ถ้าฝนตกแล้ว น้ำจะไปอยู่ไหน แต่เดิมภาพของเมืองนั้นดูจะเป็นพื้นที่ตรงข้ามกับธรรมชาติอยู่กลายๆ และเมืองเองก็นับว่าเป็นศัตรูกับฝนมาอย่างยาวนาน เมืองถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุที่ซึมผ่านไม่ได้ แต่เราก็มีระบบท่อระบาย มีอุโมงค์ แต่เมื่อเมืองมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเมื่อท่อและทางระบายนั้นเกิดปัญหา กระทั่งว่าเมื่อเราเจอกับปริมาณน้ำฝนที่เกินว่าที่ระบบระบายน้ำจะรับได้ น้ำนั้นก็จะค้างในพื้นที่ต่างๆ รอการระบายในอนาคตต่อไป
เมืองดาดแข็ง เป็นพื้นที่ตรงข้ามกับธรรมชาติ ถ้าจะมีสวนก็เอาไว้ประดับ เอาไว้ชื่นชม ซึ่งก็นับว่าพื้นที่ธรรมชาติที่ไม่มากนักของเมือง ใช้ระบบระบายน้ำเพื่อบริหารจัดการหรือหาทางให้น้ำไปจากเมืองนั้น นับว่าเป็นวิธีการออกแบบเมืองแบบเดิม คำถามสำคัญคือ ยิ่งในยุคที่เราเจอกับสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกอย่างผิดปกติ แล้วเราจะอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับน้ำได้อย่างไร น้ำจะไปอยู่ที่ไหนถ้าไม่ใช่บนนถนน ถ้าท่อไม่พอ ทางระบายเก่าและทำงานได้ไม่ดี
ตรงนี้เองที่จีน นับว่าเป็นอีกประเทศที่เราอาจรู้สึกว่าเคยล้าหลังด้านการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิต แต่จีนได้รับเอาความคิดและเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาเมือง ซึ่งอันที่จริงก็เข้ากับความเป็นจีน ความเป็นตะวันออกดี คือแทนที่เมืองจะแข็งกระด้างและอยู่ตรงข้ามกับธรรมชาติ จีนเลยบอกว่าหลังจากนี้จะสร้างเมืองให้เป็นฟองน้ำ เป็นพื้นที่ยืดหยุ่น อ่อนนุ่ม จากเมืองที่เคยเป็นถ้วย เป็นทางให้น้ำไหลผ่าน คราวนื้พื้นที่เมืองจะช่วยดูดซับและกระทั่งบำบัดและนำน้ำฝนเหล่านั้นกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ การออกแบบเมืองนี้ถือว่าสอดคล้องกับปัญหาของจีนที่เจอกับฝนที่ตกมากเป็นฤดูกาลเช่นช่วงมรสุม
การเปลี่ยนแปลงทางความคิดเรื่องการพัฒนาเมืองจากแข็งกระด้างสู่ความอ่อนนุ่ม จากการสู่กับธรรมชาติสู่การโอนอ่อนและอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่ฟังดูเข้ากับปรัชญาจีนนี้นั้น จีนรับเอาความคิดนี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 ซึ่งนับว่าเป็นการปรับทิศทางการพัฒนาเมืองที่ค่อนข้างเร็ว โดยในบรรยากาศความเปลี่ยนแปลงและการหันเหทิศทางการพัฒนาเมืองนี้เกี่ยวข้องกับภูมิสถาปนิกคนหนึ่ง ผู้เขียนจดหมายและบทสนทนาให้กับผู้นำของจีน เพื่อเตือนการพัฒนาตามตะวันตกในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ภูมิสถาปนิกผู้เป็นเจ้าของสตูดิโอสำคัญคือ ‘Tulenscape (ตูเรนสเคป)’ ชื่อจากอักษรสองตัวคือคำว่า คนและผืนแผ่นดิน
ว่าด้วยเมืองฟองน้ำ หลักการเบื้องต้นที่เมืองสีเทาไม่มี
อันที่จริง เมืองฟองน้ำค่อนข้างชัดเจนในตัวเอง หลักการเบื้องต้นที่สุดคือการมองว่าพื้นที่สีเทา (grey infrastructure) อันเป็นพื้นที่หลักของเมืองไม่ไปด้วยกันกับธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำ พื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ จากสีเทา เมืองก็เลยจะเปลี่ยนตัวเองเป็นพื้นที่ที่สามารถช่วยซึมซับน้ำได้ ซึ่งสิ่งที่จะซึมซับน้ำได้นั้นก็คือธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดิน พืชพรรณ รวมไปถึงการออกแบบที่เน้นการปล่อยให้น้ำซึมผ่าน และทำหน้าเก็กกับน้ำเหล่านั้นไว้ก่อนได้
สำหรับจีนเอง จีนเจอปัญหาเมืองและปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายขนาน และเริ่มรู้ว่าการสู้กับธรรมชาติไม่ใช่ทางเมืองและมนุษย์จะอยู่รอดได้ จีนเริ่มสัมผัสได้ถึงหายนะของของการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2000 นอกจากฝุ่นแล้ว จีนเจอปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้น ในปี ค.ศ.2008 มีรายงานตัวเลขน้ำท่วมในเมืองต่างๆ ของจีนเพิ่มสูงขึ้นถึงสองเท่า ในปี ค.ศ.2010 จีนเจอน้ำท่วมครั้งมหาศาล พื้นที่สามในสี่ส่วนอันไพศาลของจีนจมอยู่ใต้น้ำ แม่น้ำกว่า 25 สายล้นตลิ่ง บ้านเรือนเสียหาย มีผู้เสียชีวิตกว่า 700 ราย และสูญหายกว่า 300 คน
ในปี ค.ศ.2013 สีจิ้นผิง (Xí Jìnpíng) กล่าวปาฐกถาในงาน Urbanization Work Conference ว่า ในการปรับปรุงระบบระบายน้ำของเมือง สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือปริมาณในการกักเก็บน้ำฝนและการใช้ธรรมชาติในการช่วยกักเก็บน้ำ
ในสุนทรพจน์ครั้งนั้นเองที่รัฐบาลจีนพูดถึงคำว่าเมืองฟองน้ำขึ้น โดยสีจิ้นผิงกล่าวว่า การกักน้ำด้วยน้ำธรรมชาตินั้นทำด้วยการสร้าง ‘เมือวฟองน้ำ ด้วยพื้นที่กักน้ำด้วยธรรมชาติ ให้น้ำซึมผ่านพื้นที่ธรรมชาตินั้น และใช้ธรรมชาติในการบำบัดทำความสะอาดน้ำ’
หลังจากนั้นในปี ค.ศ.2015 รัฐบาลจีนได้ผ่านโครงการ Sponge City Initiative นอกจากจะเป็นการบริหารจัดการงบประมาณแล้ว ก็จะมีการออกแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่เมืองให้กลายเป็นเมืองฟองน้ำเพื่อรับน้ำท่วมได้ ในแนวทางก็จะพูดถึงการปรับสาธารณูปโภคต่างๆ ให้เข้ามาช่วยซึมซับน้ำได้ เช่น อาคารและชุมชนที่ช่วยซับน้ำ ถนนหนทาง ลาน สวน พื้นที่สีเขียวและระบบระบายน้ำ การเปลี่ยนที่สำคัญคือการเปลี่ยนสาธารณูปโภคสีเทาเป็นสาธารณูปโภคสีเขียว ตึกอาคารที่มีผนังหลังคาสีเขียว ถนน ทางเท้าที่ปล่อยให้น้ำไหลผ่าน เกาะกลางที่ร่วมซึมซับ รับน้ำและช่วยกรองความทำความสะอาดน้ำได้
ในปีเดียวกันนั้นเอง จีนได้ประกาศให้เมืองต่างๆ กว่า 30 เมือง สร้างและปรับปรุงให้เป็นเมืองฟองน้ำ เมืองสำคัญที่กำลังปรับเมืองก็ประกอบด้วยเมืองสำคัญๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ อู๋ฮั่น ฉงชิ่ง ไปจนถึงเมืองห่างไกลที่มีความเสี่ยงกับภัยธรรมชาติและต้องการความยืดหยุ่นด้วย
ตามแผนจีนวางไว้ว่าภายในปี ค.ศ.2020 พื้นที่เมืองราว 80% จะสามารถช่วบซึมซับน้ำได้ และหวังว่า 70% ของน้ำฝนจะถูกนำกลับไปใช้ได้ โดยเมืองต่างๆ จะมีการออกโครงการปรับปรุงพัฒนาเมืองเพื่อให้เมืองกลายเป็นเมืองฟองน้ำ มีการให้ทุนซึ่งจากข้อมูลรัฐบาลได้สนับสนุนเงินให้เมืองกว่า 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
จดหมายถึงผู้นำ จากภูมิสถาปนิกที่กลายเป็นปรมาจารย์ระดับโลก
