ข้าพเจ้ายินดีที่ผู้ประกอบการเองต่างพากันกล่าวว่า จะมุ่งรักษาแนวคิดทางการบริหารจัดการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง และข้อคิดเตือนใจอีกประการหนึ่งแก่ตนตลอดไป คือ โครงการเล็กๆ ของตนที่คิดก่อตั้งขึ้นนี้ ต้องมีพี่เลี้ยงที่ดี มีที่ปรึกษาที่ดี ประหยัด ไม่สุดโต่ง ไม่เป็นการเสี่ยงภัย ไม่ทำให้พาร์ทเนอร์ชิพเกิดความเสียหายหรือผิดหวังตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพ มีความทันต่อเหตุการณ์ เหมือนที่ปู่ย่าตายายสอนลูกหลานไทยมาว่า ‘คบคนพาล พาลไปหาผิด คบบัณฑิต บัณทิตพาไปหาผล’ ที่ยังเป็นข้อเท็จจริงที่สุดและทันสมัยอยู่เสมอ
จากโอวาทของรัฐมนตรีประจำสำนักนายก ได้กรุณามอบประเด็นใหญ่ๆ ไว้สองประเด็น เรื่องแรกคือเรื่องที่กำลังเป็นกระแสในแวดวงธุรกิจที่เรียกว่าสตาร์ทอัพ และได้นำเอาแนวพระราชดำริเรื่องความพอเพียง มาประกอบ ก่อนที่จะจบด้วยสุภาษิตเชิงสอนใจ ว่าด้วยการเลือกคบคนที่นำไปสู่ความเจริญ
ด้วยความซับซ้อน เมื่อฟังโอวาทข้างต้นแล้วก็อาจจะต้องขมวดคิ้ว กะพริบตาปริบๆ ด้วยความสงสัย สตาร์ทอัพจริงๆ แล้วคืออะไร แล้วกระแสธุรกิจขนาดเล็กที่เน้นเติบโตอย่างรวดเร็วจะหาความพอดีได้อย่างไร หรืองงงวยแม้กระทั่งว่าสุดท้ายมาจากเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจสามารถวกกลับมาสู่วิถีปฏิบัติในชีวิตเรื่องการเลือกคบคนได้อย่างน่าอัศจรรย์
ทั้งคำว่า ‘พอเพียง’ และ ‘ธุรกิจ’ ฟังดูจะเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ยาก เพราะเป้าหมายที่ชัดเจนที่สุดของการประกอบกิจการ คือการมุ่งแสวงหากำไรสูงสุด แน่นอนว่าปรัชญาแห่งความพอดีเป็นสิ่งที่สูงค่าในการสมาทานไปใช้ในการดำรงชีวิตอย่างระมัดระวัง แต่ในโลกธุรกิจ โดยเฉพาะบรรษัททั้งหลาย คำว่า ‘พอดี’ อาจจะเป็นคำพูดสวยๆ ที่นำไปประดับไว้ตอนแนะนำบริษัท หรือเป็นแค่พูดคมคายของผู้บริหาร ความพอดีของโลกธุรกิจระดับพันล้านอาจจะยืนอยู่บนความพังพินาศของสิ่งแวดล้อม หรือการเอารัดเอาเปรียบแรงงานตัวเล็กๆ ไปจนถึงการเป็นตัวกลางของการกระจายทรัพยากรไปอย่างมาเป็นธรรม
เอาละ ไม่เป็นไร กลับมาลองคิดเรื่องสตาร์ทอัพกับความพอเพียง
แล้วสตาร์ทอัพคืออะไร
สตาร์ทอัพ (Startup) คือ บริษัทเล็กๆ ที่พร้อมจะโตเร็วแบบก้าวกระโดด มีศักยภาพที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ (หรือบริการ) ที่สามารถทำซ้ำได้ ขยายเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และไม่จำกัดแค่ในสถานที่เดียวด้วย ที่สำคัญกระบวนการทำงานแบบเร่งสปีดนี้ยังต้องเน้นคุณภาพในทุกด้าน และสามารถหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ อยู่เสมอ
อยากเข้าใจสตาร์ทอัพ ก็ต้องให้สตาร์ทอัพมาพูด แอพพลิเคชั่น ClaimDi ของคุณกิตตินันท์ เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อสร้างบริการตามความต้องการของผู้บริโภค ‘เคลมดิ’ ใช้ช่องว่างและความยุ่งยากของการเคลมประกันทำให้การเคลมประกันง่ายดายยิ่งขึ้น ล่าสุด ‘เคลมดิ’ มีฐานลูกค้าเป็นบริษัทประกันภัยกว่า 20 ราย และบริษัทสตาร์ทอัพของเขามีอัตราการเติบโตถึง 10 เท่าภายในหนึ่งปี และด้วยความสร้างสรรค์และพลังของเทคโนโลยีทำให้คุณกิตตินันท์มองว่าสตาร์ทอัพที่จริงๆ เป็นเจ้าเล็กๆ กลับสามารถต่อสู้ข้ามรุ่นไปที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ได้อย่างไม่ยากเย็น
อืม การโตอย่างรวดเร็ว และมองคู่ชกที่ข้ามรุ่นฟังดูไม่ค่อยพอดีเท่าไหร่นะ ฟังดูคิดการณ์ไกล
Funders and Founders สรุป ‘ฮาว-ทู’ ของการทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพไว้เป็นภาพน่ารักสดใส มีข้อปฏิบัติสำคัญที่อาจจะล้นจากความพอประมาณอยู่พอสมควร เช่น การที่ต้องอยู่กับอนาคตมากกว่าปัจจุบัน (โหย ไม่พุทธเลยอะ) หรือการหาอะไรที่มันขาดไปในโลก (ทำไมไม่พอใจกับสิ่งที่มีอะ ปรับใจให้เข้ากับความขัดข้องรอบตัวสิ) หรืออีกหัวใจหนึ่งของสตาร์ทอัพคือการขายไอเดียเพื่อระดมทุน (ระดมทำไมอะ มีเท่าไหร่ก็ทำเล็กๆ ให้สมตัวสิ)
ลองคิดถึงธุรกิจสตาร์ทอัพแบบพอประมาณขานรับแนวนโยบาย มีภาพของกิจการที่ถ่อมตนอย่างสวยงามอย่างในจินตนาการ ก็คงจะเป็นธุรกิจเล็กๆ นกน้อยทำรังแต่พอตัว รู้จักพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ปลูกเอง ผลิตเอง กินเอง ขายแค่พอยังชีพ ไม่มีการไประดมทุนเพื่อทำอะไรให้มันใหญ่เกินตัว ปรับตัวและใจให้เข้ากับภาวะแวดล้อม (ไม่ว่าโลกจะเหลื่อมล้ำแค่ไหน คุณภาพชีวิตห่วยแตกเพราะการบริหารกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมยังไง ใจเราสำคัญที่สุด) เป็นสตาร์ทอัพที่พร้อมจะชัทดาวน์ได้อย่างไม่ต้องคิดมาก (เพราะไม่ฝันไกล)
โลกของเราเป็นโลกของวาทะ ล่องลอยไปด้วยคำพูดเท่ๆ บางครั้งเราใช้ ‘คำ’ ที่ ‘ความ’ วิ่งตามไม่ทัน
‘ความหมาย’ ของคำมักไม่ ‘เพียงพอ’ กับขนาดของมัน