เมื่อคนที่คุณรักกำลังเปลี่ยนแปลงไป คุณจะปล่อยให้เขาเดินตามทางของตัวเอง หรือถนอมเขาเอาไว้ในพื้นที่ปลอดภัยเหมือนเดิม?
โจทย์นี้น่าจะเกิดขึ้นกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองหลายๆ ในวันที่เด็กเล็กๆ ที่เราอุ้มชูดูแลกันมาตั้งแต่พวกเขายังตัวน้อยๆ กำลังเติบใหญ่ขึ้นและเริ่มที่จะออกไปสู่โลกภายนอกมากขึ้น—โลกที่อาจจะอยู่นอกเหนือสายตาและความสบายใจของพ่อแม่
แม้เราจะเข้าใจดีถึงความสำคัญของประสบการณ์ แต่เรื่องแบบนี้ถ้ามองในมุมของผู้ใหญ่เอง มันคงยากที่จะดีลได้ในตอนแรกๆ เหมือนกันนะ เมื่อต้องตัดสินใจปล่อยให้คนที่เรารักได้ลองล้ม ลองเจ็บปวดและมีบาดแผล
เรื่องราวทำนองนี้ก็เกิดขึ้นกับตัวละครในซีรีส์ Stranger Things ด้วยเหมือนกัน แถมยังฉายภาพให้เราเห็นได้ชัดขึ้นมาในเรื่องราวซีซั่นที่ 3 ซึ่งเพิ่งฉายลงใน Netflix
(หลังจากนี้มีสปอยล์เนื้อหานะ)
(หลังจากนี้มีสปอยล์เนื้อหานะ)
(หลังจากนี้มีสปอยล์เนื้อหานะ)
แม้ซีรีส์ Stranger Things จะมีเส้นเรื่องหลักเป็นเรื่องราวของกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ต้องรวมพลังกันต่อสู้กับเหล่าสัตว์ประหลาด อสูรกาย หากแต่เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ กับผู้ใหญ่ในเรื่องก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง ฮอปเปอร์ กับแอล (Eleven) ที่จริงอยู่ว่าไม่ได้เป็นพ่อลูกกันโดยกำเนิด แต่เป็นพ่อลูกกันผ่านการเลี้ยงดูมากกว่า (เหมือนคำพูดที่ฝรั่งชอบใช้ว่า Not nature but nurture)
ในซีซั่นนี้เราเห็นการเติบโตของแอลขึ้นจากเด็กเล็กๆ ไปสู่ชีวิตวัยรุ่นอย่างชัดเจนตั้งแต่ Episode แรก ซีรีส์พาเราไปเห็นภาพความสัมพันธ์ที่แอลกับไมค์ ตกลงคบกันเป็น ‘แฟน’ อย่างเป็นทางการและก็ตัวติดกันแบบสุดๆ แต่ถึงอย่างนั้นหลายๆ โมเมนต์ก็ต้องอยู่ภายใต้สายตาผ่านช่องว่าง 3 นิ้วที่ประตูของฮอปเปอร์ด้วยเหมือนกัน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ฮอปเปอร์เองก็ไม่ได้เอนจอยหรือสบายใจมากนัก กับการที่ทั้งสองคนตัวติดกันมากจนเกินไป เราได้เห็นความกระอักกระอ่วนที่ฮอปเปอร์มีอยู่หลายๆ ครั้งในช่วงแรกของซีซั่น
ฮอปเปอร์หยิบความรู้สึกอึดอัดไปบอกเล่าให้กับจอยซ์ฟัง
จอยซ์แนะนำให้ฮอปเปอร์หาวิธีพูดกับเด็กทั้งคู่ โดยให้ร่างเป็นจดหมายเพื่อฝึกซ้อมกับตัวเองก่อน (ซึ่งสุดท้ายแล้ว ฮอปเปอร์ก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้กับทั้งแอลและไมค์)
ใน Episode สุดท้าย เราได้เห็นว่าฮอปเปอร์ได้เขียนอะไรลงไปในกระดาษบ้าง ซึ่งก็ดูเหมือนเขาจะไม่ค่อยอยากจะพูดตามนั้นสักเท่าไหร่ ก่อนจะนั่งลงบนโต๊ะแล้วเขียนข้อความขึ้นมาใหม่แทน
คำพูดที่ฮอปเปอร์ตั้งใจอยากจะบอกแอลและไมค์ คือ
“ความจริงก็คือ นานมาแล้วฉันลืมไปแล้วว่ามันคืออะไร ฉันติดอยู่ ณ จุดๆ หนึ่ง จะเรียกว่าถ้ำก็ได้ ถ้ำลึกและมืดมิด แล้วฉันก็ทิ้งเอกโก้ไว้ในป่า แล้วเธอก็เข้ามาในชีวิตของฉัน และเป็นครั้งแรกในเวลานานแสนนาน ฉันเริ่มรู้สึกอะไรบางอย่างอีกครั้ง ฉันมีความสุขอีกครั้ง
“แต่หลังๆ ฉันเริ่มรู้สึกห่างเหินจากเธอ เหมือนกับเหมือนเธอถูกดึงไปจากฉัน หรืออะไรสักอย่าง ฉันคิดถึงการเล่นบอร์ดเกมทุกคืน ทำเอกโก้สามชั้นตอนพระอาทิตย์ขึ้น ดูหนังคาวบอยด้วยกัน ก่อนเราจะหลับไป แต่ฉันรู้ว่าเธอกำลังโตขึ้น เติบโตขึ้น เปลี่ยนไป และฉันเดาว่า ถ้าฉันพูดอย่างจริงใจ นั่นคือสิ่งที่ทำให้ฉันกลัว ฉันไม่อยากให้อะไรเปลี่ยน บางทีนั่นคือเหตุผลที่ฉันเข้ามาที่นี่ เพื่อพยายามที่จะหยุดการเปลี่ยนแปลงนั้น เพื่อย้อนเวลากลับไป เพื่อให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม แต่ฉันรู้ว่ามันไร้เดียงสาเกินไป
“ชีวิตเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ชีวิตเปลี่ยนไปเสมอ เปลี่ยนแปลงตลอดไม่ว่าเธอจะชอบหรือไม่ ใช่บางครั้งมันก็เจ็บปวด บางครั้งก็เศร้า และบางครั้งมันก็น่าประหลาดใจ มีความสุข
“รู้อะไรไหม โตต่อไปอย่าหยุดนะยัยหนู อย่าให้ฉันหยุดเธอ ลองทำอะไรผิดพลาด เรียนรู้จากมัน แล้วเมื่อเจ็บปวดจากชีวิตเพราะมันจะเป็นแบบนั้น จำความเจ็บปวดเอาไว้ ความเจ็บปวดเป็นเรื่องดี นั่นหมายความว่าเธอออกจากถ้ำนั้นแล้ว แต่ขอเลยนะ ถ้าเธอไม่ว่าอะไร เห็นแก่พ่อแก่ๆ คนนี้หน่อย แง้มประตูเอาไว้สามนิ้ว”
ความรู้สึกที่ฮอปเปอร์อธิบายออกมาตรงๆ ผ่านข้อความในกระดาษ คือจริงใจที่สุดแล้วที่เราได้ยินจากผู้ชายร่างใหญ่คนนี้ มันคือ ‘ความกลัว’ ที่ลูกสาวของเขากำลังจะเปลี่ยนแปลงไป และถ้ามองกันในโลกของความจริง เราก็มักจะได้ยิน ‘ความกลัว’ ทำนองนี้จากปากของผู้ปกครองหลายๆ คนด้วยแทบไม่ต่างกัน
เมื่อความกลัวเกิดขึ้น พ่อแม่หลายคนในอดีต มักเลือกที่จะขีดเส้นหรือขอบเขตเอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อเฝ้าดูไม่ให้ลูกๆ ของพวกเขาต้องออกไปเจอกับอันตรายหรือได้บาดแผลอะไรสักอย่างกลับไป (แบบเดียวกับที่ฮอปเปอร์เคยอยากให้แอลอยู่ในสายตาและการควบคุมตลอดเวลา)
ถึงอย่างนั้น พ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อยก็เลือกวิธีที่ต่างออกไป พูดให้ชัดคือ หลายครอบครัวเลือกที่จะควบคุมให้น้อยลง เมื่อรู้ว่าลูกกำลังเติบโตขึ้นและเริ่มเข้าสู่วัยที่ต้องการเข้าใจโลกใบนี้มากขึ้นกว่าเดิม
The MATTER เคยคุยกับหมอมินบานเย็น หรือ พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ครั้งนั้นหมอมินเคยอธิบายถึงภาวะที่คล้ายๆ กันนี้ไว้ว่าเกี่ยวกับการเติบโตของเด็ก และวิธีการปล่อยให้เด็กๆ ได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง
“ถ้าลูกยังเป็นเด็กเล็กอยู่ ยังควบคุมตัวเองไม่ได้ และไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในหลายเรื่อง เราควรดูแลเขาอย่างใกล้ชิด แต่พ่อแม่ต้องฝึกลูกตั้งแต่เล็กๆ เพื่อที่พอพอเขาโตขึ้น เริ่มเป็นวัยรุ่น เริ่มดูแลตัวเองได้ เขาจะมีความคิด วิจารณญาณ และวุฒิภาวะ พ่อแม่ก็จะสามารถไว้วางใจให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง และเมื่อจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พ่อแม่ก็ต้องปล่อยในเรื่องที่เขาพอจะตัดสินใจ ให้เขาเรียนรู้เองได้ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้จะทิ้งเขาไป คอยดูอยู่ คอยพูดคุยว่าเขาเป็นยังไง ให้เขารู้สึกว่าไม่ว่ายังไงเขาก็ยังมีพ่อแม่เป็นที่พึ่งเสมอ”
จริงอยู่ที่ความตั้งใจให้ลูกๆ โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรงจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่พ่อแม่คาดหวังเอาไว้ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘กระบวนการ’ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวด้วย
“แต่บางครั้ง กระบวนการที่จะทำให้ลูกมีความสุข แต่ละคนจะมีแนวคิดไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่าเราให้ความเข้าใจเขา ให้เขาเติบโตอย่างที่อยากจะเป็น อยากจะทำ อันนี้เป็นความสุขของลูก
“ในขณะที่บางคนก็รู้สึกว่า ไม่ได้นะ ถ้าจะให้ลูกมีความสุข ลูกจะต้องสอบได้คะแนนดีๆ ต้องสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เรียนคณะนี้คณะนั้น ทำงานดีๆ ลูกถึงจะมีความสุข กระบวนการขั้นตอนของคุณพ่อคุณแม่อาจจะต่างกันนิดนึง แต่จริงๆ ทุกคนก็รักลูก และอยากให้ลูกมาความสุข”
ตัดภาพกลับมาที่ฮอปเปอร์ในซีรีส์ ความตั้งใจที่เขาทิ้งไว้ในกระดาษ คือการขอให้แอลและไมค์กล้าที่จะลองผิดลองถูก พร้อมจะออกไปเผชิญกับความเจ็บปวดในโลกภายนอก จริงอยู่ที่เขาจะหวาดกลัวผลของการเรียนรู้นั้นที่อาจทำให้แอล ‘เปลี่ยนไปจากเดิม’ แต่เขาก็ยังเชื่อในการเรียรู้ของเด็กๆ
สิ่งสำคัญที่เราเรียนรู้ได้จากฮอปเปอร์ คือความเชื่อที่ว่า บางครั้งการปล่อยให้เด็กได้เข้าใจความเจ็บปวด รวมถึงบาดแผลที่เกิดขึ้น มันก็ทำให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งได้เช่นกัน
สิ่งที่เด็กๆ และวัยรุ่นทั้งในซีรีส์และยุคสมัยนี้ต้องการ มันคงไม่ใช่การต่อต้านหรือไม่เห็นความสำคัญของผู้ใหญ่ หากแต่พวกเขายังคงต้องการที่พึ่ง และกำลังใจสำหรับการเติบโต รวมทั้งคนที่จะคอยสนับสนุนเขา ผลักดันเขาจากด้านหลัง
มากกว่าคนที่จะควบคุมหรือชี้นำในทุกรายละเอียดของชีวิต
อ้างอิงจาก
https://www.gq.com/story/stranger-things-season-3-review
https://www.tvguide.com/news/stranger-things-3-hopper-letter-eleven/