‘สรวง สิทธิสมาน’ ลูกชายคนโตของ คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 12 อันมีที่มามาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผลลัพธ์ของการรัฐประหารในปี 2557 เขาเติบโตมากับบรรยากาศของครอบครัวที่เขานิยามว่ามีวิธีการเลี้ยงลูกแบบประชาธิปไตย ประเด็นความคิดความเชื่อทางการเมืองของเขามีพลวัตเปลี่ยนผ่านไหลลื่นขึ้นลงดั่งเกลียวคลื่นในมหาสมุทร และมันอาจเชี่ยวกรากก็ด้วยเหตุผลว่า หนึ่งในฝ่ายตรงข้ามทางอุดมการณ์ของเขา เป็นทั้งพ่อผู้เป็น ส.ว. ผู้เห็นต่าง และพ่อ ผู้เป็นฮีโร่ประจำดวงใจของเขา
เขาได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่ประเทศจีน ประเทศที่ทำให้เขาได้พบกับคำถามใหม่ๆ คำถามที่กำลังจะเปลี่ยนความคิดของเขา คำถามที่ได้ทำให้อัตลักษณ์บางอย่างของเขาเปลี่ยนไป แต่หากพูดโดยรวมแล้ว เขาคือคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามต่อระบบและโครงสร้างของประเทศที่เขาเกิดมา เช่นเดียวกับปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ที่กำลังลุกขึ้นทวงถามถึงความเป็นธรรมในรายประเด็นยิบย่อย ที่ถูกรัฐเมินเฉยมานานร่วมหลายทศวรรษ กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่หนังสือหน้าใหม่ ประเด็นยิบย่อยของคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาเฝ้าใฝ่และฝันถึง อาจพูดได้โดยรวมบนนิยามของคำคำเดียว คำว่า ‘ประชาธิปไตย’
The MATTER ได้ชวนสรวง คนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามต่อระบบและโครงสร้างในไทย ขณะที่ตัวเขาเองก็เป็นลูกของ ส.ว. ที่หลายคนมองว่าเป็นหนึ่งในปัญหาของระบบและโครงสร้างในประเทศนี้ มาพูดคุย เพื่อหาทางออกและการเปิดพื้นที่ในการพูดคุยกันบนเรื่องการเมืองในครอบครัว เพราะอย่างน้อยๆ จะได้ไม่มีเด็กคนไหนถูกขับไสไล่ส่ง เพียงเพราะพวกเขาเห็นต่างไปจากผู้ให้กำเนิดของตน
ในเรื่องชีวิตส่วนตัว ได้ยินมาว่ากำลังเรียนอยู่ที่จีน ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
เหตุผลที่ผมไปเรียนจีนมันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก มันอาจจะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ผมปลูกฝังมา แต่ไม่ได้ถึงขั้นว่าพวกเขาชี้นำผมนะ มันเป็นการพูดคุยกันมาเรื่อยๆ มากกว่าว่า แนวโน้มของจีนในอนาคตมาแรงแน่ๆ พวกเขาเลยลองส่งผมไปเรียนซัมเมอร์ที่จีนหนึ่งเทอม ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่าพอผมได้ไปเรียนมาหนึ่งเทอม ผมดันชอบประเทศจีน แล้วผมมองว่าตลาดคนรู้ภาษาจีนในไทยยังไม่ได้ใหญ่มาก สุดท้าย ผมเลยเลือกไปเรียนปริญญาตรีที่จีน
ถ้าให้เล่าถึงการไปเรียนที่จีน มันคือปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งเลยที่ทำให้ผมเข้าใจโลกมากยิ่งขึ้น ทำให้ผมใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพราะเราได้เจอวัฒนธรรมจีน ในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนก็เป็นคนต่างชาติ ไม่ว่าจะคนยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ไปจนถึงรัสเซีย ตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศที่ชื่อลงท้ายด้วยสถาน เกาหลี ญี่ปุน เวียดนาม ลาว อินโดนิเซีย
พอมีคนจากหลายประเทศมารวมตัวกัน ผมเลยเห็นว่าแต่ละประเทศมันก็มีปัญหาในตัวของมันเอง โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการเมือง มันเลยทำให้ผมได้เริ่มมีบทสนทนาทางการเมืองกับเพื่อนในประเทศต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเห็นสเปกตรัมทางการเมืองที่หลากหลายมากขึ้น พอเรามามองปัญหาในไทย เราจึงเห็นภาพรวมที่มันเล็กลง
การที่พ่อส่งไปเรียนจีนมีเรื่องเกี่ยวเนื่องกับอุดมการณ์ทางการเมืองหรือเปล่า
ไม่เท่าไหร่ ในตอนนั้นเราแทบจะไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองจีนเลย การเมืองจีนเพิ่งจะมาแรงในช่วงสี จิ้นผิงมานี้เอง ซึ่งมันเป็นช่วงเดียวกันกับตอนที่ผมไปเรียนจีนใหม่ๆ ตั้งแต่ตอนที่พ่อผมเริ่มแนะนำจีนในช่วงต้น มันก็ยังไม่ใช่ยุคของสี จิ้นผิง เรามองกันแต่ในเรื่องของเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่ค่อนข้างเป็นไปในทางที่ดี ตลอดจนการค้าขายระหว่างกันก็มีมาก การไปเรียนจีนจึงอาจจะสร้างโอกาสในอนาคตได้มาก ผมเลยเลือกจีน
ลองนิยามอุดมการณ์ของพ่อตัวเองหน่อยว่าเขามีอุดมการณ์แบบไหน
ถ้าจะให้จิ้มเลยว่าเขาเป็นซ้ายหรือขวาคงยาก แต่ถ้าพูดแบบง่ายๆ ว่ามันมีจุดอยู่ตรงกลาง เขาอาจจะอยู่มาทางขวาหน่อย แต่ก็ไม่ใช่พวกขวาตกขอบ หรือขวาไม่เอาซ้าย ถ้าการเมืองไทยเป็นแบบสหรัฐฯ (ซึ่งก็น่าจะดี) แบบแบ่งกันว่าใครเป็นเดโมแครต ใครเป็นรีพับลิกัน พ่อผมคงพูดได้ว่าตัวเองเป็นรีพับลิกัน
ในทางกลับกัน พ่อเคยนิยามอุดมการณ์ในตัวเราไหม
พ่อมองผมเป็นคนรุ่นใหม่ พูดกันตามตรง มันมีบางอย่างที่ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับบางเรื่องที่กำลังทำกันอยู่ในทุกวันนี้ แต่เลือดของผมยังคงสดใหม่ ผมยังเป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ต้องการจะได้เห็นประเทศตนเองดีขึ้น เจริญก้าวหน้าขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่มีความต้องการจะทำประโยชน์เพื่อสังคม เราอาจจะเห็นต่างกันในเรื่องของวิธีการ แต่สุดท้ายเรามีเป้าหมายร่วมกัน
ฟังแล้วเหมือนเป็นครอบครัวที่คุยกันในทุกเรื่อง ลองย้อนเล่าความสัมพันธ์ที่มีกับพ่อตั้งแต่เด็กจนโตหน่อย
ครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่ไม่ได้เพิ่งมาสนใจการเมือง ผมจะได้ยินพ่อกับแม่คุยกันในเรื่องการเมืองมาตั้งแต่ประถม พ่อผมมักเล่าให้ผมฟังเสมอว่าเขาผ่านประสบการณ์ทางการเมืองอะไรมาบ้าง ตั้งแต่บทบาทในช่วง 14 ตุลา ไปจนถึง 6 ตุลา ซึ่งถึงแม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรง แต่ก็มีเพื่อนอยู่ร่วมในเหตุการณ์อยู่มาก ก่อนที่เขาจะมาเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พูดง่ายๆ ก็คือ พ่อผมเคยเป็นฝ่ายซ้ายมาก่อน
ตั้งแต่ตัวผมยังเล็ก ผมจึงใกล้ชิดกับเรื่องการเมืองตลอด เช่น ผมท่องชื่อนายกรัฐมนตรีของไทยได้ ถึงแม้ว่าจะไม่รู้รายละเอียดลึกมากมาย แต่การพูดคุยเหล่านี้ทำให้การพูดเรื่องการเมืองกลายเป็นเรื่องธรรมดาภายในครอบครัว ถ้าพูดให้กว้างออกมาอีกหน่อย ครอบครัวผมค่อนข้างเปิดใจรับฟังกันอยู่แล้ว พอมีเรื่องอะไรเราจะพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา
ผมถูกปลูกฝังมาตลอดว่า การมีความลับกันในครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ สิ่งนี้ทำให้ผมเป็นคนเปิดเผยเรื่องต่างๆ กับครอบครัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือเลวร้ายที่สุด คนเป็นพ่อกับแม่จึงมีหน้าที่ในการชี้แนะลูก แต่ว่าพวกเขาไม่เคยเลยที่จะมีการบังคับขู่เข็ญ และการใช้ความรุนแรงต่อผม ผมอาจจะต้องยกเครดิตให้กับคุณแม่ (สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน) ซึ่งเขาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสื่อเด็กและครอบครัว พวกเขาจึงมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการในการเลี้ยงลูกอยู่แล้ว
ด้วยความที่เรามักคุยกันในทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน พอเป็นเรื่องการเมือง มันจึงไม่ต่างกัน แน่นอนว่ามันมีเรื่องของความเห็นต่างกันในทางการเมือง แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ฟังกันเลย เพราะมันมีช่วงเวลาหนึ่งที่ความคิดในทางการเมืองของผมมันพุ่งสูงมาก เราเลยมีปากเสียงกันบ้าง ถึงจะไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่มันก็ค่อนข้างหนักอยู่พอสมควรในช่วงของ คสช. กับการเลือกตั้งในไทยเมื่อ 3-4 ปีก่อน
เห็นแย้งกันในเรื่องอะไร
ต้องเท้าความหน่อย ผมอยากเปรียบเทียบชีวิตตัวเองว่ามันเหมือนกับการได้อาศัยอยู่ในบ่อน้ำ แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง เรากลับได้ออกมาเจอเข้ากับปากอ่าวและมหาสมุทร ตอนนั้นมันจึงเกิดอาการที่เขาเรียกกันว่าตาสว่างขึ้น ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมเรียนรู้มามันผิดไปหมดเลย มันเลยเกิดความอคติ การต่อต้าน อารมณ์จึงทำหน้าที่มากกว่าเหตุผล ถ้าจะพูดแบบโทษตัวเอง ผมอาจจะอินกับอุดมการณ์ในทางการเมืองมากไปจนถึงขั้นเครียด และไม่ฟังพ่อแม่ แต่ถ้าให้มองย้อนไป มันอาจจะเป็นช่วงที่ผมเพิ่งเริ่มคิดหรือเพิ่งจะสนใจการเมืองใหม่ๆ ทำให้เราปรับตัวไม่ทันกับความคิดที่มันหลั่งไหลเข้ามาในหัว
ช่วง 3-4 ปีนั้น ผมเรียนอยู่ที่จีน แต่เมื่อ 2 ปีก่อนผมเพิ่งจะได้กลับมาไทย พอลงจากเครื่องบิน สิ่งแรกที่ผมทำเลยคือ ผมเริ่มหาเรื่องพ่อตัวเอง (หัวเราะ) ผมถามพ่อว่าทำไมถึงทำแบบนั้นแบบนี้ คงต้องยอมรับว่าตอนนั้น อารมณ์ผมมันค่อนข้างแรง และมันก็ทำงานหนักกว่าการใช้เหตุผลด้วย การใช้อารมณ์เลยทำให้ผมไม่ได้พยายามรับฟังพ่อมากเท่าที่ควร
แล้วพ่อรับมือกับเรายังไง
พ่อผมจะมีคำพูดติดปากอยู่คำหนึ่ง คือ “เถียงไปก็ไม่มีวันจบ” เป็นคำพูดที่เขาจะใช้ทุกครั้งเมื่อผมพูดถึงอุดมการณ์บางอย่างของผม มันเหมือนกับเราเชื่อพระเจ้าในคนละองค์กัน เขาอ้างพระเจ้าของเขา เราก็อ้างพระเจ้าของเรา การเถียงกันจึงไม่มีวันจบ แต่พอมาถึงการรับมือที่พ่อมีต่อผม หลักๆ แล้ว เขาจะใจเย็นกับเรา และอธิบายว่า “ลูกก็มีมุมของลูก และลูกก็ต้องเข้าใจด้วยว่า มันย่อมมีคนที่ไม่ได้เห็นเหมือนกับลูกเช่นกัน” คำพูดดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันเป็นปกติในช่วงนี้ ต่างฝ่ายต่างเห็นไม่ตรงกัน ทางที่ดี เราควรจะรับฟังเหตุผลของอีกฝ่าย และไม่ใช้อารมณ์ตัดสิน มันคือการถอยออกมาก้าวหนึ่ง แล้วมองทุกอย่างให้กว้างขึ้น พ่อจะชี้แนะด้วยเหตุผลเหล่านี้ เขาถอยให้ผมค่อนข้างมาก ผมเข้าใจว่าวิธีการรับมือของพ่อต่อผม อาจจะได้รับมาจากแม่อีกทีหนึ่ง เพราะแม่เป็นคนคอยกำกับวิธีการเลี้ยงลูกมาตั้งแต่เด็ก
คำว่าพ่อยอมถอยให้เรา พ่อถอยให้ขนาดไหน
ในเรื่องการงาน เขาก็ทำในส่วนของเขาไป แต่ว่าในเรื่องของครอบครัว เขาก็เปิดให้ผมได้พูดในสิ่งที่ผมคิดได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับผม เพราะบางเรื่องเขาก็เห็นด้วย เพียงแต่ว่า ในบางเรื่องที่ผมอยากให้มันเกิดขึ้นในตอนนี้ พ่อผมก็จะอธิบายในมุมของเขาว่า มันอาจจะไม่ต้องเกิดขึ้นในตอนนี้เลย แต่สักวันมันจะเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง
พ่อเหมือนจะมีความคิดบางอย่างของเขาเอง แต่เขามีการปรับตัวอะไรให้เราไหม
จริงๆ ถ้านับในบรรดา ส.ว. ด้วยกัน เขาค่อนข้างมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างมาก ผมไม่ได้จะมาแก้ต่างให้พ่อตัวเอง แต่ผมกล้าพูดว่าเขาไม่ได้รับตำแหน่งมาเพื่อโหวตประยุทธ์อย่างเดียว พูดตามตรง ตอนนี้เขาเป็นเสียงส่วนน้อยใน ส.ว.
