1,212,692 ครั้ง คือตัวเลขการสั่งซื้อชีทสรุป และ 30,363 ฉบับ คือจำนวนชีทที่ถูกอัพโหลดบนเว็บไซต์บนเว็บไซต์ ‘more sheet’ สะท้อนความเติบโตของธุรกิจชีทสรุปในไทยได้เป็นอย่างดี
ถ้าดูตัวเลขทั้งสองผ่านๆ คงเป็นเรื่องน่ายินดีที่นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงชีทสรุปได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็เป็นภาพสะท้อนความจำเป็นและภาวะ ‘ของมันต้องมี’ ของชีทสรุปในระบบการศึกษาไทยเช่นกัน
ทำไมนักศึกษาไทยต้องซื้อชีทสรุปจำนวนมากขนาดนี้? พวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาอะไรจากการศึกษา?
เราชวนแกะห่อธุรกิจชีทสรุป มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีช่องทางไหนในการซื้อขายบ้าง และที่สำคัญ การเติบโตของธุรกิจเช่นนี้กำลังสะท้อนปัญหาระบบการศึกษาไทยอย่างไรบ้าง
คนขายชีท
ในปัจจุบันการซื้อขายธุรกิจชีทสรุปแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางหลักๆ
ช่องทางที่หนึ่ง ออฟไลน์ เช่นร้านถ่ายเอกสารในมหาวิทยาลัย พี่พร ผู้จัดการร้านถ่ายเอกสารโดมทอง ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ข้อมูลกับเราว่า ปกติทางร้านจะรับซื้อชีทสรุปในราคา 500 บาทขึ้นไป และเป็นการซื้อขาด กล่าวคือชีทสรุปดังกล่าวจะเป็นของร้านถ่ายเอกสารไม่ใช่ของผู้สรุปอีกต่อไป
แต่ร้านถ่ายเอกสารบางแห่งก็มีระบบต่างออกไป เช่น บริเวณหลัง ม.รามคำแหง ที่ใช้วิธีส่งพนักงานหรือตัวแทนของร้านเข้าไปนั่งเรียนในห้อง และเก็บประเด็นออกมาทำเป็นชีทสรุปวางขาย ซึ่งรูปแบบนี้ทางร้านจะได้กำไรเต็มๆ มากกว่าแบบของร้านโดมทอง
ช่องทางที่สอง ออนไลน์ ยกตัวอย่างเว็บไซต์ ‘more sheet’ ซึ่งข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์บอกเราว่า ทางร้านจะให้เจ้าของชีทเสนอราคาที่ต้องการมาก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 1 บาท/หน้า แต่อาจจะเพิ่มได้ตามคุณภาพของชีท โดยทางแพลตฟอร์มจะไม่ได้ซื้อขาด แต่จะอัพโหลดให้ลูกค้าซื้อบนเว็บไซต์ และแบ่งรายได้แบบ 60/40 ให้กับเจ้าของชีทและแพลตฟอร์ม โดยจะตัดรอบทุกวันสุดท้ายของเดือน และโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 7 วัน
นอกจากขายผ่าน ‘ตลาดกลางชีทสรุป’ ของ more sheet ยังมีบางรายที่ทำชีปสรุปแล้วขายผ่านแบรนด์ตัวเอง เช่น อู๋– นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร นักศึกษาปริญญาโท คณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยทำชีทสรุปขายสมัยเรียนปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ และเคยได้ค่าขนมระดับ 1,000 บาท/เดือนจากธุรกิจนี้
สำหรับช่วงไฮซีซันของชีทสรุป ทั้งอู๋และพี่พรให้ข้อมูลตรงกันว่าคือ ช่วง 1 เดือนใกล้สอบ และยิ่งขายดีมากขึ้นในช่วง 2 อาทิตย์ก่อนสอบ ที่สำคัญ ชีทสรุปไม่ใช่สินค้าที่หมดอายุง่าย บางชีทอาจมีอายุยืนมากกว่า 5 ปี ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลและหลักสูตรวิชา
คนซื้อชีท
ด้านบนเราเล่าถึงฝั่งเจ้าของธุรกิจไปแล้ว เรามาฟังเหตุผลจากฝั่งลูกค้าบ้างว่า ทำไมพวกเขาถึงเข้ามาเป็นลูกค้าในธุรกิจชีทสรุป?
