“สำหรับผมแล้ว อย่างน้อยต้องขับเคลื่อนไปซ้าย ไม่งั้นเราก็เหมือนหวังกับการเมืองไม่ได้ พอเราหวังกับการเมืองไม่ได้ ก็เข้าสู่ survival mode”
ช่วงนี้ทุกคนรู้สึกเหมือนกันไหมว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในยุคถดถอย ที่ทุกคนต่างต้องพยายามเอาตัวรอด ท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเงิน หลายๆ คนต้องกอดงานให้แน่น ใช้เงินให้น้อยที่สุด บางคนจำใจต้องละทิ้งความฝัน เพราะด้วยกำลังทรัพย์ที่ไม่เอื้ออำนวย
ถ้าหากมองในภาพกว้าง เราจะเห็นว่า นอกจากเรื่องค่าครองชีพ และการต้องสู้ยิบตาเพื่อดิ้นรนเอาตัวรอดในระบบทุนนิยมแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และช่วงว่างระหว่างคนที่รวยและจน ซึ่งดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน
คำถามที่ตามมาคงหนีไม่พ้นว่าแล้วระบบทุนนิยมในบริบทไทยๆ นี้ กำลังเผชิญกับปัญหาแบบไหนอยู่บ้าง? The MATTER ชวนหาคำตอบและหาทางออกไปกับ ศ.สรวิศ ชัยนาม อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระบบทุนนิยมทำให้คนต้องดิ้นรนหนักตลอดเวลาจริงไหม

ศ.สรวิศ ชัยนาม
ก่อนไปสู่คำถามนี้ ผมขอพูดถึง survival mode โหมดของการเอาตัวรอดก่อนแล้วกัน ผมคิดว่ามันมี 2 รูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น อย่าง survival mode ของคนส่วนใหญ่ ใช้คำว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจมาในรูปแบบอย่างที่เรารู้กันก็คือเกิดความรู้สึกกังวล เครียด ซึมเศร้า สิ้นหวัง และมาควบคู่กับ การแข่งขัน ต่อสู้ ที่ต้อง aggressive มากๆ
แล้วก็ต้องรู้สึกว่า ถ้าบ้านนั้นได้ ครอบครัวนั้นได้ ครอบครัวฉันต้องเสีย ถ้าลูกบ้านนั้นได้ นั่นหมายความว่าเกิดการแย่งชิงบางอย่างกับลูกฉัน มันเหมือนกับ เขาได้ เราเสียตลอดเวลา แล้ว survival mode ของคนส่วนใหญ่ตรงนี้ ในหลายๆ ประเทศมันก็สะท้อนให้เห็นผ่านจำนวนครอบครัวที่เล็กลง แต่งงานกันน้อยลง แต่งงานแล้วไม่มีลูก
อัตราการเกิดของเด็กทารกที่ลดน้อยลงในหลายประเทศ รวมถึงในไทยด้วย หรือแม้ประเทศที่พัฒนามากมาย อย่างในเกาหลีใต้ อเมริกา ญี่ปุ่น ก็อาจจะเป็นภาพสะท้อนของ survival mode ของคน 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิกฤตของการผลิตซ้ำทางสังคม หรือก็คือวิกฤตการณ์ของการสร้างคน ทุกอย่างที่จำเป็นต่อการสร้างคน มันถูกเปลี่ยนให้เป็นสินค้า ถูกเปลี่ยนให้เป็นการแสวงหาผลกำไร
พูดง่ายๆ ว่า ตลาดทุนนิยมรุกคืบเข้ามาในทุกปัจจัยของการสร้างคน แล้วมันหาประโยชน์ หากิน หากำไรได้ ตั้งแต่การศึกษา ตั้งแต่สุขภาพ ตั้งแต่คุณอยู่ในครรภ์ ฝากครรภ์ที่ไหน คลอดที่ไหน ไปจนถึงที่อยู่อาศัย การเดินทาง หรือถึงขั้นอากาศสะอาด น้ำสะอาด ดังนั้น ทุกอย่างที่จำเป็นต่อการสร้างชีวิต สร้างคน ดำรงชีวิต และการทำให้คนสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไป เพื่อไปทำงานอะไรอย่างนี้มีมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นตลาดสินค้าที่สร้างผลกำไร และมักจะมาคู่กับการเติบโตของภาคการเงิน ภาคประกัน อย่างเช่น ถ้าคุณไม่มีเงินเรียน เพื่อนๆ สามารถเรียนเอกชนได้ ไม่มีเงินเรียน ก็ไปกู้ยืมเงิน มีสินเชื่อมากมาย ไม่มีเงินเช่าบ้าน ไม่มีบ้านอาศัยอยู่ ก็เอารถไปจำนองสิ ไม่ถึง 24 ชั่วโมง คุณได้เงินแล้ว เพราะเงินซื้อบ้านมันไม่พอ แต่คุณต้องมีใช่ไหม เพราะถ้าคุณไม่มี คุณก็ไร้บ้าน ดังนั้นคุณไปยืมเงิน ไปกู้ยืมเงินธนาคารได้ ซึ่งสำหรับผมสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยมันต้องเริ่มจากเลขหนึ่ง แปลว่าทุกคนสมควรได้รับ เข้าถึงได้
ซึ่งสิ่งนี้เป็นภาพสะท้อนของ survival mode ของคนส่วนใหญ่ คนที่กำลังเผชิญกับวิกฤตของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วิกฤตของการสร้างคน วิกฤตการณ์ดูแล ที่มักจะเห็นได้ว่าป่วยที ก็แทบจะล้มละลาย คือหัวทุกคนอยู่แค่พ้นน้ำ ถ้าเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมา หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต มีคนป่วยหนัก หรืออะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างมันจมกันหมด มันเป็นวิกฤต เพราะกระแสทุนนิยมนั้นหากำไรกับการสร้างคน คนกลายเป็นตลาดที่สำคัญในการสร้างผลกำไร
แล้วคนอีก 1 เปอร์เซ็นต์รับรู้ถึงวิกฤตนี้หรือไม่ พวกเขามีวิธีรับมืออย่างไร

ศ.สรวิศ ชัยนาม
วิกฤต survival mode ของคน 1 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งเลย ผมรู้สึกว่าพวกเขายอมรับด้วยซ้ำว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่าหายนะของสิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปสู่หายนะของมนุษยชาติ และการล่มสลายของสังคมในประเทศต่างๆ แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะยับยั้ง
หรือพยายามที่จะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้หายนะที่ผ่านมาทิ้งร่องรอยไว้ แต่พวกเขากลับทำทุกอย่างเหมือนเป็นภาวะปกติ พวกเขากลับหากินและหาประโยชน์กับหายนะในอดีต ซึ่งผมมองว่าพวกเขารู้สึกมั่นใจว่าพวกเขาจะรอด ขณะที่คนส่วนใหญ่อาจจะวิตกกังวล ซึมเศร้า สิ้นหวัง แต่ในส่วน 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นกังวลบ้างว่า ถ้าสังคมล่มสลายแล้ว คนที่ไม่รอดจะทำอะไรพวกกูหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็รู้สึกว่ามั่นใจว่าคนส่วนใหญ่จะไม่รอด เพราะคน 1 เปอร์เซ็นต์ อาจจะรู้สึกว่าอนาคตของพวกเขา เป็นคนละอนาคตกับคนส่วนใหญ่ เป็นอีกเส้นในอนาคตที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ดังนั้นพวกเขาก็ไม่ต้องมีเหตุผลที่จะต้องมาสนใจ อารมณ์แบบเราไม่ได้ลงเรือลำเดียวกัน พวกแกจม แต่ฉันรอด
ไม่ต้องสนใจว่าเรือจะเป็นยังไง ไม่ต้องสนใจว่าจะอยู่รอดหรือไม่รอด เพราะฉันมีโอกาสรอดสูงกว่า ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ก็เช่นเรื่อง Don’t Look Up หรือแม้แต่ Micky 17 ที่มีการหนีไปดาวอื่น

Mickey 17 cr.Warner Bros. Pictures
