ภาษี ปากท้อง เศรษฐกิจ สวัสดิการ การศึกษา ปกติแล้วประเด็นเหล่านี้ มักเป็นตัวกำหนดนโยบายทางการเมืองของพรรคต่างๆ ในการเลือกตั้ง แต่กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่กำลังจะมีขึ้นในรอบ 5 ปีแล้ว นอกจากประเด็นเหล่านี้ ปัจจัยใหญ่ที่กลายมาเป็นตัวดึงดูดผู้ลงคะแนนเสียง และอาจกำหนดตัวผู้ชนะประธานาธิบดีได้ กลับเป็นเรื่อง ‘เพศ’ และ ‘เฟมินิสต์’
การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 20 ในเกาหลีใต้ จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม 2022 ที่ถือเป็นวันหยุดของทั้งประเทศ โดยการเลือกตั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งทางตรง ที่ประชาชนจะเป็นผู้กาลงคะแนนเลือกตัวผู้นำทุกๆ 5 ปี โดยที่ผู้นำนั้นจะสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงแค่วาระเดียวเท่านั้น ครั้งนี้ มีผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งถึง 14 คน จาก 14 พรรคการเมือง
ใน 14 พรรคนี้ อาจจะเรียกได้ว่า มีเพียง 4 พรรคเท่านั้นที่พอจะได้สปอตไลท์ และมีฐานเสียงในหมู่ประชาชน ขณะที่ถ้ามองถึงการแข่งขันของตัวผู้นำแล้ว ก็เป็นเพียงการแข่งขันของสองพรรคใหญ่ ระหว่างพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) พรรครัฐบาลของมุน แจอิน หรือที่ชาวเกาหลีจะเรียกว่า พรรคสีฟ้า กับพรรคพลังประชาชน (People Power Party) พรรคอนุรักษ์นิยมที่ถูกเรียกว่า พรรคสีแดง ที่ตอนนี้คะแนนกำลังสูสีไล่เลี่ยกันติดๆ
แม้ว่าที่ผ่านมา มุน แจอิน จะประกาศตัวไว้ว่า เขาเป็นประธานาธิบดีเฟมินิสต์ แต่ 5 ปีหลังจากนี้ ไม่ว่าจะพรรคสีแดงหรือฟ้าจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ประเด็นเรื่องผู้หญิงในเกาหลีใต้ก็จะถูกจับตาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่กระแสแอนตี้เฟมินิสต์กำลังเข้มข้น และหยั่งรากลึกลงไปมากขึ้น จนกดทับผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศอื่นๆ ในสังคมเกาหลีใต้ด้วย
ศึกระหว่าง ยุน VS ลี ในสายตาเฟมินิสต์
ขณะที่หลายประเทศ มีพัฒนาการณ์การขับเคลื่อนของผู้หญิง หรือกลุ่ม LGBTQ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้กลับมีการเพิ่ม และลุกโหมมากขึ้นของกระแสแอนตี้สตรีนิยม หรือแอนตี้เฟมินิสต์ ที่ขนาดมีการจัดชุมนุม เดินขบวนกลางถนน ซึ่งนอกจากกลุ่มชายหนุ่มที่เป็นตัวตั้งตัวตีเข้าร่วมแล้ว ยังมีนักการเมืองหนุ่มที่ออกหน้า ร่วมเดินขบวน และปราศรัยกับเขาด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ในกระแสการเลือกตั้ง แคมเปญต่างๆ ของผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำ ตัวผู้สมัครเอง ยังเปิดตัวเป็นกลายๆ ว่าไม่สนับสนุนเฟมินิสต์ด้วย โดยคนแรกที่ต้องพูดถึงเลย คือ ‘ยุน ซอกยอล’ ผู้สมัครเบอร์ 2 จากพรรคสีแดง ยุน เป็นอดีตนักกฎหมาย ที่เคยดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของเกาหลีใต้ ทั้งเขายังมีบทบาทสำคัญในการตัดสินลงโทษอดีต ปธน.พัค กึนฮเย จากการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วย
ยุนค่อนข้างชัดเจนว่าเขาไม่ปลื้มเฟมินิสต์ซักเท่าไหร่ ค่อนไปทางแอนตี้ เห็นได้จากนโยบาย และการประกาศจุดยืนของเขา โดยในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ยุนกล่าวว่า “เฟมินิสต์ควรเป็นเฟมินิสต์ที่ดี ไม่ควรเอาเปรียบในการเลือกตั้งและอยู่ในอำนาจ” ทั้งเขายังเคยตอบคำถามเป็นนัยยะว่า เฟมินิสต์นั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ตกต่ำด้วย
ในเดือนมกราคม เขาได้ประกาศบนเฟซบุ๊กว่าจะยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัว ยุนกล่าวว่ากระทรวงนี้ล้มเหลวในนโยบายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่เหมาะสม และ ‘มักปฏิบัติราวกับว่าผู้ชายเป็นอาชญากร’ แม้ว่ากระทรวงนี้ จะได้งบประมาณน้อยกว่า 3% จากงบทั้งหมดในการโปรโมทเรื่องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจของผู้หญิง
“ความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริง” คือสิ่งที่ยุนอ้างถึง โดยเขามาพร้อมไอเดีย และนโยบายที่จะส่งเสริมบทลงโทษสำหรับผู้ที่ให้การเท็จ โกหก หรือสร้างเรื่องอ้างว่าถูกกระทำความรุนแรงทางเพศอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ผู้ชายในโลกออนไลน์เชื่อว่าเป็นปัญหาใหญ่ในเกาหลีใต้ แม้ว่าจะมีสถิติต่างๆ ที่ออกมาแล้วว่า กรณีการกล่าวเท็จนั้นมีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้น เมื่อเทียบกับกรณีที่มีผู้ถูกกระทำ หรือถูกข่มเหงทางเพศเกิดขึ้นจริงๆ
ไม่เพียงแค่ตัวของยุนเท่านั้น แต่ยังมีข่าวเรื่องภรรยาของเขาอีก ที่ยิ่งตอกย้ำการเป็นแอนตี้เฟมินิสต์ หลังช่อง MBC ได้ปล่อยคลิปเสียงการพูดคุยทางโทรศัพท์ 52 ครั้ง ระหว่างคิม กุนฮี ภรรยาของยุน และนักข่าวในช่องยูทูบเบอร์ ซึ่งแม้เนื้อหาจะมีการพูดถึงว่าเธอเข้าไปเกี่ยวข้องกับแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็มีช่วงหนึ่งที่เธอได้แสดงความสงสารกับอัน จุงฮี อดีตผู้ว่าเมืองชุงชอง ที่ตอนนี้ถูกจำคุกเพราะคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดยคิมได้พูดว่า ตัวเธอกับสามี อยู่ฝ่ายเดียวกับอัน จุงฮี และยังกล่าวอีกว่าเรื่องอื้อฉาวในแคมเปญ #Metoo ปะทุขึ้นมาเพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้จ่ายเงินให้เหยื่อ
แต่ก็ไม่ใช่ว่า ยุนที่เปิดเผยตัวว่าตนเป็นแอนตี้เฟมินิสต์นั้น จะไม่พยายามมีนโยบายเพื่อเฟมินิสต์เลย เพราะทีมหาเสียงของเขาเอง ก็ได้ชักชวนนักกิจกรรม และนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่ต่อสู้เรื่องสิทธิของผู้หญิง และเฟมินิสต์ 2 คนมาร่วมทีม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็อยู่ร่วมทีมของพรรคได้ไม่นาน ก็ลาออก เพราะความขัดแย้งของความเห็นกับตัวหัวหน้าพรรค ขณะที่อีกคนลาออกหลังกรณีเปิดคลิปเสียงภรรยาของยุน
ตัวหัวหน้าพรรคพลังประชาชนก็มีส่วนที่ส่งเสริมภาพลักษณ์นี้ของยุน โดย ลี จุนซอก นักการเมืองดาวรุ่งวัย 39 ปี ที่ถูกเลือกเป็นหัวหน้าพรรคในปี 2021 นั้น มักเป็นออกมาแสดงความคิดเห็นโจมตีเฟมมินิสต์ รวมถึงมีความบาดหมางกับนักกิจกรรมสิทธิของผู้หญิง แต่เขากลับได้รับเสียงชื่นชมจำนวนมากจากกลุ่มผู้ชายวัย 20 และ 30 โดยหนึ่งความคิดเห็นในโลกออนไลน์กล่าวว่า ลีจุนซอกเป็นนักการเมืองที่มีความกล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้กับเฟมินิสต์ เมื่อเฟม (เฟมมินิสต์) อยู่ในอันดับต้น ๆ ของลำดับชั้นอำนาจในเกาหลี” ซึ่งการเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคสีแดงเอนเอียงไปทางขวามากขึ้น
มาถึงผู้ท้าชิงจากพรรครัฐบาลอีกคน ที่ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ในจุดยืนเรื่องของเพศเช่นกันกับ ‘ลี แจมยอง’ ผู้สมัครเบอร์ 1 จากพรรคสีฟ้า หรือพรรคประชาธิปไตย ลีเองก็ออกมาพูดถึงกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศเช่นกันว่า เขามีแผนจะจัดระเบียบกระทรวงนี้ใหม่ รวมถึงในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว เขาก็ได้กล่าวกับสภาสตรีแห่งชาติเกาหลีด้วยว่า “เช่นเดียวกับที่ไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติเพราะเป็นผู้หญิง สำหรับผู้ชายก็ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติเช่นกัน”
ทั้งยังมีการมองว่า ลีมักเข้าร่วมชุมชนออนไลน์อย่าง FM Korea ที่ถูกมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีความชายเป็นใหญ่สูง และมักแสดงความเกลียดชังต่อผู้หญิง ทั้งไม่เพียงแค่ยุนที่เรื่องของครอบครัวได้สะท้อนจุดยืนออกมา ลีเองก็มีประเด็นที่เขาได้ช่วยหลานชายด้วยการแก้ต่างในชั้นศาล ในคดีที่หลานชายของเขาได้ก่อการฆาตกรรมแฟนสาว และแม่ของเธอในปี 2006 รวมถึงประเด็นสำคัญว่าเขาได้กล่าวอ้างว่าการฆาตกรรมเป็นเพียงกรณีที่โชคร้ายของ ‘ความรุนแรงในการออกเดท’
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ยังมีการเปิดเผยอีกว่า ลี ดงโฮ ลูกชายของ ลี แจมยองนั้น ได้เข้าไปคอมเมนต์ข้อความล่วงละเมิดทางเพศบนกระดานเว็บบอร์ดในเว็บพนันโป๊กเกอร์ว่า “ฉันอยากกินคาริน่า” (ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปวง aespa) และ “ฉันอยากสัมผัส ดีเจโซดา” (ดีเจสาวชาวเกาหลีใต้) จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงตัวของลีอีกครั้ง
แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ลีก็ได้ประกาศนโยบายออกมาว่าจะลดช่องว่างเรื่องค่าจ้างระหว่างเพศ และจะต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีในวงกว้างด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าใน 14 พรรคการเมืองที่ลงแข่งชิงตำแหน่งผู้นำ จะไม่มีพรรคที่ประกาศนโยบายเฟมินิสต์เลย โดยพรรคยุติธรรม (Justice Party) พรรคที่มีจุดยืนเรื่องแรงงาน ก่อนจะหันมาสนใจประเด็นผู้หญิงก็ได้ประกาศตัวว่าจะเป็นพรรคเพื่อคนกลุ่มหน่อย โดยซิม ซังจุน ผู้สมัครหญิง ตัวแทนพรรคก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นต่างๆ และบอกว่าพรรคของเธอยืนหยัดเพื่อทั้งคนงานและสตรี แต่ถึงอย่างนั้น อดีตหัวหน้าพรรคคนก่อนก็กลับมีข่าวฉาวเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศจนต้องลาออก และคนเกาหลีกลับมองว่านโยบายของเธอแปลกๆ ไม่ได้ตอบโจทย์เฟมินิสต์อย่างแท้จริง รวมถึงมีท่าทีเข้าหาพรรคสีแดงของยุน ที่เปิดตัวว่าแอนตี้เฟมินิสต์ด้วย
คะแนนของกลุ่มผู้ชายรุ่นใหม่ ที่กลายมาเป็นฐานเสียงสำคัญ
ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้สมัครต่างก็ต้องหากลุ่มคนที่พวกเขาหวังอยากจะให้เทคะแนนมาให้ ซึ่งในโพลการสำรวจต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งก็พบว่า กลุ่มผู้ชายรุ่นใหม่ ในวัย 20 และ 30 นั้น ได้กลายมาเป็นฐานเสียงสำคัญที่มีผลต่อการขึ้น-ลงของคะแนนด้วย โดยพวกเขานั้นมองว่า พวกเขาเป็นผู้เสียโอกาสในนโยบายต่างๆ และกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญในยุคของ ปธน.มุน แจอิน ที่ต้องการโปรโมทเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
คะแนนของยุนเองก็พุ่งขึ้นมาอยู่หลายครั้งจากการที่ออกมาพูดเรื่องของเพศ โดยหลังจากที่เขาประกาศว่าจะยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศ และครอบครัวนั้น คะแนนของเขาได้พุ่งขึ้นมามากกว่าร้อยละ 6 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้คะแนนของเขาขึ้นนำอีเล็กน้อย ทั้งจาก Gallup Poll ของเกาหลีใต้ ในปลายเดือนมกราคม ยังพบว่า พรรคพลังประชาชนของยุนนั้น เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ชายรุ่นใหม่มากกว่าพรรคอื่นๆ และกลุ่มอายุอื่นๆ นับเป็น 44% ของผู้ชายในวัย 18-29 และ 36% ของผู้ชายในวัย 30
ซึ่งหลังจากตามข่าวคราวเรื่องนี้มาซักพัก ตัวผู้เขียนซึ่งขณะนี้อยู่ที่เกาหลีใต้ ก็มีโอกาสได้พบเห็นกลุ่มผู้ชายในวัย 20 ที่โห่ เชียร์ และชื่นชมยุน ซอกยอลจริงๆ ขณะที่พวกเขาเดินผ่านเวทีหาเสียงของยุนที่บริเวณฮงแด พร้อมตะโกนกันว่า ‘ยุน ซอกยอลนี่สุดยอด’ รวมถึงจากการพูดคุยกับคนเกาหลี และคนไทยในเกาหลีเอง ทุกคนต่างก็บอกว่าคะแนนของยุน กำลังพุ่งขึ้นมากจริงๆ
ด้านพรรคประชาธิปไตยของลีนั้น ก็ดูจะหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ชายวัย 20-30 เช่นกัน โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ได้มีโพสต์ชุมชนออนไลน์ที่แสดงความคิดเห็นถึงลี ซึ่งมีข้อความว่า “หากลี แจมยองสามารถสร้างความแตกต่างจากนโยบายสตรีนิยมอันดับแรก(feminism-first policy) ของรัฐบาลมุน แจอินได้ เขาจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ชายในวัย 20 และ 30” ในวันต่อมา ลีเองก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศ โดยกล่าวว่า ” การเลือกปฏิบัติในการเป็นผู้ชายไม่ถือเป็นสิ่งถูกต้อง” รวมไปถึงหลังจากนั้น เขายังได้แชร์จดหมายนิรนามที่ได้รับจากโลกออนไลน์ซึ่งอ้างว่า ‘ความบ้าคลั่ง’ ของสตรีนิยมต้องยุติลง
ความสำคัญของกลุ่มผู้ชายวัย 20 และ 30 นี้ ไม่ได้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรก แต่ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซล ในเดือนเมษายนปี 2021 ที่โอ เซฮุนตัวแทนจากพรรคพลังประชาชน หรือพรรคสีแดงเป็นฝ่ายชนะ โดยพบว่า 73% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชายในวัย 20 ปีเลือกโอ ภายหลัง ลี จุนซอก หัวหน้าพรรคยังกล่าวโจมตีพรรคพรรคประชาธิปไตยที่แพ้การเลือกตั้งว่า “เป็นเพราะพวกเขาทุ่มสุดตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี และประเมินอำนาจการลงคะแนนของผู้ชายในวัย 20 และ 30 ต่ำเกินไป” ทั้งเขายังวิจารณ์เฟมินิสต์หัวรุนแรง และการริเริ่มของรัฐบาลที่แต่งตั้งผู้หญิงในคณะรัฐมนตรีหรือ ให้โบนัสในตลาดการจ้างงานด้วย
ขณะที่กลุ่มผู้หญิง และเฟมินิสต์ ก็มีการโต้ตอบแคมเปญหาเสียง และจุดยืนของผู้ชิงตำแหน่งผู้นำประเทศเช่นกัน โดยในเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้หญิงวัย 20 และ 30 ปี ได้รวมตัวกันหน้าที่ทำการของทั้งพรรคประชาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน ซึ่งผู้ประท้วงเรียกการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2022 ว่าเป็น ‘การเลือกตั้งประธานาธิบดีผู้เกลียดผู้หญิง’ หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าวว่า “เราไม่สามารถเอานักการเมืองชายที่ฉวยประโยชน์จากผู้หญิงมาดูแลกิจการของรัฐ”
ความเท่าเทียมทางเพศที่ยังไม่ถึงไหนของเกาหลีใต้ และอาจจะกดทับยาวนานต่อไป
ผลสำรวจประจำปี 2019 ที่เผยแพร่โดยนิตยสาร Sisain ของเกาหลีใต้ พบว่าผู้ชายอายุ 20 ปีเชื่อว่าการเลือกปฏิบัตินั้น รุนแรงต่อผู้ชายถึง 68.8% มากกว่าผู้หญิงที่ 33.6%
โดยเมื่อมองถึงเรื่องนี้คิม ดูยอน ผู้ช่วยอาวุโสของ the Center for a New American Security ในกรุงโซลได้แสดงความเห็นไว้ว่า “เพศเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มอายุ 20 ถึง 30 ปีเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สำคัญ และนั่นคือสิ่งที่ ‘ความขัดแย้งทางเพศ’ ร้อนแรงที่สุด” ทั้งเธอยังพูดถึงความรู้สึกของผู้ชายกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มชายหนุ่มรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติเมื่อพูดถึงงาน โดยอ้างว่า เมื่อพูดถึงพื้นฐานทางเพศ โอกาสจะเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงที่เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของคุณธรรม ในขณะที่กลุ่มผู้หญิงก็รู้สึกเบื่อหน่ายสังคมปิตาธิปไตย และสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ”
ความรู้สึกไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นมานี้ เกิดขึ้นในช่วงการเป็นผู้นำของมุน แจอิน โดยคิมให้ความเห็นว่า กลุ่มผู้ชายมองว่าเฟมินิสต์เป็นการเลือกปฏิบัติแบบย้อนกลับต่อผู้ชาย “ดังนั้น ทั้งลีและยุนต่างก็พยายามที่จะเอาชนะผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นเยาว์อย่างอุกอาจด้วยการพูดสิ่งที่พวกเขาคิดว่าน่าจะดึงดูดใจคนรุ่นนั้น” เธอกล่าว
ด้านโก มินฮี รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยสตรี อีฮวา มองว่า “ผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้วาทศิลป์ต่อต้านเฟมินิสต์ เพราะหลายคนในเกาหลีใต้รับรู้ว่านโยบายความเท่าเทียมทางเพศเป็นการปฏิบัติที่พิเศษกว่าสำหรับผู้หญิง” เธอเสริมว่ามันจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเชื่อมโยงเรื่องเฟมินิสต์ กับการเลือกปฏิบัติแบบย้อนกลับ โดยไม่คำนึงถึงรากเหง้าของปัญหาที่ลึกกว่านั้น
แม้ว่า 5 ปีที่ผ่านมา กระแส #Metoo, การเรียกร้องสิทธิสตรี การมีนโยบายที่สนับสนุนเฟมินิสต์ของมุน แจอิน หรือการเหล่าผู้ชายจะบอกว่าพวกเขาถูกกดทับอย่างไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้น แต่จากทั้งรายงานของ ODCD ในปี 2021 ก็พบว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศอันดับ 1 ที่มีช่องว่างเรื่องค่าจ้างระหว่างเพศกว้างที่สุดในบรรดาประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) และอยู่ในอันดับนี้มาตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 1995
รวมถึงรายงานช่องว่างทางเพศ ปี 2021 (Global Gender Gap Report 2021) ของ World Economic Forum ยังชี้ว่า ช่องว่างระหว่างเพศของเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 127 จาก 153 ประเทศในแง่ของการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าตกลงจากปี 2006 ที่อยู่ในอันดับ 96
ดังนั้นคงไม่ต้องพูดถึงเรื่องของนโยบาย หรือความก้าวหน้าสำหรับกลุ่มเพศ LGBTQ+ ในการเลือกตั้งนี้เลย ในเมื่อการถกเถียงนั้น ยังคงวนกลับไปอยู่ที่เรื่องของเพศชาย และหญิงอยู่ ทั้งจะมีท่าว่ากดลึกลงไปมากกว่าเดิม และการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็กลายเป็นการปลุกกระแสแอนตี้เฟมินิสต์ ไปพร้อมๆ กับการปลุกประชาชนออกมาใช้เสียงลงคะแนน
“การที่นักการเมืองหันไปใช้คำปฏิญาณตนต่อต้านเฟมินิสต์ แสดงให้เห็นว่าการต่อต้านเฟมินิสต์กำลังเฟื่องฟูในเกาหลีใต้” คิม จูฮี สมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มสิทธิสตรี Haeil กล่าวกับสำนักข่าว Nikkei Asia ซึ่งเช่นเดียวกับนักวิชาการคนอื่นๆ เธอกังวลว่าผลกระทบของการทำลายล้างเฟมินิสต์ และแบ่งแยกกลุ่มผู้หญิงสาวออกโดยตั้งใจจะไปไกลกว่าการเลือกตั้ง “สิ่งนี้จะตอกย้ำความสิ้นหวังและความผิดหวังในหมู่ผู้หญิงอายุ 20 ปี ซึ่งสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความบอบช้ำทางสังคมครั้งใหญ่” คิมกล่าว
อ้างอิงจาก
https://www.cfr.org/blog/south-korean-elections-gender-conflict-and-future-women-voters
https://en.yna.co.kr/view/AEN20220120010100320
https://www.dw.com/en/south-korea-gender-divide-becomes-key-election-issue/a-60481392
https://foreignpolicy.com/2021/06/23/young-south-korean-men-hate-liberals-feminists/
https://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/1023138.html
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2022/01/356_322939.html
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20220119000657
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20210906000932