ภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากรกำลังถูกยุบ โดยลดความสถานะเหลือเป็นเพียงแค่สาขาวิชา ตามเกณฑ์ใหม่ที่มหาวิทยาลัยประกาศออกมาเมื่อไม่นานนี้ นี่คือประเด็นใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาสายมนุษยศาสตร์ของบ้านเรา
ไม่ใช่แค่ภาคปรัญชาของสถาบันนี้ หากแต่สิ่งที่ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากร คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง บอกกับเราคือ กระแสการลดความสำคัญของวิชาสายมนุษยศาสตร์ในการศึกษาบ้านเรานั้นกำลังเกิดขึ้นอย่างน่าเป็นกังวล และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่การเรียนการสอนด้านมนุษยศาสตร์ในบ้านเราอาจเหลือเพียงแค่ความรู้เชิงพื้นฐาน
ด้วยความสงสัยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ The MATTER จึงคุยกับ อ.คมกฤช ในฐานะผู้ที่ออกมาส่งเสียงและจุดประเด็นเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายนี้ พร้อมกับหาคำตอบว่า แท้จริงแล้ว วิชาปรัชญายังจำเป็นแค่ไหนในสังคมปัจจุบัน และเพราะอะไรเราถึงควรรักษาศาสตร์อันเก่าแก่นี้ไว้ต่อไป
ก่อนหน้านี้ที่จะรู้เรื่องเกณฑ์การยุบภาควิชาปรัชญา อาจารย์เห็นสัญญาณอะไรมาก่อนไหม
ตอนแรกเลยไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนเลย จนกระทั่งมหาวิทยาลัยส่งเอกสารระเบียบของมกราคมปี 2561 เป็นระเบียบว่าด้วยการจัดตั้ง ยุบรวม และการเลิกสาขา ซึ่งเกณฑ์ในนั้นเช่น อาจารย์ต้องมากกว่า 10 คน มีหลักสูตรทั้งปริญญาตรีและโท สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ต้องมาอาคารสถานที่
เราเคยเป็นภาควิชามาก่อนโดยไม่ได้มีเกณฑ์พวกนี้ แต่อยู่มาวันนึงก็มีเกณฑ์นี้ปรากฎขึ้นมา กฎไม่ได้บอกชัดเจนว่าต้องมีการยุบภาควิชา แต่กฎมันบอกอ้อมๆ ว่าหลังจากนี้ไปเราจะเป็นภาควิชาอีกต่อไปไม่ได้แล้ว
เกณฑ์เดิมไม่เข้มงวดเท่านี้เหรอ
เกณฑ์เดิมไม่มีอะไรเลย แต่อันนี้กำหนดให้ใหม่ทั้งหมด พูดตรงๆ คือคณะหรือมหาวิทยาลัยไม่ได้มาพูดกับเราตรงๆ ว่าต้องยุบ แต่การออกกฎแบบนี้มาคือบอกว่าเราต้องกลายเป็นแค่สาขา
ผลกระทบมันส่งผลต่อคณะสายมนุษยศาสตร์อย่างไรบ้าง
ศิลปากรมีทั้งสายมนุษยศาสตร์ สายศิลปะ และสายวิทยาการทั้งหลาย เช่น วิทยาศาสตร์ วิทยาลัยสารสนเทศ ซึ่งสองสายแรกมันมีมาเก่าแก่ มีภาระหน้าที่ในการสอนปริญญาตรีมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว ขณะที่คณะใหม่ๆ มันก็เพิ่งจัดขึ้นใหม่ มีระบบจัดการไม่เหมือนกัน เขามีตึกและอาคารที่ค่อนข้างใหญ่ มีจำนวนอาจารย์และมีนักศึกษาค่อนข้างเยอะ มันก็เลยมีธรรมชาติต่างกัน