แต่ในโลกของความเป็นจริงของเรา ก็มีธุรกิจมากมายที่รองรับวันสิ้นโลก อย่างมีหลุมหลบภัยพิเศษสำหรับมหาเศรษฐี ที่เยอรมนี หรือที่นิวซีแลนด์ มหาเศรษฐีอย่าง Peter Thiel, Bill Gates และ Elon Musk ซื้อไว้ เพราะมันไกลหูไกลตาคน เป็นทะเล เหมือนเป็นโลกของพวกเขาเองเลย มีเครื่องปั่นไฟ เครื่องผลิตน้ำ ผลิตอาหาร
พอถึงจุดนั้นแล้ว วันสิ้นโลกแล้ว มันจะมีเรือ มีเครื่องบินต่างๆ มารับทุกคนไป ดังนั้นมันจึงอันตราย เพราะคนเหล่านี้รู้สึกว่าอนาคตของเขากับของผู้คนส่วนใหญ่มันไม่ได้เชื่อมโยงกัน เขาไม่ต้องแชร์อากาศหรือแชร์พื้นที่กับทุกคน อย่างในกรุงเทพฯ ก็มีแล้ว พื้นที่พิเศษของโครงการเอกชนแห่งหนึ่ง ที่อากาศจะสะอาดกว่า อุณหภูมิจะต่ำกว่าข้างนอกกี่องศาก็ว่ากันไป
หรือการเกิดขึ้นของพวกหุ่นยนต์ รถยนต์ขับด้วยตัวเอง รถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์พ่อบ้าน หุ่นยนต์ทำความสะอาด ทั้งหมดถูกสร้างมาเหมือนว่าคน 1 เปอร์เซ็นต์ ต้องการตัดขาดจากผู้คน ต้องการความมั่นใจว่าจะพึ่งคนให้น้อยที่สุด เพราะการมีคนอยู่มาก มันอันตรายสำหรับตัวพวกเขาแล้วกัน
แล้วอาจารย์คิดว่าทุนนิยมพาเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ในด้านหลักการก่อนละกัน ต้องตีโจทย์ตามชื่อ ทุนนิยม คือ นิยมทุนเหนือสิ่งอื่นใด มันไม่ได้นิยมประชาชน ไม่ได้นิยมการกินดีอยู่ดีของผู้คน แต่มันนิยมทุน มันคือความอยู่รอดของทุน ทำยังไงให้ทุนเติบโต ให้ทุนงอกงาม ให้ทุนรอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่ควรจะไปสรุปว่า การเติบโตของทุนมันเท่ากับการอยู่ดีกินดีของคน หรือเท่ากับชีวิตที่ดีของผู้คน ไม่เกี่ยวกันเลยสักนิด มันตรงข้ามเลยด้วยซ้ำ
ต้องมองแนวคิดนี้ด้วยหลักการที่ว่า ตัวระบบเองไม่ได้เอื้อสำหรับคนส่วนใหญ่ ถ้ามีประโยชน์อะไรขึ้นมา มันไม่ได้เกิดจากสิ่งที่ขับเคลื่อน แต่เป็นผลพลอยได้บางอย่างที่ได้โดยบังเอิญ โดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจจะตั้งใจให้เกิดขึ้นเพราะสร้างผลกำไร หรือบังเอิญนำไปสู่ผลกำไรอีกทีแล้วกัน

ศ.สรวิศ ชัยนาม
เราชอบบอกกันว่า “ทุนช่วยสร้างงาน มีนักลงทุนช่วยสร้างงาน” ถ้ามันไม่สร้างผลกำไร เขาจะไม่จ้างสักคน แต่มันเป็นหนทางสู่ผลกำไร เขาก็เลยต้องจ้างคน แต่ถ้าในอนาคตมันมีโอกาสที่เขาไม่ต้องจ้างใครเลย แล้วยังนำมาซึ่งผลกำไร เขาก็จะไม่จ้าง ทุนมันไม่จำเป็นจะต้องสร้างงาน และการลงทุนก็ไม่จำเป็นจะต้องสร้างงาน
เพราะฉะนั้นเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไงก็คงต้องย้อนไปสัก 30-40 ปีที่แล้ว อย่างน้อยสุดก็คงต้องมองไปสู่หลังสงครามเย็น ช่วงทศวรรษ 90 หลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ ที่ทำให้ทุนนิยมนั้นเป็นเศรษฐกิจการเมืองแบบเดียว หรืออาจจะเรียกได้ว่า เข้าสู่ความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของทุนนิยม ที่กลายเป็นหนึ่งเดียว
