คุณเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าไหม?
“ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจํากัด มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นโรงงานเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตจะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรแต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี”
ข้อความข้างบนคือหนึ่งในกฎกระทรวงที่บัญญัติไว้ในเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตสุรา 2560 ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ปี 2560 ที่หลายคนมองว่ากำหนดเกณฑ์ไม่คิดถึงผู้ประกอบการขนาดย่อยที่ไม่มีเงินทุนสูง และอีกแง่หนึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อ ‘กันเหนียว’ ให้กลุ่มนายทุนครองตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คุมตลาดได้เบ็ดเสร็จ ไม่ต่างจากปิดช่องทางรวยประชาชนคนอื่น
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ จากพรรคก้าวไกล อดีตคนทำคราฟต์เบียร์ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้โดยตรง เป็นอีกหนึ่งคนที่เห็นปัญหานี้ และออกมาเดินหน้าผลักดัน ‘ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ หรือ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้ผ่านสภาเพื่อหวังจะเปิดช่องให้ประชาชนทั่วไปที่หลงใหลในรสชาติแอลกอฮอล์มีโอกาสนำความชอบส่วนตัวนี้มาพัฒนาต่อเป็นอาชีพ โดยไม่ต้องเจออุปสรรคเรื่องเงินทุนที่สูงไปนัก
แม้ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฉบับนี้ จะเน้นไปที่การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการผลิต ‘สุรา’ โดยตรง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีแค่ผู้ผลิตรายย่อยได้ประโยชน์เท่านั้น การปลดล็อกสุราเสรียังช่วยให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในตลาด ได้ลิ้มรสเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หลากหลาย และถูกจริตตัวเองมากขึ้น
และนอกจากชาวแอลกอฮอล์เลิฟเวอร์แล้ว ผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เองก็จะได้ผลดีจากผลิตภัณฑ์สุราที่มีความหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน อุตสาหกรรมเหล้าไทยไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ยืนอย่างโดดเดี่ยว มันได้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบจากเกษตรกร บรรจุภัณฑ์ การขนส่งและการคมนาคม การท่องเที่ยว ไปจนถึงร้านค้า ร้านโชห่วยต่างๆ และทุกหนทุกแห่งที่มันหยั่งรากไปถึง นั่นอาจหมายถึงมีคนตกงานน้อยลง ผู้คนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวมากขึ้น
นั่นจึงทำให้ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าไม่ใช่แค่ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการแอลกอฮอล์รายเล็ก แต่ยังสร้างความหวังให้กับอาชีพที่อยู่ใน Supply Chain ด้วย
แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนเส้นทางสู่ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนที่หวัง เพราะเพียงแค่วาระ 1 สภาก็มีมติส่งร่างฯ กลับไปให้ ครม.พิจารณาเป็นเวลา 60 วันก่อนรับหลักการ ทำให้ร่างสุราก้าวหน้าของก้าวไกลถูกส่งกลับไปดองอีกครั้ง หลังก่อนหน้าเพียง 1 สัปดาห์ก็ไม่ได้รับการพิจารณาเพราะสภาล่ม (อีกแล้ว)
แล้ว พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าไม่ดีอย่างไร ทำไมสภาจึงไม่เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายดังกล่าว The MATTER จะชวนไปดูข้อแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ และร่างแก้ไขของก้าวไกล ว่าตัวกฎหมายฉบับใหม่นี้จะมาเปลี่ยนแปลง และทลายกำแพงใดที่ทำให้เหล่า ส.ส. (not all) ไม่เห็นด้วย
พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ปี 2560
พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ปี 2560 เหมือนกฎหมายหลายๆ ฉบับที่จะมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย แต่ส่วนที่เราจะพุ่งเป้าไปคือเงื่อนไขในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตของผู้ประกอบการรายเล็ก
ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตสุราคือ มาตรา 153 ที่ระบุว่า “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง”
ซึ่งเงื่อนไขส่วนที่มีปัญหา คือ
