หลังจากการตรวจสอบนานราว 4 เดือน ทาง ป.ป.ช. ก็ได้ข้อสรุปแล้วว่า นาฬิกาทั้งหลายที่เห็นบนข้อมือของพลเอกประวิตรนั้น มีทั้งสิ้น 22 เรือน (คือ เห็นพี่เขาว่า 25 เรือน ซ้ำกัน 3 เรือน) และล้วนแล้วแต่เป็นของที่ ‘ยืม’ จากเพื่อนที่ตายแล้วทั้งสิ้น เนื่องจากมันเป็นเพียงการ ‘ยืม’ ผมก็จะทำเป็น ‘ลืม’ ที่จะถามถึงสิทธิการครอบครองที่ควรจะตกไปอยู่ในข้อมือของทายาทมากกว่าข้อมือพลเอกประวิตรไปก็แล้วกันนะครับ
เพราะท่านแค่ยืม ไม่ได้จะเอามาเป็นเจ้าของ แต่ทายาทที่ควรมีสิทธิอันชอบธรรมนั้นเขารู้เรื่องไหมว่าท่านยืม ผมก็ไม่ทราบได้ เพราะข่าวก็ดังเหลือเกิน ก็ไม่เห็นทายาทออกมาแสดงการรับรู้อะไร
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากเราจะพอสรุปได้คร่าวๆ ว่า ‘เพื่อน’ ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใครนี้ (ล่าสุดมีข่าวออกมาแล้วว่าเจ้าของนาฬิกาคือ ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนมหาเศรษฐีผู้ชอบสะสมนาฬิกาที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนเซนต์คาเบรียล และเสียชีวิตไปตั้งแต่ต้นปี 2560) ดูท่าทางแล้วคงจะเป็นคนใจดีเหลือเกินและรักพลเอกประวิตรอย่างยากจะพร่ำพรรณา นาฬิกาเจ้ากรรมเหล่านี้ก็แลดูจะเป็นวัตถุอาถรรพ์ต้องสาปเสียเหลือเกิน ที่ไปอยู่ในข้อมือใครก่อนหน้านี้อย่างคุณ ‘เพื่อน’ ที่ว่า เขาก็ตาย และแม้พวกมันจะมีมูลค่ามากมายหลายล้านบาททายาทก็ดูจะไม่แสดงตัวราวกับกลัวในอาถรรพ์ที่จะนำมาซึ่งความตายของมัน บางทีปล่อยให้ไปอยู่บนข้อมือของผู้มีบุญาธิการ ผู้ซึ่งคู่ควรอย่างพลเอกประวิตรคงจะเหมาะสมกว่า ก็เลยเงียบๆ ไป
ด้วยฐานคิดเรื่อง ‘ของอาถรรพ์/เรื่องอาถรรพ์’ (Cursed object/myth) นี่เองครับที่ผมอยากจะมาอภิปรายให้เข้าใจกันว่า ในกรณีที่พลเอกประวิตรไม่ได้โกงอะไรมาเลยจริงจริ๊งอย่างที่ท่านอ้าง การใส่นาฬิกาที่ใครใส่ก็ตายแล้วแต่ตัวพลเอกประวิตรเองไม่ตายสักทีออกโชว์เรื่อยๆ แม้ว่าสื่อต่างๆ จะนำเสนอกันอย่างต่อเนื่องมากมาย จนพาลทำให้คิดไปได้ว่าคนใส่นั้นช่างโง่เสียจริง เป็นข่าวสักนิดก็ควรจะเลิกใส่แล้วแต่นี่ก็ยังจะไร้ยางอายใส่ต่อไปอีกนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วพลเอกประวิตรท่านอาจจะไม่ได้โง่อย่างที่พาลคิดกันก็ได้ แต่ตรึกตรองอย่างล้ำลึกมาแล้วในการวางตัวเองในฐานะตัวแสดงสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุอาถรรพ์และการปกครองครับ
แทบทุกสังคมมีสิ่งที่เรียกว่าวัตถุอาถรรพ์ หรือของต้องสาป รวมไปถึงตำนานเรื่องเล่าต่างๆ พวกนี้มากมายครับ นับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของอารยธรรมเลย วัตถุอาถรรพ์หรือต้องสาปต่างๆ นั้น มักผูกอยู่กับเรื่องเล่าขานของอำนาจลึกลับที่หนักไปทางดำมืด และมักจะมีต้นตอของพลังอำนาจที่เหนือธรรมชาติ หรือความเป็นไปอันเป็นมาตรฐานของสังคมนั้นๆ เช่น การบอกว่าเป็นบทลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้า หรือต้องมนตราของผีสางปีศาจ เป็นต้น[1]
ตัวอย่างที่โด่งดังของวัตถุอาถรรพ์หรือเรื่องเล่าของสิ่งต้องสาปที่โด่งดังก็เช่น The Hope Diamond หรือเพชรแห่งความหวัง ที่เชื่อกันว่าผุดขึ้นมาให้ยลโฉมกันบนผิวโลกตั้งแต่ 1.1 พันล้านปีก่อนนั้น ก็มีตำนานมากมาย ว่าใครก็ตามที่ครอบครองมันจะต้องพบกับโศกนาฏกรรมมากมาย ทั้งการหย่าร้าง ฆ่าตัวตาย ทรมาณ ฯลฯ จนเพชรขนาดกว่า 45 กะรัตนี้ก็ได้แต่นอนนิ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนในปัจจุบัน หรือหนึ่งในสถานที่ขึ้นชื่อเรื่องความต้องสาประดับท็อปของโลกอย่างสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมน ที่ไม่ว่าใครเข้าไปในสุสาน ตั้งแต่โจรยันนักโบราณคดี ต้องพบกับความซวยมหาศาล ตั้งแต่ป่วยไข้ยันความตาย เป็นต้น
ในแง่หนึ่งก็อาจจะพูดได้ว่าของต้องสาปเหล่านี้เป็นผลลัพธ์ของการรวมตัวของ ‘ความบังเอิญ’ (coincidence) ของความซวยที่เกิดซ้อนทับกันแบบซ้ำๆ จนการพยายามเข้าใจอย่างปกติวิสัยยากจะรับได้นั่นเอง
ว่ากันอีกอย่างก็คือ ของอาถรรพ์หรือต้องสาป ทำงานในฐานะ ‘ทางออกของสังคม’ เพื่ออธิบายสภาวะเลวร้ายที่เกินกว่าระดับความเข้าใจโดยเฉลี่ยของสังคมหรือชุมชนนั้นจะประมวลคำตอบอันเป็นเหตุเป็นผลได้ หรือกระแดะพูดแบบซับซ้อนขึ้นอีกนิดก็คือ กระบวนการคิดแบบนี้ ทำลายฐานคิดที่เรียกว่า Hypothetical Imperative หรือวิธีคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน (If X, then Y) เพราะกรณีการใส่ ‘ความต้องสาป ความเปื้อนอาถรรพ์’ ให้กับอะไรใดๆ นั้น มันมาจากการที่เราเห็นแต่ผล โดยที่เราไม่เข้าใจหรืออธิบายเหตุของมันไม่ได้นั้นเอง (Y without X)
ในแง่นี้ของอาถรรพ์ต่างๆ จึงมีสถานะที่ค่อนข้างจะลอยคว้างอยู่เหนือเกณฑ์ของเหตุและผลใดๆ เป็นการมีอยู่ที่ดำรงตนแทบจะโดดๆ ด้วยตัวมันเอง พูดอีกอย่างก็คือ ‘ความต้องสาป’ ได้ทำให้สิ่งที่มันไปผูกติดด้วยดูจะมีสถานะแบบ All-in-one คือ เป็นทั้งเหตุและผลอย่างจบกระบวนความในตัวมันเอง
สถานะพิเศษของของอาถรรพ์ต่างๆ นี้เอง ที่ทำให้มนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆ ที่เวียนว่ายอยู่ในตรรกะอันธรรมดาสามัญ ไม่ควรค่าหรือไร้ซึ่งศักยภาพในการจะครอบครองมันไว้กับตัวได้ เพราะฉะนั้นการที่สังคมหนึ่งๆ ผูกติดสภาวะความอาถรรพ์หรือความต้องสาปให้กับของใดๆ มันจึงเป็นการเพิ่มบทบาทพิเศษอีกอย่างหนึ่งให้กับของเหล่านั้นด้วย นั่นคือบทบาทในการ ‘รอ’ และระหว่างนั้นก็ยอมตามมัน หาทางประณีประณอมกับมันไม่ว่าจะไร้ซึ่งเหตุผลปานใดก็ตาม อย่างเช่น การสังเวยชีวิตเด็ก เพื่อบูชายัญให้ตามความเชื่อของคำสาปบางพวกอย่างคำสาปอับราฮัม เป็นต้น[2]
ตำนานของสิ่งต้องสาปของอาถรรพ์นำมาซึ่งการรอคอย ‘ผู้ซึ่งคู่ควร’ ในการมาครอบครองมัน กำราบมัน หรือไม่ก็กำจัดมันทั้งสิ้น เพราะตัวตนของสิ่งต้องสาปมันมีสถานะอันพิเศษที่มักจะ ‘รบกวนสภาวะอันเป็นปกติ’ ของสังคมนั้นๆ ที่คนธรรมดาสามัญอย่างเราสุดจะมีปัญญาไปต่อกรด้วยได้ ผู้ซึ่งถึงพร้อมด้วยบารมีหรือคุณสมบัติเท่านั้นจึงจะทำอะไรกับมันได้ และนั่นก็จะส่งผลให้ผู้ซึ่งถึงพร้อมด้วยความเหมาะสมนี้เอง กลายเป็นตัวตนเฉพาะที่หนึ่งเดียวที่ทรงคุณค่าในสังคมนั้นๆ ไป
สิ่งต้องสาปในกลไกการปกครอง จึงทำหน้าที่เป็น ‘ผู้คัดเลือกผู้ที่พร้อมด้วยบุญญาธิการ’ เหนือกว่าเหล่าคนสามัญเท่าไปนั่นเองครับ ในแง่นี้นาฬิกาบนข้อมือของพลเอกประวิทย์ก็ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน ภายใต้มันสมองอันชาญฉลาดระดับนัมเบอร์ทูของรัฐบาลไทยแล้ว เราจะเห็นได้ว่าท่านไม่ได้โง่นะครับ แต่ท่านกำลังพยายามแสดงให้เราเห็นกันต่างหากว่าตัวท่านนั้นเหมาะสมที่จะเป็นผู้ปกครองจริงๆ และพวกเรานั้นเหมาะสมแล้วที่จะเป็นลูกแกะไร้กำลังให้พี่ท่านนำทาง
สรุปว่า ไม่ใช่ว่าบิ๊กป้อมท่านโง่หรือหน้าด้านหรอกครับ พวกเรานี่แหละที่คิดไม่ทัน ไม่ซับซ้อนเท่าตัวท่านเอง ท่านอุตส่าห์วางตัวเองเป็นตัวเอกในกลไกการทำงานของสิ่งต้องสาปนี้ตั้ง 20 กว่ารอบ ว่าใส่ยังไงก็มีแต่ท่านที่รอดพ้นจากความตาย เราเองนี่แหละที่ดั๊นไม่เข้าใจ
สถานะของการเป็นผู้เหมาะสมหรือผู้ซึ่งเหนือกว่านี้เองครับที่นอกจากให้อำนาจในการคัดเลือกผู้เหมาะสมในการปกครองแล้ว ยังให้อำนาจที่ล้นพ้นเกินกว่ามาตรฐานหรือเหตุผลปกติด้วย เพราะความต้องสาปความอาถรรพ์มันลอยอยู่เหนือเหตุผลโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ที่ผมว่ามานี่ไม่ได้มโนอะไรไปเองนะครับ ในงานของ Stephen R. Haynes (2002) ที่ชื่อ Noah’s Curse[3] ที่อธิบายถึงการใช้อาถรรพ์ของโนอาห์และข้ออ้างข้อยกเว้นหรือคำทำนายทางศาสนาต่างๆ ตามพระคำภีร์ไบเบิล ในการมาใช้เป็นเครื่องให้ความชอบธรรมกับการค้าทาสของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็มาจากสภาวะยกเว้นต่างๆ ที่ผมว่าไปนี่แหละครับ
ประวัติศาสตร์การใช้คำอ้าง ตำนานของความต้องสาปและอาถรรพ์ต่างๆ ในการสร้างข้อยกเว้น รวมถึงเอื้อให้เกิดการปกครองโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหนือกลุ่มอื่นๆ มันจึงมีให้เห็นมาตั้งแต่พันๆ ปีที่แล้ว และไม่ได้มีเพียงแต่ศาสนาคริสต์ แต่ยังรวมถึงอิสลาม จูดาย และอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะการสร้างข้อห้ามที่ไม่ต้องการเหตุผลรับรองในสังคมนั้นๆ การสร้างผู้ทรงบารมีสูงสุดในการปกครอง การลดทอนหรือเหยียดชนชาติอื่นๆ และแน่นอนรวมไปถึงการค้าทาสที่ว่าไปด้วย
ซึ่งข้ออ้างของการใช้อาถรรพ์ ตำนานต้องสาปต่างๆ เริ่มก่อนการค้าทาสในอเมริกามานานเลย ตั้งแต่การค้าทาสในยุคโบราณก็มีการใช้แล้วครับ ด้วยความเหนือกว่าทางชนชาติที่พระเจ้าเลือก ด้วยความเหมาะสมมากกว่า หรือการมองว่าชนชาติอื่นเป็นสายเลือดต้องสาปที่ชนชาติตนเป็นผู้เดียวซึ่งเหมาะสมหรือมีความชอบธรรมในการเข้าไปกำราบและมีอำนาจควบคุม เป็นต้น[4]
โดยสรุปแล้วกลไกการทำงานของของต้องสาปก็คือ (1) ถมช่องว่างความไม่เข้าใจในสังคม (2) รบกวนสภาวะอันเป็นปกติของสังคมนั้นๆ (3) คัดเลือกผู้ปกครองหรือผู้มีบุญญาธิการ (จากการสามารถครอบครอง, ใช้งาน หรือกำจัดมันได้)
มองในแง่นี้แล้ว การใส่นาฬิกาต้องสาปของบิ๊กป้อมนั้นอาจจะเป็นการพยายามส่งสัญญานจากบิ๊กป้อมภายใต้พล็อตอันชาญฉลาดของแกที่จะบอกให้สังคมไทยเรารู้ว่า เราควรจะอยู่เงียบๆ และยอมหุบปากเชื่อฟังผู้ถึงพร้อมด้วยบุญญาธิการอย่างแกได้แล้ว
แต่ผิดที่เราๆ กันเอง ที่คิดไม่ทันพล็อตเหนือโลกนี้ของแก เลยดันไปขุดไปด่าแกแบบผิดๆ ซะงั้น พล็อตแกเลยพลิก แทนที่จะได้เป็นฮีโร่ผู้สามารถกำราบของต้องสาป และเป็นผู้ปกครองอันคู่ควร เลยต้องตกเป็นจำเลยสังคม เพราะสมองเราคิดไม่ทันนี่เอง
แหม ขอโทษท่านด้วยจริงๆ นะครับ ที่พวกกระผมโง่ไป และขอบคุณทาง ป.ป.ช. ด้วยที่พยายามคืนความเป็นธรรมให้บิ๊กป้อม ด้วยการพยายามทำให้สถานะความต้องสาป ความอาถรรพ์มันเด็ดชัดขึ้น จนในที่สุดพวกผมก็ถึงบางอ้อได้สักที แต่บางทีการคิดใช้กลวิธีนี้แต่แรกอาจจะเป็นความผิดพลาดด้วย เพราะความเหนือธรรมชาติมันแลดูจะเป็น ‘ธรรมชาติอย่างหนึ่ง’ ของสังคมบ้านเราไปเสียแล้ว เพราะเราคือสังคมที่มีความไม่ปกติถือครองสถานะของความเป็นปกติอยู่แทบจะตลอดเวลา การทำงานของ ‘นาฬิกาอาถรรพ์’ ของบิ๊กป้อมมันเลยไม่ทำงาน เพราะมันดูจะก่อกวนความปกติของระบบไม่ได้ เพราะไม่มีความปกติใดๆ ให้ก่อกวนได้แต่แรกนั่นเอง 555
และหากบิ๊กป้อมท่านได้เผลอแวบเข้ามาอ่าน ก็โปรดเข้าใจด้วยว่านี่ผมเขียนชม เขียนเชียร์ท่านอยู่ ไม่ได้ประชดแม้แต่นิ้ดเดียวเลย (เสียงสูง)
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู Alexandra Chauran (2013). Have You Been Hexed?: Recognizing and Breaking Curses.
[2] โปรดดู Bruce Chilton (2008). Abraham’s Curse: Child Sacrifice in the Legacies of the West. London, UK: Doubleday.
[3] โปรดดู Stephen R. Haynes (2002). Noah’s Curse: The Biblical Justification of American Slavery. Oxford, UK: Oxford University Press.
[4] โปรดดู David M. Goldenberg (2003). The Curse of Ham: Race and Slavery in Early Judaism, Christianity, and Islam. Princeton: Princeton University Press.