เวลาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หลายคนในฐานะผู้ที่อยู่ในประเทศนี้มานาน คงนึกออกว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ทั้งเรื่องการศึกษาไม่เท่าเทียม เศรษฐกิจที่ขึ้นๆ ลงๆ หรือสิ่งแวดล้อมฝุ่นละออง
ซึ่งเมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคม ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดงานเสวนาเรื่อง ‘Youth Engagement คนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมกําหนดนโยบายสาธารณะ’ ที่ได้มีการเชิญวิทยากรที่เป็นคนในแวดวงการเมืองมาร่วมพูดคุยถึงปัญหาของประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม
The MATTER ได้เดินทางไปร่วมงานเสวนาครั้งนี้ และได้นำประเด็นที่น่าสนใจจากนักการเมืองทั้ง 4 คนมาสรุปให้ฟังกัน
ปัญหาใดจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ต้องถูกมองว่าเป็นปัญหาก่อน
กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องโรคติดต่อไม่เรื้อรังในคนไทยว่า ปัญหาใดจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหานั้นต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญหาเสียก่อน หากผู้ที่มีความรับผิดชอบในการแก้ปัญหายังไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ โอกาสในการแก้ไขปัญหาก็มีไม่มาก
ประเทศไทยเต็มไปด้วยปัญหาเฉพาะหน้าที่สร้างความเสียหายชัดเจนและรุนแรง และเป็นปัญหาที่ได้รับความสำคัญมากกว่า แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นปัญหา แต่อยากให้ลองคิดตามว่า เวลาถูกปัญหารุมเร้าไม่ว่าจะปัญหาระดับประเทศ หรือ ปัญหาระดับบุคคล คนมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องคอขาดบาดตายเป็นอันดับแรกๆ หรือไม่
เราต้องการสังคมที่คนเก่งอย่างหนึ่ง สามารถพัฒนาทักษะด้านนั้นให้เก่งเป็นที่หนึ่งได้
สำหรับปัญหาด้านการศึกษา พริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองรุ่นใหม่ ผู้ทำงานด้านการศึกษา ได้กล่าวถึงวิธีการแก้ไขปัญหาโดยอิงจากคำบ่นที่เขามักได้ยินจากเด็ก
1.เด็กไม่สนุกกับการเรียนในห้องเรียนและไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร
ปัญหานี้เกิดจากค่านิยมที่ว่าเด็กจะต้องเก่งทุกอย่าง ซึ่งได้สร้างความกดดันให้เด็ก สังคมควรให้คนที่เก่งด้านหนึ่ง สามารถพัฒนาทักษะด้านนั้นให้เก่งเป็นที่หนึ่งได้ แม้หลักสูตรปัจจุบันจะมีการแบ่งสายวิทย์ สายศิลป์ แล้ว แต่ก็ยังไม่แคบพอ ต้องมีการสร้างหลักสูตรใหม่ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และเด็กสามารถเลือกเรียนวิชาที่ตัวเองชอบได้มากขึ้น
2.เด็กต่างจังหวัดต้องเข้ามาเรียนพิเศษในกรุงเทพฯ และต้องสูญเสียอะไรหลายอย่าง เช่น ค่าเรียนพิเศษ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก
ปัญหานี้เกิดจาก 3 ต้นตอ หนึ่งคือ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ผ่านมือถือของตัวเอง ต้นตอต่อมา คือ ปัญหาคุณภาพของครู ซึ่งต้องทำให้ครูที่มีคุณภาพอยู่ทั่วประเทศ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่แค่การเพิ่มเงินเดือนครูเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการสร้างระบบความก้าวหน้าทางอาชีพของครูให้มีความน่าดึงดูดด้วย อีกหนึ่งต้นตอ คือ ข้อสอบออกไม่ตรงตามที่เรียนมา ซึ่งต้องมีการรื้อระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อให้การเรียนในห้องอย่างเดียวก็เพียงพอ
3.เด็กมีปัญหาเรื่องการเรียนต่อ
ปัจจุบันภาคเอกชนมีค่านิยมรับคนเข้าทำงานโดยเน้นคนที่จบปริญญาจากมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ หรือ เยอรมัน จะไม่มีค่านิยมแบ่งแยกสายสามัญหรืออาชีวะ คนจะเลือกเรียนตามความชอบส่วนตัวมากกว่า เพราะตลาดแรงงานรับแต่เด็กจบมหาวิทยาลัยมากกว่า จึงไม่สามารถโทษเด็กที่นิยมไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ ดังนั้นทำอย่างไรถึงจะปรับค่านิยมตรงนี้ ให้เด็กได้เรียนตามที่ตัวเองชอบ
ไม่มีประเทศไหนสามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ โดยไม่มีเทคโนโลยี
ด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พูดถึงเศรษฐกิจในภาพรวมว่า ในระยะสั้น ปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ การลงทุนของภาครัฐเป็นตัวเดียวที่จะอุ้มเศรษฐกิจได้ ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จึงมีความสำคัญ
เขากล่าวอีกว่า ไม่มีประเทศใดสามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ หากไม่มีเทคโนโลยี พร้อมวิจารณ์รัฐบาลชุดนี้ว่ายังมีวิธีคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบที่เคยทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 คือ การดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยให้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยเสนอแนะว่า ถ้าจะเริ่มสร้างเทคโนโลยีตั้งแต่วันนี้ ต้องคิดใหม่ว่าไทยไม่ใช่ฐานการลงทุนของต่างชาติ ถ้ายังทำไม่ได้ ไทยก็จะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางไม่ได้
สิ่งต้องทำควบคู่กันไป คือ ต้องมีการยกเลิกการผูกขาด และต้องมีการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ซึ่งถ้าไม่มีการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
ปัญหาฝุ่นละอองเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย
สำหรับประเด็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมลพิษทางอากาศ วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ต้นตอของปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งยานพาหนะ การเผาขยะหรือซากผลผลิตทางเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคเหนือหรือภาคใต้ หรือฝุ่นพิษจากประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลก็มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา โดยการควบคุม กำหนดระยะเวลาในเผา หรือการห้ามเผาในบางจังหวัด เช่น เชียงราย แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นอยู่ เพราะมีฝุ่นพิษจากประเทศเพื่อนบ้านหลุดลอยเข้ามา ดังนั้น เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน มีมาตราการในการแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค จึงต้องมีความแตกต่างกันออกไป
วิธีการแก้ไขปัญหา ต้องมีการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ต้องมีคนที่เข้ามากำกับดูแล และสามารถทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาไปได้อย่างต่อเนื่อง ต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ปลูกจิตสำนึกร่วมกัน
หลังช่วงแรกของงานเสวนาจบลง ช่วงต่อมาเป็นการถามคำถามที่ทางทีมงานของงานเสวนาได้รวบรวมมาจากคนในโลกออนไลน์ หนึ่งในคำถามเหล่านั้น คือ ทำไมแต่ละคนถึงเข้ามาทำงานด้านการเมือง
วทันยา ตอบว่า ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของบ้านเมือง และหลังจากที่เป็น ส.ส. ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้เห็นปัญหาต่างๆ ยิ่งทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาให้กับพวกเขา
ส่วน ธนาธร ได้กล่าวถึงเหตุผลที่เข้ามาทำงานทางการเมืองว่า ต้องการไม่ให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก และต้องการเห็นสังคมที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน โดยเชื่อว่าสังคมแบบนี้ คือ สังคมที่จะเป็นอนาคตสำหรับลูกหลาน