จัน! กริ๊ง!
เรามักจะเห็นฉากชนแก้วในซีรีส์เกาหลีอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากของคู่พระ-นาง หรือกลุ่มเพื่อนที่กำลังสังสรรค์ ซึ่ง ‘โซจู’ (Soju) ก็คือหนึ่งในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ครองใจคนเกาหลี ทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ และโซจูก็นับว่าเป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่ประเทศเกาหลีมาหลายปี ในแง่ของเครื่องมือในการเข้าสังคม (social icebreaker/lubricant) และเครื่องดื่มที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการกินให้มีสีสันมากขึ้น
วันนี้เราเลยไปพูดคุยกับ คิมมินจี (Kim Min Jee) ผู้ดูแลฝ่ายการตลาดของบริษัท นันดา เทรด จำกัด ที่นำเข้าโซจูชื่อดังอย่าง Charm กับ The Nanda และคราฟต์เบียร์แห่งเกาะเจจูอย่าง Jeju Beer ซึ่งนอกจากได้เมาท์มอยกันตามประสาสายดริ้งค์แล้ว วันนี้เธอก็ได้สาธิตวิธีการมิกซ์โซจูเข้ากับเครื่องดื่มอื่นๆ ให้เราดูและชิมกันอีกด้วย
โซจูนี่ถือว่าเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในเกาหลีเลยหรือเปล่า?
จริงๆ คนเกาหลีดื่มแอลกอฮอล์กันเยอะมาก เช่น ไวน์ เบียร์ และมักกอลลี (สาโทเกาหลี) แต่โซจูคือเครื่องดื่มยอดนิยม และเป็นที่จดจำได้มากที่สุด ที่โซจูเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายดีที่สุดในเกาหลี เพราะว่าราคาเป็นมิตรกับผู้บริโภค แล้วก็เหมาะกับการดื่มคู่กับอาหารเกาหลีด้วย
ในฐานะบริษัทนำเข้าโซจู คิดว่าอะไรที่ทำให้โซจูโด่งดังไปทั่วโลก?
บริษัทเรานำเข้าโซจูตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 และเห็นได้ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยเฉพาะหลังจากที่โรคระบาด COVID-19 เข้ามา ซึ่งจริงๆ ต้องขอบคุณรายการหรือซีรีส์เกาหลีที่เผยแพร่วัฒนธรรมการดื่มโซจูให้คนทั่วโลกเห็น เรารู้มาว่าคนไทยชอบดูซีรีส์เกาหลีมาก คนเกาหลีเองก็รู้สึกประหลาดใจที่โซจูขายดีในประเทศอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกาหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่รู้สึกว่าประเทศไทยจะยืนหนึ่งนะ (หัวเราะ)
บทบาทของโซจูในสังคมเกาหลีมีอะไรบ้าง?
คนเกาหลีจะชอบดื่มแอลกอฮอล์กับคนอื่นๆ ซึ่งคนเกาหลีจะสุภาพและให้เกียรติกันมาก เช่น ในที่ทำงาน เราจะมีระยะห่างที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้ยากที่จะทำความรู้จักอย่างสนิทสนมในเวลาเดียวกัน แต่พอมานั่งดื่มโซจู มันช่วยทำลายกำแพงและลดระยะห่างนั้นลง เราเปิดใจพูดคุยกันมากขึ้น รู้จักคนๆ นั้นมากขึ้น เพราะเราไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่จริงจังแล้ว นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงชอบชวนคนอื่นออกไปดื่ม เพราะโซจูช่วยให้คนเข้าสังคมได้ง่ายมากขึ้น
แต่พอเป็นที่ไทย จะเห็นว่าคนไทยมีการเชื่อมโยงกับซีรีส์เกาหลี หรือวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น k-pop เห็นได้จากร้านอาหารดังๆ มักจะตกแต่งด้วยป็อปคัลเจอร์ของเกาหลี และก็มีการเปิดเพลงเต้นด้วย ฉันคิดว่าคนไทยชอบที่จะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมบางอย่างของเกาหลีกับการดื่มโซจูนะ
มีวัฒนธรรมหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเราจะเห็นในซีรีส์บ่อยๆ เวลาคนเกาหลีไปสังสรรค์ เขาจะไม่จบกันแค่ที่ร้านเดียว แต่ไปต่อยันเช้าเลย จริงมั้ย?
จริงค่ะ (หัวเราะ) ตอนแรกจะเริ่มด้วยกินข้าวกันก่อน แล้วก็ไปต่อร้านเบียร์ ร้านผับ ร้านคาราโอเกะ เพราะเราเชื่อว่าก่อนจะไปสังสรรค์ เราต้องกินให้อิ่มก่อน อาจจะสั่งเบียร์หรือเหล้ามากินสัก 1-2 ขวด และพอกินเสร็จ เราก็ย้ายไปร้านอื่นๆ ต่อ to start a new round (หัวเราะ)
เวลาจะกลับจากดื่มหนักๆ นี่ต้องเป็นแท็กซี่เท่านั้นใช่มั้ย?
ใช้รถสาธารณะค่ะ เพราะว่าแท็กซี่แพงมากกกกก ไม่เหมือนที่ไทย แล้วในบางพื้นที่ก็หาแท็กซี่ได้ยากมาก เราเลยเลือกที่จะรออยู่ในร้าน จนกว่ารถสาธารณะจะเปิดให้บริการอีกครั้ง
ก็คือรอถึงตี 5 เลยหรอ?
ใช่ค่ะ สมมติคุณไปดื่มที่อีแทวอน ซึ่งเป็นย่านที่หารถแท็กซี่ได้ยากมากหลังจากตี 1 ถ้าจะนั่งแท็กซี่ที่นั่น ก็ต้องดีลกับเขาว่าเราจะจ่ายให้ 5000-6000 บาท นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงไปต่อร้านอื่นๆ แล้วก็รอยันเช้า
เห็นว่ามีวิธีการดื่มโซจูเยอะแยะเลย ช่วยแนะนำหน่อยว่ามีอะไรบ้าง?
ส่วนใหญ่โซดาหรือซอฟต์ดริ้งค์จะไปได้ดีกับโซจู ไม่ว่าจะรสชาติไหนๆ และคนเกาหลีส่วนใหญ่จะเติมรสชาติอื่นๆ ลงไป เพราะพวกเขาไม่ค่อยดื่มรสชาติออริจินัล แต่ปกติคนไทยจะชอบดื่มแอลกอฮอล์กับอาหารที่มีรสชาติอื่นๆ อยู่แล้ว จึงไม่ค่อยดื่มแอลกอฮอล์ที่มีรสจัดมาก
(จริงๆ แล้ว ก่อนที่เราจะนั่งพูดคุยกัน มินจีได้ผสมโซจูให้ชิมอยู่หลายสูตร เช่น ‘โซแม็ก’ หรือโซจูกับเบียร์ โซจูกับน้ำผลไม้ โซจูกับปีโป้ โซจูกับโซดา และโซจูกับไอศกรีมเมล่อน โดยเธอเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วก็ไม่มีสูตรที่ตายตัวอะไรหรอก ทั้งหมดนั้นเราสามารถผสมตามความชอบของตัวเองได้เลย เพื่อความสนุกและความหลากหลาย แถมเธอยังโชว์สกิลการทำโซแม็กบอมบ์ ที่ตีตะเกียบกับช้อนเพื่อให้เกิดฟองในแก้วอีก)
โซจูดื่มคู่กับอาหารอะไรดีที่สุด?
แน่นอนว่าพวกปิ้งย่าง คิดว่าคนไทยก็น่าจะชอบด้วย แถมช่วงหนาวๆ การดื่มโซจูคู่กับอาหารร้อนๆ ก็เป็นอะไรที่เข้ากันมาก นอกจากนี้ก็จะมีซุปเผ็ดๆ ซาซิมิ หรืออาหารทะเลก็ได้ ครั้งหนึ่งฉันเคยถามเพื่อนร่วมงานว่าชอบดื่มโซจูกับอะไร เขาบอกว่ากุ้งแช่น้ำปลา (หัวเราะ)
แล้วมินจีล่ะ ชอบดื่มคู่กับอะไร?
