“ท่านโหวตเสร็จก็คงจะกลับไปกินไวน์ฝรั่งเศส สาเกญี่ปุ่น โซจูเกาหลี ปลายปีนี้ก็อาจจะเตรียมตัวเดินทางปีใหม่ ไปเที่ยวไร่องุ่นไวน์ที่อเมริกา แต่สำหรับเกษตรกร คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการ คนที่อยู่ในวงการสุราขนาดย่อย นี่คือความฝันของพวกเขา”
คำกล่าวจากพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ลุกขึ้นอภิปรายร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
เป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน ที่อยากมีเหล้าเบียร์ให้เลือกยกดื่มได้หลากหลายแบบ แต่กฎหมายในไทยกลับเป็นสิ่งที่ปิดกั้นความหลากหลายนั้นมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดการเรียกร้องปรับแก้กฎหมายให้เปิดเสรีเหล้าเบียร์กันมากขึ้น
แล้วในช่วงก่อนที่การประชุมสภา (2-4 พฤศจิกายน) กำลังดำเนินเพียง 1 วันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ชิงออกมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …. ฉบับใหม่ ซึ่งเท่ากับทำให้เงื่อนไขที่เคยกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 กรณีผลิตสุราทุกชนิดอาจมีผลเปลี่ยนแปลงไป
การเคลื่อนไหวนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า กฎหมายเรื่องสุราจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราจะต้มเบียร์ซดกินเองที่บ้านได้ไหม แล้วรายย่อยจะทำเบียร์ขายได้ขนาดไหน? ชวนมาดูข้อมูลเปรียบเทียบทั้ง 3 กฎหมายนี้กัน
สำหรับกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ระบุถึงเรื่องสุราไว้ว่า
- การต้มกินเอง เป็นเรื่องผิดกฎหมาย
- บริวผับ (Brew Pub) ต้องมีกำลังผลิต 100,000–1,000,000 ลิตร/ปี และมีทุนจดทะเบียน 10ล้านบาท
- โรงผลิตเบียร์ ต้องมีกำลังผลิต 10 ล้านลิตร/ปี
- ทุนจดทะเบียนเบียร์ ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
- เหล้ากลั่นชุมชน ต้องมีเครื่องจักรต่ำกว่า 5 แรงม้า คนงานน้อยกว่า 7 คน และสามารถผลิตได้แค่เหล้าขาวเท่านั้น
- โรงผลิตเหล้าขาว กำลังผลิต 9 หมื่นลิตร/วัน ที่ 28 ดีกรี
- โรงงานผลิตวิสกี้ บรั่นดี จิน กำลังผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตร/วัน ที่ 28 ดีกรี
ส่วน ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …. ฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้นั้น ระบุเรื่องสุราไว้ว่า
- การต้มกินเอง สามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาตต่ออธิบดี และผลิตไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี
- บริวผับ (Brew Pub) ไม่กำหนดเกณฑ์และทุนจดทะเบียน แต่ต้องมีเครื่องจักรที่ได้ตามมาตรฐานกำหนด และผ่าน EIA
- โรงผลิตเบียร์ ไม่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ แต่ต้องมีกระบวนการบรรจุภาชนะที่ติดตั้งระบบการพิมพ์เครื่องหมายเสียภาษี
- ทุนจดทะเบียนเบียร์ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ
- เหล้ากลั่นชุมชน เพิ่มให้มีประเภทไม่เกิน 50 แรงม้า และข้อกำหนดให้ผ่าน EIA แต่ยังได้แค่เหล้าขาว
- โรงผลิตเหล้าขาว ยังคงให้กำลังผลิต 9 หมื่นลิตร/วัน ที่ 28 ดีกรี
- โรงงานผลิตวิสกี้ บรั่นดี จิน ยังคงให้กำลังผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตร/วัน ที่ 28 ดีกรี
การไม่กำหนดขั้นต่ำนี้ แปลว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจเพิ่ม ‘เกณฑ์’ มาในภายหลังได้
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่พรรคก้าวไกลยื่นสภานั้น ระบุไว้ว่า
- การต้มกินเองนั้น สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย
- บริวผับ ห้ามกำหนดทุนจดทะเบียน กำลังการผลิตขั้นต่ำ และการกีดกันอื่นๆ
- โรงผลิตเบียร์ ห้ามกำหนดการผลิตขั้นต่ำ
- ทุนจดทะเบียนเบียร์ ห้ามกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ
- เหล้ากลั่นชุมชน ห้ามกำหนดแรงม้า และจำนวนคนงาน
- โรงผลิตเหล้าขาว ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ
- โรงงานผลิตวิสกี้ บรั่นดี จิน ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ
อย่างไรก็ดี ผลการประชุมสภาเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มีผลคะแนนออกมาแล้วว่า ไม่ผ่านสภาวาระ 3 โดยมีคะแนนเสียงต่างกันเพียง 4 คะแนน 173 ต่อ 177 ซึ่งผลที่ต่างกันไม่มาก จึงต้องมีการนับคะแนนใหม่ ซึ่งผลที่ออกมาคือ มีผู้เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า 194 เสียง ไม่เห็นด้วย 196 เสียง ทำให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกปัดตกไป
นั่นแปลว่า ตอนนี้การผลิตสุราของประชาชน จะเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่เพิ่งออกมา ซึ่งยังมีข้อจำกัดในด้านต่างๆ อยู่
อ้างอิงจาก