ท่ามกลางกระแสการเมือง การเรียกร้องสิทธิ-เสรีภาพ และการตีแผ่ระบบอำนาจนิยมอันร้อนระอุในปัจจุบัน มีอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมากพูดถึงอย่างเป็นวงกว้างก็คือ เรื่องการประกาศยกเลิกกิจกรรมรับน้องที่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเป็นรากฐานของอำนาจนิยม ในหลายๆ คณะ และมหาวิทยาลัย
การรับน้องรูปแบบนี้ มักจะเป็นการรับน้องโดยใช้อำนาจ เพื่อบังคับ หรือสั่งให้คนหลายคนต้องอยู่ในระเบียบที่เหมือนกัน รวมไปถึงกดดันด้วยวิธีการต่างๆ นานา และเมื่อมีใครสักคนลุกขึ้นมาตั้งคำถาม หรือทำอะไรที่ผิดแปลกออกไปจากสิ่งที่ถูกตั้งเอาไว้ก็จะถูกเรียกไปปรับทัศนคติ (เอ๊ะ?) ซึ่งที่ผ่านมาก็ถูกนำมาพูดถึงอยู่เป็นประจำในช่วงเปิดเทอมใหม่
จนในปีนี้ที่กระแสการตระหนักรู้ถึงรากฐานของระบบอำนาจนิยม และการเรียกร้องสิทธิ-เสรีภาพได้ถูกพูดถึงตลอดทั้งปี ทำให้มีหลายคณะ หลายมหาวิทยาลัย ออกประกาศยกเลิกกิจกรรมรับน้องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสาขาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ หรือบรรดาคณะ มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับเรื่องการรับน้องประชุมเชียร์ภายใต้ระบบ SOTUS อันเข้มข้น อย่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
The MATTER ได้พูดคุยกับ ปอนด์-เรวัตร แสงมีอานุภาพ อดีตนายกสโมสรนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา พ.ศ.2562 ซึ่งเป็น 1 ในผู้เกี่ยวข้องในการประกาศยกเลิก 6 กิจกรรมอันเป็นการบ่มเพาะรากฐานอำนาจนิยม ถึงที่มา และกระบวนการในการยกเลิกการรับน้องรูปแบบนี้
เพราะการรับน้อง เอา ‘รุ่น’ ถูกยึดโยงกับหลายสิ่งหลายอย่างในคณะ
การกดดัน การลงโทษ การใช้คำพูดที่รุนแรง และบางทีอาจรวมไปถึงการคุกคามทางเพศ สิ่งเหล่านี้ล้วนแอบซ่อนอยู่ในกิจกรรมรับน้องที่หลายๆ คนได้เจอ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยให้เหตุผลต่อกิจกรรมและการกระทำเหล่านั้นว่า เพื่อให้ปี 1 ได้รู้จักกันเอง ได้รู้จักรุ่นพี่ ได้ทำงานร่วมกับเพื่อน-รุ่นพี่ และได้ผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายใต้การทำกิจกรรมที่อยู่ในกรอบของระบบ SOTUS
ซึ่งการทำกิจกรรมเหล่านี้ย่อมต้องได้รับความสมัครใจจากผู้เข้าร่วม แต่แน่นอน มีคนที่ยอมรับได้ก็ย่อมมีคนที่ยอมรับไม่ได้ และเมื่อใครคนนั้นตัดสินใจเดินออกไปจากกิจกรรมการรับน้องนี้ ตัวระบบและผู้คนในระบบก็จะผลักออกไป
เพราะการทำกิจกรรมเป็นคณะ สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือการแต่งกายด้วยเสื้อ หรือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกได้ถึงความเป็นคณะ และสำหรับคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. ‘เสื้อสิงห์’ คือสิ่งนั้น เพราะการที่เสื้อสิงห์ผูกโยงอยู่กับทุกกิจกรรมในคณะ เมื่อไม่ใส่เสื้อสิงห์มา ก็จะไม่สามารถทำกิจกรรมในคณะได้ หรืออาจทำได้แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้สายตาที่มองเหมือนกับตัวเองเป็นคนแปลกแยกแตกต่าง และไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนอื่นๆ
ทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกเหมือน
เป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นคนชายขอบ
และนอกจากนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ยังถูกจำกัดสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่าง อย่างการไม่สามารถเข้าร่วมชมรมบางชมรมในคณะได้ ไม่สามารถมีน้องรหัสได้ และไม่สามารถเป็นสโมสรนักศึกษาได้
“ตอนปี 3 ผมได้มีโอกาสเป็นนายกสโมสรนักศึกษาของคณะ โดยที่มีรองนายกสโมฯ ฝ่ายวิชาการเป็นคนที่ไม่เอารุ่น ซึ่งถ้าถามว่าลำบากไหมกับการไม่ได้รุ่นแล้วมาเป็นสโมฯ ผมมองว่ามันลำบากมากเวลาที่เพื่อนคนนี้ต้องทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในหลายกิจกรรมที่ต้องใส่เสื้อสิงห์
อย่างรับน้องขึ้นดอย ที่รัฐศาสตร์รุ่นพี่จะต้องใส่เสื้อสิงห์กันทุกคน แต่เพื่อนเขาไม่มี ทางสโมฯ เองก็ต้องคุยกันว่าจะทำยังไง ซึ่งผลก็ออกมาว่าอนุญาตให้เพื่อนคนนั้นได้ยืมเสื้อสิงห์ไปใส่ทำงานได้ 1 วันและต้องคืน แต่พอหลังจากนั้นก็โดนคนอื่นที่อินเรื่องเสื้อก็ออกมาด่าว่าสาดเสียเทเสีย และพอเพื่อนคนนั้นไปอธิบายคนเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมรับอยู่ดี
ผมก็เลยมาตั้งคำถามว่า ถ้าสมมติว่าเพื่อนคนนั้นเอารุ่น เขาก็คงไม่โดนอะไรแบบนี้ ถ้าได้รุ่นก็คงมีสิทธิที่จะทำงาน มีสิทธิที่จะทำงานแล้วไม่โดนประณามว่าเอาเสื้อมาด้วยอภิสิทธ์ หรือถ้าเรายกเลิกระบบเสื้อ เราก็จะรู้สึกว่าใครใส่ก็เหมือนกันหมด มันก็คือเสื้อตัวนึงที่เป็นเสื้อรุ่น ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้คนไม่ได้เสื้อจะเข้ามาทำงานอื่นๆ ในคณะยังไง แต่เขาก็ยังไม่ได้รับการยอมรับแบบที่คนเอารุ่นได้รับ สุดท้ายแล้วเสื้อสิงห์ หรืออะไรหลายๆ อย่างมันเป็นรากฐานที่ทำให้เราแบ่งแยกกันได้จริงๆ ระหว่างคนที่เอารุ่นกับคนที่ไม่เอารุ่น
นอกจากนี้ การรับน้องที่ผมได้พบเจอมาในปี 1 มันค่อนข้างรุนแรง ทำให้ผมตั้งคำถามว่า ทำไมเราเรียนรัฐศาสตร์ เรียนเรื่องสิทธิมนุษยชน เรียนเรื่องการเคารพความเป็นปัจเจกต่างๆ แต่ทำไมเรื่องแบบนี้เราถึงละเลยมัน และทำให้มันเป็นวัฒนธรรมขนาดนี้”
เสรีภาพเบ่งบานภายใต้กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระแสต่อต้านการรับน้องด้วยความรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงและถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นอยู่เรื่อยมาในสังคม เช่นเดียวกันตัวมหาวิทยาลัยเอง ก็ได้ออกกฎเกี่ยวกับจำกัดเวลารับน้องประชุมเชียร์ด้วย ทำให้รุ่นพี่ รุ่นพี่ของรุ่นพี่หลายๆ รุ่นต้องปรับเปลี่ยนการรับน้องให้เบาลงมาเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของเวลาและวิธีการ
ประกอบกับที่เป็นประเด็นเรื่องของสิทธิ-เสรีภาพ และระบบอำนาจนิยมที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ได้ถูกชูขึ้นมาพร้อมๆ กับการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งทำให้คนในชมรมเชียร์หลายคนตระหนักและลาออกจากชมรมเชียร์ เพราะไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของระบบอำนาจนิยมที่ฝั่งรากลึกอยู่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ ในที่สุดก็สามารถยกเลิกการรับน้องรูปแบบนี้ได้
“ด้วยความที่ผมก็เป็นพี่เชียร์ เลยได้ประชุมกับเพื่อนๆ ในชมรมเชียร์ และเพื่อนที่เป็นประธานเชียร์ แล้วก็มีมติร่วมกันว่าอยากจะยุบชมรมเชียร์ เพราะถ้ายุบชมรมเชียร์ ปกครองก็จะไม่มีข้ออ้างในการที่จะแสดงอำนาจ หรือทำห้องเชียร์ แล้วสิ่งอื่นๆ อย่างอำนาจนิยมในคณะ หรือเสื้อสิงห์ก็จะค่อยๆ หายไปตามระบบที่ถูกเปลี่ยนไป และเราก็คิดมาตลอดนะว่าอยากจะเปลี่ยน อย่างน้อยอยากจะฝากอะไรให้คนรุ่นถัดไป
ให้เขาได้เติบโตมาในสังคมที่เขาสามารถเลือกเองได้
ไม่ใช่สังคมที่เราบังคับให้เขารักกัน
ในการประชุมกันก่อนจะออกแถลงการณ์ ผมก็ไปคุยน้องที่เป็นสโมฯ รุ่นนี้ในฐานะที่เป็นอดีตสโมสรนักศึกษาว่า พวกผมก็พยายามปรับเปลี่ยนอะไรมาหลายอย่างแล้ว และมันก็ยังไม่สำเร็จสักที เลยมองว่ามันคงถึงเวลาในรุ่นนี้แล้วแหละ น้องก็ต้องตัดสินใจกันแล้วว่าจะทำยังไง และพออยู่ในที่ประชุมเพื่อนผมก็ประกาศกร้าวเลยว่าจะยุบชมรมเชียร์
ทำให้มีคำถามมาว่า แล้วเพลงเชียร์ล่ะจะทำยังไง เพื่อนผมก็บอกว่าอัพลงยูทูบหมดแล้ว ถ้าอยากจะฟัง อยากร้องเป็นก็ไปฟังได้ ไม่อยากจะบังคับน้องรุ่นต่อไปอีกแล้ว มันหมดยุคแล้ว พอบอกไปทั้งห้องก็ช็อกกันไปเลย เพราะพอเชียร์ยุบ ทุกอย่างในกระบวนการ SOTUS ของคณะมันเหมือนโดนตัด โดนถอดรากออกไป ปกครองเขาก็คุยกันว่า ถ้าเชียร์ยุบมันก็ควรยุบทั้งห้องเชียร์ เพราะมันก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะให้เปิดห้องเชียร์แล้ว ในที่ประชุมจึงตัดสินใจว่าจะยุบฝ่ายปกครองและชมรมเชียร์
ซึ่งพอยุบทั้งหมดเสื้อสิงห์มันก็ไม่สำคัญแล้ว เพราะถ้ามองเสื้อนั่นว่าเป็นเสื้อธรรมดา มันก็เป็นเสื้อรุ่น เสื้อคณะธรรมดา จนในที่สุดหลายภาคส่วนก็ตกลงกันว่า โอเค งั้นมาร่างและสรุปกิจกรรมใหม่กันดีกว่า โดยลบกิจกรรมเก่าๆ ที่เป็นอะไรที่ไม่ได้สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่แท้จริง แต่กลับสร้างความแตกแยก สร้างพลเมืองชั้นหนึ่ง ชั้นสองขึ้นมา จนออกมาเป็นประกาศแบบที่ได้เห็น”
โดยที่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ หรือการกระทำของใครเพียงแค่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพราะทุกคนที่ตระหนักถึงเรื่องนี้ ทุกคนที่รู้ว่าควรจะแก้ไขตรงไหน ทุกคนที่เคยเงียบภายในระบบ และคนที่ตะโกนมาจากด้านนอก ต่างมีส่วนที่ทำให้ระบบนี้ถูกยกเลิกไปได้
การรับน้องบนหลักมนุษยธรรม ไม่ใช่อำนาจนิยม
เมื่อสามารถยกเลิกกิจกรรมที่เป็นรากฐานของระบบอำนาจนิยมไปได้แล้ว ก้าวต่อไปก็คือการสร้างระบบขึ้นมาใหม่ โดยต้องมีรากฐานของความคิดอยู่บนหลักความเข้าใจเรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เพื่อให้หลุดออกจากกรอบอำนาจนิยมแบบเดิมๆ ที่ครอบความคิดมาเป็นเวลานาน
“มันอยู่ที่ว่าจะครีเอทรูปแบบกิจกรรมยังไง การที่เอา SOTUS มาเป็นตัวจำกัดกรอบว่า ต้องมี SOTUS นะถึงจะทำกิจกรรมต่างๆ ได้ มันก็ทำให้ติดอยู่แต่ในกรอบเดิมๆ ที่คิดว่ามันดีแล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้วทางเลือกมันมีหลายทางเลือก มันก็เหมือนหลายทางเดิน ถ้ายังมีจุดหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะทางเดินไปทางไหนมันก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นวิธีการมันอยู่ที่ว่าจะปรับกระบวนการยังไงให้เข้ากับยุคสมัย และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วได้”
เพราะสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการรับน้องแบบใหม่ที่จะต้องมีขึ้น หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำก็ต้องตั้งอยู่บนหลักมนุษยธรรม ยิ่งกับในปัจจุบันที่ SOTUS ไม่สามารถสร้าง หรือเปลี่ยนอะไรใครได้แล้ว เพราะทุกคนต่างรู้ว่าสิ่งสิ่งนี้มันไม่ได้ดีที่สุด ถึงจะเปลี่ยนให้ดีขึ้น เป็น Neo-SOTUS แต่การกระทำเหล่านั้น ก็ยังเป็น SOTUS อยู่ดี ซึ่งก็จะทำให้ติดอยู่ในอำนาจนิยม ถ้าไม่ได้ถูกถอนรากถอนโคนมันออกมา
ด้านของคนที่กำลังลดทอนอำนาจ หรือทำให้เบาลง สิ่งนี้ก็เป็นอีกปัจจัยสู่การล่มสลายของ SOTUS เหมือนกัน เพราะเมื่อปรับเปลี่ยนการรับน้องให้เบาลง ไม่มีห้องเชียร์แล้ว แต่ยังเหลือบางสิ่งบางอย่างที่เป็นวัฒนธรรมที่ยังบ่อมเพาะอำนาจอยู่บางส่วน ซึ่งถ้าเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนความคิด ก็จะเปลี่ยนรากฐานนั้นได้
ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาของแต่ละคณะ แต่ละสถาบัน เพราะแต่ละที่ต่างมีกลิ่นอายของกิจกรรมที่เป็นรากฐานของระบบอำนาจนิยมแตกต่างกันออกไป จึงต้องจัดการแก้ไขในส่วนที่คิดว่าเป็นต้นต่อของปัญหาที่ได้พบจริงๆ และเมื่อถึงเวลานั้น ระบบอันเป็นฟันเฟืองหนึ่งของการบ่มเพาะรากฐานความคิดอำนาจนิยมก็คงจะหมดไปในรุ่นเรา