เราอยู่กับ COVID-19 จนถึงเวลาที่เราต้องกลับไปสู่ภาวะก่อน COVID-19 เริ่มผ่อนคลายมาตราการ และ- ไม่แน่ใจว่าเราจะดีใจดีไหม เมื่อบริษัทต่างๆ เริ่มประกาศให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศกันแบบเดิม ยินดีต้อนกลับเข้าสู่ลูปเดิมๆ ของการทำงานแบบ 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น 5 วันต่อสัปดาห์
และหนึ่งในกิจกรรมยามเช้าที่ไม่แน่ใจว่าเราจะคิดถึงไหมนั่นคือ พิธีกรรมการ ‘นั่ง-ขับรถ’ ไปทำงาน ยิ่งชาวกรุงเทพฯ เอง การเดินทางไปทำงานในชีวิตประจำวัน เป็นอีกหนึ่งมหกรรมประดุจการจาริกแสวงบุญ มีตัวเลขรายงานว่าคนกรุงเทพใช้เวลาราว 62 นาทีต่อวัน—ตัวเลขที่ฟังดูดีเกินคาด เพราะเรารู้ดีถึงการเข้างาน 9 โมง แต่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงครึ่ง เพื่อฝ่าฟันรถติด รถไฟฟ้าเสีย และอื่นๆ ไม่นับว่าถ้าวันฝนตกช่วงเลิกงาน การกลับบ้านก็จะใช้เวลายาวจนสงสัยว่าคืนนั้นเราจะได้กลับไปนอนบ้านไหม
ถ้าเราตีคร่าวๆ ว่าเราใช้เวลาบนท้องถนนในชีวิตประจำวันเที่ยวละชั่วโมง เช้า-เย็น แค่ 2 ชั่วโมงต่อวันก็นับเป็นการใช้เวลาไปเกือบ 10% ของเวลาชีวิตทั้งหมด ยิ่งถ้าเราเอาเวลามาคูณเป็นจำนวนชั่วโมงทั้งหมดที่เราทำหายไปกับแค่การไปและกลับจากทำงาน ชีวิตของเราก็ได้ใช้ไปกับการหายใจทิ้งบนรถเมล์ รถตู้ และรถไฟฟ้าอย่างสิ้นหวัง
การเดินทางไปกลับในชีวิตประจำวันนับว่าเป็นปัญหาสำคัญของเมืองใหญ่ และนับเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญในการส่งเสริมชีวิตที่ดี มีงานศึกษาที่ระบุว่าระยะเวลาของการนั่งรถไปทำงานส่งผลโดยตรงกับสุขภาพ กับสุขภาวะ และประสิทธิภาพของการทำงาน ความรู้สึกรักงาน—แน่นอนว่าต่อให้งานจะดีแค่ไหน—ถ้าต้องทนวันละ 2-3 ชั่วโมงไปกับการเดินทาง คงไม่มีใครทนไหว แต่อีกด้านหนึ่งการเดินทางไปทำงานก็ถือว่าเป็นกิจวัตรที่เราอาจจะคิดถึง และอันที่จริงก็มีผลเชิงบวกกับการทำงานและกับความรู้สึกของเราด้วย เพียงแค่ต้องมีระยะเวลาในการเดินทางที่เหมาะสม
ยิ่งนั่งรถนาน ยิ่งทำงานแย่ แถมทำให้รู้สึกแย่เท่าๆ กับโดนตัดเงินเดือน
สำหรับชาวกรุงเทพ ถ้าบอกว่าเราใช้เวลาไปกลับต่อวัน เที่ยวละ 1 ชั่วโมงก็นับว่าเป็นบุญแล้วเนอะ แต่โดยทั่วไปการใช้เวลาเดินทางไปทำงานเป็นการใช้เวลาที่ซ้ำๆ กันทุกวัน ดังนั้นการประเมินว่าเราใช้เวลาวันละชั่วโมงไป-กลับก็ถือว่าเยอะแล้ว ประเทศที่นับว่ามีปัญหาในการใช้เวลาเดินทางมาก (เงื่อนไขก่อนยุค COVID-19) ก็เช่นสหรัฐอเมริกา ที่ประเมินว่าคนอเมริกาเดินทางไปทำงาน 50 นาทีต่อวัน ทั้งไปและกลับ
ที่อังกฤษเองก็มีปัญหาในทำนองเดียวกัน มีรายงานตัวเลขว่าคนอังกฤษใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานขึ้นจาก 48 นาที เป็น 60 นาที โดย 1 ใน 7 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการเดินทางไป-กลับต่อวัน โดยเวลาเดินทางที่มากนั้นส่งผลเสียโดยตรงกับสุขภาวะของผู้คน ในปี ค.ศ.2017 มีงานศึกษาจาก University of the West of England ระบุว่าทุกๆ นาทีที่เราใช้ไปกับการเดินทางส่งผลในทางลบกับความรู้สึกดีในการทำงานและการใช้เวลาพักผ่อน รวมถึงส่งผลเชิงลบกับสุขภาพจิตโดยตรง ทั้งนี้ ก็มีงานวิจัยอื่นๆ ที่รายงานผลไปในทำนองเดียวกัน คือเวลาเดินทางที่นานขึ้นส่งผลกับสุขภาพกายและใจ เช่นงานศึกษาในปี ค.ศ.2006 รายงานว่าการเดินทางช่วงเช้าที่นานจะกระทบกับอารมณ์และส่งผลต่อเนื่องไปจนตลอดวันในทุกกิจกรรมของวันนั้นๆ รายงานจาก Mercer บริษัทด้านการบริหารบุคลากรและคุณภาพชีวิตก็ออกรายงานว่า ระยะเวลาเดินทางส่งผลกับความเครียดในการทำงาน มีแนวโน้มที่จะมีภาวะอ้วน และมักจะนอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง—เศร้ามาก แต่ก็เข้าใจได้มาก นั่งรถนานๆ เอาเวลาที่ไหนไปออกกำลังกายหรือไปนอน
นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว การเดินทางนานๆ ยังส่งผลกับคุณภาพงานและความคิดเกี่ยวกับการทำงานอย่างมีนัยสำคัญด้วย เช่น มีรายงานว่าคนที่ใช้เวลาในการไปทำงานสั้นกว่ามีแนวโน้มจะลาแบบไม่บอกไม่กล่าวน้อยกว่า ในขณะที่คนที่ใช้เวลาเดินทางนานก็อาจจะรีบกลับบ้าน ออกจากออฟฟิศไวกว่า มีสถิติไปสายมากกว่า ในประเด็นเรื่องเงินมีรายงานว่าการเดินทางที่ยาวขึ้นทุกๆ 20 นาที กลุ่มตัวอย่างจะรายงานความรู้สึกเชิงลบที่เทียบเท่ากับการได้รับเงินเดือนลดลงถึง 19% ในบางงานเช่นบทความใน The Harvard Business Review ก็ระบุงานศึกษาที่ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างเลือกงานซึ่งพบว่าผู้คนเลือกงานที่เงินเดือนน้อยกว่าและใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า
ในงานศึกษาของ University of the West of England มีข้อมูลที่น่าสนใจและอาจจะเกินคาดของเราหน่อย คือ รายงานบอกว่าการเดินทางสัมพันธ์กับวิธีการเดินทางด้วย การเดินทางแบบนั่งเฉยๆ รอรถ นั่งรถ ขับรถส่งผลเชิงลบ แต่ในกลุ่มคนที่เดินทางไปทำงานแบบขยับเคลื่อนไหว เช่น ขี่จักรยาน หรือเดินไปทำงาน ไม่มีมีการรายงานผลกระทบเชิงลบทางอารมณ์กับระยะเวลาเดินทางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเราเองคงไม่ค่อยมีภาพการขี่จักรยานไปทำงานเท่าไหร่ ถ้าทางในเมืองขี่ไปได้ ในระยะพอเหมาะ ไม่รู้สึกว่าเป็นลูกเมียน้อย การได้ขี่จักรยานไปในเมืองที่มีต้นไม้ มีทางจักรยาน การเดินทางไปทำงานก็ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของสันทนาการได้ ได้ออกกำลังไปพร้อมกัน
แวะซื้อหมูปิ้ง เกลียดวันจันทร์รักวันศุกร์ หรือเราแอบคิดถึงชีวิตประจำวัน
อันที่จริง มนุษย์เราก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ย้อนแย้งอยู่บ้าง เรื่องการกลับเข้าออฟฟิศ ถ้ายังจำได้เราเองมีปัญหากันว่าการทำงานที่บ้านทำให้ตารางชีวิตของเราสับสน คือเราแยกการทำงานและการพักผ่อนออกจากกันไม่ได้ ลักษณะข้างต้นไม่ใช่ว่าเราคิดไปเอง มีงานวิจัยที่บอกว่าการเดินทางไปทำงานนั้นมีประโยชน์ต่อการทำงานคือการเดินทางไปทำงานนับเป็นช่วงที่เรา ‘ปรับบทบาท’ และตัวตนของเรา จากโหมดทั่วไปไปสู่โหมดการงานอาชีพ เป็นเหมือนช่วงเวลาที่เรา ‘เปลี่ยนบทบาท’ (role transitions) เพื่อแยกบทบาทของชีวิต และปรับตัวตนของเรากลับไปกลับมาจากการใช้ช่วงเวลาในการเดินทางในการเปลี่ยนโหมดของเรา
ทีนี้ ในเงื่อนไขและงานศึกษาช่วง COVID-19 ก็มีรายงานว่าทั่วโลกใช้เวลาเดินทางเฉลี่ย 38 นาทีต่อวันต่อเที่ยว วันหนึ่งก็ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง มีงานศึกษาและสำรวจเพิ่มเติมเช่นจากหน่วยงานภาครัฐของอเมริกาและมหาวิทยาลัย โดยรายงานตัวเลขว่าเราควรจะเดินทางกันวันละกี่นาทีดี ผลคือตัวเลขการเดินทางที่ผู้คนคาดหวังว่าเป็นอุดมคติอยู่ที่ 20-30 นาทีต่อเที่ยว ซึ่งงานศึกษาก็พบกับคำตอบที่หลากหลาย บ้างก็บอกว่าเดินทาง 5 นาทีพอ บางคนก็ชอบการเดินทางนานเพราะได้ใช้เวลาเตรียมตัวหรือทำอะไรต่างๆ ระหว่างทางของการไปและกลับ
ตรงนี้เลยมาสู่งานศึกษาอีกชิ้นที่ทำให้เรามองกระบวนการเดินทางไปทำงานที่น่าสนใจ นอกจากจะเป็นช่วงปรับบทบาท ตั้งสมาธิ เปลี่ยนโหมดทั้งขาไปและขากลับแล้ว ยังมีมุมมองเชิงสังคมวิทยาจากบทความใน The Harvard Business Review เผยแพร่ในปี ค.ศ.2021 เป็นข้อสังเกตเชิงวิชาการต่อการเดินทางไปทำงานยุค COVID-19 โดยบทความพูดถึงความเป็น ‘พิธีกรรม’ ของการเดินทางไปทำงานของคนสมัยใหม่ (ซึ่งช่วง COVID-19 นั้นหายไป และตอนนี้กำลังจะกลับมา)
มุมมองเรื่องความเป็นพิธีกรรมก็หมายถึงว่า ถ้าเรามองโลกในฐานะพื้นที่ของความยุ่งเหยิงและไม่แน่นอน การเดินทางไปทำงานแบบเดิมคือ 8 โมงถึง 5 โมง ทำงาน 5 วันนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่เราทำเป็นกิจวัตร เป็นพิธีกรรมในชีวิตที่แน่นอนของเรา แม้ว่าเราจะเกลียดวันจันทร์ รักวันศุกร์ แต่การที่เรารู้ว่าเช้าวันจันทร์เราจะมีกิจวัตรอะไร เราตื่นและต้องจัดการชีวิต ต้องแต่งตัว เตรียมเพลง วางแผนไปขึ้นรถ เรารับรู้สึกถึงความซึมเซาและมองเห็นปลายทางความสุขในอีก 5 วัน
ในกิจวัตรที่กลายเป็นพิธีกรรมนั้น ในข้อสังเกตจึงกลับมุมมองเรื่องการเดินทางไปทำงานว่าเป็นส่วนหนึ่งของความแน่นอนที่เราพอจะควบคุมได้ เจ้าความรู้สึกและความจำเจที่ว่าเลยทำให้ทำให้ความไม่แน่นอนของชีวิตรู้สึกว่าแน่นอนขึ้น เป็นวงจรขึ้น บทความถึงขนาดมองว่าการที่เราเกิดความรู้สึกของความแน่นอน (sense of certainty) ช่วยลดความรู้สึกเชิงลบเช่นความรู้สึกวิตกกังวล ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ และทำให้เรามีความมั่นใจในชีวิตมากขึ้น—ลึกๆ แล้วการได้ตื่นมา อาบน้ำ แต่งตัว ซื้อหมูปิ้ง เจอเพื่อน เมาท์เรื่องละครหรือพี่คนนั้น การได้จัดการอะไรซ้ำๆ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่สติแตกไปในแต่ละวัน เป็นสิ่งที่เราแอบคิดถึงอยู่ลึกๆ
เรื่องว่าเราจะคิดถึงการเดินทางไปทำงานไหมก็ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ทั้งความชอบ ลักษณะงาน ไปจนถึงความทุกข์ทรมานของการเดินทาง แง่หนึ่งการเดินทางไปทำงานที่แสนนานก็สัมพันธ์กับการพัฒนาเมืองอย่างไม่มีทิศทาง วัฒนธรรมรถยนต์ที่ออกแบบให้พื้นที่พักอาศัยอยู่ชานเมืองและเชื่อมพื้นที่เข้าสู้พื้นที่ทำงานกลางเมืองด้วยถนน ทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่อันแห้งแล้ง ห่างไกล ต้องเดินทางด้วยรถเท่านั้น ประเด็นสำคัญของเมืองและของวัฒนธรรมการทำงานในที่สุดก็ส่งผลกระทบกับผู้คน สุดท้ายคนที่สุขภาพแย่ก็ทำงานได้ไม่ดี ส่งผลกับความรู้สึกในการทำงาน ลาออก และเจ็บป่วย ซึ่งก็ส่งผลเสียต่อเมืองและกิจการนั้นๆ เป็นวงจรต่อไป
อันที่จริง ยุค COVID-19 เป็นต้นมาเราก็เริ่มเห็นวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป วิธีการทำงานรวมถึงพื้นที่ทำงานที่ค่อยๆ ปรับตัวจากวัฒนธรรมแบบเข้างาน 9 โมง ออกจากงาน 5 โมง และนับว่าการถ่อไปมาวันละ 2 ชั่วโมงเป็นเรื่องธรรมดาและต้องอดทนจนแทบจะบรรลุโพธิญาณ ทะเลาะกันบนรถตู้ทั้งพระทั้งฆราวาสว่าวิถีดังกล่าวที่ทำมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 อาจจะไม่ทางออกเดียว ตรงนี้ก็นำไปสู่ทั้งการปรับตัวให้การงานยืดหยุ่น ไปจนถึงการปรับเมืองให้ไม่ใช่เมืองของรถรา แต่เป็นพื้นที่ของการเดิน ของย่าน ของผู้คน ที่ว่าในที่สุดถ้าสุขภาพกายใจของผู้คนดี สุขภาพของเมืองนั้นก็ย่อมดีต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
travelbehaviour.files.wordpress.com
Illustration by Krittaporn Tochan