ร้านอาหารกลับมาเปิดให้นั่งกินที่ร้านได้แล้ว พร้อมกับมาตรการที่แต่ละร้านต่างพยายามป้องกันโรคขั้นสุด แต่ในฐานะผู้บริโภค ก่อนจะเลือกนั่งกินที่ร้าน เราต้องพิจารณาอะไรบ้างนะ
นับตั้งแต่ที่มีประกาศห้ามนั่งกินที่ร้านอาหาร ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน มาจนถึงวันนี้ (1 กันยายน) ที่ร้านอาหารกลับมาเปิดให้นั่งกินที่ร้านได้อีกครั้ง ก็เป็นเวลา 2 เดือน ถือเป็นโอกาสที่จะให้ธุรกิจร้านอาหารได้กลับมาหายใจยืดชีวิตต่อกันอีกสักนิด แน่นอนว่า หลายร้านคงพยายามป้องกันการติดเชื้อกันดีอยู่แล้ว ทั้งเว้นระยะห่าง มีเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ และอื่นๆ อีกมาก
แต่พูดกันตามตรงว่า สถานการณ์ของ COVID-19 ในปัจจุบัน คือเชื้อสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดเป็นหลัก แถมองค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็ยืนยันแล้วว่า โรค COVID-19 สามารถแพร่ระบาดทางอากาศได้ ทำให้น่ากังวลว่า การกลับมานั่งกินที่ร้านครั้งนี้จะต้องระแวดระวังอะไรกันบ้าง
ตราบใดที่ประเทศไทยยังคุมโรค COVID-19 ไม่ได้ และวัคซีนดีๆ ที่ใช้ป้องกันโรคยังมาไม่ถึง ก็ไม่มีที่ไหนปลอดภัย 100% แน่ๆ ดังนั้น เราเลยอยากชวนทุกคนมาดูว่า ในฐานะผู้บริโภค ก่อนจะเลือกนั่งกินที่ร้าน มีปัจจัยอะไรบ้างที่เราควรพิจารณากันก่อนบ้าง
ซัสเกีย โปเปสโก (Saskia Popescu) นักระบาดวิทยาจาก George Mason University สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ Washington Post ว่า เงื่อนไขที่เราควรพิจารณาก่อนตัดสินใจนั่งกินอาหารที่ร้านมีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกัน ซึ่งเราพิจารณาแล้วว่า สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ในไทยได้ ดังนี้
- สถานะการฉีดวัคซีนของตัวเอง
อันดับแรกคือดูว่า เราได้ฉีดวัคซีนไปหรือยัง ฉีดไปแล้วกี่เข็ม แล้ววัคซีนที่เราฉีดเป็นวัคซีนยี่ห้อไหน มีประสิทธิภาพในการต้าน COVID-19 มากน้อยแค่ไหน หรือถ้าได้ผสมยี่ห้อ ก็ต้องดูว่า ยี่ห้อที่เราได้นั้นเป็นอะไรบ้าง เพื่อนำมาพิจารณาความเสี่ยงในการนั่งกินอาหารที่ร้าน
- ระดับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในบริเวณที่เราอยู่
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศก็ยังอยู่ที่หลักหมื่นรายต่อวัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่กว่า 5,000 รายต่อวัน (ไม่รวมในเรือนจำ) และอย่างที่เรารู้กันดีว่า สายพันธุ์เดลตา เป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในไทยแล้ว ซึ่งสายพันธุ์นี้สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 50% และเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟาที่เราเคยเผชิญไปเมื่อช่วงต้นปีถึง 60% นี่จึงเป็นความเสี่ยงที่เราต้องนำมาพิจารณาในการจตัดสินใจนั่งกินที่ร้านด้วย
- ปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคล
ตัวอย่างของปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคล เช่น เราเป็นคนที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่ หรือเป็นโรคที่อยู่กลุ่มเสี่ยง หรือเราอาศัยอยู่กับคนที่มีโรคเสี่ยงหรือเปล่า รวมไปถึง เราอาศัยอยู่กับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วย
ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้มีคำตอบให้ตายตัวว่า ควรเป็นแบบไหน เราต้องพิจารณาความเสี่ยงด้วยตัวเองก่อนจะตัดสินนั่งกินอาหารที่ร้าน ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นเพียงปัจจัยที่ช่วยให้เราจัดระเบียบความคิดตัวเอง และชั่งน้ำหนักความเสี่ยงได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในสหรัฐฯ ยังวางแผนคาดการณ์สถานการณ์ที่ดีที่สุด และเลวร้ายที่สุด ที่อาจเกิดขึ้นหลังการเปิดให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้านด้วย โดยแบ่งเป็น ดังนี้
สถานการณ์แบบที่ดีที่สุด
- รับวัคซีนแล้ว [ต้องพิจารณาเรื่องชนิดของวัคซีนเพื่อดูว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไหม]
- ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ผู้ที่รับประทานอาหารด้วยฉีดวัคซีนแล้ว และไม่มีอาการป่วย
- รับประทานอาหารในร้านโล่งแจ้ง หรือในร้านที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อัดแน่น และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอัตราการแพร่เชื้อต่ำ
- สวมหน้ากากอนามัยเวลาที่ไม่ได้รับประทาน เช่น เวลาสั่งอาหาร เวลาเดินเข้า-ออกจากร้าน
สถานการณ์แบบที่แย่ที่สุด
- อยู่ในชุมชนที่มีการแพร่เชื้อโคโรนาไวรัสในระดับสูงหรือมาก
- พื้นที่ที่อยู่มีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วในอัตราต่ำ
- ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับประทานอาหารกับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
- รับประทานอาหารให้ที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท แออัด ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย และมีคนอยู่ในร้านเยอะ
- กรณีที่ไม่รู้สถานะการฉีดวัคซีนของคนอื่นๆ ในร้าน
- กรณีที่อาศัยอยู่กับคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุ หรือคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
ขณะเดียวกัน ข้อกำหนดในการเปิดร้านอาหารในตอนนี้ ก็ยังไม่ได้กลับไปเป็นแบบปกติ 100% โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าร้านอาหารนั้นอยู่ในที่โล่งแจ้ง สามารถเปิดให้นั่งทานในร้านได้ 75% แต่ถ้าร้านอาหารนั้นอยู่ในห้องแอร์ สามารถเปิดให้นั่งทานในร้านได้ 50% โดยทุกร้านจะเปิดได้ไม่เกินเวลา 20.00 น. นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดเกณฑ์ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และงดการจำหน่ายและดื่มสุราในร้านด้วย
ขณะที่ ในช่วงที่ผ่านมา บางคนสงสัยว่า คนที่เข้าไปนั่งกินในร้านและพนักงานร้าน จะต้องฉีดวัคซีนแล้วรึยังนะ แล้วพนักงานร้านอาหารต้องตรวจ ATK ด้วยหรือเปล่า ซึ่งราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกความใน ม.9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องของการให้พนักงานฉีดวัคซีน ตรวจ ATK รวมถึงการฉีดวัคซีนของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม เรื่องของการนั่งกินอาหารที่ร้าน เป็นความเสี่ยงที่เราต้องพิจารณากันให้ดี เพราะชีวิตเราก็ยังต้องเดินต่อ และในช่วงที่เปิดให้นั่งกินอาหารที่ร้านไม่ได้ เหล่าผู้บริโภคเองก็ลำบากไม่น้อย หลายคนต้องออกไปทำธุระทั้งวัน แต่ไม่มีที่นั่งกินข้าวเลย
ฉิน ฮง (Chin-Hong) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจาก UCSF (University of California, San Francisco) ให้ความเห็นที่สรุปใจความได้อย่างน่าสนใจว่า ควรพยายามเลือกร้านอาหารที่อากาศถ่ายเทสะดวก คนไม่แน่นร้าน มีมาตรการป้องกันโรคที่ดี และเสริมด้วยว่า
“การฉีดวัคซีนก็เหมือนร่ม เมื่อฝนตก มันช่วยป้องกันให้คุณได้ แต่ถ้าเกิดมีพายุฝนฟ้าคะนอง คุณก็คงหลบเลี่ยงได้ยาก”
อ้างอิงจาก