แนวคิดเรื่องเมืองฟองน้ำ เป็นหนึ่งในกระแสการพัฒนาเมืองที่ทั่วโลกที่ค่อนข้างไปในทางเดียวกัน คือเป็นการปรับให้เมืองทั้งเป็นพื้นที่ธรรมชาติและใช้ธรรมชาตินั้นในการรับมือกับธรรมชาติด้วยกัน การทำให้เมืองซับน้ำได้ค่อนข้างสัมพันธ์กับหลายองค์ประกอบของเมืองที่จะแทรกพื้นที่ธรรมชาติลงไปเช่นส่วนประกอบของอาคาร ไปจนถึงพืชพรรณและการออกแบบถนนให้น้ำซึมผ่านและมีพื้นที่สำหรับร่วมกักน้ำ
หนึ่งในนวัตกรรมสำคัญ ที่บ้านเราก็เริ่มมีแล้วคือการออกแบบและสร่างพื้นที่สีเขียนขึ้น อาจจะเป็นสวนสาธารณะ หรือการออกแบบฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำ ถ้าเรามองจากสวน เช่น สวนป่าเบญกิติ เราก็จะเห็นการออกแบบที่เป็นกลุ่มพืชพรรณที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) มีทางเดินยาวๆ ลอยข้ามสวนเหล่านั้น ตัวพืชกลมๆ และทางเดินลอยฟ้าไม่ได้สร้างเพื่อการสันทนาการอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งสวนที่เป็นเกาะกลมๆ นั้น เมื่อเกิดน้ำท่วมหรือฝนตกมากเกินกว่าที่พื้นที่รอบๆ จะรับได้ น้ำจะถูกปล่อย หรือจะท่วมเข้ายังสวน กลายเป็นบ่อพักน้ำที่จะทำหน้าที่ทั้งชะลอน้ำและฟอกบำบัดน้ำจากคลองหรือพื้นที่รอบๆ ต่อไป
ตัวอย่างสำคัญของสาธารณูปโภคสีเขียวที่เข้ามาช่วยซับน้ำและทำให้เมืองเป็นฟองน้ำนั้น เราก็มักจะยกตัวอย่างสวนชื่อ Yanweizhou Park ตัวสวนเป็นผลงานออกแบบของ Tulenscape สตูดิโอระดับปรมาจารย์ของจีน แนวคิดของสวนคือการฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติบริเวณปากแม่น้ำเดิมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมรับน้ำและเป็นพื้นที่สันทนาการของผู้คน หน้าตาสวนก็เลยออกมาเป็นเหมือนสวนยักษ์ที่มีทางเดินลอยฟ้า แอ่งตรงกลางเมื่อถึงเวลาหน้าน้ำ ก็จะปล่อยให้น้ำท่วมบริเวณพื้นที่ได้ ระยะหลังเราจะเริ่มเห็นกระแสสวนอิงธรรมชาติในลักษณะคล้ายกันในหลายพื้นที่ของเอเชียทั้งจีนเองที่นับเป็นส่วนหนึ่งของเมืองฟองน้ำ ที่สิงคโปร์ รวมถึงในประเทศไทยเอง
ทีนี้ เมื่อเราพูดถึงเมืองฟองน้ำ และการพัฒนาสวนขนาดใหญ่จึงไม่ใช่แค่เรื่องของตัวสวนเอง แต่คือการมองการพัฒนาและฟื้นที่พื้นที่ธรรมชาติในระดับเมือง การให้สวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งและมีความหมายทั้งต่อระบบนิเวศและต่อผู้คน ทำหน้าที่รับมือภัยพิบัติและทำให้เมืองแข็งแรงยืดหยุ่นขึ้น
เมื่อพูดถึงเมืองฟองน้ำ สวนซับน้ำ แน่นอนว่าชื่อของ Tulenscape (สวนป่าเบญกิติก็เป็นผลงานร่วมของที่นี่ด้วย) และสวนน้ำท่วมถึงที่มักจะมีสะพานยาวๆ มีกลุ่มพืชพรรณมักจะติดมาด้วย สตูดิโอตูเรนสเคปนำโดยนักออกแบบคนสำคัญชื่อ หยูกงเจี้ยน (Yu Kongjian) อาจารย์กงเจี้ยนจบการศึกษาจากฮาร์วาร์ดในปี ค.ศ.1995 กลับมาที่จีนและร่วมก่อตั้งสตูดิโอตูเรนสเคปในปี ค.ศ.1998 รากฐานของ Tulenscape ที่ชื่อฟังดูไม่จีน แต่จริงๆ มาจากคำภาษาจีนที่สะท้อนปรัชญาจีนคือคำว่า Tu คือแผ่นดิน และ Len (เหริน) ที่แปลว่าคน หลักการออกแบบภูมิทัศน์จึงสัมพันธ์กับสมดุลของธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสรรพสิ่ง
นอกจากการตั้งสตูดิโอ และสร้างแนวทางออกแบบที่ปรับพื้นที่สีเทา หาทางอยู่กับธรรมชาติทั้งภูมิอากาศและสายน้ำแล้ว สิ่งนึงที่กงเจี้ยนทำ คือในปี ค.ศ.2003 ได้เขียนจดหมาย ทำนองว่าเป็นงานเขียนชุดหนึ่ง รู้จักในชื่อ The Road to Urban Landscape: A Dialogue with the Mayors เป็นเหมือนจดหมาย หรือบทสนทนาที่กงเจี้ยงสื่อสารกับผู้นำและผู้บริหารเมือง
งานเขียนเน้นชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเมืองของจีนที่มุ่งไปสู่ความสวยงาม (City Beautiful movement) การสร้างเมืองที่เต็มไปด้วยทางด่วน ลานกว้างที่แห้งแล้งตามตะวันตกนั้นอาจไม่ใช่ทางที่ถูก กงเจี้ยนชี้ให้เห็นผลกระทบและโน้มน้าวให้ผู้นำเห็นว่าเมืองต้องเป็นพื้นที่ของผู้คนไม่ใช่รถยนต์ และเป็นพื้นที่ของธรรมชาติ ข้อคิดของกงเจี้ยนค่อนข้างซับซ้อนและเปลี่ยนในระดับกระบวนทัศน์ เน้นการออกแบบผังเมืองในระดับบริบท การใช้ธรรมชาติ การสร้างพื้นที่เมืองที่ยืดหยุ่นแข็งแรง บางส่วนสัมพันธ์กับการเชื่อมโยงทัศนะของพรรคคอมมิวนิสต์ การสร้างชุมชน ภาพของเมืองที่มีบริบทเฉพาะและทำเพื่อผู้คน
ข้อเขียนดังกล่าวของนักออกภูมิทัศน์หนุ่ม ในที่สุดกลายเป็นงานเขียนที่ถูกอ่านในระดับผู้บริหารเมือง เจ้าที่หน้าระดับสูง รวมไปถึงสีจิ้นผิงเอง หลังจากนั้น เมื่อจีนเจอปัญหาธรรมชาติ และการออกมาประกาศใช้ทิศทางการพัฒนาด้วยธรรมชาติเช่นเมืองฟองน้ำและอื่นๆ รวมถึงสตูดิโอตูเรนสเคปเองที่ร่วมสร้างสวน ดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศจีนกลายเป็นเมืองที่ยืนหยุ่นขึ้น แข็งแรงดีต่อผู้อยู่อาศัย พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาของโลกได้ในท้ายที่สุด
การฟังเสียงผู้เชี่ยวชาญนั้นจึงนับเป็นขั้นตอนสำคัญหนึ่งของจีนในการปรับให้เมืองทั้งหลายยืดหยุ่นแข็งแรงขึ้น ตัวแนวคิดเมืองฟองน้ำเองนั้นนับว่าเป็นทางแก้และแนวทางที่จะเข้าช่วยรับมือกับปัญหาได้หลายด้าน บางส่วนบริบทของบางเมืองในจีนที่นำเอาแนวคิดเมืองฟองน้ำไปรับน้ำก็มีบริบทคล้ายกัน เช่น เมืองที่เจอปัญหาน้ำท่วมเพราะพายุ พื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำ ปัญหาน้ำมากเป็นช่วงฤดู การเพิ่มพื้นที่สีเขียวยังสัมพันธ์กับการลดอุณหภูมิของเมือง เพิ่มสุขภาวะของผู้คน ฟอกมลพิษ ลดปัญหาฝุ่น และอื่นๆ
แกนสำคัญอีกด้านคือการเปลี่ยนระดับความคิด Tulenscape เองก็มีรากฐานจากปรัชญาเรื่องความสมดุลและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและผืนดิน รากฐานที่เราอาจจะมองธรรมชาติในฐานะพื้นที่ความสวยงาม สวนที่สร้างขึ้นด้วยพืชพรรณต่างถิ่น สนามหญ้า อาจกำลังเปลี่ยนไปเมื่อเมืองอาจไม่ใช่พื้นที่ที่ตรงข้ามกับธรรมชาติ การสู้กับน้ำจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การอยู่ร่วมกันโดยมีตัวธรรมชาติเองเป็นหัวใจ เป็นองค์ประกอบ เป็นวิธีคิด อาจเป็แนวทางที่… อันที่จริง หลายเมืองก็เปลี่ยนมานานแล้ว และค่อนข้างเป็นทิศทางที่แทบทุกเมืองสำคัญทั่วโลกกำลังปรับตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก