ในโลกนี้มี ‘คำวิเศษ’ หลายคำ คำว่า ‘ขอโทษ’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น
เราถูกสอนเสมอว่าให้พูดคำว่าขอโทษ แต่ในทางจิตวิทยาบอกว่าการพูดคำว่าขอโทษเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำแสนจะยาก เพราะการขอโทษมันเกี่ยวกับอาการที่เรียกว่า ‘Cognitive Dissonance‘ คือเป็นความขัดแย้งในตัวเอง การขอโทษคือการยอมรับว่าเราทำผิด แต่ตัวตนอีกด้านเราเชื่อว่าตัวเรามันโอเคนะ ไม่น่าทำเรื่องผิดได้ (ถ้าเราต้องขอโทษแปลว่าเราทำอะไรพลาดไม่ก็ทำตัวแย่ๆ ต่อคนอื่น)
คำขอโทษจึงผูกกับอัตตาของเรา อัตตาที่มักจะบอกกับตัวเองว่า ‘ฉันไม่ผิด’ แต่จริงๆ มีคำกล่าวในกวีว่า ‘ความผิดพลาดเป็นเรื่องสามัญของมนุษย์ – to err is human’ เพราะมนุษย์เราผิดพลาดได้เสมอ และแน่ล่ะ ถ้าผิดแล้วก็ต้องขอโทษ ดังนั้นคนที่เข้าใจสัจธรรมว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะผิดก็น่าจะไม่ขวยเขินมากที่จะขอโทษ (และแน่นอนว่าช่วยปรับปรุง ป้องกัน แก้ไขต่อไปด้วย)
ดังนั้นบางคนก็อาจจะขอโทษง่าย บางคนมีหลายอย่างค้ำคอจะขอโทษทีแสนยากเย็น แต่อย่างว่าเราผิดพลาดได้เสมอ การขอโทษจึงเป็นก้าวแรกของ ‘การยอมรับ’ ว่าเราผิด ซึ่งถ้าไม่ยอมรับก่อน การจะแก้ไขอันเป็นขั้นตอนต่อไปก็น่าจะตามมาได้ยาก
คำขอโทษจึงเป็นเหมือน ‘ยาแก้ผิด’ คือทั้งแก้ความผิดพลาดและความรู้สึกผิดของเราเอง
ทีนี้ นอกจากการขอโทษที่น่าจะยากแล้ว เราอาจจะเคยเจอคำขอโทษที่ชวนให้คิดว่า ‘ไม่ผิดจะขอโทษทำไม’ บางคนก็ขอโทษกับทุกอย่างทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบ ฟังดูเป็นการขอโทษเรื่อยเจื้อย ขอโทษฟ้าฝนรถติดสารพัด แต่นักวิชาการเรียกการขอโทษแบบนี้ว่า ‘Superfluous Apologies’ และการขอโทษแบบนี้อาจจะส่งผลให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจขึ้นมาได้เล็กน้อย
คำขอโทษเป็นยาแก้ผิด ขอโทษให้เพียงพอและถูกที่ถูกเวลา
“ขอโทษแล้วมันหายมั้ย!” เอ่ยคำขอโทษว่ายากแล้ว ยิ่งเจอคำนี้ตอกกลับเข้าไปอีก ยิ่งเหมือนเป่าคำขอโทษให้กลายเป็นเข็มกลับมาทิ่มแทงหัวใจ
ไม่แน่ใจว่าพอขอโทษแล้วจะทำให้ความเสียหายจากการกระทำใดการกระทำหนึ่งหายไหม แต่การขอโทษเป็นยาแก้ความรู้สึกผิดของผู้ที่ขอโทษ ความสำคัญของการขอโทษคือ ‘การแสดงความรับรู้’ ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันผิด ผิดต่อความคาดหวัง ผิดต่อความถูกต้อง ผิดต่อความเหมาะสม หรือผิดต่อคุณ การขอโทษเป็นการ ‘แสดงความรับผิดชอบ’ และ ‘ร้องขอ’ การให้อภัย เป็นเจตนาที่จะเริ่มซ่อมแซมความสัมพันธ์หรือฟื้นฟูจุดยืนความผิดที่คนๆ หนึ่งได้พลาดพลั้งกระทำลงไป
แกนสำคัญที่สุดของการขอโทษคือ ‘ความจริงใจ’ คือไม่ได้ขอโทษส่งๆ แต่แสดงความรับผิดชอบอย่างสุดซึ้งและจริงใจ เป็นการแสดงความขอโทษและแสดงรู้สึกผิดออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ ดังนั้นการขอโทษ จึงไม่ใช่แค่ ‘การขออภัย’ ขอเอาโทษที่เราทำต่อใครกลับคืนมา
แต่การขอโทษเกี่ยวข้องกับ ‘ความรู้สึกผิด การสารภาพ และยอมรับผิด’ จากหัวใจ
Aaron Lazare อดีตคณบดีของ University of Massachusetts Medical School ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการขอโทษบอกว่าการขอโทษเป็นการกระทำที่มีความล้ำลึกและลึกซึ้งที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์กระทำต่อกัน ในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในแง่ของการขอโทษกัน Lazare บอกว่าแกนกลางสำคัญของ ‘การขอโทษ’ ที่จริงใจและมีประสิทธิภาพอยู่ที่ ‘เวลา’ ที่คำขอโทษนั้นๆ ถูกเอ่ยออกมา
ข้อผิดพลาดสำคัญ – และฟังดูน่าประหลาดใจนิดหน่อย เช่นในความสัมพันธ์ของคนที่ใกล้ชิดกันคือ ‘ขอโทษเร็วไป’ ในการศึกษาบอกว่า บางทีเราเร่งร้อนเอ่ยคำขอโทษไปหน่อย การขอโทษทันทีจึงเหมือนเป็นแค่ปฏิกิริยาตอบสนองที่เราเองยังไม่ได้ผ่านกระบวนการทบทวน ยังไม่ได้คิดเลยว่าเราทำอะไรผิด เราก่อปัญหาอะไรไปบ้าง ยังไม่ทันได้ตริตรองอะไรดีพอว่าเกิดอะไรขึ้นและจะแก้ไขยังไง สักแต่ว่าขอโทษส่งๆ ไปก่อน ข้อควรระวังตรงนี้เป็นคำแนะนำต่อความผิดและการขอโทษในเรื่องใหญ่ๆ ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องการขอโทษบอกว่า การขอโทษที่ล่าช้าบางครั้งไม่ใช่เรื่องแย่อะไร บางครั้งการเลื่อนเวลาขอโทษออกไปให้ผลดีกว่าการขอโทษแบบฉับพลันทันที
Superfluous Apologies กับคำขอโทษแทนฟ้าฝน
ขอโทษที่ฝนตก ขอโทษที่รถติด คำขอโทษบางคำต่างกับคำขอโทษที่พูดถึงข้างต้น คือเราเอ่ยคำขอโทษทั้งๆ เราเองก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรง นักวิจัยเรียกคำขอโทษแบบนี้ว่า Superfluous Apologies คือคำขอโทษที่มีแต่คำ ไม่ได้มีความผิดจริงๆ สอดไส้อยู่ข้างใน
นักวิจัยสงสัยว่า เอ๊ะในเมื่อเราไม่ได้ทำผิด ไม่ได้เกี่ยวข้องจากเหตุการณ์แย่ๆ นั้นจริงๆ เราขอโทษกันไปเพื่ออะไร จากการทดลอง 4 ชุด คือให้ทดลองไปขอโทษในเรื่องอื่นที่ตัวเองไม่ได้รับโดยตรงเช่นอากาศไม่ดี รถติดอะไรก็ว่าไป ข้อสรุปของนักวิจัยคือบอกว่าการขอโทษแบบนี้ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้นสัมพัทธ์ไปกับความจริงใจในการพูดขอโทษนั้นๆ
ข้อสรุปของงานศึกษาสรุปว่า การขอโทษที่ไม่จำเป็น ไม่มีคนบอกว่าแกต้องขอโทษ ไปจนถึงไม่เกี่ยวข้องจึงอาจเกี่ยวกับการสร้างความรู้สึกของ ‘ความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ (empathy)’ และอาจเป็นวิธีง่ายๆ ในการเริ่มปฏิสัมพันธ์การสื่อสารระหว่างบุคคล ทำนองว่าการขอโทษมันเกี่ยวข้องกับความรู้สึก เป็นกระบวนการหนี่งของการสื่อสารระหว่างมนุษย์ที่มี ‘ความรู้สึก’ ที่ซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่คนๆ หนึ่งจะขอโทษขึ้นมาจึงมีความเกี่ยวข้องและกระตุ้นความรู้สึกบางอย่างเช่นความไว้ใจของคู่สนทนาหรือคนแปลกหน้าได้
อนึ่ง การทดลองเรื่อง Superfluous Apologies ก็มีข้อวิจารณ์ในกระบวนการทดลองบ้าง เช่น การให้พูดขอโทษก่อนแล้วค่อยยืมโทรศัพท์ ผลคือคนที่พูดขอโทษมีแนวโน้มที่จะยืมโทรศัพท์สำเร็จ ถ้ามองอีกแง่ การขอโทษอาจจะเป็นแค่การเริ่มบทสนทนาเฉยๆ ก็ได้ แต่นักวิจัยก็บอกว่า นี่ไงการขอโทษฟ้าขอโทษฝนก่อนมันส่งผลต่อความรู้สึกจากการขอโทษนั่นแหละ