อาหารไทยหรอคะ? ก็จะเป็นแกงส้มอะไรอย่างงี้ คล้ายๆ กับซุปกิมจิอยู่ (หัวเราะ) แต่จริงๆ คนเกาหลีก็ดื่มโซจูกับอาหารทุกประเภทแหละ ถ้าช่วงไหนจนๆ ไม่มีเงิน จะยกดื่มเปล่าๆ ก็ได้
นอกจากโซจูแล้ว คนเกาหลีดื่มอะไรกันอีก?
ก็จะมีมักกอลลี ถ้าตามแถบบ้านนอกจะกินมักกอลลีกันเยอะ อย่างจังหวัดแดจอนบ้านเกิดของมินจีก็กินมักกอลลี แต่ช่วงนี้เบียร์จะดังในเกาหลีมากกว่า พวกคราฟต์เบียร์อะไรแบบนี้ เราจะมีเจจูเบียร์ ที่ต้มบนเกาะเจจู หรือที่ปูซานและกังนัมก็มี ขึ้นอยู่กับจังหวัดต่างๆ เวลาคุณไปที่จังหวัดนั้น คุณก็ต้องลองเบียร์ที่จังหวัดนั้น
แล้วต้องอายุเท่าไหร่ถึงจะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้?
อายุ 20 ปีเป็นต้นไปค่ะ แต่การนับอายุของคนเกาหลีจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ นะ ก็คือนับช่วงอายุที่อยู่ในครรภ์ด้วย แล้วก็เริ่มนับอายุตอนวันที่ 1 มกราคมเลย
คนเกาหลีมองคนดื่มแอลกอฮอล์ยังไงบ้าง? คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือเปล่า?
แล้วคนไทยคิดยังไงหรอคะ? ถ้าชวนกันไปดื่มเหล้าก็จะดูเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า? ที่เกาหลีไม่นะ เพราะพวกเรายากที่จะสนิทกัน เราเลยชอบที่จะชวนกินไปดื่มมากๆ ไม่มีภาพจำที่ไม่ดี เว้นแต่ว่าจะดื่มหนักจนเมาฟุบต่อหน้าเพื่อนๆ ก็อาจจะมีปัญหานิดหน่อย แต่การดื่มของคนเกาหลีถือเป็นวิถีการเข้าสังคมที่สำคัญมาก
มินจีพอจะทราบเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยแล้วใช่มั้ย? พวกเราไม่สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ได้ ไม่สามารถถ่ายรูปให้ติดโลโก้ผลิตภัณฑ์ได้ คิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้บ้าง?
พอจะทราบค่ะ สำหรับฉัน มันค่อนข้างจะเป็นการรับรู้ที่แตกต่างออกไป เพราะในเกาหลีเราดื่มกันบ่อยมาก และเราก็โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันเยอะด้วย ซึ่งกฎหมายของไทยมันเป็นกฎหมายต่างประเทศ และฉันก็ต้องเคารพ จริงๆ ฉันก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดหรอก แต่การปิดกั้นไม่ให้ผู้คนรู้จักเลย มันทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ และคุณจะต้องเป็นคนที่มีเงินมากพอถีงจะผลิตได้อย่างถูกกฎหมาย
ฉันว่าเจตนาของกฎหมายนี้มันก็ดีนะ แต่มันเป็นการทำร้ายอุตสาหกรรมขนาดเล็กไม่ให้เข้าร่วมในตลาดแอลกอฮอล์
แล้วกฎหมายของเกาหลีล่ะ อนุญาตให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ได้หรือเปล่า หรือมีข้อจำกัดด้านเวลาซื้อขายมั้ย?
โฆษณาออนไลน์ได้ค่ะ แล้วก็สามารถขายแบบออฟไลน์ได้ 24 ชั่วโมงเลย ไม่มีการกำหนดเวลาซื้อขาย จะเห็นว่าในไทยมีเหตุผลทางศาสนาด้วย แต่ฉันว่าต่อให้เราโดนสั่งห้ามซื้อเบียร์ สุดท้ายเราก็จะหาทางซื้อมันมาได้อยู่ดี ซึ่งฉันว่ามันเป็นวิธีที่ไม่ได้ช่วยกันผู้คนออกจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้มากเท่าไหร่ มันควรจะมีทางอื่นที่ดีกว่านี้