‘อยากเป็นเศรษฐี เป็นวัยรุ่นพันล้าน ประสบความสำเร็จ เป็นเจ้านายตนเองตั้งแต่วัยเยาว์’ ค่านิยม วาทกรรม กรอบความสำเร็จต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นคนรุ่นใหม่ในยุคนี้
แต่การจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในยุคนี้นั้น ใครๆ ต่างก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหากเริ่มจาก 0 ต้องมีทั้งเงินทุน คอนเนคชั่น การสนับสนุนจากภาครัฐ ไปถึงไอเดียความรู้ใหม่ๆ ให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ก็ได้กลายมาเป็นพล็อต และถูกนำมาเล่าเป็นซีรีส์เกาหลี 16 ตอน ทางช่อง tvn และ Netflix กับซีรีส์ ‘Start-Up’ ที่ทำให้เราได้รู้จักโมเดลธุรกิจ สตาร์ทอัพ ไปถึงความรู้ใหม่ๆ ในวงการนี้ ผ่านสื่อบันเทิง
Start-Up เป็นซีรีส์ที่เล่าถึง กลุ่มคนหนุ่มสาว ที่แบกความฝันที่อยากจะประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจสตาร์ทอัพ ตรงตามกับชื่อเรื่อง ด้วยตัวละครหลักอย่าง ‘ซอล ดัลมี’ นางเอกที่แม้จะเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย แต่มีความสามารถในการทำงาน และหวังว่าตัวเองจะเฉิดฉายเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพ และได้กลายเป็น สตีฟ จ็อบส์ กับ ‘นัม โดซาน’ CEO ของสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่แม้จะมีฝีมือ แต่ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุน และทำกำไรให้บริษัทได้ ซึ่งด้วยเหตุต่างๆ ก็ได้ทำให้พวกเขาได้มาเจอกัน เรียนรู้ และทำธุรกิจไปด้วยกัน
แม้ว่าตัวเรื่องจะมีซีนของความรัก ตามสไตล์ซีรีส์เกาหลีโดยทั่วไป แต่บทความชิ้นนี้ จะขอไม่พูดถึงประเด็นนั้น (แน่สิคะ เพราะผู้เขียนทีมหัวหน้าฮันจีพยองค่ะ) และอยากพาเข้าไปดูแมสเซจที่ซีรีส์เรื่องนี้ต้องการจะบอก รวมไปถึงวงการธุรกิจสตาร์ทอัพในเกาหลี และการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ทำให้เราสามารถเห็นซีรีส์บ้านเขา ที่เล่าเรื่องราวที่ไปไกลแบบนี้ได้
Follow your dream ฝันให้ไกล ไปให้ถึง
‘อยากก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อ…. ?’
ป้ายคำถามขนาดใหญ่ และแผ่นคำตอบที่หลากหลายนี้อยู่ใน ‘Sandbox’ พื้นที่ที่เปรียบเหมือนเป็นซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งให้คนหนุ่มสาวที่มีความฝัน ได้เข้ามาทดลองทำธุรกิจ ซึ่งในซีรีส์นั้น ก็มีหลายฉากที่ตัวละครได้มายืนหน้าป้ายเหล่านี้ พร้อมคำตอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘เพื่อที่ต่อไปจะได้ไม่ลำบาก’‘เพื่อเจอผู้ชายที่เก่งกว่า’ ‘เพื่อช่วยเหลือผู้คน’ ‘เพื่อจะได้เป็นคนที่มีความเชื่อมั่น’ ไปถึง ‘เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก’ ซึ่งตลอดเรื่องนี้ ตัวละครต่างก็ตั้งใจเข้ามาในวงการนี้ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น
หากในการทำสตาร์ทอัพ ต้องมีคีย์แมน (บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจในองค์กร) ในซีรีส์เรื่องนี้ ก็มีคีย์เวิร์ดแมสเซจที่โดดเด่นตลอดเรื่อง ที่พยายามสื่อกับทั้งตัวละคร และผู้ชม นั่นคือ ‘Follow Your Dream’ หรือการทำตามความฝัน
ซอล ดัลมี เป็นคนเก่ง แต่ด้วยข้อจำกัดในชีวิตหลายอย่างทั้งเงิน และวุฒิการศึกษา ทำให้เธอนั้นมักอยู่ในตำแหน่งพนักงานสัญญาจ้าง ซึ่งแม้จะทำผลงานดี แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอได้ไต่เต้าเติบโตไปไกลนัก ดัลมีตัดสินใจทิ้งงานปัจจุบัน เพื่อไปให้ไกลกว่าจุดที่เป็นอยู่ ทำตามความฝันของเธอ และพ่อ แม้ไม่มีต้นทุนใดๆ นอกจากความพยายาม ความใฝ่รู้ และไฟในตัว เช่นเดียวกับนัม โดซาน ที่แม้จะมีธุรกิจของตัวเอง แต่ก็เติบโตกับการเคว้งคว้างหาความฝันจริงๆ ไม่ได้ปลดแอกจากความฝันของเขาที่ถูกผูกติดกับฝันของพ่อตั้งแต่ยังเด็ก มาตามหาความฝันของตัวเอง
‘Follow Your Dream’ จึงกลายมาเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญกับทั้งสองตัวละคร ให้พวกเขาค้นหาฝันจริงๆ ของตัว ไปพร้อมๆ กับการมุ่งสู่ความฝันนั้น และปลูกฝังแนวความคิดนี้ให้กับผู้ชมไปโดยปริยายด้วย
การทำตามฝัน ไม่ใช่แมสเซจเดียวที่ซีรีส์นี้สื่อออกมา แต่ยังมีการให้ทำตามฝัน แม้อาจจะล้ม และลองหลงทางก่อนจะประสบความสำเร็จด้วย ทั้งจาก ‘SandBox’ พื้นที่สำหรับคนหัดฝันทำสตาร์ทอัพ ได้หัดลอง หัดล้ม โดยไม่เจ็บตัว ซึ่งสถานที่แห่งนี้ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากคำพูดของพ่อซอล ดัลมี ที่กล่าวไว้ว่า หากวงการนี้เป็นพื้นทราย แทนพื้นคอนกรีตก็คงดี
ไปถึงข้อความต่างๆ ในจดหมายของซอล ดัลมี ถึงนัม โดซาน ที่บอกว่า “การได้เตร่บ้างก็ไม่เห็นเป็นไร บางทีการแล่นเรือโดยไร้แผนที่ก็ยอดเยี่ยมเหมือนกัน” ซึ่งได้กลายมาเป็นบทเรียนให้กับโดซานในตอนโต ในการลองเสี่ยง และลองแล่นเรือโดยไร้แผนที่ ที่แม้อาจจะตาย แต่เขาก็เชื่อว่าอาจะเป็นการบุกเบิกทางใหม่ให้กับสตาร์ทอัพของเขาได้
จึงถือเป็นเมสเซจใหญ่ในยุคที่คนรุ่นใหม่หลายคนมีความฝัน แต่ไม่อาจทำตามฝันได้ ด้วยการถูกกดทับด้วยโครงสร้าง ข้อจำกัดทางสังคม และเศรษฐกิจต่างๆ ได้ปลุกไฟฮึดกลับมามองที่ความฝันของตัวเอง และลองทำตามฝันอีกครั้ง
โลกอนาคต ที่ปัญญาประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่งกับชีวิต
“ยองชิล ตอนนี้กี่โมงแล้ว” “ยองชิล ช่วยอ่านใบเสร็จนี้ให้หน่อย”
บทสนทนาของตัวละคร กับ AI ในเรื่องกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญญาประดิษฐ์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา โดยหากจะพูดถึง AI ในประเทศเกาหลีนั้น ก็เรียกได้ว่ากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแผน และเป้าหมายจะเป็นผู้นำทางด้าน AI พร้อมยุทธศาสตร์ว่า จะเป็น Top 4 คู่แข่งในด้าน AI ภายในปี 2022 และลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในการวิจัย AI และการฝึกอบรม
การที่ AI ในเกาหลี มาไกลและพัฒนาได้เท่านี้ ก็ไม่ใช่การวางแผนที่เพิ่งเกิดขึ้น ในระยะเวลาไม่กี่ปี เพราะเกาหลีใต้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและจัดจำหน่ายหุ่นยนต์อัจฉริยะตั้งแต่ปี 2008 และมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาสำหรับสังคมข้อมูลอัจฉริยะในปี 2015 และตามมาด้วยกลยุทธ์ Intelligent Information Society ในปี 2016 ก่อนที่รัฐบาลจะ ประกาศกองทุนการลงทุนเพื่อส่งเสริม AI ทั่วประเทศ
ในปีนั้นเอง กระทรวงวิทยาศาสตร์ ICT และการวางแผนอนาคตเกาหลี ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมข้อมูล AI ที่เป็นแผนแม่บทมีความยาวกว่า 70 หน้า ที่หวังว่าจะพัฒนา AI ไปควบคู่กับเทคโนโลยีอื่นๆ ด้วย
แต่การพัฒนาที่ก้าวไกลของวงการ AI ที่มีความสามารถเก่งกาจเทียบเท่ามนุษย์ได้ ก็ทำให้ความหวาดกลัว และมองว่ามันเป็นภัยเช่นกัน ซึ่งในซีรีส์ Start-Up นี้ ก็มีประเด็นนี้เช่นกัน เมื่ออินแจคอมปานี สตาร์ทอัพของอินแจ คิดวิธีลดแรงงานรักษาความปลอดภัย ด้วยการอัพเกรดเทคโนโลยีกล้องวงจนปิดของ AI จนทำให้คนงานที่จะถูกปลด ออกมาประท้วง รวมถึงนัม ซองฮวาน พ่อของโดซาน ที่ตั้งคำถามว่า เทคโนโลยีนี้ทำร้ายผู้คนหรือเปล่า ขณะที่อินแจมองว่าพวกมันมาเพื่อพัฒนาสังคม
“ลูกหลานในอนาคตก็คงไม่อยากใช้ชีวิตแบบนี้ พวกเขาไม่ต้องการใช้ชีวิตแบบในโลกตอนนี้ พวกเขาต้องอยากใช้ชีวิตในโลกที่ดีกว่านี้แน่นอน สร้างโลกที่ดีกว่าตอนนี้” – วอน อินแจ
“เร็วไปก็คงไม่ดี ความเร็วทำให้หลายคนเจ็บปวด และมีคนที่ปรับตัวกับโลกใบใหม่ไม่ได้มากขึ้น” – นัม ซองฮวาน
ตัวละครทั้งสอง ต่างมองเห็นประโยชน์และภัยของ AI ในมุมมองที่ต่างกัน แต่สุดท้ายต่างก็สรุปได้ว่า ในโลกที่เทคโนโลยีกำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เราจำเป็นต้องหาจุดกึ่งกลาง และหาความเร็วที่มนุษย์ และ AI จะปรับตัวร่วมกันได้ รวมไปถึงหลายๆ ฉากในซีรีส์ ที่เห็นการเข้ามาของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอปฯ หางาน ที่แม้สังคมจะเปลี่ยนไป แต่ก็ยังมีคนรุ่นเก่าที่เข้าไม่ถึง และไม่คุ้นชินกับวิธีการเหล่านี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์ไม่ว่ารุ่นไหน ก็จำเป็นที่จะปรับตัวกับเทคโนโลยี แต่ในยุคการเปลี่ยนแปลงนี้ การหาจุดร่วมที่มนุษย์ และ AI จะอยู่ร่วมกันได้ โดยทิ้งคนข้างหลังให้น้อยที่สุด ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมเกาหลีพยายามหาคำตอบเช่นกัน
เกาหลีใต้ ประเทศที่สร้างระบบนิเวศเพื่อ ‘สตาร์ทอัพ’
ซัมซุง แอลจี ฮุนได เรารู้จักธุรกิจขนาดใหญ่มากมายของเกาหลี ซึ่งไม่เพียงแค่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่เติบโต แต่วงการสตาร์ทอัพ และธุรกิจขนาดเล็กเอง ก็กำลังมาแรง จนเกาหลีใต้กลายเป็นศูนย์กลางของสตาร์ทอัพแห่งเอเชียตะวันออก และประเทศที่มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อสตาร์ทอัพมากที่สุดแห่งนึงของโลก
เช่นเดียวกับ AI ระบบนิเวศที่ดีสำหรับสตาร์ทอัพเองก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีพยายามหาวิธีใหม่ๆ ในการสร้างงานในระบบเศรษฐกิจ โดยตระหนักว่าการเป็นผู้ประกอบการคือกุญแจสำคัญในการสร้างงาน และทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง ซึ่งในปี 2019 เกาหลีมีสตาร์ทอัพอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าแห่ง ที่มีพนักงานมากกว่า 1 แสนคน ซึ่งเมื่อเทียบกับ 20 ปี ก่อนที่เกาหลีมีสตาร์ทอัพต่ำกว่า 2 พันแห่ง
นอกจากนี้ ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังมียูนิคอร์น (ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากว่าพันล้านดอลล่าร์) มากถึง 12 แห่ง และยังมีซูนนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่กำลังจะเป็นยูนิคอร์นในอนาคต) อีก 14 แห่งด้วย ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ต่างก็สอดคล้องไปกับจุดขายของเกาหลี ทั้งด้านธุรกิจความสวยงาม แฟชั่น อาหาร ไปถึง K-POP ทั้งตามดัชนีนวัตกรรมของ Bloomberg ในปี 2020 ยังชี้ว่า เกาหลีใต้เป็นอันดับ 2 ในการได้รับการลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนา และอันดับ 3 สำหรับการผลิตด้วย
การเติบโตของสตาร์ทอัพนี้ ไม่ใช่เพราะเอกชนที่เข้มแข็งอย่างเดียว แต่มาจากแรงผลักดัน และสนับสนุนอย่างหนักจากรัฐบาลด้วย ซึ่งประเทศนี้ ให้ความสำคัญกับวงการสตาร์ทอัพมากขึ้น ถึงขนาดที่ในปี 2017 มีการตั้งกระทรวง SMEs และ Startups ขึ้นมา ซึ่งเดิมเป็นหน่วยงานบริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน โดยกระทรวงนี้ ตั้งขึ้นเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนนวัตกรรมของ SMEs และธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะ
จากข้อมูลของ Forbes ยังชี้ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เป็นรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพต่อหัวมากที่สุดในโลก รวมถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการมองไปยังอนาคต ด้วยการตั้งเป้าหมายจะมียูนิคอร์นถึง 20 แห่งในปี 2022 และไม่ใช่ในระดับประเทศเท่านั้น ในระดับเมืองเอง ปาร์ก วอนซูน อดีตนายกเทศมนตรีของกรุงโซล ก็ตั้งเป้าให้โซลได้เป็น 1 ใน 5 เมืองสำหรับสตาร์ทอัพโลกด้วย และวางแผนที่จะใช้เงินร่วมทุน 12 ล้านล้านวอน (9.9 พันล้านดอลลาร์) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสตาร์ทอัพ
และขณะที่ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศติดลบ และได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ด้านของเกาหลีใต้เอง สตาร์ทอัพกลับยังคงโดดเด่นท้าทาย และเสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนในประเทศได้ รวมถึงรัฐบาลเองก็ยังสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างหนักในช่วงวิกฤตนี้ ด้วยการจัดสรรเงินสำหรับพนักงาน และสนับสนุนเครื่องมือสำหรับการทำงานระยะไกลด้วย
เมื่อดูสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีแล้ว การออกอากาศของซีรีส์เรื่องนี้ในช่วงเวลานี้ จึงเรียกได้ว่าไม่ใช่ความบังเอิญ หรือการเขียนบทขึ้นมาจากจินตนาการอย่างลอยๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการใช้สื่อบันเทิง ควบคู่ไปกับการโปรโมทสตาร์ทอัพของประเทศ และการให้ความเข้าใจถึงวงการสตาร์ทอัพ ซึ่งตลอด 16 ตอนนี้ เราต่างได้เรียนรู้ทั้งคำศัพท์ รูปแบบ และโมเดลธุรกิจต่างๆ ไปไม่มากก็น้อย รวมไปถึงคีย์แมสเซจควบคู่ ที่สื่อกับคนรุ่นใหม่ให้ลองทำตามความฝันอีก
เรียกได้ว่า แม้ตอนจบของคู่พระ-นางอาจขัดใจหลายคน (โดยเฉพาะทีมพระรอง) แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็แสดงให้เราเห็นถึงความก้าวหน้าอีกสเต็ปของเกาหลีใต้ ทั้งในการใช้สื่อบันเทิง ในด้านวงการสตาร์ทอัพที่ไปไกลระดับโลก และในการสนับสนุนของภาครัฐที่มองเห็นความสำคัญ และการวางแผนประเทศไปสู่อนาคต
อ้างอิงจาก
seoulz.com