– “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองให้ยื่นคำขออนุญาต…” หมายความว่า หากประชาชนต้มเหล้าหรือผลิตเบียร์เองโดยไม่ได้รับอนุญาต(ต่อให้เป็นการต้มบริโภค) ก็จะมีความผิดทางกฎหมายตามมาตรา 5 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำสุรา หรือมีภาชนะ หรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครอง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีฯ เพราะในเนื้อกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่า ‘เพื่อการค้า’ หรือ ‘เพื่อบริโภค’
– โรงผลิตเหล้าขาว ต้องใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน
– โรงผลิตเหล้ากลั่นชนิดอื่น ที่ไม่ใช่กลั่นชนิดพิเศษ (วิสกี้, บรั่นดี ฯลฯ) และกลั่นชนิดเอทานอล ต้องมีขนาดกําลังผลิต 9 หมื่นลิตรต่อวัน สำหรับ 28 ดีกรี
– โรงผลิตเบียร์ ต้องมีขนาดกําลังการผลิตไม่ตำ่กว่า 10 ล้านลิตรต่อปี
– ตั้งบริษัทเบียร์ บริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ตำ่กว่า 10 ล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจํานวนหุ้นทั้งหมด โดยมีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชําระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
– หากต้องการผลิตเบียร์เพื่อขายในร้าน ต้องมีขนาดกําลังการผลิต ไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี
พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
คอนเซ็ปต์ของ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หรือร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่พรรคก้าวไกลเสนอมาคือ “ปลดล็อกผลิตสุราเสรี ทลายการผูกขาดนายทุน” โดยรายละเอียดเนื้อหามีทั้งสิ้น 7 มาตรา เน้นไปที่การแก้ไขมาตรการ 153 ที่เป็นปัญหาโดยเฉพาะ ดังนี้
– เพิ่มคำว่า “การค้า” ลงในมาตรา 153 เพื่อเปิดให้ประชาชนสามารถผลิตสุราในครัวเรือนได้ จากเดิมคือ “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี….” เปลี่ยนเป็น “ผู้ใดจะประสงค์ผลิตสุราเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี…”
– ไม่กำหนดเกณฑ์ในการผลิตเหล้าเบียร์ ทั้งกำลังแรงคน และกำลังเครื่องจักร รวมถึงขั้นต่ำที่ต้องผลิต เพื่อให้ผู้ผลิตรายย่อยเข้าถึงได้
– ในกรณีของการตั้งบริษัทเบียร์ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย
ร่างแก้ไขของก้าวไกลระบุว่า การกำหนดเงื่อนไข แนวทางกฎบัติ และเกณฑ์การผลิตสุราที่ไม่เหมาะสมถือเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินเหตุ เป็นการกีดกันประชาชนออกจากการประกอบอาชีพ ซึ่งขัดต่อมาตรา 40 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการประกอบอาชีพ จึงควรปรับกฎหมายให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
มีคำกล่าวว่า “สุราคือศิลปะ” มันเป็นพู่กันที่แต่งแต้มให้สังคมเต็มไปด้วยสีสันและความสุนทรีย์ แต่อีกแง่หนึ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่มีมูลค่าและสร้างรายได้มหาศาลในหลายประเทศ รวมถึงไทย
ในปี 2021 แม้จะมีการระบาด ผับบาร์โดนสั่งปิด แต่ไทยยังทำรายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สูงถึง 7.2 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2020 ทำรายได้ 7.3 แสนล้านบาท และปี 2019 อยู่ที่ 8.5 แสนล้านบาท ตัวเลขเหล่านี้ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า หากอุตสาหกรรมเหล้าไทยเปิดกว้างและเสรีกว่านี้ รายได้จากสุราไทยจะเพิ่มขึ้นไหม เพราะเชื่อว่ามีนักดื่มอีกมากมายทั้งไทยและต่างชาติที่พร้อมจะเปิดประสบการณ์ลิ้มลองเหล้าเบียร์สัญชาติไทยรสชาติใหม่ๆ นอกเหนือจากที่ตลาดมีอยู่ในตอนนี้
แต่น่าเสียดายที่ผ่านมา กฎหมายในประเทศเราไม่เปิดทางให้ผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยมีโอกาสได้แสดงฝีมือและพัฒนาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของตัวเองขึ้นมา ทำให้เราสูญเสียสุรารสชาติดีที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น สูญเสียนักคราฟต์เบียร์ฝีมือดีที่ต้องหอบความฝันไปฝากไว้กับประเทศอื่น สูญเสียรายได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายที่หลากหลาย ส่วนเหล่าแอลกอฮอล์เลิฟเวอร์เองก็สูญเสียตัวเลือกดีๆ ในตลาดไปด้วย
แล้วคุณล่ะ… อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว คุณมีคำตอบให้กับคำถาม “เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าไหม?” หรือยัง
อ้างอิงจาก
file:///Users/apple/Downloads/6.4%20%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95.pdf
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/095/59.PDF
https://www.bbc.com/thai/thailand-60314229
https://www.statista.com/outlook/cmo/alcoholic-drinks/thailand#global-comparison