นอกจากระบอบคอมมิวนิสต์ที่ล่มสลายไป ที่อาจมองได้ว่าพ่ายแพ้ทุนนิยม แต่ในปัจจุบันเราก็เริ่มเห็นแล้วว่า นอกจากระบอบคอมมิวนิสต์ที่พ่ายแพ้ มันก็คือประชาธิปไตยเอง ที่เริ่มพ่ายแพ้ หรือได้พ่ายแพ้ไปไม่มากก็น้อยแล้ว เพราะ 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทุนนิยมเติบโตโดยปราศจากผู้แข่งใดๆ ปราศจากระบบคอมมิวนิสต์ที่มาขัดขวาง หรือพูดง่ายๆ ว่า พอมันเป็นระบบเสรีแบบทุนนิยมหรือของทุน มันทำตามอำเภอใจ
เพราะในยุคสงครามเย็น ยุคที่ยังพอมีระบอบคอมมิวนิสต์ อีกด้านหนึ่งทุนนิยมมันก็ต้องเจียมตัวหน่อย ที่มันรู้สึกว่าถ้าเกินเลยไป เกิดการปฏิวัติขึ้นมาทำยังไง เพราะในตอนนั้นก็มีสหภาพแรงงาน มีพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคสังคมนิยม และมีระบอบโซเวียตต่างๆ ที่คอยสนับสนุน และพรรคเหล่านี้กำลังแข่งขันกัน ทุนนิยมก็เลยรู้สึกว่า เราต้องเจียมตัวในระดับหนึ่ง เพราะว่ายังมีศัตรู ยังมีคู่แข่งอยู่ เราจะเอนเอียงเกินเลย ไม่ให้อะไรประชาชนหรือแรงงานเลยไม่ได้ จะทำตามอำเภอใจอย่างเดียว ก็จะพังกันหมด

ชาวเยอรมันจากตะวันออกและตะวันตกยืนอยู่บนกําแพงเบอร์ลิน หลังการล่มสลายของกําแพงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 1989 cr.AP Photo/File
แต่พอทุนนิยมกลายเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีคู่แข่ง ในด้านหนึ่งการควบคุมจากการเมืองก็ไม่มีฝ่ายซ้ายไปด้วย พรรคการเมืองประนีประนอม พรรคการเมืองถอดใจ พรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ก็กลายเป็นกลับตัวกลับใจ กลายเป็นโปรทุนนิยม แล้วตอนนี้ก็แทบจะเป็นทุกพรรคการเมือง ไม่ได้พยายามที่จะต่อต้าน ไม่ได้พยายามที่จะวิจารณ์อำนาจ
ดังนั้น การควบคุมก็ลดน้อยลง สหภาพแรงงานก็อ่อนแอลง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทุนโตได้โดยการทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ แล้วก็กลายเป็นศัตรูสำหรับทุนนิยม ระบอบที่เคยยอมประนีประนอมกับประชาชน ตามสถานการณ์ของประชาชนหรือกับประชาธิปไตย เนื่องจากมีภัยคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อมันไม่มีสิ่งนี้แล้ว มันก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำตัวดี ทำตัวเป็นคนดี
ในเมื่อฉันเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ ฉันมีทางออกส่วนตัวของฉันแล้ว ฉันอาจจะรอด ฉันก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปกังวล หรือคิดว่าทำไมไม่มีรัฐสวัสดิการ ทำไมคนส่วนใหญ่เขาไม่รอด ทำอย่างไรให้พวกเขาอยู่ดีกินดี ทำไมต้องให้พวกเขาพอมีเกียรติ มันไม่จำเป็นนี่หว่า
แล้วทุนนิยมในบริบทไทยๆ มีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหน

ศ.สรวิศ ชัยนาม
อย่างน้อยในไทยมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายหน่อยไหม ลองมีให้ได้ไหม ตอนนี้ไทยไม่มีพรรคฝั่งซ้ายที่วิจารณ์ทุนนิยม ประณามทุนนิยมอย่างเปิดเผย ที่ไม่ต้องมาคอยเคลือบการวิจารณ์ทุน เวลาคุณอยู่ในพรรค liberal พรรคกระฎุมพี พรรคนายทุน แล้วคุณจะวิจารณ์ทุนนิยม คุณต้องเคลือบมันมากมาย คุณต้องแอบ แล้วคุณก็หวังว่าทุนต่างๆ จะไม่เห็นมัน หรือมันจะสุภาพมากพอ พวกเขาจึงจะรับมันได้ ฉะนั้นต้องพยายามมีพรรคฝ่ายซ้ายให้ได้ จึงสามารถประสบความสำเร็จได้ ในหลายๆ ประเทศก็มีให้เห็น อย่างน้อยเป็นเหมือนการชี้ช่องทางว่ายังเป็นไปได้
ในเชิงนโยบาย ถ้าเราพูดในทำนองว่า 1 เปอร์เซ็นต์ กับ 99 เปอร์เซ็นต์ มันคนละอนาคตกันแล้ว เพราะมีความเหลื่อมล้ำมหาศาล ที่ทำให้ 1 เปอร์เซ็นต์ นั้นรู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพวกอื่นแล้ว คำถามต่อมาคือแล้วอะไรเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
ถ้าเราบอกว่า ความเหลื่อมล้ำมาจากมรดก แล้วเราจะทำยังไงดี ที่จะทำให้มรดกนั้นไม่เพิ่ม ไม่ขยาย ไม่ช่วยผลิตซ้ำ เรามีภาษีมรดกไหม อย่างเยอรมนี 90 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมันแรงไปหน่อย เรากำหนดเพดานให้กับมรดกไหมว่าไม่ควรจะได้เกินเท่าไร
อย่างในไทยผมเคยเห็นตัวเลขของเว็บไซต์ต่างประเทศว่า จริงๆ คนที่เราเรียกว่าชนชั้น 1 เปอร์เซ็นต์ในไทย เงินเดือนประมาณแสนห้าต่อเดือน ถ้าคุณได้แสนห้าต่อเดือน คุณก็อยู่ในโหมด 1 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนในระดับของทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย เงินคุณอะไรทั้งหมด มีประมาณ 10 กว่าล้านต่อหัว หรือตีว่า 15 ล้านต่อหัว หากคุณได้เงินเดือนแสนห้า แล้วคุณมี 15 ล้าน เป็นในระดับของทรัพย์สิน คุณคือ 1 เปอร์เซ็นต์แล้วนะ
ถ้าเราพูดถึงหลักร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน เรากำลังพูดคนถึง 0.01 เปอร์เซ็นต์ มันคนละเรื่อง มันคนละดีกรีกัน สมมติว่ามรดกเป็นปัญหา คุณจะทำอะไรกับมรดก เก็บภาษีเท่าไร ถ้าคิดว่าเก็บภาษีแพงไป เราก็ตั้งเพดานไว้ว่า หากคุณมี 100 ล้าน คุณจะได้ใช้เงินจริงๆ อยู่ที่เท่าไร ขณะที่เงินที่เหลือจะถูกนำไปใช้เพื่อสินค้าสาธารณะ เพื่อผู้คน เพื่ออะไรมากมาย
และหากพูดถึงสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำอีกปัจจัยก็คือ รายได้ บางประเทศอย่างในสหรัฐฯ เคยมีสิ่งที่เรียกว่า รายได้ขั้นสูง ที่มีขึ้นเพื่อรักษาไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกินไป เช่น เงินเดือนซีอีโอ ไม่ควรจะมากกว่าพนักงานแรกเข้ากี่เท่า ถ้าลองเทียบคนเงินเดือน 1 ล้านบาท กับคนที่ได้เงินเดือน 20,000 บาท จะเท่ากับว่าคนเงินเดือน 1 ล้านเก่งกว่าอีกคน 50 เท่า และเก่งกว่าคนที่ได้เงินเดือนแสนบาท 10 เท่า คำถามคือมีคนที่สมควรได้ขนาดนั้นหรือเปล่า
ต่อมาถ้าสาเหตุของความเหลื่อมล้ำเกิดจากทรัพย์สิน เราสามารถเก็บภาษีทรัพย์สินได้ เก็บภาษีทรัพย์สินคนรวย หรือที่เรียกว่า wealth tax เช่น เก็บภาษีที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ตึก อาคาร ออฟฟิศ แต่เรามักจะได้ยินข่าวว่าเก็บภาษีแบบนี้ เขาก็หนีไปหมด ซึ่งตัวเขาหนีได้ แต่ทรัพย์สินเขายังอยู่นี่ไง เขาไม่สามารถนำออฟฟิศ ใส่กระเป๋าไปต่างประเทศได้ ตราบใดที่มันยังอยู่ที่นี่ ที่ดินก็อยู่ที่นี่ คุณก็เก็บเขาได้ แล้วคุณก็เอาภาษีไปทำอย่างอื่นที่จำเป็น
มีแนวทางและตัวเลือกอื่นๆ ที่อาจช่วยลดการดิ้นรนของคนได้?
บางคนพูดถึง UBI (Universal Basic Income) หรือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ทุกคนได้ 10,000 บาททุกเดือน แต่เหตุผลหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง คือต้องออกแบบให้มันชัดเจน เพราะมหาเศรษฐีมากมายเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื่องจากจริงๆ แล้วมันเป็นแนวคิดของฝ่ายขวามากกว่า
แต่ประเด็นคือ คุณให้ UBI เหมือนเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อซื้อใจ เพื่อลดแรงเสียดทานทางสังคม แต่ 2 สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือคุณได้เงินหมื่นไปแล้ว แต่ร้านขายยาก็ยังเป็นเอกชนเหมือนเดิม โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเอกชนเหมือนเดิม ทุกอย่างก็ยังแพงเหมือนเดิม
สินค้าทุกอย่างที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิต การสร้างคน ยังเป็นเอกชน เป็นสินค้าที่ต้องซื้อ ดังนั้นอีกแนวคิดที่เกิดขึ้นถัดมาคือ UBS (Universal Basic Services) อันนี้ก็อาจเป็นงานบริการพื้นฐานล่วงหน้า ที่ทำให้สินค้าสาธารณะและสินค้าที่จำเป็นสำหรับชีวิต ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เช่น การขนส่งสาธารณะ ที่จะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทาง
ซึ่งสินค้าสาธารณะจำเป็นต่อการสร้างคน การดูแลทั้งหลาย ดังนั้นมันจึงไม่ควรจะแสวงหากำไรจากสิ่งเหล่านี้ อาทิ ที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพ และการคมนาคม ซึ่งผมคิดว่าชนชั้นนายทุน ไม่ชอบแนวคิดนี้ เพราะเงินและทรัพย์สินทำให้มีเอกสิทธิ์ เขาสามารถสร้างโลกส่วนตัวของพวกเขา ที่สามารถควบคุมได้ พวกเขาจะต่อต้านความเป็นสาธารณะ อาทิ การต้องใช้ขนส่งสาธารณะร่วมกับคนอื่น จะทำให้เขาควบคุมอะไรไม่ได้ อย่างคนที่จะยืนข้างๆ

ศ.สรวิศ ชัยนาม
ไอเดียกว้างๆ แน่นอนว่าเราต้องมีการปฏิรูปอะไรมากมาย แต่เป้าหมายก็คือการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเมือง จากเศรษฐกิจการเมืองที่เน้นการสร้างกำไร เศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยเชื้อเพลิง มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างกำไรสูงสุด เน้นบริโภคนิยม ให้ไปสู่เศรษฐกิจการเมืองที่เน้นใช้คำว่าการสร้างคน และให้คุณค่ากับการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจที่ดูแลผู้คน
ซึ่งไอเดียนี้จะไม่เน้นที่การเติบโต ไม่เน้นที่ตัวเลข GDP แล้วอาจจะไม่สร้างผลกำไรอะไรมากมาย แต่มันดีสำหรับทุกคนมาก สร้างผลดีสำหรับเด็กที่กำลังเกิดใหม่และคนในอนาคต โดยทั่วไปแล้วมันจะให้ความสำคัญกับงานบริการที่สร้างผล ตั้งแต่ครูอนุบาล ยันมหาวิทยาลัย นางพยาบาล งานดูแลทั้งหลาย ดูแล คนป่วย คนเจ็บ คนชรา เด็กเล็ก นี่คืองาน care work ที่จำเป็นต่อการสร้างคน
แล้วแน่นอนการสร้างคนก็ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม อากาศ น้ำ คุณจะทำยังไงให้น้ำมันอยู่ใต้ดิน โดยไม่ดึงมันมาขึ้นมาใช้ และมีการตั้งเป้าได้ว่าจะใช้ลดลงปีนี้ให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ปีหน้า 20 เปอร์เซ็นต์ ปีถัดไป 30 เปอร์เซ็นต์ 40 เปอร์เซ็นต์ 50 เปอร์เซ็นต์ ผ่านไป 10 ปี 100 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ รูปแบบเศรษฐกิจแบบที่กว้างที่สุด หรือเรียกว่าเศรษฐกิจหลังทุนนิยม ข้อดีของมันคือมันกว้าง แต่ขณะเดียวกันก็คลุมเครือ จนมักเกิดการตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจหลังทุนนิยมน่าจะแย่กว่าทุนนิยมชาติหรือเปล่า ซึ่งในทางวิชาการก็เรียกมันว่า degrowth เศรษฐกิจที่ลดการเติบโต ไม่ได้เน้นการเติบโต และไปบวกกับสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ เน้นการสร้างคน มันไม่เน้นผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ดี ถ้าเรายังยึดว่าทุนนิยมเป็นคำตอบสุดท้าย วิจารณ์มันไม่ได้ เป็นสัจพจน์ที่ต้องเคารพตลอดเวลา จะสร้างปัญหามากมาย ความเหลื่อมล้ำ และยังไม่ดีกับประชาธิปไตยด้วย
ทางออกที่ดีที่สุด คือ ไทยจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย?
สำหรับผมแล้วอย่างน้อยต้องขับเคลื่อนไปทางซ้าย ไม่งั้นเราก็เหมือนหวังอะไรกับการเมืองไม่ได้ พอเราหวังการเมืองไม่ได้ ก็เข้าสู่ survival mode ตัวใครตัวมันละ และถึงแม้ว่าบริบทของไทยอาจไม่เอื้อให้มีพรรคฝ่ายซ้าย เนื่องด้วยข้อจำกัดหรือกฎหมายต่างๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ แล้วถ้ายิ่งมันไม่เอื้อ ก็ยิ่งจำเป็นต้องมี
ไม่งั้น การเมืองมันก็จะเหลือแค่ขวาและขวาจัด มันยิ่งน่าเศร้าเข้าไปใหญ่ แล้วจากนั้นสุดท้ายก็จะทำให้คนหมดศรัทธาในกระบวนการเลือกตั้ง เพราะมันไม่มีตัวเลือกอื่น ซึ่งตอนนี้ทุกพรรคโดยรวมเหมือนกัน อนุรักษนิยมเหมือนกันหมดเลย แตกต่างกันที่ความเข้มข้น
ในระดับปัจเจกฯ ยังคาดหวังและทำอะไรได้บ้าง
ผมคิดว่าในขณะนี้เราอยู่ในหายนะแล้ว เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้เจอมันอย่างเท่าเทียมกันและทั่วถึง หลายคนอาจจะเจอก่อนและหนักกว่า หลายคนอาจจะยังไม่เจอ หลายๆ คนอาจจะเจอน้อยหน่อย แต่เราอยู่ในหายนะ มันมาถึงแล้ว เราดำรงอยู่ในหายนะแล้ว เราไม่ต้องรอ อนาคตมันจะไม่ดีขึ้น แต่เรายังยับยั้งมันได้ เราไม่จำเป็นต้องถลำลึกไปกว่านี้ รถไฟกำลังจะตกหน้าผา เรายังดึงเบรกไว้ได้นะ อย่างน้อยเรายังหยุดขบวนรถไฟไม่ให้มันตกลงไปได้ นี่เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ หรือไม่ก็ทำให้มันตกขบวนไปเลยก็ได้ เพื่อจะให้เกิดการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา

ศ.สรวิศ ชัยนาม
อย่างบทเรียนภาพยนตร์ Snowpiercer ของ บง จุน-โฮ ที่พอฉากสุดท้าย ตัวเอกเลือกที่จะทำให้รถไฟตกราง เพราะว่าเขาเข้าใจดีว่าถ้าปฏิวัติ มันจะไม่นำไปสู่อะไรที่ดีขึ้นเลย แค่ทำให้คนท้ายขบวนขึ้นไปเป็นคนหัวขบวน แล้วคนหัวขบวนไปเป็นคนท้ายขบวน มันก็ยังเป็นโครงสร้างที่กดขี่
ดังนั้น ตอนนี้สิ่งที่ทำได้อย่างน้อยที่สุด คือ ต้องไม่ทำให้รถไฟตกขบวน ยังมีโอกาสที่จะสร้างอะไรใหม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากการอยู่รถไฟขบวนนั้น
การมองว่าเราอยู่ในหายนะแล้ว จะเกิดความรู้สึกว่าเราต้องยุติ เราต้องหยุดมันก่อน แต่ผมคิดว่าปัญหาอันหนึ่งก็คือ เรามักจะมองว่าหายนะอยู่ในอนาคต แต่สิ่งที่ผมอยากบอกคือ เราอยู่ในหายนะแล้ว คุณไม่ต้องรอถึงอนาคต คุณดำรงอยู่แล้ว คุณอาจจะโชคดีที่ยังไม่เผชิญหน้ามัน แต่คนอื่นจำนวนหนึ่งเผชิญหน้ากับมันแล้ว ถ้ามองว่ามันเป็นเรื่องของอนาคต คุณจะไม่ทำอะไรเลย
นอกจากนี้ การคิดว่า ถ้าทุกคนรอด เราจะรอด จะช่วยลดความรุนแรงของเรื่องนี้ เพราะว่าในปัจจุบัน survival mode ของคนส่วนใหญ่คับแคบ ฉันต้องรอด คนอื่นจะฉิบหาย เรื่องของเขา อันนั้นเป็นสิ่งที่คนรวยคิดอยู่แล้ว แต่ขยายวงกว้างไปเลย
สมมติเกิดการถกเถียงว่า ถ้าเงินเดือนคุณไม่ถึงเท่านี้ คุณไม่ควรมีลูก มันเหมือนกับถ้าไม่มีเงิน ไม่ควรจะมีลูก ต้องสร้างเนื้อสร้างตัวก่อน แต่ทำไมไม่ตั้งคำถามว่า แล้วสาเหตุอะไรทำให้คนไม่พร้อมมีลูก เป็นเพราะเงินเดือนน้อย หรือเป็นเพราะการสร้างคนเป็นเรื่องของสังคม การสร้างคนเป็นเรื่องของรัฐหรือเปล่า
ถ้าเด็กทุกคนมีการศึกษาที่ดี เข้าถึงอากาศสะอาด น้ำสะอาด สถานพยาบาลที่ดี สังคมก็จะดีหรือเปล่า ทำไมเราถึงไม่ร่วมดูแลกัน ทำไมถึงเป็นแค่ “คุณขยันแค่ไหน คุณมีเงินเก็บแค่ไหน” ผมแค่พยายาม shift การมองปัญหาว่า ไม่ควรจะมองเป็นปัญหาส่วนตัว ต้องมองลึกลงไปกว่านั้น

ศ.สรวิศ ชัยนาม
งานสร้างคนมันเป็นเรื่องของสังคม ที่เราต้องร่วมมือกัน มันไม่ใช่เรื่องของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แบบลูกฉันเก่งกว่าลูกแก ลูกฉันเรียนโรงเรียนดีกว่าลูกแก ลูกฉันจะไปไกลกว่าลูกแก แต่เส้นก็คือ ต้องให้ทุกคนไปไกลเท่าที่จะเป็นไปได้ ทุกคนต้องไปจุดๆ นั้นให้ได้ แต่เขาจะไปได้หรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง
ทำไมให้ทุนนิยมมากำหนดจังหวะชีวิตของผู้คน เขาต้องมีลูกเท่านี้ มีตอนไหน ในสหรัฐฯ มีการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อเด็กคนหนึ่ง เรียนฟรี คลอดฟรี ส่งผลให้คนรู้สึกว่าการมีลูกไม่ได้เป็นภาระที่หนักหนา ไม่รู้สึกว่ามีลูกแล้ว จะเป็นจุดจบของชีวิตขนาดนั้น
ฉะนั้นการดูแลเด็กมันไม่ใช่เรื่องของใครของมัน ถ้าคุณออกจากมุมนี้ได้ ว่าการดูแลลูกคนหนึ่งหรือเด็กคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวในแต่ละครอบครัว แต่เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของการพัฒนาสังคม เป็นเรื่องของส่วนร่วม มันย่อมดีกว่าการดูแลเด็กคนหนึ่งด้วยพ่อแม่แค่ 2 คน เป็นผลดีสำหรับผู้ปกครองด้วย พวกเขาจะมีเวลามากขึ้น มีพลังงาน มีกำลัง ที่จะไปทำอย่างอื่น
บทบาทหน้าที่หนึ่งของครอบครัวทุนนิยม มันทำให้การดูแลเป็นเรื่องส่วนตัวของใครของมัน แล้วเอาส่วนนี้มาแข่งขันกันว่า ใครไปได้ไกลกว่า ลูกฉันเก่งกว่า ฉันเป็นแม่ที่ดีกว่า ฉันเป็นพ่อที่ดีกว่า อะไรต่างๆ นานา แต่ถ้าทุกคนไม่รอด คุณก็ไม่รอด ต้องเน้นที่ทุกคน มากกว่าเน้นที่ใครคนใดคนหนึ่ง