ข่าวฉาวๆ เรื่องการรับน้องมักวนเวียนกลับมาจนกลายเป็นธรรมเนียมในช่วงเปิดเทอมเสมอ แม้ผู้ใหญ่ในสถาบันการศึกษาหรือกระทั่งระดับกระทรวงจะหาแนวทางแก้ไขกันแล้ว แต่ปัญหาที่ว่านี้ก็ไปเคยหายไป
หากพูดถึงชื่อของ ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์ หลายคนคงคุ้นหูและจดจำในฐานะอดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่เคยออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในช่วงประชามติ จากวันนั้นถึงวันนี้ เพนกวิน ได้ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักศึกษาปีหนึ่ง คณะรัฐศาสตร์
ในโอกาสอันเหมาะเจาะเช่นนี้ The MATTER ชวนเพนกวินมาพูดคุยกัน ในฐานะ ‘เฟรชชี่’ เขามีมุมมองต่อการรับน้องในมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง จริงไหมที่สโลแกนทำนองว่า รับน้องเพื่อสร้างมิตรภาพ สร้างสามัคคีและความเป็นพี่เป็นน้องนั้นมันมีจริงรึเปล่า หรือเป็นแค่ประโยคอันสวยหรู แต่ด้านลึกภายในอาจมีปัญหาบางอย่างที่ถูกฝังลึกอยู่
The MATTER: ชีวิตของเพนกวินตอนมัธยมเป็นยังไงบ้าง
เพนกวิน: ชีวิตตอนเรียนมัธยมปลายในด้านนึงมันก็เหมือนกับคนอื่นเขา เรียน สอบ อะไรก็ว่าไป แต่ว่าในด้านนึงในมัธยมปลายเราใช้ชีวิตอย่างโลดโผนมากๆ ในบางมุม ลองเอาคำว่า เพนกวิน เตรียมอุดม ไปหาในกูเกิลแล้วจะเห็นว่าโลดโผนยังไง
The MATTER: การที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องใหญ่ๆ ในสังคมยกตัวอย่างตอนที่ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ มันมีผลต่อการใช้ชีวิตบ้างไหม
เพนกวิน: การที่เราเป็นแอคทิวิส มันส่งผลกับเราหลายอย่างเหมือนกัน คือมันกินเวลาเราเยอะ มันกินเวลาเราเยอะมากๆ แต่ว่ามันก็ถีบเราออกจากกรอบเดิมๆ คือผมว่านักเรียนหรือแม้กระทั่งนักศึกษาด้วย บางทีเราติดกรอบอะไรบางอย่าง เราจะถูกจำกัดตัวเองไว้ในกรอบที่โรงเรียนจัดไว้ให้ แต่พอเราเป็นแอคทิวิสเนี่ย เราถึงได้รู้ว่ามิติในการที่ศักยภาพในการที่นักเรียนจะทำอะไรด้วยตัวเอง
The MATTER: ตอนเรียนอยู่ที่โรงเรียนเคยต้องผ่านประสบการณ์รับน้อง เคยเจออะไรมาบ้าง
เพนกวิน: ตอนเรียนอุดมการณ์รับน้องมันไม่ค่อยเป็นเอกภาพ คือสายมันเยอะ คือมันแบ่งสายการรับน้องกันเยอะ ทีนี้ประสบการณ์ที่ผมเคยผ่านมา พวกกิจกรรม รับน้องนี้ผมรวมไปถึงกิจกรรมพวกห้องเชียร์อะไรพวกนี้ด้วย ซึ่งจริงๆ ผมก็ไม่ค่อยช่วงเวลาเกี่ยวกับการรับน้องหรอก เพราะว่าสายผมไม่ค่อยมีอะไร แต่เหมือนก็มีความพยายามบางอย่างมีความพยายามบ้างที่จะสร้างระบบ สร้างความคิดอะไรขึ้นมา ผมมองว่าในโรงเรียนผมและหลายๆที่ มองการรับน้องเป็นเหมือนพิธีกรรมต้อนรับเข้าชนเผ่าอะไรแบบนี้ ซึ่งผมมองว่ามันก็แปลกๆ อย่างรับน้องของโรงเรียนผมเป็นส่วนมาก มันก็เต็มไปด้วยฝ่ายสันทนาการ สันทนาการมันก็มีตีกลอง เต้นๆ ผมไปร่วมมันก็ไม่มีอะไร
ปัญหามันคือว่า ระบบคิดของมันก็คือว่า ทำไมคนเราถึงต้องมาต้องมาทำความรู้จักกันด้วยวิธีที่มันฟังดูไม่มีแก่นสารอย่างนี้ คือคนเรารู้จักกันอย่างปัญญาชนไม่ได้หรอ หรือไม่คิดหรอว่าแบบอยู่ในห้องเดียวกันอะไรแบบนี้ ไม่คิดหรอว่าอยู่ในห้องเดียวกันแต่เราก็ต้องรู้จักกันเองไหม คือมีแต่พอหอมปากหอมคอ มันก็น่ารักดี แต่กลายเป็นว่าพวกการรับน้องเสียเวลาเป็นสัปดาห์ สองสัปดาห์ ในระดับมัธยม กลายเป็นว่าเราสูญเสียพลังงาน รู้สึกเสียเงินด้วย ให้กับการหากลองมาตี ให้กับการเอาของกินละเลงเล่น
The MATTER: ในการที่จะต่อต้านระบบความเชื่ออะไรแบบนี้ในโรงเรียน คิดว่ามันยาก มันมีอุปสรรคอะไรบ้าง
เพนกวิน: ปัญหามันอยู่ที่ว่าเราไม่คิดว่าจะทำได้มากกว่า ปกติการรับน้องสายของผมมันไม่มีว้าก ไม่มีการกดดันน้องสักเท่าไหร่ แต่มันก็มีความพยายามที่จะทำ แล้วก็มีเพื่อนที่เสนอว่าคิดเกมมาแกล้งน้องไหม เอากล้วยบดให้น้องกินไหม เกมกล้วยบดพี่น่าจะรู้จัก เราก็เลยบอกเพื่อนไปว่า ถ้าจะทำก็ทำ แต่ว่าถึงเวลาแล้วจะเอากล้วยไปเทอยู่หน้าน้องอะ เราจะแหกคุณนะอะไรแบบนี้ สุดท้ายก็ได้ผล ไม่มีใครกล้าทำ
The MATTER: คิดไหมว่าการรับน้องในโรงเรียนมันดูเข้มข้นมากขึ้นรึเปล่า
เพนกวิน: ผมว่ามันเข้นข้นตามมหาลัย คือจริงๆ เราจะมองว่าการรับน้องรูปแบบนี้มันมีมานาน ซึ่งไม่จริงเราเพิ่งมีนี่แหละ มันก็มีมานานแล้วส่วนหนึ่ง แต่มันก็มีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแล้วก็ที่ว่าว้ากน้อง มันไม่ใช่ว่าแบบว้ากน้องตั้งแต่ประถม ว้ากตั้งแต่สามร้อยปีที่แล้วแล้วว้ากกันมาเรื่อยๆ คุณไปถามคนเดือนตุลาว่าเขาโดนว้ากไหม เขาก็ไม่โดน คือมันก็ผลุบๆโผล่ๆไปตามเวลา เคยคุยกับอาจารย์คนนึงที่เขาเป็นคนเดือนตุลามาก่อน เขาเคยเสนอว่า คือช่วงไหนที่กระแสความตื่นตัวทางสังคมของนักศึกษามันมาแรง ว้ากมันจะล่มไปเอง คือว้ากมันจะโดนล้ม แต่ช่วงไหนที่นักศึกษาเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองมาเรียนอย่างเดียว อะไรแบบนี้มันจะโผล่ขึ้นมาอีก
อย่างการสันทนาการ มันเป็นปัญหาที่ไม่มีใครพูดถึง ผมตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคนเราต้องรู้จักกันด้วยการทำอะไรที่มันดูไม่มีแก่นสาร ไม่ได้อยากดูถูกว่ามันไม่มีแก่นสาร แต่หาเป้าหมายไม่ได้ว่ามันคืออะไร มันได้ประโยชน์อะไรที่เป็นรูปธรรมจากการทำอย่างนี้
The MATTER: รุ่นพี่อาจจะบอกว่าเพื่อละลายพฤติกรรม จะได้รู้จักกันง่ายๆ
เพนกวิน: แล้วทำไมต้องละลาย คุณอยู่มหาวิทยาลัยแล้วนะ คำว่าละลายพฤติกรรม กับคำว่า Ice breaking นั้นเซนส์ของภาษามันคนละอย่างกันเลย Ice breaking มันคือการทำลายกำแพงที่กั้นระหว่างคน แต่เราแปลเป็นละลายพฤติกรรม มันกลายเป็นว่าความเป็นตัวเองของคนมันหายไป ซึ่งมันผิด คุณเรียนมหาลัย คุณมีหน้าที่พัฒนาสติปัญญาและความเป็นตัวคุณเองให้มันโตไปอย่างถูกทิศทาง ไม่ใช่เอาแต่บอกว่าเราเป็นคณะเดียวกันเราต้องจิตวิญญาณร่วมกัน ซึ่งมันขัดกับการเรียน มันขัดกับปรัชญาการเรียนมหาลัย ซึ่งคุณไม่ต้องมาเรียนก็ได้
The MATTER: คิดอย่างไรกับการจัดกิจกรรมรับน้อง ที่มักให้ผลว่าเพื่อสร้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เพนกวิน: สุดท้ายแล้วคุณต้องยอมรับว่า อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมันมีได้ ไม่ใช่มีไม่ได้ แต่คุณต้องเคารพความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคนด้วย คุณสร้างอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยได้ แต่คุณต้องสร้างจากสิ่งที่ทุกคนเป็น ไม่ใช่บังคับให้ทุกคนเป็นไปตามมหาวิทยาลัย มันไม่เคารพความเป็นมนุษย์ ถ้าคนเราต้องรู้จักกันผ่านการเต้นสันทนาการ ที่คนสั่งให้เต้นก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ถ้าจุดประสงค์ของการทำให้น้องๆ รู้จักกันคือสิ่งนี้ ถามว่าตอนคุณลืมตาดูโลกมาเจอพ่อเจอแม่ พ่อแม่ต้องรับน้องคุณไหม พ่อแม่ต้องตีกลองสันฯให้คุณไหม น้องคุณเกิดมาคุณตีกลองสันฯรับน้องคุณไหม
The MATTER: ถ้าไม่โอเคกับระบบรับน้องหรือสันทนาการ แล้วมันจะมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ไหม
เพนกวิน: มนุษย์เรามีศักยภาพในการที่จะทำความรู้จักกันอยู่แล้ว แต่ถ้าระดับใหญ่คณะสามร้อยคน มันรู้จักกันไม่หมดมันสนิทกันไม่หมด แล้วทำไมต้องสนิทกันหมด คนเราเลือกคบกันไม่ได้เหรอ คือสุดท้าย คุณต้องยอมรับว่ามนุษย์เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเพื่อนกันทุกคน กับคนที่เรารู้ว่าเข้ากันไม่ได้ บางทีไม่รู้จักกันอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ การที่คุณจัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นมาที่บังคับให้ทุกคนรักกัน และเพื่อนสนิทกัน ผมคิดว่าถ้าทำไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำ
The MATTER: อะไรคือปัญหาของการต้องเข้าร่วมกิจกรรมแบบที่ถูกบังคับจิตใจ
เพนกวิน: ถ้าคุณบังคับให้น้องรักกัน คุณก็จะได้มิตรภาพจอมปลอม ผมเชื่อในความสำคัญของความรักและมิตรภาพ แต่ถ้ามีแล้วไม่ดี ก็ไม่มีดีกว่าไหม ถ้าจะเถียงว่า คุณโตไปแล้วต้องมีคอนเนคชันในการทำงาน ผมก็อยากถามว่า ถ้าจะเอาแค่รู้จักกันในคณะในสี่ปีจะเจอหน้ากันไม่ครบเลยเหรอ มันคือสี่ปีเลยนะ
ปกติแล้ว คนที่ไม่เคยรู้จักกัน ย่อมมีกำแพงต่อกันอยู่แล้ว คุณยิ่งไปทำลายคุณยิ่งพยายามไปทำลายตัวตน คุณทำลายได้ไม่หมดหรอก มันยิ่งเป็นการกดตัวเองลงไป เป็นกรอบของปลอมที่รุ่นพี่พยายามยัดคุณลงไป ผมคิดว่าความสัมพันธ์แบบนี้มันไม่ยั่งยืน
THE MATTER: แต่มันก็มีคนที่ไปรับน้องแล้วก็ได้มิตรภาพอะไรบางอย่างกลับมาบ้าง ได้กลุ่มเพื่อนกลับมาอะไรแบบนี้
เพนกวิน: ใช่ แต่คุณก็ต้องยอมรับนะ อันนี้ผมไม่ได้ปฎิเสธการรับน้อง ผมว่ามันมีได้ แต่คุณต้องอย่าลืมว่า บางคนไปเต้นกองสันฯแล้วได้เพื่อน แต่คุณก็ต้องอย่าลืมว่าบางคนไปติวก็ได้เพื่อน บางคนออกค่ายอาสาแล้วก็ได้เพื่อน ถึงผมจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับโมเดลการพัฒนาสังคมด้วยค่ายอาสาเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยๆ คนอื่นก็ได้โรงเรียนเพิ่มที่หนึ่ง แล้วคุณเต้นกองสันฯคุณได้อะไร คุณได้สร้างอะไรให้กับสังคมบ้าง คือถ้ามันฟรี มันไม่ต้องลงทุนอะไร อันนี้จะทำมันก็ทำได้เลย ผมก็ไม่ว่า แต่อันนี้ผมก็เคยคุมงานมาก่อน โอโห มันใช้เงิน บางทีใช้เงินเป็นหมื่นเป็นแสน การที่คุณเอาเงินมาละลายไปกับอะไรอย่างนี้ แล้วต้องไปขูดรีดกันผ่านการเก็บเงินรับน้อง การเก็บเงินตรงนี้แล้วแต่มหาลัยจะเรียกแล้วแต่ที่ไหนจะเรียก คุณไม่เสียดายเงินของพ่อแม่บ้างเหรอ
The MATTER: กิจกรรมรับน้องมันก็มีข่าวแย่ๆ ออกมาทุกปี ทำไมเรื่องเช่นนี้ไม่หายไปซักที
เพนกวิน: เรื่องนี้มันซับซ้อน แต่ผมคิดว่าถ้าจะพูดให้ง่ายๆ คือการจะล้มรับน้อง มันไม่ได้มีปัจจัยแค่ตัวนักศึกษา อย่าไปโทษนักศึกษาแต่เพียงผู้เดียว เพราะบางทีอาจารย์ก็รู้เห็นเป็นใจ บางทีเหนือกว่าอาจารย์ขึ้นไปยังมีรุ่นพี่รู้เห็นเป็นใจอีก อันนี้จะหนักหน่อย อย่างคณะผมก็เคยมีประวัติว่าเคยจะล้มรับน้องกัน แล้วอาจารย์ก็สนับสนุน แต่ว่ารุ่นพี่ไม่สนับสนุนรุ่นพี่ที่ว่าไม่ใช่รุ่นพี่ที่เพิ่งจบ แต่เป็นคนใหญ่คนโต
The MATTER: ถ้าอย่างนั้นเราเรียกมันว่าระบบอุปถัมภ์ในคณะได้ไหม ที่มันไปช่วยให้กิจกรรมทำนองนี้มันสั่นคลอนได้ยาก
เพนกวิน: ใช่ เราต้องยอมรับว่า ระบบรับน้องหรือว่าว้ากหรือว่าอะไรแบบนี้ มันทำให้คนเราได้คอนเนคชัน แต่คอนเนคชันแบบนี้มันได้มาจากอะไร แล้วก็ใครได้ประโยชน์ คือลองสังเกตดูสุดท้ายแล้วคนที่จะได้ประโยชน์จากคอนเนคชันที่สร้างจากการทำงานรับน้องหรืออะไรแบบนี้ มันคือคนกลุ่มเล็กๆ แต่คนส่วนใหญ่ในคณะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร หรือมันก็ได้ไม่คุ้มกับการที่คุณต้องเสียอะไรไปมากมาย มันแปลว่าอะไร มันแปลว่าระบบที่คุณใช้สำหรับรับน้องตอนนี้มันไม่เวิร์คแล้ว แสดงว่าคุณต้องคิดถ้าคุณจะทำรับน้องต่อคุณก็ต้องคิดใหม่ว่าคุณจะทำอะไร ที่มันจะเซิร์ฟคนส่วนมากทุกคนจริงๆ ที่มันไม่ได้เซิร์ฟแค่ตัวกรรมการที่จัดงานแค่ไม่กี่คน หรือไม่ได้เซิร์ฟพี่ว้ากแค่ไม่กี่คน
The MATTER: กำลังจะบอกว่าระบบรับน้องมันเป็นไปเพื่อรุ่นพี่มากกว่ารุ่นน้อง
เพนกวิน: ผมว่ามันรองรับความต้องการตัวพี่มากกว่า คือเผลอๆ คำว่าพี่อาจจะเป็นพี่เพียงกลุ่มเดียวก็ได้ มันก็มีหลายที่ที่พี่ใช้โอกาสในการว้ากเพื่อหาว่าใครโอเคกับว้ากบ้าง แล้วก็ดึงมาเป็นพวกจะได้สืบทอดอำนาจกันต่อ การที่คุณมีโซตัสอยู่ มันต้องมีคนไม่เห็นด้วยมันเป็นระบบที่กดขี่คน ถ้าคุณหมั่นไส้ใครคุณก็ใช้อันนี้เป็นข้ออ้างในการโจมตีเขาได้อีก
The MATTER: การต่อต้านระบบการรับน้องมันต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง
เพนกวิน: การถูกต้อนรับอย่างอบอุ่น ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของสังคมและชีวิตนักศึกษามันพูดไม่ได้ว่า เราไม่ได้บังคับคุณเข้าห้องเชียร์ คุณไม่เข้าก็ไม่ต้องเข้า แต่ถ้าไม่เข้าแล้วรุ่นพี่จะปฏิบัติกับน้องคนนี้ยังไง ผมไม่ได้ปฎิเสธระบบรับน้องทั้งหมด การรับน้องมันก็มีข้อดี คือสร้างโอกาสให้กับคุณว่าจะคบเพื่อนคนไหนบ้าง แต่โอกาสตรงนี้มันควรเป็นของทุกคน มันไม่ควรจะเป็นของเฉพาะของคนที่ยอมรับได้กับการว้ากเพียงกลุ่มเดียว สุดท้ายแล้วคุณต้องออกแบบระบบที่มันเป็นมิตรกับทุกคน
The MATTER: เลยกลายเป็นว่าคนส่วนหนึ่งที่โอเคกับระบบ คือคนที่ไม่อยากโดดเดี่ยว กลัวแปลกแยก
เพนกวิน: ส่วนหนึ่งอาจจะถูก อาจจะกลัว แล้วคุณลองนึกถึงน้องใหม่ที่เข้าไปปีหนึ่งไม่รู้อะไรเลยกับชีวิตมหาลัย ก็กลัวรุ่นพี่เป็นธรรมดา
The MATTER: คิดว่าในฐานะที่เป็นเด็กปีหนึ่ง เรามีพลังในการไปเปลี่ยนแปลง สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน
เพนกวิน: ทุกคนมีพลังในบางวิถีทาง เช่น วิธีการต่อรอง วิธีการปะทะกันระหว่างรับน้องมีหลากหลายคือผมก็พูดไม่ได้หรอก ว่ามันมีวิธีไหนยังไงบ้างมันเป็นเรื่องที่เฉพาะที่มากๆ คือประสบการณ์ของผม คือผมเคยโดนบังคับเข้าห้องเชียร์เพราะว่ามันเป็นกีฬาสีแล้วเขาบังคับเข้า ไม่งั้นจะหักคะแนน ก็เข้า แล้วก็เขาว้ากสั่งตั้งการ์ดมือตรงครึ่งชั่วโมง บ้ารึเปล่า ผมนั่งหน้าสุดผมก็เลยนั่งชันเข่า แล้วทำท่าแบบนี้ คือเท้าคางชันเข่า
เขาถามว่า ทำไมน้องไม่ทำ ก็ตอบว่า คุณมีหน้ามาสั่งผมได้ยังไงในเมื่อเพื่อนยังคุยเล่นกันอยู่ตรงนั้น แล้วคุณมีอำนาจอะไรมาสั่งผม ตั้งแขนครึ่งชั่วโมงนี้คุณจะบ้ารึเปล่า เขาก็ตอบมาว่า เออน้องต้องทำเพื่อส่วนรวมบ้าง เอาจริงๆแม้ที่ทำแบบนี้คือคุณได้อะไร คนที่ได้คืออาจารย์
บางทีเราต้องตั้งคำถาม ถึงแม้คนจะนิยมว้ากก็ตามคุณก็ต้องตอบให้ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าทำอย่างนี้แล้วได้อะไร ทำไปเพื่ออะไร มันต้องดีกว่าการที่ตอบว่าเขาทำกันมา เขาทำกันมา ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ดีเบทเรื่องโซตัสในตอนนี้มันไม่เดินก็คือว่าฝ่ายที่นิยมโซตัสเขาตอบไม่ได้ คือตอนนี้ยังหาไม่เจอว่าทำไมคุณต้องทำ
The MATTER: ถ้าพูดในฐานะน้องปีหนึ่งเข้าไปมหาวิทยาลัย ถ้าเขาอยากจะส่งเสียงมาว่า เราไม่โอเคกับรับน้องนะ คิดว่าวิธีการที่อยากจะแนะนำกับเขาบ้าง
เพนกวิน: อย่างธรรมศาสตร์มีระบบโต๊ะ แต่มันก็มีคนที่ไม่โอเคกับโต๊ะก็เลยไปตั้งโต๊ะกันเอง อันนี้เป็นโมเดลนึงที่ผมว่าก็น่าประทับใจดี ในเมื่อรุ่นพี่คุณเฟลหรือปฎิเสธที่จะทำฟาสซิริตี้ที่คุณควรทำได้ ที่คุณควรจะได้แต่รุ่นพี่เสือกไม่ทำให้ คุณก็ การสร้างเองก็เป็นโมเดลที่เอาตัวรอดได้ แต่ว่าโจทย์อีกอันนึงที่มันจะมองข้ามก็คือ แล้วพวกรุ่นพี่ที่เขาก็ไม่โอเคกับว้าก แต่เขาไม่ได้มีอำนาจแบบเป็นทางการอยู่ จะสู้ยังไง ผมมองว่าอันนี้คำตอบมันก็จะสร้างสรรค์มาก คุณจะทำร้บน้องคู่ขนานแข่งกันไหมหรือคุณจะยังไง มันเป็นเรื่องของการเมือง
The MATTER: คิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้การรับน้องในมหาวิทยาลัยมันยังไม่หายไป
เพนกวิน: ผมว่าบรรยากาศทางการเมืองสำหรับประเทศก็ส่งผลต่อเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษา เมื่อกิจกรรม เมื่อนักศึกษาหาทางออกไม่ได้ ในอดีตขบวนการนักศึกษาเข้มแข็ง นักศึกษาตอบคำถามเราว่ากิจกรรมนั้นจะไปทำอะไร แต่พอเวลามันผ่านไป ขบวนการนักศึกษาอ่อนแอลง เมื่อสิ่งใหม่มันอ่อนแอ สิ่งเก่าก็จะเข้มแข็งขึ้น แล้วนึกถึงบรรยากาศในประเทศไทยมันอึมครึม และหดหู่เป็นสิบยี่สิบปีแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องปกติ มองไปทางไหนก็มืดมนมีแต่คนแก่ มันทำให้คนขาดแรงบันดาลใจที่จะคิดทำอะไรใหม่ๆ เมื่อไม่ทำอะไรใหม่ก็ต้องกลับมาทำอะไรเก่าๆ
The MATTER: คิดว่าการรับน้องในยุคของเราพูดถึงห้าปีหรือสิบปีนี้ มันจะหายไปได้ไหม เอาเฉพาะแค่การรับน้องที่เราคิดว่ามันไม่โอเคนะ
เพนกวิน: ผมว่าทุกอย่างมันเป็นไปได้ ถ้าเรากล้าทำ และทำอย่างฉลาด เพื่อนผมที่อยู่ศิลปากรเขาล้มว้ากได้ ซึ่งเราก็รู้กันว่าศิลปากร เป็นมหาลัยที่มีปัญหาเรื่องโซตัสมาตลอด ผมมองว่าทุกอย่างมันไม่เหนือไปกว่าความสามารถของมนุษย์ คือคนเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทะเยอทะยาน คือเวลาเราเห็นอะไรมันไม่เป็นไปตามที่ควร เราก็พยายามที่จะแก้ไขเสมอ ไม่ว่ามันแก้ยากยังไงเราก็จะทำ ผมยังมีความหวัง
The MATTER: เราจะจุดความหวังให้คนรุ่นใหม่อย่างไร ในฐานะที่เราเห็นสภาพบ้านเมืองทุกวันมันเป็นอย่างนี้ เราควรจะตั้งต้นที่ความคิดแบบไหน
เพนกวิน: สุดท้ายพวกเขาก็จะทำอะไรไม่ได้ เขาแก่และไม่ทันโลก ยังไงก็ต้องพึ่งคนรุ่นใหม่อยู่ดี