คนเรามันก็ผิดพลาดกันได้ ปัญหาเป็นสิ่งที่เราต้องเจอเสมอ เข้าใจแหละว่าในการทำงานมันต้องเป็นมืออาชีพ แต่เราก็เป็นมนุษย์อะเนอะ มีความรู้สึก บางสถานการณ์ก็ไม่ไหวจริงๆ น้ำตาจะไหลให้ได้ สุดท้ายฉากที่เราเจอบ่อยๆ ก็คือการไปหลบมุมแอบร้องไห้ในที่ต่างๆ ตามระเบียงบ้าง ในห้องน้ำบ้าง
การร้องไห้ในที่ทำงานสำหรับหลายคนดูเป็นเรื่องร้ายแรง แน่ล่ะเพราะสถานที่ทำงานคือพื้นที่ ‘แห่งความเป็นมืออาชีพ’ และแน่นอนว่าพื้นที่ทำงานเป็นพื้นที่ของอำนาจ การร้องไห้จึงมักถูกตีความว่าเป็นเรื่องของความอ่อนแอ การไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ และเป็นการแสดงออกถึงความเปราะบาง เมื่อคุณอ่อนแอในโลกของการทำงาน อำนาจ (power) ก็จะถูกลดทอนลงไป
ประเด็นเรื่องการร้องไห้ในที่ทำงานเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับเพศในที่ทำงานด้วย ในปี 2015 คุณ Tim Hunt นักชีวะเคมีระดับรางวัลโนเบลเคยพูดถึงการทำงานทำนองว่า สุดท้ายแล้วผู้หญิงมักนำเอาอารมณ์มาทำงานด้วย พวกเธอทำงานด้วยความรัก และเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น พวกเธอก็จะร้องไห้ คำพูดในครั้งนั้นพาความซวยมาให้ในข้อหาเหยียดเพศและต้องออกมาขอโทษกับสาธารณชน แต่โดยนัยก็แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่ฝักรากลึกในวัฒนธรรมของการทำงาน ในฐานะดินแดนที่คาดหวังให้เราเก็บเอาเรื่องส่วนตัวและอารมณ์ความรู้สึกไว้ที่บ้าน
![](https://thematter.co/wp-content/uploads/2018/03/1.jpg)
ภาพจาก : Healthista
อีกด้านของความอ่อนแอ
ในยุคหนึ่งเราอาจเชื่อว่าโลกของการทำงานคือโลกที่ต้องแยกอารมณ์ความรู้สึกไว้เพื่อความเป็นมืออาชีพ แต่ดูเหมือนว่าความคิดดังกล่าวค่อยๆ ถูกท้าทาย มีงานเขียนจากนิตยสารแนวธุรกิจและความคิดจำนวนมากที่ออกมาท้าทายว่า การร้องไห้—แสดงอารมณ์ในที่ทำงาน—ไม่ควรจะถือเป็นเรื่องต้องห้ามขนาดตีความว่าคนๆ นั้นคือคนที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพแต่อย่างใด
ในการสำรวจพบว่า ในที่สุดแล้วเราต่างก็ถูกกระทบโดยความรู้สึกในการทำงานทั้งนั้น เพียงแต่การแสดงออกระหว่างผู้ชายและผู้หญิงอาจแตกต่างกันบ้าง มีการสำรวจพบว่าผู้หญิง 41% บอกว่าตัวเองเคยร้องไห้ในที่ทำงาน ในขณะที่ผู้ชายมีเพียง 9% เท่านั้นที่ยอมรับว่าร้องไห้ในที่ทำงานเช่นกัน
การร้องไห้ในออฟฟิศมักเกิดจากการรับมือกับความรู้สึกตึงเครียดไม่ไหว ความอัดอั้นตันใจ ไปจนถึงความรู้สึกไร้ความสามารถ ทำอะไรไม่ได้ น้ำตาแห่งความอัดอั้นจึงไหลออกมา ในทำนองเดียวกันสำหรับผู้ชาย เมื่อเผชิญหน้ากับความอัดอั้น ผู้ชายเองก็มีแนวโน้มที่จะใช้ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่แทนที่จะร้องไห้ ผู้ชายมีแนวโน้มจะก่นด่าและตอบสนองด้วยความโกรธมากกว่าการร้องไห้
ถ้าเราไม่ได้มองว่าการร้องไห้เป็นสัญญาณของความอ่อนแอ แต่เป็นอาการที่มนุษย์รับมือกับความตึงเครียด การร้องไห้ – ในทางที่ดี จึงควรเป็นแค่ภาวะชั่วคราว เราร้องไห้ไม่นาน เช็ดน้ำตา ปล่อยความอ่อนแอไปแล้วลุกขึ้นแก้ปัญหา แบบนี้การแสดงอารมณ์ก็ไม่น่านับเป็นการกระทำเชิงลบอะไรขนาดนั้น
![](https://thematter.co/wp-content/uploads/2018/03/619px-TheodoreRooseveltTeddyBear.jpg)
ภาพจาก : New York Post
หัวจิตหัวใจในที่ทำงาน
ถ้าเราตัดประเด็นเรื่องความเป็นมืออาชีพต้องไร้อารมณ์ออกไป คนที่ร้องไห้ในที่ทำงานก็แปลว่าคนทำงานคนนั้นเอาหัวใจ – เอาความรู้สึก – ใส่ลงไปในงานที่ตัวเองทำด้วย คนทำงานที่ลงทุนความรู้สึกลงไปในการงานที่ตัวเอง น่าจะถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดี เป็นทรัพยากรที่น่ารักษาไว้
ในอเมริกาเอง จากวัฒนธรรมเรื่องการทำงานโดยไร้ใจที่มีรากฐานตั้งแต่ทศวรรษ 1900 ผลคือจากการสำรวจคนทำงานกว่า 150,000 คน พบว่าคนทำงาน 70% ทำงานโดยไม่มีใจ (disengage) คือทำๆ ไปโดยที่ไม่รู้สึกรู้สา ไม่ได้มีใจกับงานที่ตัวเองทำ ผลคือมีงานศึกษามากมายที่บอกว่า บริษัทที่มีพนักงานทำงานด้วยใจมีผลประกอบการที่ดีกว่า การลาออกไม่สูง และคุณภาพงานดีกว่า ซึ่งแน่ล่ะ พนักงานเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่แรงงานหรือร่างที่มาหมุนให้งานจบ
มีงานศึกษาใหม่ในปี 2017 จาก Harvard Business School พบว่าการร้องไห้ในที่ทำงาน – ในสถานการณ์ที่เหมาะสม เช่นแสดงให้เห็นถึงการลงความรู้สึกลงไปในการทำงานนั้นส่งผลดีมากกว่าผลเสีย โดยรวมแล้วผู้ร่วมงานหรือนายจ้างจะรับรู้และมองหาคนที่เอาความรู้สึกหรือลงความผูกพันลงไปกับเนื้องานมากกว่าการทำงานไปวันๆ
สุดท้ายกลับมาที่เรื่องเดิม คือเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และแน่นอนว่าการทำงานด้วยความรู้สึกก็น่าจะทำให้เราทำงานด้วยความใส่ใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำด้วยใจแต่อย่างเดียวแล้วเอะอะก็ร้องไห้ เพราะการทำงานก็ต้องมี ‘ความเป็นมืออาชีพ’ เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญในท้ายที่สุด
ดังนั้น เราก็ไม่ต้องรู้สึกผิดมาก ถ้าเกิดรู้สึกไม่ไหวขึ้นมาจริงๆ ในระหว่างเวลาทำการ หรือถ้าเราไปเจอเพื่อนที่กำลังร้องไห้อยู่ สิ่งที่ทำได้คือไปไปช่วยปลอบใจก่อนจะแก้ปัญหาไปตามเรื่อง ป้องกันการที่จะไม่ต้องกลับมานั่งร้องไห้อีก
อ้างอิงข้อมูลจาก