ผมคิดว่าเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมา มันอิงมาจากสายวิทยาศาสตร์มากกว่า อธิการบดีเป็นคนพูดเองในที่ประชุมว่า เกณฑ์เหล่านี้เขาคุยกับคณะทางสายวิทย์มาแล้ว และอยากนำมาใช้กับทุกคณะ แต่ผมมองว่ามันทำไม่ได้หรอก เพราะแต่ละคณะมีธรรมชาติไม่เหมือนกัน
ที่บอกว่าธรรมชาติไม่เหมือนกันคืออะไร อยากให้อาจารย์ขยายความเพิ่มอีกนิดหน่อย
สายวิทยาศาสตร์เขาตั้งภาควิชาและคณะขึ้นมา เขาต้องมีแลป มีอาคารสถานที่ที่แยกออกมาเพื่อทำการทดลองและการทำวิจัย แต่คณะฝั่งมนุษยศาสตร์เราไม่จำเป็นต้องมีอาคารแบบนั้น เราเน้นสอนแบบเลคเชอร์ เจ้าหน้าที่หรืออาคารสถานที่ส่วนเราก็ต้องใช้ร่วมกันกับคณะอื่นได้ มันคือความแตกต่างที่เห็นได้ชัดๆ จำนวนนักศึกษาที่เข้ามาสมัครก็ไม่เท่ากัน มันเป็นธรรมชาติที่ต่างกันทั้งในแง่การเรียนการสอนและการจัดหลักสูตร
มันเป็นกฎเกณฑ์ที่ตั้งใจออกมาเพื่อทำให้คณะสายมนุษยศาตร์เล็กลงรึเปล่า
มันมีแนวโน้มไปทางนั้น ในระยะห้าหกปีนี้มันยังไม่เห็นผลเท่าไหร่ แต่ในระยะยาว การถูกลดลงเป็นเพียงสาขามันต่างจากภาควิชาอยู่หลายอย่าง อันแรกคือภาควิชามีสถานะเป็นแค่หน่วยงานย่อย ต้องขึ้นตรงกับคณะ ต้องฟังคณะ แต่ภาควิชามันสามารถดูแลจัดการตัวเองได้มากกว่า ในแง่ความอิสระมันเลยต่างกัน
สองคืออำนาจต่อรองก็ต่างกัน คือเป็นหน่วยงานสามารถทักท้วงกับมหาวิทยาลัยได้ แต่สาขาไม่ได้มีอำนาจนี้ สามคือในเกณฑ์ใหม่นี้ สาขามันยุบง่าย ถ้ายุบภาควิชาในระเบียบของมหาวิทยาลัยนั้นเรื่องต้องถึงสภามหาวิทยาลัย แต่สาขามันไม่ต้องถึงจุดนั้น มันส่งจากกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเท่านั้น
สกอ.บอกว่า ถ้าเราจะเป็นหลักสูตรวิชาเอกได้ เราต้องมีอาจารย์ 5 คน แต่ถ้าเกิดวันนึงถูกยุบเป็นสาขา ถ้าอาจารย์ออกไปคนนึง เราจะเอาอำนาจอะไรในการต่อรองกับคณะหรือมหาวิทยาลัยในการเอาอาจารย์คนใหม่มาเพิ่มให้ครบ ในการเป็นสาขามันมีความเสี่ยงที่จะถูกยุบจากประเด็นนี้ได้ง่ายกว่า เพราะอำนาจต่อรองไม่ค่อยมีแล้ว
สมมติเราเหลืออาจารย์แค่ 4 คน อาจารย์ที่เหลือก็จะไปสอนวิชาพื้นฐาน เช่น ปรัชญาทั่วไป มันไม่ใช่สิ่งที่ผมมโนขึ้นมาคนเดียวนะ เพราะมันเกิดขึ้นแล้วในหลายมหาวิทยาลัยของบ้านเรา ล่าสุดที่เราได้ยินมาคือที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเขายุบวิชาโททั้งปรัชญาและประวัติศาสตร์ อาจารย์ที่อยู่กันก็สอนแค่วิชาพื้นฐานกันอย่างเดียว มันต่างจากการมีวิชาเอกที่เรายังคงสามารถรักษาวิชาการสอนที่มีเนื้อหาลึกซึ้งลงไปในรายละเอียดได้
ถ้าแนวโน้มยังเป็นแบบนี้ต่อไปคือคณะสายมนุษยศาสตร์จะตัวเล็กลงเรื่อยๆ มันจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