ผมคิดว่ามันมีเหตุการณ์หนึ่งที่พอจะยกตัวอย่างการปรับตัวของพ่อของผมได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราไปเที่ยวปัตตานีด้วยกัน แล้วเผอิญได้ดูรายการหนึ่งที่มีคำพูดของคนดังคนหนึ่งพูดว่า ถ้าเปรียบสังคมไทยเป็นต้นไม้ วัฒนธรรมไทยหรือคนรุ่นเก่าเปรียบเสมือนรากของสังคม ส่วนคนรุ่นใหม่ คือ ผล ดอก ใบ และกิ่งก้าน ที่แผ่ขยายออกไป ถ้าเราสนใจดูแลแต่ราก แมลงก็จะมากัดกินใบและผลไปหมด แต่ถ้าเราสนใจแต่ใบและผล เราก็อาจจะลืมรดน้ำให้ราก และต้นไม้ก็อาจจะเหี่ยวแห้งลง
ผมเอาคำพูดนี้ไปคุยกับพ่อ ล่าสุดผมก็เห็นพ่อเอาคำพูดนี้ไปพูดในรายการตอบโจทย์ ที่คุณพ่อไปออกแล้วได้พูดคุยกับคุณสุทธิชัย หยุ่น ในช่อง ThaiPBS มันมีอีกหลายคำที่พ่อเอาไปอภิปรายในรัฐสภา ซึ่งผมก็ได้ช่วยคิดช่วยเขียนเพื่อให้เขาเอาไปใช้เป็นลูกเล่นได้ เช่น สำนวนจากจีนว่า ถอยคนละก้าว ทะเลกว้าง ฟ้าใส ผมรู้สึกว่าพ่อไม่ได้แค่รับฟังเรา แต่พ่อเอาสิ่งที่เราพูดและคิดไปพูดกับสังคมต่อ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องรูปธรรมที่แก้ไขปัญหาได้ แต่มันทำให้ผมรู้ว่า พ่อรับฟังผม ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนที่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถเท่าพ่อ
เมื่อครู่มีพูดถึงเรื่องการงานของพ่อไป อยากให้พูดถึงมุมของการเป็นลูก ส.ว. หน่อย
พูดในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง เรายังคงมองพ่อตัวเองเป็นฮีโร่เหมือนเดิม เราเห็นเบื้องหลังของเขา เห็นชีวิตของเขาเมื่อตอนอยู่ในบ้านด้วยกัน ซึ่งเขาก็ไม่ได้บีบบังคับควบคุมอะไรลูกตัวเอง อาจจะต้องเล่าย้อนไปหน่อยว่า ในวันที่พ่อของผมกล่าวคำว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในรัฐสภาตอนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีข้อความจำนวนมากเด้งขึ้นมาบนเฟซบุ๊กและไลน์ผมว่า ทำไมพ่อผมถึงทำแบบนี้ ทำไมพ่อถึงเลือกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ยอมรับว่ามีช่วงหนึ่งที่แอบรู้สึกว่า เราเป็นลูก ส.ว. แล้วในวันที่เรากลับมาอยู่ในไทย เราจะเดินบนถนนได้ไหม แอบกลัว กลัวคนที่ไม่เห็นด้วยจะมองว่าผมเป็นอย่างไร แต่สุดท้าย ตัวผมก็คือตัวผม ครอบครัวของผมไม่ได้สอนว่าลูกจะต้องเป็นเหมือนพ่อ หรือต้องเข้าข้างพ่อเท่านั้น ลูกก็เป็นตัวของตัวเอง เดินในเส้นทางที่ตัวเองเลือก โดยที่พ่อจะไม่มายุ่งเกี่ยว
ยอมรับว่ามีช่วงหนึ่งที่แอบรู้สึกว่า เราเป็นลูก ส.ว. แล้วในวันที่เรากลับมาอยู่ในไทย เราจะเดินบนถนนได้ไหม
เคยรับรู้มาก่อนไหมว่า พ่อจะได้เป็น ส.ว.
วันนั้นผมเรียนอยู่ที่จีน มันมีข้อความส่งมาหาพ่อผม โดยในข้อความบอกว่าให้พ่อผมไปรายงานตัว เพราะจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ส.ว. พ่อผมเลยโทรมาถามความเห็นผม พูดในเชิงหนึ่ง เหมือนกับเขาโทรมาเพื่อจะมาถามว่า ผมจะกลัวไหมหากคนอื่นจะมาต่อว่าผมที่มีพ่อเป็น ส.ว. เพราะพ่อผมเข้าใจและรู้ได้ทันทีแน่ๆ ว่า การจะมาเป็น ส.ว. ในชุดนี้จะโดนด่าอย่างมหาศาล แล้วลูกจะรับไหวไหม แต่ถ้าหากว่าเราและพ่อคิดว่าไม่ไหว พ่อผมก็พูดเองเลยว่า เขาก็จะไม่ไปรายงานตัว
พ่อมักพูดเสมอว่า เขาต้องคิดอยู่เสมอในการกระทำของเขาในทุกวันนี้ เพราะว่าเวลาเขาจะทำอะไรลงไปอย่างหนึ่ง ลูกตัวเองอาจจะเดินบนถนนได้ลำบากไหม พอผมเห็นเขาเคารพความเห็นผม มันเลยทำให้ผมเคารพความเห็นของเขาไปโดยอัตโนมัติ เพราะผมรู้ว่าพ่อผมเป็นคนแบบไหน
ถ้าลองเอาตัวเองออกมา มองความขัดแย้งในครอบครัวเกี่ยวกับการเมืองยังไง
การเมืองในทุกวันนี้เป็นเรื่องของเจเนเรอชั่นจริงๆ มันเป็นยุคที่พวกเราได้รับข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลและเทคโนโลยี มันทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกได้กว้างยิ่งขึ้น กว้างกว่าในยุคสมัยของคนรุ่นเก่า ผมว่าในความขัดแย้งครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่คนรุ่นเก่ายังปรับตัวไม่ทันต่อความคิดของคนรุ่นใหม่ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก โดยเฉพาะในปีนี้
ผมเคยมีเพื่อนมากมายที่วันก่อนยังโพสต์ข้อความยกย่องคนในกลุ่มก้อนทางการเมืองหนึ่ง แต่ในวันนี้พวกเขาออกมาชูสามนิ้วกัน มันเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบชั่วข้ามเดือน ดูตัวอย่างจากการนัดม็อบ แค่โพสต์นัดวันเวลากัน ไม่กี่ชั่วโมงก็รวบรวมคนได้แล้ว ในขณะที่คนรุ่นเก่าเขาไม่ได้มีจังหวะชีวิตที่เร็วเท่าคนรุ่นใหม่ การปรับตัวในวิธีคิดและวิถีชีวิตของเขาเลยตามไม่ทันคนรุ่นใหม่ ความขัดแย้งในเจเนอชั่นที่แตกต่าง ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่าง คนรุ่นลูกที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับเรา กับพ่อแม่รุ่นเบบี้บูมเมอร์
ย้อนกลับเข้าไปในมุมของพ่อคุณ เขามองคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร
เนื่องจากพ่อผมเป็นคนเดือนตุลา เขาเคยเป็นคนรุ่นใหม่เหมือนกับเรามาก่อน เขาจึงเข้าใจพวกเรา รวมถึงข้อเสนอและข้อเรียกร้องในการชุมนุมของพวกเรา เพราะเขาเคยคิด และอยู่ในจุดนั้นแบบพวกเรามาก่อน แต่ด้วยกระบวนการบางอย่าง อุดมการณ์แบบฝ่ายซ้ายของเขาก็เลยเบาลงเรื่อยๆ ในมุมของเขา เขาเลือกที่จะเข้าใจระบบมากกว่าเปลี่ยนแปลงระบบ แล้วก็เข้ามาอยู่ในระบบเพื่อพยายามจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่เขามองว่าพอจะเป็นไปได้
แล้วจากมุมส่วนตัว คิดว่าพ่อเปลี่ยนอะไรได้ไหม
ถ้าพูดแบบโลกไม่สวยเลย ก็อาจจะเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เขาพยายามเสนอนโยบายปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา แก้รัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ แต่ในส่วนของระบบที่คนรุ่นใหม่มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในประเทศของเรา และเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด ก็อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนั้นได้
วันที่มีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะร่างฉบับประชาชนที่ถูกล้มไป ตัวเราได้พูดคุยกับพ่อไหม
จริงๆ พ่อผมเอาใจช่วยคุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ถึงแม้ว่าเขาจะมีการตอบโต้กันบนเฟซบุ๊กบ้าง แต่พ่อผมไม่เคยมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับล้มเจ้า ชังชาติ แต่เขาดูเรื่องตัวบทกฎหมาย หลักการ ซึ่งมันมีบางจุดที่พ่อผมมองว่าอาจจะยังมีปัญหา อย่างที่พ่อผมได้อภิปรายไปในรัฐสภา แต่อย่างที่บอกว่าเขาเอาใจช่วยร่างฉบับนี้ ถึงแม้เขาจะไม่เห็นด้วยและมองปัญหาของร่างฉบับนี้ในฐานะนักกฎหมาย ที่จบนิติศาสตร์ แล้วก็ได้ทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติมานานหลายปีก็ตาม
แล้วในวันที่มีการสลายการชุมนุม ซึ่งคนจำนวนมากเป็นเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในครอบครัวพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างไร
ครอบครัวผมคุยกันว่าม็อบในวันนั้นมันคุมได้ การปราบม็อบในวันนั้นไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดของรัฐบาลหรือเปล่า พวกเรามองว่ามันไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องปราบ ถ้าพูดแบบพ่อผม พ่อผมมองว่ารัฐบาลยังคงถือไพ่เหนือกว่าผู้ชุมนุมอยู่มาก และไม่จำเป็นจะต้องลงมือปราบปรามผู้ชุมนุมขนาดนั้น ซึ่งผมก็มองว่าไม่ควรถึงขั้นนั้นเลย
แปลว่าพ่อคุณก็สนับสนุนคนรุ่นใหม่ อย่างนั้นหรือเปล่า
พ่อผมไม่เคยไม่สนับสนุนคนรุ่นใหม่ แต่ในบางที มันคือเรื่องของจุดยืนทางการเมือง มันอาจจะทำให้เขาไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้แล้ว สิ่งที่เขาทำได้ก็คือ การส่งต่อให้คนรุ่นลูก และคนรุ่นใหม่ มันมีหลายอย่างมากๆ ที่ทำให้พ่อของผมมาถึงจุดนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องของการเมือง
พ่อผมคิดเสมอว่า ถ้าเขาวางตัวเป็นศัตรูกับคนรุ่นใหม่ แล้ววันข้างหน้าลูกเขาจะเดินบนถนนอย่างไร
ดูเหมือนกับว่าพ่อจะเป็น ส.ว. ที่เปิดกว้างที่สุดในบรรดา ส.ว. ด้วยกัน
เขารู้ว่าความต้องการของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง เพราะเขาเคยเป็นคนรุ่นใหม่มาก่อน พ่อผมคิดอยู่เสมอว่า จะทำอะไรก็ตาม ถ้าไม่สนใจคนรุ่นใหม่เลย ประเทศมันก็จะเดินต่อไปไม่ได้ ด้วยชุดความคิดนี้ ไม่ต้องพูดแค่ในเรื่องการเมือง ในครอบครัวก็เช่นกัน พ่อผมคิดเสมอว่า ถ้าเขาวางตัวเป็นศัตรูกับคนรุ่นใหม่ แล้ววันข้างหน้าลูกเขาจะเดินบนถนนอย่างไร วันข้างหน้าใครจะอยากมาคบค้าสมาคมกับลูกเขา ลูกเขาจะมีเครดิตทางสังคมเหลือไหม สิ่งที่เขาทำจะไปทำลายอนาคตลูกหรือเปล่า มันจึงทำให้เขาไม่คิดต่อต้านคนรุ่นใหม่เลย เขาจะพูดแต่เรื่องกฎหมายและทฤษฎี โดยที่ไม่ได้แสดงออกถึงการเอาใจผู้มีอำนาจเป็นพิเศษ
อาจจะพูดได้ว่า บทบาทการเป็น ส.ว. ของพ่อ ค่อนข้างได้รับอิทธิพลจากการเป็นพ่อคนอยู่เหมือนกัน
เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะการที่พ่อมีผมอยู่ในครอบครัว มันทำให้เขาได้เรียนรู้แนวคิดของคนรุ่นใหม่ในทุกๆ วันที่เขากลับบ้าน ในทุกๆ มื้อที่เขากินข้าวและคุยเรื่องการเมืองกับผม ในทุกๆ ครั้งที่เรานั่งดูโทรทัศน์การอภิปรายในรัฐสภา หรือการถ่ายทอดสดจากม็อบด้วยกัน โดยเฉพาะในช่วงนี้เราคุยกันแทบจะทุกวัน ผมถามสถานการณ์ล่าสุดของพ่อในวันที่เขาไปอภิปรายในรัฐสภา ในขณะที่พ่อก็ถามผมว่าข่าวในทวิตเตอร์เป็นอย่างไรบ้าง ในทุกวันนี้ เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างสบายใจมากๆ เพราะเราผ่านช่วงที่ยากที่สุดมาแล้ว
บรรยากาศบนโต๊ะกินข้าวของที่บ้านเป็นอย่างไร
มีการล้อกันเลยนะ พ่อผมแซวว่าถ้าผมไม่ได้ไปเรียนจีน แต่ได้เรียนที่ธรรมศาสตร์ ป่านนี้ผมคงได้ไปเป็นแกนนำบนม็อบ แล้วเข้าคุกไปแล้วมั้ง (หัวเราะ) และผมก็มีล้อเขากลับบ้าง ผมไม่ได้อยากให้มองว่าการเมืองเป็นเรื่องตลก เพราะมันก็เป็นเรื่องที่ซีเรียสเหมือนกัน แต่ถ้ามันมาถึงบรรยากาศของครอบครัว มันไม่ควรเป็นเรื่องที่จะทำให้ความซีเรียสของการเมืองส่งผลกระทบต่อครอบครัว เรื่องการเมืองก็ส่วนการเมือง เรื่องครอบครัวก็ส่วนครอบครัว
พ่อเขาก็รู้ว่าผมมีความคิดในทางการเมืองเป็นของตัวเอง เขารู้ที่มาของความคิดเหล่านี้ดี และเขาก็เข้าใจมันด้วย เพียงแต่เขาก็มีความคิดของเขา มีที่มาของเขา และเชื่อในแบบของเขา ในครอบครัวผมก็ใช้วิธีประนีประนอมกัน เราพูดกันได้อย่างเต็มที่ แต่ต้องด้วยคำพูดที่มีเหตุผลรองรับเสมอ ไม่ใช่ว่าพูดขึ้นมาเองแบบสุ่มสี่สุ่มห้า หรือพูดกันด้วยอารมณ์
มันเคยมีช่วงที่คำพูดของผมเต็มไปด้วยอารมณ์มาก่อน เอาเข้าจริงมันก็เกิดขึ้นบ้างเรื่อยๆ แต่เราก็เตือนกันเสมอๆ ว่า การพูดด้วยความรู้สึกจะจบลงตรงที่คำพูดเดิมว่า เถียงกันไปก็ไม่มีวันจบ เพราะเราจะหาทางออกร่วมกันไม่ได้ พ่อผมมองว่า ถ้าจะมาด้วยอารมณ์ การคุยกันก็ไม่ได้อะไร มันจะเจ็บช้ำน้ำใจกันเปล่าๆ
แปลว่าพ่อก็ไม่เคยโจมตีเราเลย
ไม่เคยเลย พ่อไม่เคยใช้การบังคับ หรือขอให้เราเปลี่ยนความคิด พ่อผมให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยในครอบครัวมาก มันตลกตรงที่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทั้งพ่อผม แม่ผม น้องผม และตัวผม แต่ละคนเลือกคนละพรรค 4 คน ก็ 4 พรรคหมดเลย
มันมีประเด็นที่มีพ่อแม่ในบางครอบครัว ไล่ลูกออกจากบ้านเพราะความเห็นในทางการเมืองที่ต่างกัน ได้พูดประเด็นนี้ในครอบครัวกันบ้างไหม
ถ้าในมุมของครอบครัวคงต้องพูดถึงแม่ผม ด้วยความที่แม่ของผมทำงานด้านเด็กและครอบครัว ซึ่งก็จะมีเครือข่ายพ่อแม่แต่ละครอบครัวได้เข้ามาพูดคุยกับแม่ของผม ในประเด็นปัญหาครอบครัวและการเลี้ยงลูกมาโดยตลอด ไม่นานมานี้ มีคุณแม่ของลูกคนหนึ่งขับรถมาที่บ้านของผม ก่อนที่เขาจะมาพูดคุยกับแม่ของผม เขาร้องไห้ และปรึกษาว่าเขาไม่รู้ว่าเขาจะสื่อสารกับลูกอย่างไร ในกรณีนี้ คุณแม่คนนั้นไม่ได้มีความคิดเห็นทางด้านการเมืองเป็นพิเศษ แต่แค่เขาเป็นห่วงความปลอดภัยของลูก
แม่ผมให้คำปรึกษาไปว่า ถ้าพูดในมุมของเด็ก เด็กเขาไม่เห็นอนาคตของตัวเองในระบบของประเทศที่กำลังเป็นอยู่ เขาต้องสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลดีแก่อนาคตของพวกเขาเอง พวกเราจึงทำได้แต่เห็นใจพวกเขาว่าพวกเขาก็ต้องสู้ แต่ถ้าปัญหามันเป็นเรื่องของการสื่อสาร สิ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรจะต้องทำคือ รับฟังลูกตัวเอง หรือไม่อย่างนั้นก็พาพวกเขาไปส่งที่ม็อบเองเลย ถึงเวลาค่อยนัดรับกลับบ้านตามจุดนัดพบ มันก็เป็นสถานการณ์แบบ win-win ลูกได้ไปม็อบเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แม่ก็ได้ดูแลลูกอยู่ห่างๆ ปล่อยให้ลูกได้คิดเอง และดูแลตัวเอง
แม่ผมเองก็สะเทือนใจที่มันมีสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งในครอบครัวที่น่ากลัวมาก ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ พ่อแม่ไม่เคยต้องรับมือกับความคิดเห็นที่แตกต่างของลูกมาก่อน มันทำให้พ่อแม่ไม่รู้วิธีในการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน แม่ผมให้ความสำคัญกับความเห็นอกเห็นใจกันมากๆ
เรื่องพ่อแม่ไล่ลูกออกจากบ้าน พูดแบบตรงๆ แม่ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการบังคับลูกด้วยการใช้อำนาจ ความรุนแรงทางวาจา เรื่องเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผลกับเด็กรุ่นใหม่ เพราะสุดท้ายมันจะกลับมาตรงที่ พ่อแม่จะคิดว่าลูกคิดอะไรเองไม่เป็น ไม่มีความรู้ทางการเมือง อยู่ในสังคมไปวันๆ โดยที่ไม่สนใจอนาคตตัวเอง
ในทางกลับกัน ก็มีลูกที่หนีออกจากบ้านและหายไปเลยก็มี เช่น ลูกของเพื่อนพ่อแม่ผม ซึ่งหนีออกจากบ้านไปอยู่ตามบ้านพักของเพื่อนในม็อบ ที่จัดไว้ให้เด็กที่ถูกไล่ออกจากบ้านเพราะความเห็นต่างทางการเมือง ผมมองว่ามันน่าเศร้า การเมืองก็การเมืองเถอะ มันไม่ควรทำให้ครอบครัวเดินมาถึงจุดนี้ มันคงต้องขอความร่วมมือจากคนเป็นพ่อแม่ ที่เป็นผู้ใหญ่กว่า มีวุฒิภาวะมากกว่า พวกเขาต้องเข้าใจและฟังเด็ก
ในขณะที่ความขัดแย้งในครอบครัวของสังคมไทยรุนแรงขึ้น คิดว่ามีวิธีไหนที่ทำให้พื้นที่ของการพูดคุยกันบนเรื่องการเมืองในครอบครัวถูกเปิดออก
พอมันเป็นเรื่องของครอบครัว สิ่งแรกเลยคือการใช้อารมณ์ ถึงแม้ว่าการเมืองจะเป็นเรื่องที่ซีเรียส แต่เราไม่ควรทำให้มันเคร่งเครียดมากเมื่อมันอยู่ในบรรยากาศของครอบครัว เราน่าจะคิดถึงบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ครอบครัวมันมีความสำคัญต่อชีวิตเรามาก เมื่อครอบครัวได้รับผลกระทบ จิตใจของเราก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย การคุยกันในครอบครัวจึงควรคำนึงถึงว่า การที่เราจะพูดอะไรออกไปด้วยอารมณ์แล้วนั้น คำพูดเหล่านี้จะพาเราไปสู่จุดไหน มันควรจะต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดบทสนทนาที่เคร่งเครียดจนเกินไป อย่างในกรณีของครอบครัวผม พวกเราทำให้การเมืองเป็นเรื่องที่ล้อเลียนกันได้
แต่สุดท้าย ใครอยากจะทำอะไรก็ห้ามกันไม่ได้อยู่ดี ถ้าลูกอยากไปม็อบ พ่อแม่ก็ห้ามไม่ได้อยู่ดี ถึงแม้ว่าคุณจะห้ามตัวพวกเขาได้ แต่คุณห้ามใจของลูกตัวเองที่จะขัดขืนไม่ได้อยู่ดี ในทางกลับกัน ลูกก็ไม่ควรจะบอกให้พ่อแม่เป็นทุกอย่างตามที่เราต้องการ ผู้ใหญ่ก็มีอะไรที่ซับซ้อนค่อนข้างมาก
บางทีผู้ใหญ่บางคนต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อการดำรงชีวิตของตนเอง ตลอดจนการคงอยู่ของครอบครัวตามมุมมองของพวกเขา ซึ่งมันต้องมานั่งเถียงกันอีกว่า การกระทำเหล่านี้ผิดหรือถูก แต่สุดท้าย ความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องเข้าใจกัน หรืออย่างน้อยก็พยายามจะเข้าใจ ต้องเพิ่มความสามารถในการเข้าใจคนอีกคนในครอบครัว เพื่อไม่ให้เรื่องการเมืองมาทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ และลูก
แล้วต้องเริ่มอย่างไร
ต้องทำมาตั้งแต่ต้น อย่างในครอบครัวผม ไม่ใช่แค่ว่าอยู่ๆ เราก็มานั่งรับฟังกันในเรื่องการเมืองเอง แต่เรารับฟังกันในเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือไม่ดีอยู่เสมอ พ่อแม่รับรู้เรื่องความเคลื่อนไหวในตัวผม และผมรับรู้ความเคลื่อนไหวในตัวพ่อแม่เสมอ เราเริ่มคุยการเมืองมาตั้งแต่ต้น เลยทำให้ผมไม่ได้รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว แต่มันใกล้มาก อาจเป็นเพราะพ่อผมทำงานในด้านการเมืองมาตลอด
ถึงอาจจะไม่ใช่คำว่าสายจนเกินไปแล้ว แต่ทุกคนในครอบครัวก็ต้องเริ่มทำมันขึ้นมา สำหรับใครที่เป็นพ่อแม่ที่มีลูกเล็กอยู่ คุณก็ควรจะรับฟังลูกๆ ตั้งแต่เด็ก ถ้าคุณไปบังคับจำกัดสิทธิ เสรีภาพของเขา มันก็อาจจะเกิดการโตในบ่อ และทำให้ลูกไม่ได้เห็นปากอ่าวและมหาสมุทร ในครอบครัวแต่ละครอบครัวมันก็มีหลายกรณี บางครอบครัวพ่อแม่มีปัญหาไม่ฟังเด็ก ในขณะที่บางครอบครัวคือเด็กเองที่ไม่ฟังพ่อแม่ มันเลยอาจจะต้องขอความร่วมมือกับทั้งสองฝ่ายในเรื่องความสามารถในการเข้าอกเข้าใจกัน ไม่ต้องถึงกับใช้ความรู้สึก สำหรับการจะรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว ผมคิดว่าการใช้เหตุผลนำความรู้สึกสำคัญที่สุด
อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่อาจจะกำลังเจอปัญหาการทะเลาะกันในเรื่องการเมืองกับพ่อแม่
ผมเชื่อว่าบทสัมภาษณ์นี้ก็น่าจะบอกเล่าเรื่องราวได้ว่า ใจความสำคัญหลักของมันคือ ความเห็นอกเห็นใจกันและกัน เราเรียกร้อง หรือต้องการจะให้คนรุ่นพ่อแม่มารับฟังเรา ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่เคยรับฟังความคิดของเรามาก่อน แต่เราก็ควรจะพูดคุยและประคับประคองความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวไม่ให้มันแตกหัก
สุดท้ายแล้ว เราก็คงต้องฟัง ฟังในที่นี้ไม่ใช่การยอมเชื่อฟัง แต่เป็นการฟังเหตุและผลของพวกเขา คุยกันด้วยเหตุผลว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ ทำความเข้าใจว่าคนรุ่นเขาโตมาอย่างไร พวกเขาโตมาด้วยวิถีชีวิตแบบหนึ่ง และใช้วิถีชีวิตแบบนั้นมาทั้งชีวิต ถ้าจะเปลี่ยนตอนนี้ เขาอาจจะไม่พร้อม ปรับตัวไม่ทัน หรือเขาอาจจะยังไม่เห็นภาพในสังคมที่พวกเราจะทำให้มันเกิดในอนาคต ซึ่งพวกเราก็ต้องเข้าใจเขา และให้ความรู้แก่พวกเขาในสิ่งที่เรารับรู้มา
ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องมีความอดทนพอสมควร ถ้าคุณมีพ่อแม่ที่มีเหตุผล ก็โชคดี แต่ถ้าไม่มี มันก็คงต้องใช้ความอดทนมาก ใช้เวลาหน่อย มันจะไม่ง่ายถ้าไม่ได้เริ่มมาตั้งแต่ต้น แต่มันควรที่จะเป็นอย่างนั้น ถ้าพูดในเชิงสังคมโดยรวม ความแตกแยกในครอบครัวที่มีมากเกินไปในสังคม ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผลผลิตของโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือภาพรวมใหญ่ๆ ต่างๆ ของประเทศ ถ้าครอบครัวเกิดปัญหา จิตใจ การทำงาน กำลังการผลิตต่างๆ ของเราก็ลดลงไปด้วย
การพูดคุยในครอบครัวจึงสำคัญ โดยเฉพาะการพูดคุยในเรื่องการเมืองระหว่างพ่อ แม่ และลูก บนฐานของความเห็นอกเห็นใจกัน ผมมองว่าสังคมที่มีความสุขมันย่อมเริ่มขึ้นจากครอบครัวที่มีความสุข