีแอนดรูว์ แจ็คสันเป็นประธานาธิบดี ก็ได้ตกลงส่งทูตไปรับของขวัญและเจตจำนงค์ของนักวิทยาศาสตร์ผู้ล่วงลับท่านนี้
สองปีหลังจากนั้นทูตกลับมาพร้อมกับกล่อง 11 กล่องภายในประกอบไปด้วยเหรียญทองคำ 104,960 เหรียญ เงิน 8 ชิลลิงกับอีก 7 เพนซ์ พร้อมกับทรัพย์สินสะสมส่วนตัวได้แก่แร่ธาตุ หนังสือ เอกสารตำรา บันทึก และเครื่องใช้ส่วนตัว หลังจากที่เอาทองคำทั้งหมดหลอมรวมกันและประเมินทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว มูลสุทธิประมาณได้อยู่ที่ 500,000 เหรียญสหรัฐในขณะนั้น
หลังจากได้ของขวัญพร้อมเจตจำนงค์ขนาดมหึมามาแล้ว สหรัฐเองก็ใช่ว่าจะจับจ่ายสร้างอะไรไปเรื่อยเปื่อยได้ทันที สภาเองใช้เวลาถึง 10 ปีในการพิจารณาความคิดและข้อเสนอจำนวนมากว่าจะเอาเงินตรงนี้ไปทำอะไรให้สมฐานะและก่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุดแก่ทุกฝ่าย ผลการพิจารณาคือสรุปว่าเอาไปสร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สนับสนุนโครงการวิจัย และอื่นๆ ในประเด็นของวิทยาศาสตร์ ศิลปะและประวัติศาสตร์ จนกระทั่งรัฐสภาออกเป็นกฏหมายในการจัดตั้งสถาบันสมิธโซเนียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 สิงหาคม 1846
ตัวสถาบันสมิธโซเนียนจึงค่อยๆ เติบโตจากเงินสนับสนุนก้อนแรกและการจัดหาจัดสรรเงินทุนเรื่อยมาจนกลายเป็นกลุ่มสถาบันเพื่อความรู้ที่ยิ่งใหญ่ครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เทคโนโลยีอวกาศและการบิน ไปจนถึงศิลปะและประวัติศาสตร์ของผู้คนหลายเชื้อชาติที่เติบโตอยู่ในสหรัฐอยู่ในปัจจุบัน
อ้างอิงข้อมูลจาก