อาจจะหายไปจากระบบอุดมศึกษา คือมองแบบกรณีร้ายแรงสุด มีความเป็นไปได้ว่าวิชาทางมนุษยศาสตร์ เช่น ปรัชญา ประวัติศาสตร์ มันจะเล็กลงจนกระทั่งหายไปจากศาสตร์ที่มีความลึก มันอาจจะเหลือเพียงแต่การสอนประเภทวิชาพื้นฐานเท่านั้น ได้เรียนได้สอนกันแค่วิชาแบบ introduction
ผลกระทบกับคนเรียนจะเจออะไรบ้าง
ในระยะ 4-5 ปีนี้เราอาจยังไม่เห็นอะไรมาก เพราะว่าตัวหลักสูตรมันยังอยู่ แต่ถ้าสถานการณ์มันพาไปจนกระทั่งอาจารย์เหลือไม่พอ แล้วมหาวิทยาลัยไม่ส่งเสริมการเรียนการสอนด้านนี้ จนกระทั่งวิชาเอกไม่เหลือแล้ว ต่อไปนี้ก็จะไม่มีนักศึกษาที่เรียนวิชาเอกเหล่านี้ คุณจะมาเรียนเอกปรัชญาไม่ได้แล้ว อันนี้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอนาคตได้ ดูจากท่าทีของทั้งมหาวิทยาลัยแล้วมันเป็นไปได้
แล้วทำไมเราต้องรักษาสถานะของภาควิชาปรัชญานี้เอาไว้
เราไม่ปฏิเสธหรอกว่านักศึกษาจบไปแล้วต้องทำงาน แต่การเรียนวิชาสายมนุษยศาสตร์มันเป็นวิชาที่ส่องสะท้อนชีวิต เคยมีคนตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องเรียนปรัญชา เรียนประวัติศาสตร์ แต่มันจะช่วยให้เราได้ตั้งคำถามถึงตัวเราเอง รวมถึงได้กระบวนการคิดที่แตกต่างออกไป
มหาวิทยาลัยควรมีเป้าหมายที่ช่วยนักศึกษาจบไปแล้วใช้ชีวิตได้ หนึ่งในสิ่งที่จำเป็นคือกระบวนการคิดที่ช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยถึงมีการออกแบบวิชาเอกและวิชาโทไง สมมติเราเรียนเอกปรัชญา เราก็เรียนวิชาอื่นที่ช่วยเพิ่มทักษะการทำงานได้ มหาวิทยาลัยมันออกแบบมาอย่างนี้อยู่แล้ว
แนวโน้มในโลกตะวันตกนั้น นายจ้างก็เริ่มชอบคนที่เรียนสายมนุษยศาสตร์ เพราะมันมีระบบคิดที่เอาไว้ใช้งานได้เยอะ และทักษะการทำงานมันฝึกได้ การเรียนมนุษยศาสตร์มันพัฒนาความละเอียดอ่อนอะไรบ้างอย่าง ในฐานะที่เราเป็นพลเมือง เช่น การระวังต่อเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม
ตอนเรียนผมเรียนสื่อสารมวลชน อาจารย์ก็เคยเตือนว่า การทำสื่อตอนนี้เขาอยากได้คนจบวิชาด้านต่างๆ โดยเฉพาะกว่า เช่น โต๊ะข่าวเศรษฐกิจอยากได้คนจบเศรษฐศาสตร์ หรือข่าวการเมืองเขาก็อยากได้คนจบรัฐศาสตร์ เพราะเขามองว่ากระบวนการคิดวิเคราะห์เชิงลึกได้ ส่วนทักษะการสื่อสารต่างๆ มันฝึกกันทีหลังได้
การที่นักศึกษาไม่ได้เรียนพวกนี้ หรือได้เรียนวิชาสายมนุษยศาสตร์น้อยลง มันก็จะมีปัญหาต่อการทำงานของพวกเขาตอนที่จบออกไป คือมุมคิดที่ลึกซึ้งของเขาจะหายไป
ถ้ามีนักศึกษามาถามอาจารย์ว่า เรียนปรัชญาแล้วไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง อาจารย์จะตอบอย่างไร
