ลองนึกภาพว่าหากวันหนึ่งเรามองไม่เห็น การใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เมื่อข้อมูลบางอย่างอยู่นอกเหนือขอบเขตการใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ได้
Visionear เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์นี้ โดยจะช่วยสแกนสิ่งที่อยู่ในมือ ด้วยการแปลงข้อมูลในบาร์โค้ดออกมาเป็นเสียงแบบเรียลไทม์ สามารถบอกได้ว่าเงินในมือเป็นแบงก์อะไร หรือขนมในถุงคือขนมอะไร ราคาเท่าไหร่ ฯลฯ ภายใต้การพัฒนาของ ปาล์ม—นันทิพัฒน์ นาคทอง และ นิค—บุษภาณี พงษ์ศิริยาภรณ์ สองนักศึกษาปริญญาโท แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
“โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์จบตอนเราเรียนปริญญาตรี ตอนนั้นเราพยายามคิดว่าจะใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาอะไรดี ก็เลยลองมองไปรอบๆ ตัว ลองไปคุยกับคนกลุ่มต่างๆ และพบว่าทุกคนมีปัญหาที่ใช้เทคโนโลยีแก้ไขได้เต็มไปหมด แต่ที่กระทบใจเราที่สุด คือปัญหาของคนตาบอด เป็นสิ่งที่เราคิดว่าอยากแก้ไขและอยู่กับมันได้เป็นปีๆ”
ปาล์มและนิคบอกเล่าวิธีการทำงาน ที่เจาะลึกถึงปัญหาด้วยการไปพูดคุยสอบถามคนตาบอดอย่างจริงจัง จนได้ข้อสรุปและทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทันที
“เราใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วอย่างการอ่านบาร์โค้ด ให้ใช้ได้กับคนตาบอด โดยเขาไม่ต้องเล็งให้ตัวยิงโดนบาร์โค้ด แค่ถือไว้เฉยๆ ตัวเครื่องของเราจะแสกนให้เอง ซึ่งตอนทำขึ้นครั้งแรก เราทำตัวแว่นขึ้นจากเครื่องปริ๊นต์สามมิติ ซึ่งจะมีตัวเครื่องที่ค่อนข้างใหญ่ ใช้ยาก เราเลยลองปรับแก้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ไปเรื่อยๆ ทั้งเป็นรูปแบบของนาฬิกา แหวน หรือสร้อยคอ สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่ารุ่นใหม่ของเราน่าจะเป็นไม้เท้า อย่างที่ทุกคนมีอยู่แล้ว ไม่ต้องให้เขาแบกสัมภาระเพิ่ม”
ทั้งคู่ต่างเล่าถึงการใช้ชีวิตของคนตาบอด ว่าพวกเขาสะดวกที่จะพกของน้อยชิ้นและไม่ได้มีรายได้มากนัก ในขณะที่นวัตกรรมสำหรับคนตาบอดมักมาในรูปแบบของแก็ดเจ็ตเสริม ทั้งยังมีราคาสูง
“นั่นอาจเป็นเหตุผลที่นวัตกรรมคนตาบอดไม่ค่อยถูกนำไปใช้ ทั้งที่จริงๆ มีคนคิดอยู่ทุกปี” ปาล์มเสริม พร้อมกับเล่าแผนการสำหรับก้าวต่อไป
“เราอยากพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะในฐานะของสตาร์ทอัพหรือ social enterprise ซึ่งต้องติดต่อกับนักลงทุนและซัพพลายเออร์เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกที่สุด คนตาบอดทั่วไปซื้อหาได้ ยิ่งกว่านั้นเรายังอยากเพิ่มฟีเจอร์อีกเช่นการดูวันหมดอายุ การดูสายรถเมล์ หรือกระทั่งการดูหวย อย่างที่ผู้ใช้รีเควสต์กันมา และในระยะยาวก็อยากให้ไปถึงคนตาบอดประเทศอื่นด้วย เพราะเรื่องนี้มันคือปัญหาสากล ”
ทั่งคู่สรุปจบที่ความท้าทายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแผนการทางธุรกิจ ที่แม้จะเป็นหนทางที่ยาวไกล แต่พวกเขาก็ตั้งใจแล้วว่าความสำเร็จของ Visionear คือการที่ผลิตภัณฑ์ไปถึงมือผู้ใช้และช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง และเราก็น่าจะได้เห็นกันในอีกไม่นานนี้แน่นอน
จากคอลัมน์ Start Up โดย ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์
giraffe magazine 48 – Hero Issue