นั่งนานปวดหลัง ลองยืนทำงานบ้างดีกว่า. .. เออ เวิร์กเฉยเลย ไม่น่าละทำไมช่วงนี้ standing desk ถึงขายดีเหลือเกิน
ล็อกดาวน์รอบนี้ที่ยาวนานทำให้หลายคนตัดสินใจอัพเกรดโต๊ะงานที่บ้านให้ครบฟังก์ชันมากขึ้น อย่างกรุ๊ป ‘จัดโต๊ะคอม’ ก็มีสมาชิกเกินแสนคนเข้าไปแล้ว และป้ายยาอุปกรณ์เสริมการทำงานกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจอคอม หรืออุปกรณ์ปรับแสงหน้าจอต่างๆ
แน่นอนว่าเฟอร์นิเจอร์อีกชิ้นที่มาแรงมากๆ และหลายคนตามหา หนีไม่พ้น ‘โต๊ะยืนทำงาน’ หรือ standing desk โต๊ะที่ปรับได้ทั้งท่า หรือจะดันระดับให้เหมาะกับระดับยืนทำงานก็ได้นั้น โต๊ะยืนทำงานถูกพูดถึงและแนะนำแบบปากต่อปากบนโลกโซเชียลไทย ถึงขนาดที่ว่าแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยหลายเจ้าก็หันมาผลิตโต๊ะยืนขายเองเรียบร้อยแล้ว
กระแสป้ายยา standing desk ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเทรนด์สุขภาพที่กลับมาพร้อมวิถีการทำงานอยู่บ้าน ช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง ออฟฟิศซินโดรมได้ แน่นอนอย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว เราไม่ควรนั่งนานติดต่อกันหลายชั่วโมงในท่าเดิมๆ เพราะทำให้กล้ามเนื้อเจ็บปวดได้
ทว่า ในต่างประเทศ เจ้าโต๊ะยืนทำงานนี้ถูกพูดถึงมานานหลายปี และก็เป็นเทรนด์การออกแบบสถานที่และเฟอร์นิเจอร์สำนักงานตามหลักสรีรศาสตร์ (ergonomics) มาก่อนหน้านี้ ขนาดที่สื่อรายใหญ่อย่าง CNN เคยพูดไว้เมื่อสองปีที่แล้วว่า “Sitting is the new smoking” กันเลยทีเดียว โดยบอกว่าการนั่งทำงานนานๆ เป็นพิษ แต่การนั่งสลับยืนทำงาน คือจุดเริ่มต้นของสภาพหลัง ไหล่ ที่ดีของมนุษย์ออฟฟิศ
ความน่าสนใจมากกว่านั้นคือจุดเริ่มต้นของ standing desk โดย เอพริล แชมเบอร์ส (April Chambers) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ไบโอ ของมหาวิทยาลัย Pittsburgh บอกว่า “โต๊ะสำหรับนั่ง-ยืนทำงาน มีจุดประสงค์ในตอนแรกคือออกแบบมาช่วยลดความอ้วน แต่มันดันไม่ได้ช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้”
ถึงการช่วยเรื่องลดน้ำหนักจะไม่เป็นผล งานวิจัยจาก Office Ergonomics Research Committee ก็บอกข้อดีว่ามันช่วยในเรื่องอื่น “โต๊ะนั่ง-ยืนช่วยสุขภาพหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องของท่าทาง จนถึงการบรรเทาอาการปวด” เอพริลบอกว่าช่วยได้โดยเฉพาะหลังช่วงล่าง เพราะหนึ่งในข้อเท็จจริงคือมนุษย์ไม่ได้ออกแบบมาให้ ‘นั่ง’สรีระมนุษย์ถูกออกแบบมาให้ยืนหรือนอน ซึ่งทำให้เราอยู่ในท่าทางที่เหมาะสม งานวิจัยจึงบอกต่อด้วยว่า การยืนทำงานไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) เคยทำวิจัยในปี ค.ศ.2018 ระบุว่า คนอเมริกันนั่งนานเกินไปหรือติดต่อกันเกินแปดชั่วโมง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคถึงเสียชีวิต (จัดเป็นความเสี่ยงเทียบเท่าโรคอ้วนหรือการสูบบุหรี่เลยทีเดียว) ด้านวิจัย ‘Sedentary behavior associated with reduced medial temporal lobe thickness in middle-aged and older adults’ ศึกษาพบว่า การนั่งนานเกินไป ก็ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองด้วย
อย่างไรก็ตาม การยืน ‘ทั้งวัน’ หรือแปดชั่วโมงติดก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะกล้ามเนื้อทำงานหนัก ดังนั้นการสลับนั่ง-ยืนทำงานจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะช่วยในเรื่องอัตราการเต้นหัวใจและการไหลเวียนเลือด แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุได้ว่าควรสลับที่ระยะเวลาเท่าไหร่ แต่ผู้ใช้งานสามารถประเมินจากอาการเจ็บปวดของตัวเองได้ หรือถ้าหากรู้สึกว่านั่งหรือยืนนานเกินไปแล้ว ก็ให้สลับท่าทาง หรือถ้าจำเป็นต้องนั่งนานเกินแปดชั่วโมง ก็ต้องออกกำลังกายให้เกินวันละ 60-75 นาที ถึงจะช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้
เอพริลแนะนำวิธีการทำงานคู่กับเจ้าโต๊ะ standing desk ไว้ว่า
- สลับการยืนและนั่งบ่อยๆ โดยการยืนและนั่งไม่ได้ทำให้คุณเจ็บปวดร่างกายน้อยลง แต่การได้ ‘เคลื่อนไหว’ สรีระต่างหากที่ทำให้หลังคุณปลอดภัย เธอแนะนำไว้ที่ครั้งละ 30 นาที
- เวลายืน ยืนตัวตรง เก็บก้นเอาไว้ อย่าแอ่นลำตัว ส่วนเวลานั่ง ควรนั่งให้เข่าทำมุม 90 องศา ส่วนข้อศอกควร 90 องศาทั้งยืนและนั่ง หาระดับที่เหมาะสม
- หาเสื่อมารองเวลายืนเพื่อลดแรงกระแทก กันความเมื่อยล้า
- เวลายืนเปิดเพลงฟังด้วยก็ดี จะได้ขยับร่างกายตามจังหวะ
- หลังช่วงเวลากินข้าว ควรใช้ยืน เพราะช่วยเผาผลาญแคลอรีได้
- สลับการยืนและนั่งทำงานแล้วก็อย่าลืมเดินขยับไปไหนมาไหนด้วย อย่าติดโต๊ะทำงานมากเกินไป
Standing Desk ในไทย
ปัญหาออฟฟิศซินโดรมในชาวออฟฟิศคนไทย เป็นเรื่องที่เริ่มได้รับความสนใจในหลายปีที่ผ่านมา เมื่อปี พ.ศ.2558 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยคนวัยทำงานร้อยละ 60 มีภาวะโรคออฟฟิศซินโดรม โดยมีสามอาการที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดหลังเรื้อรัง ไมเกรน และมือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อค
ขณะที่ปี พ.ศ.2562 ข้อมูลเชิงสถิติโดยโรงพยาบาลสมิติเวช พบว่า คนไทยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ทำงานในออฟฟิศมักมีภาวะออฟฟิศซินโดรม เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบหรือความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อตรงบริเวณกระดูกสันหลัง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังและเกิดอันตรายตามมาได้ ทั้งในเรื่องของกล้ามเนื้อ กระดูกสันหลัง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร การไหลเวียนของเลือด ความสามารถในการมองเห็นลดลง และรวมไปถึง ภาวะทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้าและความเหนื่อยล้าทางจิตใจ ทั้งหมดทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
คำแนะนำจากกรมอนามัยและสมิติเวช ระบุตรงกันว่า คนทำงานควรจะลุกขึ้นยืดกล้ามเนื้อ ปรับอิริยาบถบ่อยๆ และควรสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ลดภาวะเสี่ยงโรค
และดูเหมือนว่าในยุค COVID-19 เมื่อคนกลุ่มใหญ่ต้องนั่งทำงานจากที่บ้าน เกิดกิจวัตรประจำวันหลุมดำที่ทุกอย่างวนลูปเกิดขึ้นภายในสถานที่เดียว ชาวออฟฟิศอาจจะไม่ได้ขยับตัวเท่าไหร่นัก และการทำงานก็ไม่ค่อยมีจุดตัดเลิกงาน เชื่อได้ว่าภาวะออฟฟิศซินโดรมคงมีอัตราสูงขึ้น และหลายคนก็มองหาอุปกรณ์ประกอบการทำงานใหม่ๆ มาช่วยเหลือทั้งศักยภาพการทำงาน และศักยภาพร่างกาย
ราวสองเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นหลายแบรนด์ไทยออกผลิตภัณฑ์โต๊ะสำหรับนั่งและยืนทำงานออกมาวางขายให้กับชาวออฟฟิศที่ต้องทำงานที่บ้านเลือกซื้อ ขณะที่ในหลายออฟฟิศในไทยก็หันมาสั่งซื้อโต๊ะปรับระดับได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้พนักงานได้ใช้ในออฟฟิศ ย้ำกระแสอีกครั้งว่า โอเค เราคงถึงยุคการสลับยืนทำงานมากกว่านั่งติดเก้าอี้ยาวๆ แล้วล่ะ
แบรนด์อุปกรณ์ ergonomics อย่าง ‘Bewell’ ออกโต๊ะปรับระดับเพื่อสุขภาพ ERGONOMIC ADJUSTABLE DESK 3 ขนาด มีปุ่มปรับระดับ 4 ปุ่ม ขาเหล็กคาร์บอนแข็งแรง รับประกันมอเตอร์ 5 ปี พร้อมคำแนะนำการใช้งานโดยนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ หรือ ‘Standingdeskthailand’ อีกแบรนด์ที่เจาะสินค้าโต๊ะนั่ง-ยืนทำงานโดยเฉพาะตามชื่อ ที่น่าสนใจคือมีรุ่นที่มาในรูปแบบโต๊ะส่วนต่อขยายจากโต๊ะทำงานเดิมของเรา ซึ่งปรับระดับให้ยืดขึ้นลงได้ เมื่อเราอยากจะยืนทำงาน ถ้าอยากได้แบบเก๋ๆ แบรนด์ ‘indesk’ เป็นอีกแบรนด์ไทยที่มีหลายรุ่น หลายแบบให้เลือก และต่างจากโต๊ะทำงานทั่วไปตรงที่เรายังสามารถเลือกวัสดุหน้าโต๊ะให้เหมาะกับการแต่งบ้านได้ด้วย
แน่นอนว่าเราคงจะได้เห็นอีกหลายแบรนด์โดดลงมาเล่นในตลาดนี้ เพราะยุค WFH คือขาขึ้นของตลาด ergonomics โดยงานศึกษาจาก 360researchreport ระบุถึงการคาดการณ์มูลค่าตลาด standing desk ทั่วโลกในปี ค.ศ.2027 ไว้ที่ 9540.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.6% ระหว่างปี ค.ศ.2022–2027
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan