ขณะที่ปี พ.ศ.2563-2564 คือปีแห่งการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่—การต่อสู้เพื่อทวงคืนประชาธิปไตย ขณะเดียวกันกระแสสังคมนิยมประชาธิปไตยและข้อเสนอรูปธรรมเพื่อการสร้างรัฐสวัสดิการก็กลายเป็นข้อเสนอหลักของแทบทุกขบวนการเคลื่อนไหว และกลายเป็นสิ่งพื้นฐานในความต้องการของคนรุ่นใหม่อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะการศึกษาที่ฟรีในระดับมหาวิทยาลัย เงินบำนาญสำหรับพ่อแม่ของพวกเขา ขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่เปราะบางไร้หลักประกันในสังคมที่เหลื่อมล้ำมหาศาล
‘รัฐสวัสดิการ’ ไม่ใช่คำที่ซับซ้อนสำหรับพวกเขา มันกลายเป็นรูปธรรมของประชาธิปไตยที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตามในช่วงกลางปีของทุกปี การพิจารณางบประมาณประจำปีหน้าซึ่งจะเป็นภาพสะท้อนว่า ประชาชนมีความสำคัญแค่ไหนกับรัฐบาล ในสภาพของความถดถอยของเศรษฐกิจในวิกฤติโรคระบาด และความเหลื่อมล้ำที่ขยายออก
เมื่อตัว พ.ร.บ.งบประมาณถูกเปิดเผยออกมาเราจะพบว่า หน้าตาของประชาชนมิได้ปรากฏเป็นสิ่งสำคัญของรัฐบาลแต่อย่างใด แม้จะไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจแต่ก็ชวนตั้งคำถามว่า อะไรคือเบื้องหลังความคิดของรัฐบาลชุดนี้ที่งบประมาณด้านสวัสดิการหรือผลประโยชน์โดยตรงของประชาชนจึงไม่ปรากฏชัดเทียบกับงบประมาณเพื่อคงรักษาความมั่นคงของรัฐ
เคยมีคำอธิบายว่า รัฐบาลที่ไม่เป็นที่นิยม มักจะพยายามสร้างความชอบธรรมผ่านการสร้างนโยบายที่สร้างความนิยมให้แก่ประชาชน แต่ดูเหมือนว่าลักษณะเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับรัฐบาลชุดนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจมานานมากกว่า 7 ปี และปีนี้นับเป็นกลางสมัยการเลือกตั้งที่สภานี้จะมีอายุอีกประมาณ 1 ปี 10 เดือนเท่านั้น แต่เรื่องที่น่าเศร้าและน่าแปลกใจ คือ นโยบายหาเสียงต่างๆ ของพรรครัฐบาล โดยเฉพาะด้านการเพิ่มสวัสดิการประชาชนกลับไม่ถูกผลักดันแม้แต่น้อย ซึ่งหากพิจารณาแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลที่มีการหาเสียงเรื่องนโยบายสวัสดิการอย่างชัดเจน คือ พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคประชาธิปัตย์ และหากเรายังจำได้ พรรคประชาธิปัตย์เคยให้เหตุผลหนึ่งในการร่วมรัฐบาลนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าการเข้าร่วมรัฐบาลนี้อย่างน้อยก็สามารถทำให้เกิดการผลักดัน “นโยบายดีๆ ที่สัญญาไว้กับประชาชนได้”
น่าแปลกใจว่าในเวลาที่ผ่านไปสองปี พรรครัฐบาลที่มีอำนาจเต็มอย่างพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้ผลักดันนโยบายอะไรที่ก้าวหน้าด้านสวัสดิการ และพรรคประชาธิปัตย์ที่นั่งคุมกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ไม่ได้ผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้าอะไรเลยแม้แต่น้อยตามคำสัญญาที่ให้ไว้
มากกว่านั้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีการผลักดัน พระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติฯ ถึง 5 ฉบับโดยสาระสำคัญคือการขยายให้เบี้ยผู้สูงอายุเป็นระบบถ้วนหน้าตามสิทธิของประชาชนทุกคน และอยู่ในอัตราที่เพียงพอต่อการครองชีพ ซึ่งตัวเลขที่นำเสนอทั่วไปในปี พ.ศ.2563 คืออัตราประมาณที่ 3,000 บาทต่อเดือน สำหรับผู้สูงอายุกว่า 11 ล้านคนทั้งประเทศในปัจจุบัน ซึ่งหากเทียบกับ อัตราเฉลี่ยที่ผู้สูงอายุไทยได้รับคือประมาณ 600 บาทต่อเดือน อันเป็นอัตราที่ใช้มาแล้วโดยไม่การปรับมากว่า 10 ปี อัตรานี้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยบำนาญของข้าราชการไทยอยู่ที่ 40 เท่า (เฉลี่ย 24,000 บาท/เดือน)
กฎหมายบำนาญฯ เสนอโดยภาคประชาชน 1 ฉบับ และพรรคการเมืองอีก 4 ฉบับ ถูกปัดตกโดยนายกรัฐมนตรีทั้งหมด โดยตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนนูญ พ.ศ.2560 ที่ร่างพระชาชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องถูกพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรีก่อนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีและข้าราชการกลุ่มเล็กๆ กลายเป็นคนที่ตัดสินสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิตของประชาชน—ประชาธิปไตยถูกทำให้ไร้ความหมายโดยปริยาย
ในการอภิปราย พรบ.งบประมาณรอบแรก ได้มีการยกประเด็นนี้จาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากเหมือนกันที่ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการะทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้ลุกขึ้นตอบในประเด็นคำถามถึงการที่ไม่มีแผนการเพิ่มงบประมาณการดูแลเด็กสู่ระบบถ้วนหน้า หรือการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญของคำตอบได้ดังนี้
1. การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ หรือการเพิ่มเงินเลี้ยงดูเด็ก เหมือนกับการให้ปลา ไม่ได้เป็นการให้เบ็ดที่จะทำให้ประชาชนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง
2. การเพิ่มเงินเด็กถ้วนหน้าหรือเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้านี้นับเป็นภาระที่ใหญ่หลวง เงินไม่ได้ได้มาฟรีล้วนมีต้นทุน
3. รัฐบาลสามารถช่วยคนได้หลากหลายมากกว่ามิติของการให้เงิน เช่น กระบวนการการควานหาคนจนหรือผู้ยากไร้ ก็สามารถช่วยให้ได้ทั้งหาบ้าน สร้างงาน ให้คำปรึกษา ฯลฯ อย่ามองเพียงแค่ตัวเงิน
และเมื่อย้อนกลับไปอ่านคำชี้แจงว่าด้วยการปัดตก พรบ.บำนาญก่อนหน้านี้ ก็ล้วนเป็นเหตุผลเดียวกัน โดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงสุดท้ายที่ควรจะปฏิเสธพระราชบัญญัตินี้กลับเป็นกระทรวงที่แข็งขันในการปฏิเสธการขยายตัวของสวัสดิการ และไม่มีความพยายามในการยื่นงบประมาณตามที่ตนได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน
คำถามสำคัญคือ เหล่าชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ‘ซีเรียส’ จริงๆ กับเรื่องปลาเรื่องเบ็ดหรือไม่ หรือกังวลจริงๆ กับการที่การเพิ่มงบประมาณคนแก่และเด็กจะเป็นภาระให้ประเทศนี้ล่มสลาย หรือพวกเขาใส่ใจในการใช้งบประมาณของประเทศนี้อย่างจริงจัง เพราะอยากจะช่วยประหยัด อยากใช้งบตามความจำเป็น ด้วยการสร้างระบบการควานหาคนที่จำเป็นมากกว่าการวางงบประมาณให้เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามช่วงวัย
มันไม่ตรงกับความเป็นจริงอย่างเด่นชัด เพราะ กระทรวงกลาโหมน่าจะเป็นระทรวงที่ใช้ ‘เบ็ด’ ราคาแพงที่สุดในโลก และเป็น ‘เบ็ด’ ที่ต้องซื้อใหม่ทุกปี ซ้ำร้ายกว่านั้นก็ยังเป็น ‘เบ็ด’ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องซ่อมเบ็ดที่แทบไม่ได้ใช้อะไร สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญว่า เมื่อใดก็แล้วแต่ที่เป็นงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามควบคุมประชาชน พวกเขาไม่เคยเถียงเรื่องปลาเรื่องเบ็ดแต่อย่างใด
พร้อมกันนั้น ขณะที่สถานการณ์โรคระบาด การเพิ่มอัตราบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการเพิ่มสวัสดิการของประชาชนในหลายมิติ เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้คนสามารถวางแผนกับชีวิตและลดความกังวลพื้นฐานยามเศรษฐกิจถดถอย มีสิ่งใดที่สำคัญกว่าการลงทุนในชีวิตของประชาชน สิ่งที่ปรากฏคือมีหลายโครงการของรัฐบาลและงบประมาณหลายส่วนที่ถูกตั้งโดยปราศจากตัวชี้วัด ประสิทธิภาพ ไปจนถึงความคุ้มทุน แต่พวกเขากลับเข้มงวดเรื่อง ‘ความคุ้มค่า’ เมื่อสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องของประชาชน กลับกันมันคือเรื่องที่เป็นไปได้เสมอเมื่อพูดถึงงบประมาณเพื่อรักษาความเหลื่อมล้ำต่อไป
ขณะที่พวกเขาอ้างกับประชาชนถึงงบประมาณที่จำกัดว่าให้เข้าใจ ให้เห็นใจ มีคนที่ลำบากกว่า ราวกับให้เราต้องแย่งชามข้าวกัน แต่สิ่งที่ปรากฏชัดในงบประมาณประจำปี พ.ศ.2565 จะเห็นได้ว่า กลุ่มคนที่ลำบากและเดือดร้อนที่สุดมีโอกาสถูกกีดกันจากโครงสร้างพื้นฐานสวัสดิการยามที่เศรษฐกิจถดถอย ถ้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ดีขึ้น เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าไม่เพิ่มขึ้น เงินเลี้ยงเด็กถ้วนหน้าไม่เพิ่ม หนี้ กยศ.ที่กำลังตามมาเมื่อพวกเขาว่างงาน ความลำบากนี้กำลังแผ่ขยายอย่างถ้วนหน้า แต่รัฐกลับอ้างที่จะแก้ไขด้วยวิธีควานหาคนจนแบบเดิม และไม่คิดที่จะเพิ่มงบประมาณที่ ‘มีประชาชนในสมการ’
โดยสรุปแล้วพวกเขาไม่ได้ยึดติดกับหลักการทางงบประมาณที่สูงส่งอะไร เพราะพวกเขามีข้อยกเว้นอยู่เสมอเมื่อต้องตอบสนองต่อผู้มีอำนาจ
แต่นอกจากเรื่องเงินและทรัพยากรแล้ว เหตุใดพวกเขาจึงรังเกียจงบประมาณ ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ สำหรับประชาชนถึงเพียงนี้ เพราะงบประมาณก็ถูกใช้ไปกับเรื่องอื่นๆ มากมายอยู่แล้ว และตัวอย่างงบประมาณกับการเพิ่มเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้าก็เป็นหลักหมื่นล้าน หรือเศษเสี้ยวทศนิยมของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
เหตุผลหนึ่งคือคำว่า ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ มันมาพร้อมกับคำว่า ‘สิทธิ’ อันเป็นหน่ออ่อนสำคัญของการตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจและโครงสร้างความเป็นธรรม อันเป็นเหตุผลว่า รัฐบาลอาจมีโครงการเราชนะ เรารักกัน บัตรผู้มีรายได้น้อย โครงการสงเคราะห์ต่างๆ แต่ย่อมไม่ยอมให้ทุกอย่างกลายเป็น ‘สิทธิ’ ของประชาชนได้อย่างเด็ดขาด เพราะจะนำสู่การตั้งคำถามอย่างไม่รู้จบถึงความไม่สมเหตุสมผลของงบประมาณที่ปรากฏชัดให้เราเห็นทุกปีไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon