ใครๆก็พูดกันจนปากเปียกปากแฉะไม่ต้องอธิบายซ้ำแล้วว่า ระบบ Sotus ไม่มีอะไรดีไปกว่าเป็นรอยด่างของสถานศึกษาไม่ว่าจะในระดับใด มหา’ลัย อาชีวะ วิชาชีพ ที่คนรุ่นใหม่ (เพิ่งจะได้) แสวงหาตัวตน เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ แทนที่พวกเขาและเธอจะได้เลือกเรียนรู้อย่างเสรีก็ต้องมาเผชิญกับการกดขี่กดทับ อยู่ภายใต้อำนาจใครก็ไม่รู้ อย่างสยบยอม กะอีแค่ได้มาเรียนมาก่อนเท่านั้น
และยิ่งสังคมเราเชื่อ ‘ความเป็นมนุษย์’ มากเท่าไร การใช้อำนาจกดขี่ความรุนแรงก็ยิ่งกลายเป็นความป่าเถื่อน ‘รุ่นพี่’ ที่สมาทานระบบโซตัสก็ยิ่งต้องหลบๆ ซ่อนๆ จัดกิจกรรม ลำพังมันก็อัปลักษณ์ ไม่สง่างามอยู่แล้ว ก็ยิ่งต้องลักลอบจัดกิจกรรมทำ ด้วยรู้ว่าลึกๆ แล้วมันต่ำตม ไม่ควรปรากฏให้สังคมได้เห็น และเมื่อมันยิ่งปิดมิดชิด ก็ยิ่งเข้าถึงได้ยาก มันก็ยิ่งสามารถทำอะไรถ่อยๆ ได้ตามอำเภอใจ ขณะเดียวกันผู้ที่สมาทานพิธีกรรมแบบนี้ก็ยิ่งคิดว่ามันศักดิ์สิทธิ์ ควรค่าแก่การรักษาไว้ เพราะลึกลับประหนึ่งสถาบันลับ และเอามาสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันให้เข้มข้นขึ้นเพราะมีความลับร่วมกัน พิธีกรรมร่วมกัน นอกเหนือจากผ่านประสบการณ์ระยำตำบอนร่วมกันมาแล้ว
มันจึงยิ่งกลายเป็นประเพณีที่เข้มข้น สืบทอดต่อกันมาเพราะอยากเห็นรุ่นถัดไปมีประสบการณ์ความรุนแรงเช่นเดียวกัน กลายเป็นมรดกหนี้ และวงจรอุบาทว์
อันที่จริง ฉันก็เคยคบกับ ‘พี่ว้าก’ ม.ศิลปากร สมัยเรียน ป.ตรี (ไม่อยากจะบอกเลยว่า 15 ปีมาละ) ตอนเย็นๆก็เดินไปหาที่ม. เพราะมหา’ลัยอยู่ใกล้ๆ กัน แฟนเก่าฉันเบ่งใหญ่คับคณะ ทั้งๆ ที่อันที่จริงชีวิตก็กระจอกแสนกระจอก เรียนก็ไม่ได้ดีเด่อะไรเลย หนังสือก็ไม่อ่าน ทำอะไรก็ไม่เป็น แม่ไม่ให้ค่าขนมก็จะตายแหล่ไม่ตายแหล่ ผลงานก็ไม่ได้มีอะไรสร้างสรรค์หรือมีปรัชญาอะไร ได้แค่มองผ่านๆ ไม่น่าจดจำหรือจะสะท้อนสังคมก็ clichéๆ แบบคนไม่อ่านหนังสือ วันๆ ก็ดีแต่แยกเขี้ยวคำรามชี้โบ้ชี้เบ้รุ่นน้อง นั่งกระหยิ่มดูรุ่นน้องวิ่งหัวซุกหัวซุนเข้าประชุมให้ทันตามเวลาที่กำหนด จากอีกทีหนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง ราวกับชมมหรสพที่ให้น้องใหม่ไม่รู้สี่รู้แปดกลายเป็นทาสเชื่องๆ และสถาปนาตนเองประหนึ่งนายทาสที่จะสั่งให้ทำอะไรก็ได้ แม้รุ่นพี่จะอ้างเป็นการแสดงหรือเล่นบทบาทอะไรก็ตาม แต่คนรับบทเหยื่อไม่ได้อยากเล่นด้วย
นี่ผ่านมา 15 ปีแล้ว sotus ก็ยังอยู่ ไม่ว่าสังคมจะพัฒนาไปไหนถึงไหน ไม่พักต้องพูดถึงการดำรงอยู่เมื่อก่อนฉันจะเรียนมหาลัย
ลำพังแค่ให้โกนหัว เดินเรียงแถวเป็นระเบียบ ใครไม่เป็นระเบียบก็ลงโทษลุกนั่ง กดดันตะคอกด่าขู่เข็ญก็ทุเรศทุรังพอแล้ว นี่ให้แก้ผ้าอาบน้ำร่วมกัน ให้นักศึกษาชายช่วยตัวเองให้แก่กัน มีการเอาจู๋มาถูกันอีก เอายาสีฟันมาทาเจี๊ยว ล่วงละเมิดทางเพศ นำไปสู่การประณามต่อต้านทางสังคม
นับวันยิ่งจะเหมือนจักรวาลคู่ขนานให้กับโลกมนุษย์ใบนี้ ไม่ได้ดูเท่เลยจ้า ดูถ่อย ดูล้าหลัง แล้วเก็บมาเป็นความภาคภูมิใจลมๆ แล้งๆ
หลายคนที่ศรัทธาในระบบรับน้องที่ใช้ความรุนแรงบังคับขู่เข็ญนี้ออกมาตีอกชกหัว ผวาอ้าปีกปกป้อง อ้างว่าไม่ดูให้เป็นองค์รวมของการรับน้อง อะไรต่อมิอะไร ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว Sotus องค์รวมของมันก็คือความรุนแรง และเป็นพิธีกรรมที่แสดงออกและสื่อสารถึงปฏิสัมพันธ์เชิงโครงสร้างในระดับต่ำตมและหยาบคายที่สุดของอำนาจนิยม ถ้าเป็นถึงระดับครูบาอาจารย์แล้ว แล้วเผอิญไม่รู้จักคำว่าละเมิดสิทธิ จนคำว่าสิทธิมนุษยชนเป็นของแสลงหู และคำว่าละเมิดสิทธิกลายเป็นคำสวยๆ บ้าบอคอแตก บางคนเชื่อว่ามันเป็นกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างกลุ่มบุคคลกลุ่มใหม่ที่เข้าใหม่กับกลุ่มบุคคลเดิมและละลายจากพฤติกรรม ให้รักและสามัคคีกัน สร้างความสัมพันธ์อยู่กินแบบครอบครัว เป็นเสน่ห์ของคณะ
กลายเป็นคำถามสังคมว่า คนคนนั้นโตมาในครอบครัวแบบไหนกัน? ยิ่งถ้าคนนั้นเป็นอาจารย์สอนศิลปะด้วยแล้ว ‘ความงาม’ ‘ความสวย’ ในสำนึกอาจารย์คนนั้นเป็นอย่างไร? แล้วเป็นครูบาอาจารย์ประสาอะไร สอนหนังสือได้ไงถ้าไม่รู้จักคำว่าสิทธิ์
นี่ “นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” จ๊ะ?
การเล่นไอ้จ้อนก็มีมาช้านานให้หลายสังคม สังคมชนเผ่าในประเทศปาปัวนิวกินีออีโทโรหรืออีโดโร (Etoro, Edolo) อาศัยอยู่แถบทางลาดทางตอนใต้ของเทือกเขา Sisa ตามแนวด้านใต้ของเทือกเขาในตอนกลางของปาปัวนิวกินี ใกล้กับที่ราบปาปัว และแซมเบีย (Sambia) ชาวเผ่าบนภูเขา ล่าสัตว์และเพาะปลูก อาศัยพื้นที่สูงทางแถบตะวันออก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกแยกออกจากสังคมสมัยใหม่ในประเทศ ไม่ได้สื่อสารกับโลกภายนอกเผ่า นักมานุษยวิทยาสนใจชาติพันธ์นี้ไม่ใช่เพราะล่าสัตว์เก็บของป่า แต่เพราะพิธีกรรมดื่มน้ำเชื้อ เนื่องจากชาติพันธ์นี้เชื่อว่าน้ำเชื้ออสุจิเป็นแหล่งพลังงาน มีพลังอำนาจของ ‘ความเป็นชาย’ การเจริญเติบโต และผีบรรพบุรุษ เด็กชายในเผ่าจึงต้องอมอวัยวะเพศรุ่นพี่ชายหรือผู้ใหญ่ที่อยู่มาก่อนแล้วดื่มกินน้ำเชื้อ เพื่อส่งผ่านและรับความเป็นผู้ใหญ่และผู้ชาย[1]
แม้แต่ในสัตว์อย่าง ‘โบโนโบ’ (Bonobo) อาศัยในตอนกลางของทวีปแอฟริกา เป็นลิงสายใกล้เคียงกับชิมแปนซีแต่มีนิสัยเป็นมิตรไม่ก้าวร้าวกว่า ก็เล่นอวัยวะเพศให้แก่กันเพื่อผูกมิตร แสดงความผูกพันและลดความขัดแย้ง โบโนโบตัวเมียในวันเจริญพันธ์จะเอาอวัยวะเพศเสียดสีกันไปมาเพื่อแสดงความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง[2]
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเหล่านี้ก็เป็นสังคมที่มีบริบทและเงื่อนไขเฉพาะตัว ทั้งพิธีกรรมประเพณีอันยาวนานของชาติพันธุ์อีโทโรและแซมเบียที่ตัดขาดจากภาวะสมัยใหม่ และพฤติกรรมสัตว์ ว่าแต่พฤติกรรมและวัฒนธรรมประเพณีแบบไหนกันที่อยากให้เกิดขึ้นในรั้วสถาบันที่ได้ชื่อว่าการศึกษา?
ยิ่งในยุคสมัยใหม่ มีปริมณฑลส่วนบุคคลและสาธารณะ รู้จักเคารพพื้นที่ส่วนบุคคล สิทธิมนุษยชน สิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ล่วงละเมิดตัวตนของอีกคน ถึงเนื้อถึงตัวเพื่อยืนยันความสนิทสนมกลมเกลียว หรือต้องเผชิญการถูกกดขี่กดทับข่มเหงเพื่อให้ได้มาซึ่งการสมานมิตร
มันปฏิเสธไม่ได้ ความรักใคร่สนิทสนมสามัคคีอย่างลึกซึ้ง ก็สามารถเกิดจากการเผชิญกับสภาวะกดดัน ความตึงเครียดยากลำบาก การที่ต้องอยู่ไกลบ้าน ความเหงาหดหู่ นำไปสู่การถ้อยทีถ้อยอาศัยจนเกิดความใกล้ชิดเข้าอกเข้าใจผูกพันกันอย่างเข้มข้น เช่นในสภาวะสงคราม นำไปสู่ความเป็นสหายที่สนิทสนมแน่นแฟ้นของบรรดาทหารกล้า ยิ่งทหารที่รอดชีวิตกลับมาจากศึกสงครามย่อมแสดงความรักไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างลึกซึ้ง[3] และในสภาวะเช่นนั้นนำไปสู่การสำเร็จความใคร่ให้แก่กัน หรือการไม่ถือสาหากจะเห็นสหายสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การให้ชักว่าวให้กันจะนำไปสู่การละลายพฤติกรรม สร้างความรักสามัคคีกันระหว่างเจ้าของมือกับเจ้าของจู๋ และนั่นมันก็เป็นสังคมทหาร ไม่ใช่สังคมพลเรือน นักเรียนนักศึกษา ที่จะมาคาดหวังแกมบังคับว่าจะต้องมี Esprit de Corps
“Esprit de Corps” หมายถึงดวงใจและวิญญาณคณะ ไม่ว่าคณะนั้นจะเป็นสถาบัน หรือหมู่คณะ เป็นความรักและฝากหัวใจแด่หมู่คณะ หวังดีหวังประโยชน์ของคณะมากกว่าของตัวเองจนยอมเสียสละความสุข ชีวิตร่างกายเพื่อประโยชน์คณะ
ซึ่งมันไม่ได้มีความจำเป็นขนาดนั้น และไม่ได้เกิดจากการให้สมาชิกหมู่คณะมาชักว่าวให้แก่กันด้วย… อย่าเด๋อ
มีชุดอธิบายมากมายเกี่ยวกับการชักว่าว ซึ่งต่อมากลายเป็นเพียงความเข้าใจผิด ซึ่งก็เป็นหมุดหมายถึงวิวัฒนาการทางความคิดสติปัญญาและความรู้ เหมือนกับที่เชื่อว่า รูปแบบการฝึกหัดในค่ายทหารมันเหมาะกับสถานศึกษาพลเรือนก็เป็นอีกความเข้าใจผิดและหมุดหมายถึงระดับสติปัญญา เช่นครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าการช่วยตัวเองเป็นบาปที่ขัดต่อธรรมชาติ เพราะเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการเจริญพันธุ์ เป็นการละเมิดกฎของพระผู้เป็นเจ้า การสำเร็จความใครด้วยตัวเองไม่เป็นเพียงบาปต่อผู้กระทำ ยังเป็นบาปต่อผู้อื่น เพราะขณะช่วยตัวเองก็ได้จินตนาการว่าร่วมเพศกับผู้อื่นอยู่[4]
การแพทย์แผนเต๋าแบบดั้งเดิมของจีนก็เชื่อว่าที่ผู้ชายช่วยตัวเองจะทำให้พลังงานหยางลดลง ขณะที่วาทกรรมทางการแพทย์ตะวันตกในศตวรรษที่ 18 ที่ยังคงมีชุดความคิดทางศาสนากำกับอยู่ว่า เด็กผู้ชายช่วยตัวเองมากๆ จะตาบอด[5] มากไปกว่านั้นยังมีชุดอธิบายอีกว่า ผู้ที่ช่วยตัวเองบ่อยๆ จะทำให้มีขนขึ้นที่ฝ่ามือ สมองเสื่อม ความจำเสื่อม ตัวเตี้ยแคระแกร็น เป็นวัณโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนองตอบความใคร่ของผู้หญิงถือว่าเป็นอาการสะท้อนความเจ็บป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง ยิ่งผู้หญิงติ้วบ่อยๆ จะยิ่งทำให้ร่างกายพิกลพิการ ไม่สมบูรณ์หากช่วยตัวเองบ่อยๆ เพราะเชื่อว่าผู้ชายมีความต้องการทางเพศสูงกว่าผู้หญิงโดยธรรมชาติ ผู้หญิงมีหน้าที่ระบายปลดปล่อยให้ผู้ชาย ไม่ใช่ตัวเธอเอง
กว่าเราจะเลิกห้ามปรามก็เมื่อเริ่มรู้ว่ามันไม่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขนาดนั้น และไม่ว่าเพศไหนก็ติ้วก็โตกได้ ในนิตยสาร ‘ปัญหาชีวิต’ ที่เป็นการตอบจดหมายปัญหาชีวิตทางเพศโดยบรรดาแพทย์ ในพ.ศ. 2498 ก็ได้เขียนเรื่อง “อัตตกามกิริยา ให้โทษจริงหรือ” ว่าการช่วยตัวเองเป็นเรื่องปรกติวิสัยมนุษย์และสัตว์ ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ก็ยังคงมีคนหนุ่มเข้าใจว่า ช่วยตัวเองจะบั่นทอนสุขภาพ โลหิตจาง ใจสั่น จนต้องเขียนจดหมายมาปรึกษาหมอเจ้าของคอลัมน์อีก[6]
แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นหลังจากไม่มีกฎห้ามช่วยตัวเองแล้ว กลับกลายเป็นว่ามีการบังคับให้คนอื่นสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองแทน ไม่ใช่เพราะวาทกรรมทางการแพทย์หรือศาสนา แต่เพราะวาทกรรมวาทเวรอื่นๆ เช่น Esprit de Corps, ความเป็นพี่น้องครอบครัว, สมานฉันท์สามัคคี, ระบบโซตัส
และเพื่อสนองความใคร่ทางอำนาจที่เพิ่งจะเถลิงของรุ่นพี่
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] asianduckling.wordpress.com
[3] Das, Santanu. (2002, January). “Kiss Me, Hardy”: Intimacy, Gender, and Gesture in First World War Trench Literature. Modernism/modernity, 9(1), 51-74.
[4] ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (การร่วม) เพศนอกสถาบันการแต่งงานในฐานะ ‘ระเบิด’ : จากประวัติศาสตร์ ‘การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง’ ถึง ‘เพศศึกษา’…เมื่ออุดมการณ์ประสานกับวิทยาการทางการแพทย์. รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 ( ก.ย.-ธ.ค. 2549 ) หน้า 1-55.
[5] เรื่องเดียวกัน.
[6] บุตร ประดิษฐวณิช, นายแพทย์. ความรู้ระหว่างเพศ ปัญหาถาม-ตอบ. กรุงเทพ: โอเดียนสโตร์, หน้า 106-109.