จากการสัมภาษณ์นักศึกษา (กลุ่มลูกค้าหลักของชีทสรุป) พบว่า แต่ละคนซื้อชีทจากหลายช่องทาง อาทิ ร้านถ่ายเอกสารของคณะ (นิติศาสตร์ มธ.), ร้านขายชีทสรุปหลังมหาวิทยาลัย (นิติศาสตร์ ม.รามคำแหง) แต่ที่นิยมมากที่สุดคือการซื้อผ่านเว็บไซต์ more sheet
สำหรับเหตุผลในการซื้อชีทสรุปมีหลากหลาย เช่น เปิ้ล (นามสมมติ) นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เล่าว่า ซื้อเพราะเนื้อหาที่ต้องใช้สอบมีเยอะเกินไป
“เนื้อหาที่ต้องสอบมันเยอะเกินไป อ่านไม่หมด อ่านไม่ทัน ชีทสรุปจบครบในฉบับเดียว อ่านอันเดียวจบๆ”
เปิ้ลอธิบายต่อว่าบ่อยครั้งที่ตัวเธอมัก “หลุดโฟกัส” ระหว่างที่อาจารย์สอนอยู่หน้าห้อง แต่เธอก็ได้ชีทสรุปนี่แหละที่เข้ามา. “เป็นผู้ช่วยชีวิตเอาไว้หลายครั้ง”
ขณะที่ โม (นามสมมติ) นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ระบายถึงเรื่องนี้ในอีกมุมว่า ปริมาณการสอบ ก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน “สาเหตุที่ซื้อชีทสรุปเพราะวิชาที่ต้องสอบเยอะมาก และบางครั้งก็สอบแบบติดๆกัน ซึ่งชีทพวกนี้เข้ามาช่วยให้เราเข้าใจเลคเชอร์ของอาจารย์บางท่านมากขึ้น” โมกล่าว
หรือ โอ (นามสมมติ) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เล่าว่า นอกจากเนื้อหาเยอะแล้ว “อาจารย์สอนไม่เข้าใจ” ยังเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้โอซื้อชีทสรุป
ด้าน โย (นามสมมติ) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ โบว์ (นามสมมติ) นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ซื้อชีทสรุปเพราะอยากเข้าใจบทเรียนและเนื้อหาให้มากขึ้น
“บางวิชาเค้าถอดเทปมาให้ในชีทสรุปก็เอาไปเรียนได้เลย แล้วค่อยจดเลคเชอร์เพิ่มเติมอีกที” โยเสริมต่อว่าชีทสรุปยังเป็นคำภีร์สำหรับการเขียนตอบในข้อสอบด้วย “บางวิชาเช่นวิชากฎหมายมหาชน เอา (ชีทสรุป) มาลอกแพทเทิร์น, กฎหมายวิอาญาแพ่ง เอามาเปรียบเทียบเนื้อหา แล้วเอาทั้งหมดมาประยุกต์ตอบ” โยกล่าวกับเรา
“นอกจากชีวิตชิบหายอ่านเองไม่ทันแล้ว อยากรู้ว่าคนอื่นอ่านอะไรบ้าง เน้นจุดไหนบ้าง อาจารย์เน้นอะไร” โบว์อธิบายเหตุผลซื้อชีทสรุปในมุมของเธอต่อว่า “บางทีก็มีวิชาที่ไม่ชอบแต่ต้องลงเลยมาพึ่งชีทสรุปดีกว่า”
ถึงแม้แต่ละคนจะมีเหตุผลในการซื้อชีทสรุปแตกต่างกันไป แต่ถ้ามองลึกลงไป ดูเหมือนว่าเหตุผลที่ต้องมีชีทสรุปของทุกคนผูกอยู่กับ ปัญหาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
ชีทสรุป – ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย
“คำถามแรกคือ ชีทมันเกิดจากไหน? ทำไมถึงมีการทำชีทสรุปขึ้นมา” นอกจากอู๋จะเคยอยู่ในตลาดธุรกิจชีทสรุปแล้ว เขายังเป็นคนหนึ่งที่ออกมาวิพากษ์การเติบโตของธุรกิจนี้ผ่านเฟซบุ๊ก โดยเขาอธิบายว่าการเติบโตของธุรกิจชีทสรุปมาจากเหตุผล 4 ข้อที่สะท้อนถีงระบบการศึกษาไทย
ข้อแรก วิธีการสอน อู๋เริ่มอธิบายว่าเป็นปกติที่ลีลาการสอนของอาจารย์แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจย่อยเนื้อหายากให้เข้าใจได้ง่าย แต่บางคนมักติดการใช้ ‘คำศัพท์เฉพาะวงการ (Jargon)’ จนทำให้นักศึกษาไม่เข้าใจเนื้อหา
คำถามคือคำศัพท์เฉพาะวงการสำคัญแค่ไหน ถ้าคำพวกนั้นใช้เพื่อสอนอย่างเดียว มันคงไม่มีปัญหา แต่มันมีหลายกรณีที่คำศัพท์พวกนี้เป็นคีย์เวิร์ดที่ต้องใช้ในการสอบ โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์
ข้อสอง ขนาดเนื้อหาวิชา อู๋อธิบายปรากฎการณ์ด้วยคำอธิบายสั้นๆ ว่า “เรียนท้ายเทอม ลืมต้นเทอม”
“บางวิชามันมีขนาดเนื้อหาใหญ่มาก ประเด็นก็แตกกระจาย ยิ่งฝั่งนิติเยอะมาก ข้อเท็จจริง, คำอธิบาย, ตัวอย่างเคส, ความเห็น ชีทสรุปเกิดขึ้นเพื่อช่วยประมวลความรู้ว่าทั้งเทอมเราเรียนอะไรบ้าง” อู๋กล่าวต่อ “พอเนื้อหามันใหญ่มาก หลายครั้งอาจารย์บางคนก็สอนให้เข้าใจและเห็นภาพชัดขึ้นไม่ได้ ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมานะ ทำให้ต้องมีชีทสรุป”
ข้อสาม ชีทสรุปเพื่อคนขาดเรียน อู๋เล่าว่าชีวิตนักศึกษาปริญญาตรี เป็นปกติที่จะมีการขาดเรียนกันบ้าง ดังนั้น ชีทสรุปจึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยคนกลุ่มนี้ในช่วงสอบ “บางคนเรียนเอาความรู้ บางคนมีความฝัน บางคนก็เรียนเพื่อใบปริญญาจริงๆ เรารู้สึกว่าเป้าหมายแต่ละคนเป็นสิทธิเลือกของเขา” อู๋กล่าว
ข้อสี่ การสอบวัดผล อู๋มองว่าสังคมไทยติดกับวิธีการวัดผลด้วยคะแนนสอบ ทั้งการสอบช่วงเรียนจนถึงระดับข้าราชการหน่วยงานต่างๆ (ภาค ก.) เขายกตัวอย่างคณะนิติศาสตร์ว่าเป็นเนื้อดินอุดมสมบูรณ์ของชีทสรุป เพราะมีการตอบแบบสูตรสำเร็จตายตัว ไม่ต้องถกเถียงใส่ความเห็น บวกกับปัญหาขนาดเนื้อหาวิชาและการสอนของอาจารย์ ทำให้ชีทสรุปเกิดขึ้น
อย่างคณะนิติศาสตร์ ไม่แปลกที่จะมีชีทสรุป เพราะมันทำให้นักศึกษาเอาตัวรอดจากการสอบได้ และนักศึกษาจะได้ไม่ต้องมาลงเรียนใหม่หรือสอบแก้ ซึ่งมันจะเพิ่มภาระให้อ่านหนังสือเพิ่มอีก
อู๋ตั้งข้อสังเกตว่าในวิชาที่ข้อสอบออกแบบเปิดกว้าง ถกเถียงได้ มักจะไม่พบชีทสรุปให้เห็นมากนัก เช่น วิชาในคณะรัฐศาสตร์ หรือมานุษยวิยาที่อู๋เรียนอยู่ แต่ในทางกลับกัน วิชาเหล่านี้ก็มีความ “ตลกร้าย” เพราะมักไม่ได้รับความสำคัญมากนักในสังคมไทย เมื่อเทียบกับวิชาเช่นกฎหมาย ที่มีโอกาสก้าวหน้าถึงระดับผู้พิพากษาหรือทนายความที่ล้วนเป็นอาชีพที่ได้รับการนับหน้าถือตาในสังคม
“สุดท้าย ความตายตัวแน่นอนเป็นสิ่งที่วัดได้ง่ายในการศึกษาไทย แต่ระบบแบบนั้นจะทำให้คุณผลิตคนที่มีเหตุมีผลและนำเสนอความคิดได้มากพอหรือเปล่า ผมคิดว่าหลายครั้ง คำตอบมันก็อาจจะไม่ใช่”
ในมุมของอู๋ การเกิดขึ้นของชีทสรุปคือความพยายามเอาตัวรอดของนักศึกษา แต่ปรบมือข้างเดียวยอมไม่ดัง เขาเรียกร้องให้ปัญหานี้ถูกนำไปถกเถียงและพูดคุยกันอย่างเข้มข้มจริงจังในหมู่อาจารย์บ้าง เพื่อนำไปสู่การปรับหลักสูตรและการเรียนการสอนให้เหมาะกับนักศึกษาที่สุด
“เราอยากเห็นความเข้าใจ ความรับผิดรับชอบมากกว่านี้ เอาปัญหานี้มาคุยกันว่าจะแก้ปัญหาการเรียนการสอนอย่างไร เปลี่ยนหลักสูตรยังไงดี เพราะปัญหามันเห็นอยู่ทนโท่ อาจารย์ผ่านร้านชีททุกวัน เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงนิ่งเฉยและมองข้ามไป” อู๋ทิ้งท้าย
Graphic Designer: Krittaporn Tochan