ตอบว่าทำได้หลายอย่างเลย ทักษะอย่างอื่นมันเรียนรู้กันทีหลังได้ อาจจะดูโม้ๆ หน่อยนะครับ แต่ถ้าพูดในเชิงสถิตินั้น ในภาควิชาผมจบไปแล้วทำงานครบ 100 เปอร์เซ็นต์นะ ไม่มีคนตกงาน คนที่จบไปก็ทำงานตามความชอบของตัวเอง หลายคนไปทำงานด้านงานหนังสือ ทำตามด้านคอนเทนต์ บางคนก็เขียนนิยาย มีคนที่ชอบศิลปะก็ไปทำงานเป็นภัณฑารักษ์ด้วยเหมือนกัน
ตอนนี้มีคนพูดเรื่องเทรนด์ที่หุ่นยนต์จะแย่งงานเราทำ คือถ้าเราผลิตนักศึกษาที่ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ นายจ้างเขาก็คงอยากได้หุ่นยนต์มากกว่าอยู่แล้ว การไม่มีทักษะคิดแบบซับซ้อนลึกซึ้งหรือความคิดที่หลากหลาย มันก็จะทำให้เรามีทางไปได้มากกว่า มนุษยศาสตร์มันคือเครื่องรับประกันเราว่า หุ่นยนต์มันจะแย่งงานเราไม่ได้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่อุดมศึกษาควรมอบให้กับคน
มหาวิทยาลัยในอุดมคติต้องสร้างให้คนรู้จักคุณค่าแบบอื่นๆ ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน คือตั้งแต่เรียนอนุบาลมา เราจะถูกปลูกฝังด้วยคุณค่าบางแบบ เช่น การมีระเบียบวินัย ความตรงต่อเวลา แต่พอมาอุดมศึกษาต้องเพิ่มเรื่องอื่นให้ด้วย เช่น การเคารพคุณค่าของคนอื่น มองคนอื่นว่าเป็นคนเท่ากัน มีมุมมองต่อโลกแบบอื่นๆ ด้วย
ที่ผ่านมาก็มีข้อโต้แย้งว่า ฉันเรียนกราฟฟิก ฉันเรียนบัญชี ฉันเข้าใจกลไกในสิ่งที่เรียนก็พอแล้ว คุณค่าเชิงมนุษยศาสตร์ยังจำเป็นแค่ไหน
ไม่ว่าคุณจะเป็นหมอ วิศวกร สถาปนิก หรือวิชาชีพทั้งหลาย แต่อีกมุมหนึ่งคุณก็ยังเป็นคนอยู่นะ ซึ่งวิชาสายมนุษยศาสตร์เชื่อว่า เราก็ยังต้องอยู่ร่วมกับมนุษย์คนอื่นในโลก เราไม่ได้อยู่ในโลกอย่างโดดเดี่ยว เราต้องมีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เราอยู่ในพื้นที่การเมือง เราอยู่ในพื้นที่ของอุดมการณ์อื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายแล้วฐานความคิดในเชิงมนุษยศาสตร์ก็เลยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราหลีกหนีภาวะของความเป็นคนไม่ได้
คิดว่าการใช้นโยบายนี้ที่ส่งผลต่อวิชาสายมนุษยศาสตร์ มันมีความผิดพลาดตรงไหนบ้าง
ถ้ามองว่าสายมนุษยศาสตร์ไม่จำเป็นแล้ว มันคือการทำลายความหมายของการทำลายความเป็นสถาบันศึกษา เพราะสถาบันต้องให้ความรู้มากกว่าแค่ทักษะทางวิชาชีพ เมื่อก่อนเวลาออกแบบหลักสูตรสายวิทย์ นักศึกษาก็ต้องเรียนวิชาพื้นฐานด้านมนุษยศาสตร์ด้วย ผมเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด นักศึกษาก็ต้องได้สัมผัสมันอยู่บ้าง
ถ้าสถาบันการศึกษามองตัวเองว่ากำลังผลิตคนออกไปสู่สังคม การปล่อยให้วิชาประเภทปรัชญาหายไปคือการทำลายอุดมศึกษาในความหมายที่มันควรเป็น
ถ้ามองจากภาพรวมๆ นอกจากภาควิชาปรัชญาแล้ว อาจารย์ในสถาบันอื่นๆ ก็เริ่มได้รับผลกระทบแล้วเหมือนกัน แต่ที่อื่นเขาไม่ออกมาโวยวายเหมือนกับผม เท่าที่สำรวจและคุยกับเพื่อนที่สอนหนังสือมา ก็เห็นตรงกันว่า
ในระดับต่างประเทศก็เป็นเหมือนรึเปล่า
เทรนด์การเรียนสายมนุษยศาสตร์ในอุดมศึกษาเป็นเกือบทุกมหาวิทยาลัย ทั้งในตะวันตกก็เป็น ตอนนี้เราเริ่มเป็นยุคที่เทคโนโลยีมันกำลังมีความสำคัญแบบก้าวกระโดด ในหลายที่จะเริ่มรู้สึกว่า มหาวิทยาลัยมันไม่ควรมีวิชาด้านนี้แล้วเพราะมันไม่ตอบสนองกับยุคสมัย
ผมคิดว่าเทรนด์ที่เปลี่ยนไปนี้ ยังเกิดจากการที่คนในปัจจุบันมีทางเลือกมากกว่าเดิม คือมีสถาบันการศึกษาใหม่ๆ และวิธีการเรียนอื่นๆ คนที่เข้ามาในอุดมศึกษาแบบเดิมมันมีขึ้นตามธรรมชาติ แต่มันก็เป็นแค่ปัจจัยนึง ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่บ่งชี้ถึงความล่มสลายของวิชานี้
คิดว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดเทรนด์นี้
มันมีหลายอย่างนะ อย่างหนึ่งคือคนเรียนลดลง สถิติมันบอกชัดเลย จำนวนผู้เรียนกำลังลดลงในทุกสาขา มันเกิดทางเลือกใหม่ๆ เช่นการเรียนสถาบันใหม่ๆ ที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้ รวมถึงการเรียนผ่านออนไลน์
ส่วนบ้านเรานั้น ถ้าพูดกันตรงๆ นะ ปัจจัยใหญ่เลยคือนโยบายรัฐ มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอกที่อยู่ดีๆ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศออกมาสนองเรื่องนี้พร้อมกัน ผู้นำรัฐบาลเราพูดถึงการอุดมศึกษาแบบไหน คือเขาอยากเน้นเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก มันเลยเป็นนโยบายรัฐแน่นอน แล้วผู้บริหารมหาวิทยาลัยเองก็ขานรับ
แต่ในโลกตะวันตกนั้น มีคนบอกว่า อุดมศึกษาต้องเป็นสิ่งที่ต่อรองกับรัฐบาลได้เลย แต่ในไทยเรานั้นตรงกันข้าม อุดมศึกษาเราไม่มีพลังมากพอที่จะคัดค้านนโยบายการศึกษา เรามักรับนโยบายมาแบบเซื่องๆ
ที่เซื่องเพราะมหาวิทยาลัยอยากเซฟตัวเองด้วยรึเปล่า
มันก็มีส่วน ผมเคยพูดไว้ว่า ตอนนี้แนวคิดเรื่องการจัดการอุดมศึกษามันก็เปลี่ยนไปแล้ว คือแบบที่เราเป็นมันก็รับมาจากตะวันตก แต่ตะวันตกเขาออกแบบให้อุดมศึกษามันสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย และมีความอิสระทางวิชาการ การมีอยู่ของภาควิชาต่างๆ มันคือเรื่องแนวคิดประชาธิปไตยเลย เพราะคุณมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้กับภาควิชา คณะและมหาวิทยาลัยไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของภาควิชา
ที่เขาออกแบบระบบมาแบบนี้ ก็เพื่อให้หน่วยงานที่เล็กๆ สามารถทำงานวิจัยหรือศึกษาเรื่องที่มันไม่ตรงกับความเชื่อของรัฐได้ แต่มหาวิทยาลัยในบ้านเรากลับทำให้โครงสร้างไปสู่การรวมศูนย์อำนาจการบริหาร คือทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับส่วนกลางหมดเลย ผมไม่รู้ว่าประเทศอื่นเขาเป็นไหม เมื่อก่อนเราอาจให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นอิสระ หรือเสรีภาพทางวิชาการ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว
คือถ้ายิ่งรวมศูนย์เข้าไปส่วนกลาง การศึกษาเลยไม่ได้ตอบโจทย์เด็กที่มีความต้องการเฉพาะ
เพราะทุกอย่างมันจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของส่วนกลางมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ผมกำลังทำคือตั้งคำถามกับการกระจายอำนาจในการศึกษา คือมันแปลกมากเลยนะ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว ควรจะมีอำนาจการตัดสินใจที่เป็นอิสระจากราชการมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม ยิ่งออกนอกระบบ กลับกลายเป็นว่าทุกอย่างเข้าสู่ส่วนกลางมากขึ้น เห็นกันชัดเจนเลย ระบบการเงินของมหาวิทยาลัย รวมถึงการจัดการศึกษา เรื่อยมาจนถึงนโยบายยุบภาควิชามันก็คือเรื่องเดียวกัน คือดึงอำนาจตัดสินใจกลับไปส่วนกลาง
แล้วทำไมหลักการมันบิดเบี้ยวถึงขนาดนี้ได้
ผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องของบรรยากาศของบ้านเมืองด้วยนะ ตอนนี้รัฐพยายามเข้ามาควบคุมในทุกมิติ ทั้งทางการศึกษา เช่นด้านสังคมศาสตร์ อีกอย่างหนึ่งคือ คือการออกนอกระบบมันก็เป็นการผลักภาระว่าต้องเลี้ยงดูตัวเองด้วยเงินตัวเอง ซึ่งภาระอันนี้มันก็ทำให้ผู้บริหารคิดวิธีบริหารจัดการแบบที่ไม่เป็นอุดมศึกษา คือเขาไปคิดว่าอุดมศึกษามันมีฐานะเหมือนกับบริษัท
หรือเพราะมหาวิทยาลัยเองก็ต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดด้วยเหมือนกัน
อยากเอาตัวรอดส่วนหนึ่ง หลังๆ มีเรื่องภาพลักษณ์การศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นไปสู่ภาพการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่างสมมติว่า งานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ใน Scopus ซึ่งก็เป็นสายวิทย์เสียส่วนใหญ่ สายมนุษยศาสตร์อย่างเราคงทำตามจำนวนเท่านั้นไม่ได้ การเป็นอาจารย์สายศิลปะ สายมนุษยศาสตร์นั้น เราใช้เกณฑ์ของทางฝั่งวิทยาศาสตร์มาครอบไม่ได้นะ เพราะวิธีการมันต่างกันมากๆ การใช้เกณฑ์เดียวกัน มันละทิ้งความซับซ้อนและความแตกต่างของแต่ละสาขาออกไป
มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้สายวิทย์ครอบงำการศึกษาไทย อาจารย์คิดว่าอย่างไร
มันไม่ถึงขนาดนั้นหรอก แต่สังคมไทยเรามีวิทยาศาสตร์เป็นพี่ใหญ่ สังคมไทยมักจะผูกวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีเป็นสิ่งเดียวกัน แต่เอาเข้าจริง มันคือคนละเรื่องกัน วิทยาศาสตร์มีรากฐานความคิดที่เน้นเหตุผล แต่เทคโนโลยีคือผลพลอยได้จากวิทยาศาสตร์ แต่สังคมเราไปมองว่า ถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์ก็จะไม่มีเทคโนโลยี ผมถามว่าพอเรามีเทคโนโลยีเยอะๆ แล้วสังคมเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ไหม
กลายเป็นว่าเราให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์มากๆ จนมันกลายเป็นคำอธิบายทั้งหมดของโลก แต่ศาสตร์ในสายที่ไม่ได้มองโลก หรืออธิบายโลกแบบนี้ก็ถูกมองว่าไม่มีประโยชน์ในเชิงรูปธรรมที่เห็นชัด
หมายความว่าสายมนุษยศาสตร์ก็เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีได้
มันใช้ได้หมดนะ แต่เราไม่ควรโฟกัสที่ผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมเพียงอย่างเดียว การที่มนุษยศาสตร์ไม่ได้มีความเป็นรูปธรรมแบบวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีประโยชน์ เพราะประโยชน์ของมันคือการคิดและตั้งคำถาม ซึ่งคนที่อยากให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเชื่อฟัง เขาก็คงไม่ชอบหรอก มันกลายเป็นสิ่งน่ากลัวและอันตรายสำหรับรัฐบางแบบ สิ่งที่ควรเป็นคือ คนในสังคมต้องคิดเป็นและตั้งคำถามได้
อาจารย์กำลังจะบอกว่าประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับมนุษยศาสตร์ ก็อาจจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้
ใช่ ผมไม่ได้อวยมนุษยศาสตร์นะ คือจริงๆ แล้วต้องย้ำว่า มนุษย์ศาสตร์กับวิทยาศาสตร์มันไปด้วยกันได้ในโลกที่เป็นประชาธิปไตย เพราะว่าคุณจะคิดแบบประชาธิปไตยได้ คุณต้องคิดตามความเป็นเหตุเป็นผลตามแบบวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับรัฐ เราก็สามารถคัดค้านและมองสังคมในมุมอื่นตามแบบของมนุษยศาสตร์ได้ คือสองอันนี้ต้องไปด้วยกัน
แต่สิ่งที่เรากำลังเป็นคือแยกสองอย่างนี้ออกจากกันรึเปล่า
ผมคิดว่ามันคือแนวทางที่ผิดพลาดของมหาวิทยาลัย การแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันจะทำให้เราได้นักศึกษาที่ไม่มีความเข้าใจโลกและชีวิต ถ้าพูดกันตรงๆ นะการจัดการของอุดมศึกษาต้องไม่มองว่ามันเป็นบริษัท หรือใช้โมเดลที่เน้นสร้างกำไรมาใช้
วิชาที่ควรอยู่ในมหาวิทยาลัยควรมีทั้งสี่แบบ คือวิชาเก่าแก่โบราณที่เรียนกันมาเป็นพันปีควรรักษาไว้ ในฐาะที่เป็นเหมือนห้องสมุด วิชาบูรณาการก็ต้องมี อีกอย่างคือวิชาแบบวิทยาการที่สร้างเทคโนโลยี คือมหาวิทยาลัยไม่ควรมีแค่แบบใดแบบหนึ่ง และถ้าอยากเปิดภาควิชาที่หาเงินก็มีได้แหละ เราไม่ว่ากันหรอก แต่ไม่ได้แปลว่า คุณอยากเอาแบบหนึ่ง แต่ทิ้งแบบอื่นไป
พูดถึงศิลปากร เราก็มักนึกถึงวิชาแบบโบราณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเหมือนตัวเอกของมหาวิทยาลัย แล้วทำไมเราถึงเดินมาถึงจุดนี้ได้
ในช่วงหลังมานี้ คณะฝั่งทางวิทยาการเริ่มมีการเจริญเติบโตมาก จำนวนคนก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ผู้บริหารใหม่ที่เข้าก็ไม่ได้เห็นถึงประโยชน์หรือความสำคัญของคณะที่เป็นรากฐานของศิลปากร ผมคิดว่าอาจจะเกี่ยวกับภูมิหลังของผู้บริหารด้วย เพราะศิลปากรก็มีนโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ขึ้นอยู่กับตัวผู้บริหารด้วยว่ามาจากสายไหน
ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ แม้กระทั่งในระดับประเทศ ผู้บริหารการศึกษาในระดับประเทศส่วนมากก็เป็นสายวิทยาศาสตร์ รัฐบาลหลายสมัยที่ผ่านมา มักเน้นอุดหนุนวิชาสายวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเยอะกว่า เพราะมองว่ามีแค่วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่สำคัญกับการพัฒนาประเทศ เขาไม่เคยมองว่า การสร้างความเป็นพลเมืองก็ต้องให้ความสำคัญกับความรู้แบบมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ด้วย
ผมไม่ได้โทษวิทยาศาสตร์ แต่คนที่มีอำนาจอยู่ในระบบการศึกษาเขาไม่ฟังเสียงของอีกฝ่ายเลย คือเราไม่ควรเอาวิทยาศาสตร์กับมนุษยศาสตร์เป็นคู่ตรงข้ามกัน ในโลกของประชาธิปไตย สองอย่างนี้มันคือปีกสองข้างของความคิดแบบประชาธิปไตย เราต้องคิดโดยใช้ความเป็นเหตุเป็นผล คิดได้อย่างรอบด้าน ผ่านมุมมองหลายๆ มิติได้
ต่อจากนี้อาจารย์จะทำอย่างไรต่อ
ผมจะเคลื่อนไหวต่อไป ยังคงร้องเรียนกับทางมหาวิทยาลัย และไปคุยกับทั้งคณะและมหาวิทยาลัยว่าพวกเราต้องการอะไร จริงๆ สิ่งที่ผมเรียกร้องไม่มีอะไรมากเลย คือขอให้เขาทบทวนเกณฑ์อันนี้ใหม่ และไม่ควรเร่งรีบทำสิ่งนี้ไป อยากให้เขาไปศึกษาตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก่อนว่าทำไปแล้วมันจะเกิดผลลัพธ์อย่างไร อีกอย่างคือ มหาวิทยาลัยไม่เคยทำประชาพิจารณ์อย่างเป็นจริงเป็นจังต่อนโยบายนี้เลย
สถาบันการศึกษาต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ให้สัตยาบันกันว่า ถึงแม้จะเปลี่ยนปรัญชาเป็นสาขาวิชา แต่มหาวิทยาลัยต้องให้หลักประกันว่าจะไม่ปล่อยการเรียนการสอนปรัชญาให้มันถูกยุบจนสูญหายไปในอนาคต
สิ่งที่ผมออกมาเคลื่อนไหวในวันนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องของภาควิชาปรัญชา แต่อีกส่วนหนึ่งคือคัดค้านการคุกคามวิชาสายมนุษยศาสตร์ในระบบการศึกษาไทย