หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยค “ทำงานที่เรารัก แล้วจะรู้สึกเหมือนไม่ได้กำลังทำงาน” แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรือมีโอกาสได้ทำงานที่รักจริงๆ ยิ่งอยู่ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการหางานได้ง่ายๆ ประโยคข้างต้นอาจจะชวนให้รู้สึกหดหู่มากกว่าสร้างแรงบันดาลใจเสียอีก
The MATTER จึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับ ‘job crafting’ วิธีที่จะทำให้คุณมีแรงฮึดขึ้นมาสนุก ภูมิใจและพอใจกับงานได้อีกครั้ง ไม่ว่าคุณจะทำงานนั้นด้วยความรักหรือความจำเป็นก็ตาม
Job Crafting คืออะไร?
แนวคิดเรื่อง job crafting เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.2001 โดยศาสตราจารย์ Amy Wrzesniewski และ Jane Dutton คอนเซปต์ของแนวคิดนี้ คือ การปรับงานที่เรากำลังทำอยู่ให้เหมาะกับจุดแข็งและความสนใจของตัวเอง เหมือนกับเราคราฟต์งานเดิมขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นงานที่เราอยากลุกขึ้นมาทำในแต่ละวัน
จากงานวิจัยของ Harvard Business Review ซึ่งทำร่วมกับบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 ไปจนถึงองค์กรไม่แสวงผลกำไรขนาดเล็ก พบว่าพนักงาน (ทุกระดับ ทุกอาชีพ) ที่ใช้วิธี job crafting มักจะมีส่วนร่วม พึงพอใจกับชีวิตการทำงานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย job crafting สามารถเริ่มจากการปรับเปลี่ยนสามข้อหลักๆ ดังนี้
1. การปรับขอบเขตการทำงาน
คือการเพิ่มหรือลดรายละเอียดความรับผิดชอบเล็กๆ น้อยๆ บางคนอาจจะใส่ความชอบหรือความถนัดของตัวเองเพิ่มลงไปในงานนั้นด้วย แม้ไม่ได้ระบุใน job description ก็ตาม เช่น คนขับรถบัสที่เชี่ยวชาญเส้นทาง อาจจะแนะนำที่เที่ยวหรือร้านอร่อยให้กับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมา เชฟที่ชอบงานศิลปะอาจจะเลือกโทนสีจานให้เข้ากับอาหาร เพื่อเพิ่มความน่าอร่อยและสุนทรียะเล็กๆ ให้กับเมนูนั้น หรือบางองค์กรอาจมีพื้นที่ให้พนักงานได้ใช้ความชอบหรือความถนัดของตัวเองโดยเฉพาะ เช่น นโยบายของ Google ที่ให้พนักงานใช้เวลา 20% ไปกับโปรเจกต์ที่ตัวเองสนใจเพื่อสร้างไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ
แต่ใช่ว่าจะมีแค่การขยายขอบเขตงานเท่านั้น เพราะถ้าพบว่าเราใช้เวลา ใช้พลังงานไปกับเรื่องไหนมากเกินความจำเป็น ก็อาจจะลองเปิดบทสนทนาคุยกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน เพื่อลดทอนหรือหาวิธีการใหม่ๆ ที่ช่วยประหยัดเวลาและพลังงานของตัวเราเอง รวมทั้งผู้คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ไม่รู้สึกห่อเหี่ยวใจจากการทำงานหนักมากเกินไปโดยไม่จำเป็น
2. การปรับความสัมพันธ์
การสร้างความสัมพันธ์ในที่นี้ อาจเป็นการใช้เวลากับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น หรือสร้างความสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในทีมของตนเอง เพราะนอกจากจะช่วยให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เราเข้าใจทัศนคติ วิธีการทำงานของแต่ละคนมากขึ้น และไม่แน่ว่าอาจจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ หรือได้รับฟีดแบ็กจากการทำงานระหว่างกัน ผลักดันให้เราอยากจะพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น โดยไม่ต้องรอช่วงประเมินผลงานอย่างเป็นทางการ หรือฟีดแบ็กจากหัวหน้าเพียงอย่างเดียว
3. การปรับความคิด
ข้อนี้จะคล้ายกับ ‘อิคิไก’ ของญี่ปุ่นที่ค้นหาคุณค่าหรือความหมายของสิ่งที่ตนเองทำ ซึ่งช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนภาพการทำงานอันแสนวุ่นวายและน่าเบื่อ ให้มีคุณค่าและสนุกขึ้นได้ เช่น การเปลี่ยนผ้าปูที่นอนในโรงแรม นอกจากจะมองในมุมการทำความสะอาดได้แล้ว เรายังสามารถเพิ่มความหมายอื่นๆ อย่างการทำให้ผู้ที่มาเข้าพักสะดวกสบายและทำให้การเดินทางของพวกเขาน่าจดจำมากขึ้น การปรับมุมมองดังกล่าวอาจจะช่วยให้ความรู้สึกต่องานเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นงานที่มีความหมาย จนเราอยากจะตั้งใจทำให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม
ในเว็บไซต์ Harvard Business Review เล่าถึงตัวอย่างของกระบวนการ job crafting ผ่านเรื่องราวของ Candice Walker แม่บ้านที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งว่า ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน เธอมองงานของตัวเองว่าเป็นมากกว่าการทำความสะอาด แต่เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพราะสามารถลดการติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยให้กับพวกเขา ผ่านการทำความสะอาดโรงพยาบาลของเธอ
มุมมองดังกล่าวทำให้ขยายขอบข่ายการทำงานของเธอไปเองในตัว เช่น การดูแลความสะอาดห้องน้ำเป็นพิเศษในฤดูหนาว การถามไถ่อาการของผู้ป่วย พูดคุยครอบครัวของพวกเขา คอยสังเกตว่าใครมีความต้องการอะไรเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ช่วยดูแลทั้งในแง่สุขอนามัย คำพูดและความใส่ใจอันอ่อนโยนอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอมองว่างานที่ตัวเองทำนั้นมีคุณค่า และมีความสุขกับการทำงานมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของ job crafting คือการไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระดับองค์กรได้ เช่น วัฒนธรรมองค์กร การปรับตำแหน่งงาน นโยบายบริษัท และบางทีอาจจะต้องระวังเรื่องการทำงานอื่นๆ นอกเหนือจาก job description มากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ถูกประเมินว่าไม่ได้ทำงานของตนเองอย่างเต็มที่ได้เช่นกัน
ดังนั้น กระบวนการ job crafting อาจจะต้องพิจารณาบริบทขององค์กรควบคู่ไปกับความต้องการของตัวเราเอง เพื่อหาตรงกลางระหว่างงานที่ต้องทำกับงานที่อยากจะทำ เพื่อให้เรายังคงมีไฟอยากจะลุกขึ้นมาทำงานต่อไปไม่ว่าจะรักงานนั้นๆ หรือไม่ก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan