ประเด็น ‘ประกันสังคม’ เป็นที่พูดถึงในสังคมแทบจะทุกวัน โดยหลักๆ คือเกิดข้อกังวลและข้อครหาว่า เงินกองทุนประกันสังคม ถูกนำไปลงทุนหรือบริหารโดยขาดความโปร่งใส มีเสียงวิจารณ์ว่าบางการลงทุนอาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตน
เช่นข้อสังเกตเกี่ยวกับ การจัดงบทำปฏิทิน การดูงานต่างประเทศ การซื้อรถราคาแพง การใช้งบไปการพัฒนาแอปพลิเคชั่น การใช้งบประมาณจำนวนมาก ส่งผลให้สำนักงานประกันสังคม ถูกเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลการลงทุน และผลตอบแทนอย่างโปร่งใสมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการขุดคุ้ยเรื่องเหล่านี้ขึ้น บรรยากาศของประชาชนที่แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ดูจะหมดศรัทธา การขาดความเชื่อมั่นในองค์กรดังกล่าว
คำถามที่ตามมาคงไม่พ้น สถานการณ์และปัญหาของเรื่องนี้เป็นอย่างไร รวมถึงทางออกที่จะช่วยให้ประชาชนรู้สึกไม่เสียประโยชน์กับเงินที่พวกเขาต้องจ่ายทุกๆ เดือน The MATTER จึงคุยกับ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม
ปัญหาหลักๆ ของระบบประกันสังคมตอนนี้คืออะไร
แยกออกเป็น 2 อย่าง ก็คือ ความท้าทาย และปัญหา สิ่งที่เราบอกว่าสังคมผู้สูงอายุก็ดี หรือว่าเงินขาเข้าจะไม่พอกับเงินขาออก ค่าใช้จ่ายบำนาญ ค่าใช้จ่ายด้านการเจ็บป่วยจะสูงมากขึ้น อันนั้นเราต้องเรียกว่าเป็นความท้าทาย
สำหรับเรื่องความท้าทาย ผมต้องบอกว่า กองทุนบำนาญ หรือว่ากองทุนสุขภาพทั่วโลก เผชิญเหมือนกันหมด ความท้าทายในเงื่อนไขตอนนี้ สังคมผู้สูงอายุก็ดี หรือว่าอัตราคนเข้าสู่วัยทำงานจะน้อยลงเป็นความท้าทายที่เจอกันทั่วโลก เป็นความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ ความท้าทายด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมต้องบอกว่าแก้ไขได้นะครับ
เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ถ้ามีการวางแผน มีการจัดการทรัพยากรแต่เนิ่นๆ ก็สามารถจัดการได้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ประกันสังคมของไทย มันอยู่ในเงื่อนไขที่มันไม่ได้ถูกอนุญาตให้เจริญ เพราะฉะนั้นวันหนึ่ง สมมติว่าขาเข้าไม่พอดีกับขาออก รัฐบาลก็ต้อง top up ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสมทบ หรือว่าการภาษีอะไรต่างๆ หรือไม่ก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่ว่าประกันสังคมไม่ได้ถูกออกแบบมาว่า ถูกอนุญาตให้เจ๊งนะครับ อันนี้คือเป็นเงื่อนไขความท้าทาย
สองคือเรื่องปัญหา สิ่งที่เราเห็นมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือปัญหามันเป็นความเฉพาะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาด้านการบริหาร จัดการการลงทุน ซึ่งก็มี 2 ด้าน ก็คือ ด้านการลงทุนที่ผลตอบแทนอาจจะน้อยเกินไป แล้วก็อีกด้านหนึ่งคือการลงทุนที่ไม่โปร่งใส และสังคมตั้งคำถาม รวมถึงงบประมาณในการบริหารสำนักงาน ซึ่งประกันสังคมตอนนี้ใช้อยู่ประมาณ 3% ของเงินสมทบ ก็คือประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายด้านการบริหารสำนักงาน ตัวเลขนี้อาจจะฟังดูไม่เยอะ แต่ว่ามันเกี่ยวพันกับความเชื่อมั่นของผู้ประกันตน ความเชื่อมั่นของนายจ้าง รวมถึงความเชื่อมั่นต่อสาธารณะว่า ถ้าคุณมีงบประมาณด้านการใช้จ่าย การบริหารต่างๆ ประชาชนยังได้รับการบริการที่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะคุณมีงบประมาณด้านการบริหารสำนักงานที่สังคมตั้งคำถาม
เช่น ผลิตปฏิทิน 8 ปี ไป 500 ล้านบาท ถามว่า 500 ล้านบาทเยอะไหมสำหรับประกันสังคม ในทางบัญชีอาจจะไม่ได้เยอะ แต่ว่าในความรู้สึกของประชาชนมันเยอะนะ ขนาดที่ต้องต่อคิว ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือได้รับเงินบำนาญได้อย่างไม่เป็นธรรม
คุณเอามาใช้จ่ายในสิ่งที่ประชาชนไม่ได้ต้องการ หรือแม้กระทั่งงบประมาณที่เราเห็นว่าประกันสังคมเอารถที่ปลดประจำการอายุ 5 ปี 8 ปี ไปบริจาค ซึ่งถามว่างบประมาณเยอะไหม ผมต้องบอกว่าอาจจะมีค่าเสียโอกาส อาจจะเป็นหลักล้านบาท แต่ว่าคำถามคือ ทำไมคุณถึงใช้เงินแบบนี้ อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ยังไม่สมเหตุสมผล อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่จำเป็นก็ต้องจัดการเหมือนกัน ถ้าคุณแก้ไขปัญหาได้ คุณก็จะจัดการความท้าทายในอนาคตได้
คุณคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการคอร์รัปชั่น หรือการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ผมคิดว่า 2 อย่างนี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกัน คือถ้ามาดูตามเนื้อข่าว เราจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ประกันสังคม หรือว่าผู้บริหารก็จะออกมาให้ความเห็นประมาณว่า อันนี้ทำถูกระเบียบทุกอย่างนะครับ ซึ่งก็ถูกต้อง ถูกระเบียบ อย่างเช่นเรื่องการบริจาครถ ก็เป็นไปตามระเบียบของสำนักงบประมาณ ที่สามารถทำลาย ขาย บริจาคได้ แล้วแต่ที่เห็นว่าเหมาะสม เพราะฉะนั้นบริจาคมันไม่ได้ผิดระเบียบ
แต่ว่าในแง่หนึ่ง การที่ประกันสังคมอยู่ภายใต้ระบบราชการ มีสถานะคล้ายๆ กรมหนึ่งของกระทรวงแรงงาน มันก็ทำให้กลไกการบริหารจัดการของมันมีปัญหาเหมือนกัน ผมมองเทียบง่ายๆ ว่า ซีอีโอของประกันสังคมคือ เลขาธิการ ซึ่งเทียบเท่ากับอธิบดี
ในกระทรวงแรงงาน มีคนที่ใหญ่กว่าอธิบดี คือ ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง หรือถ้าเทียบอีกคนที่ใหญ่กว่าก็คือรัฐมนตรี ใหญ่กว่ารัฐมนตรีก็มีนายกรัฐมนตรีอีก ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ประกันสังคมจะทำงานภายใต้ระบบราชการ ที่สะท้อนว่า การบริหารจัดการอะไรต่างๆ ก็อาจไม่ได้ถูกตอบสนองต่อผู้ประกันตนและนายจ้างอย่างสูงสุดด้วย
ทำตามระเบียบจริง แต่ประชาชนก็รู้สึกเหมือนเสียประโยชน์อยู่ดี
ถ้าผมขยายความเพิ่มเติม อย่างงบประมาณของกระทรวงอื่น เราจะเห็นอย่างตอนนี้ มี พ.ร.บ.งบประมาณ มีการตั้งกรรมาธิการ และ ส.ส.จะต้องมาอภิปรายว่าขอแบบนี้มาได้อย่างไร แต่ว่าเงินประกันสังคม เป็นเงินนอกงบประมาณ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ ส.ส. สภา หรือประชาชนจะได้เห็น ถ้าไม่มีพวกเราออกมาชี้แจง ก็จะเห็นเป็นเพียงแค่งบ เงินเดือนข้าราชการ กับเงินสมทบของภาครัฐ
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นเพียงเท่านี้ จะไม่เห็นไส้ในการซื้อปฏิทิน จะไม่เห็นไส้ในของการบริหารการลงทุน จะไม่เห็นไส้ในของการซื้อแอปพลิเคชั่น การจัดซื้อจัดจ้างสร้างแอปฯ คุณจะไม่เห็นเลย เพราะฉะนั้นมันเลยนำสู่ข้อเสนอสำคัญที่เราพยายามพูดก็คือ การนำประกันสังคมออกนอกระบบราชการ
คือด้านหนึ่งคือให้มีการบริหารที่เป็นอิสระ แล้วก็มี accountability หรือว่ายึดโยงโดยตรงกับผู้ประกันตน ทุกวันนี้ ข้อมูลอะไรต่างๆ แทบจะไม่เปิดเลย เพราะว่ามันถูกซ่อนลึกเข้าไปข้างในมาก กว่าเราจะไปค้นพบ เจอมัน อยู่ในระดับระเบียบ ระดับประกาศอะไรต่างๆ ที่ก็ไม่ได้มีการเปิดเผยเผยแพร่
นอกจากการนำประกันสังคมออกจากระบบราชการ มีอะไรอีกไหมที่ควรแก้ไขทันทีเช่นกัน
ผมคิดว่าการบริหารองค์กร ซึ่งเราต้องการกฎหมายฉบับใหม่เลย ที่จะปฏิรูปตัวเงื่อนไขการบริหารจัดการ แต่ในขณะเดียวกัน ประกันสังคมก็ไม่ได้เป็นบริษัทประกัน ถึงแม้ว่าฟังก์ชันของมันตอนนี้จะทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นบริษัทประกันของภาครัฐ แต่ว่าฟังก์ชันจริงๆ แล้วมันควรจะถูกจัดวางว่าเป็นส่วนงานที่ได้รายได้จากภาษี
ซึ่งจริงๆ แล้วเงินสมทบ พูดมาแบบนี้เราก็จะรู้สึกว่า มันเป็นเงินของฉัน เป็นเงินของนายจ้าง แต่ว่าตามจริงแล้ว กลไกของมัน เป็นกลไกทางภาษีนี่เอง หรือที่เรียกกันว่า Payroll Tax เป็นภาษีจากการจ้างงาน คุณก็ต้องจ่ายภาษีคืนกับรัฐ เพราะว่ารัฐเองก็สร้างคนขึ้นมา ให้การศึกษา วิธีการคิดของประกันสังคมของต่างประเทศมันคือ Payroll Tax มันไม่ได้เป็นเรื่องของเงินสมทบแบบที่ไทยเราเข้าใจ
ฉะนั้นคนที่จ่ายประกันสังคมเป็นหลักจะเป็นนายจ้าง ซึ่งจริงๆ แล้ว ณ ตอนนี้ ในทางปฏิบัติเองก็เป็นนายจ้าง คือไม่ว่าจะเป็นหักเงินเดือนลูกจ้างมาจ่าย หรือว่าเป็นที่นายจ้างสมทบ มันก็คือเงินนายจ้าง ที่ต้องเป็นคนจ่ายเยอะ ส่วนที่ผู้ประกันตน หรือว่าลูกจ้างจ่าย ผมคิดว่าก็น่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเดือน ถ้าเทียบตามมาตรฐานต่างประเทศจะเป็นแบบนี้
แล้วปัญหาเหล่านี้เริ่มถูกแก้ไขแล้วหรือยัง และมีอุปสรรคอะไรบ้าง
การที่บอร์ดชุดใหม่เข้ามาในปี 2567 มันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ไม่ต้องอะไรมากแค่ที่ผมเองได้มีโอกาสสื่อสารกับประชาชน สื่อมวลชนในระดับสาธารณะเยอะมาก ซึ่งในประวัติศาสตร์ประกันสังคมตลอด 35 ปี ที่ผ่านมา ไม่เคยมียุคไหนที่คนให้ความสนใจกับประกันสังคมมากเท่ายุคนี้
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะจากการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งมันก็สร้างชีวิตชีวาขึ้นมาจริง แต่ว่าโดยเงื่อนไขของโครงสร้างที่ระบบประกันสังคมมีอยู่ ถามว่าบอร์ดมาจากการเลือกตั้ง สามารถทำอะไรได้เต็มที่ไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ เราสามารถทำได้ภายใต้โครงสร้างเดิม อย่างเช่นเรื่องสิทธิประโยชน์ เราสามารถที่จะผลักดันและเพิ่มในส่วนที่ปราฏในโครงสร้างอยู่แล้ว
อย่างเรื่องเงินเด็ก เราปรับเพิ่มเป็น 1,000 บาท ใช้เงินเพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาทต่อปี แล้วก็เรื่องสูตรบำนาญ ที่เราเรียกกันว่าสูตร CARE เป็นการคำนวณบำนาญใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะคนที่มีเงินเดือนน้อยลงในช่วงท้ายๆ ส่วนนี้เราก็สามารถทำได้
เงินประกันการว่างงานที่เราปรับเพิ่มขึ้น สิทธิประโยชน์ในมาตรา 40 การเดินทางพบแพทย์ เงื่อนไข จิปาถะ เช่น ให้ประชาชนสามารถใช้บริการที่คลินิก ไม่ต้องไปที่โรงพยาบาล ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราทำได้ภายใต้โครงสร้างเดิม
มันก็จะมีประเด็นที่เรามีอำนาจ แต่ไม่สามารถทำได้ในโครงสร้างปัจจุบัน เช่น งบบริหาร หรือว่างบการลงทุนต่างๆ เราสามารถนำเข้าสู่การตรวจสอบได้ การให้ทบทวนได้ แต่ว่าการยับยั้งทำได้ลำบาก เพราะต้องบอกว่า 98% ของงานประกันสังคม run โดยระบบราชการ ที่ทำงาน full time ขณะที่พวกเราเข้าไปทำ อย่างเช่นเรื่องปฏิทิน อนุกรรมการไม่ให้ทำ ผลประชามติออกมาไม่เห็นด้วย
เพราะราชการเองก็มีการซิกแซ็ก บอกว่าเรื่องนี้เป็นวาระเพื่อทราบเฉยๆ เดี๋ยวปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ ก็จะเป็นอะไรแบบนี้ หรือว่าแม้แต่เรื่อง ตึก Sky Line ซึ่งยังไม่เคยมีการชี้แจงออกมาจากคณะกรรมการประกันสังคมแบบเป็นทางการเลย มีแค่ถามคำ ตอบคำ ซึ่งมีมติให้จัดการประชุม สำนักงานบอกขอยกเลิกการประชุม โดยใช้ trick ในการบอกว่าบอร์ดมีมติให้มีการประชุมพิเศษ แต่ไม่ได้บอกว่าวันไหน เพราะฉะนั้นก็ขอเลื่อนไป ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ประชุม อันนี้คือเป็นวิธีของราชการ
ถ้าประกันสังคมอยู่นอกระบบราชการ ซีอีโอของประกันสังคมถือว่าขาดธรรมาภิบาล อย่างน้อยต้องได้รับการ approve จากบอร์ดนะครับ และความเป็นองค์กรอิสระ เรื่องการประชาสัมพันธ์ถือว่าสำคัญมาก งบปฏิทินนี่คืองบประชาสัมพันธ์ ซึ่งการประชาสัมพันธ์มีเป้าหมายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ สร้างการรับรู้อะไรต่างๆ
แต่มันมีองค์กรไหนที่จ่ายเงิน 50 ล้าน เพื่อให้คนมาด่าตัวเองในเรื่องงบประชาสัมพันธ์ ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน อย่างน้อยจ่ายไปมันต้องได้ engagement ได้น้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อันนี้ได้แต่การด่า มันก็ประหลาด แจ้งเหตุผลว่าจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วยกเลิกไม่ทัน ซึ่งจริงๆ มันยกเลิกได้ มันไม่ได้มีอะไรที่จะยกเลิกไม่ได้ แต่ว่านี่เป็นบักสำคัญในระบบราชการ
ทั้งนี้ ประกันสังคมเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก คือเป็นเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งข้างในระบบมีอำนาจในการที่จะทำอะไรเยอะมาก และไซส์ของประกันสังคม ถ้าให้ผมเปรียบเทียบ มันเท่ากับประเทศหนึ่งเลย เงินลงทุนของประกันสังคมคือ 2.6 ล้านล้านบาท ตัวงบประมาณสำนักงาน 6,000 ล้านบาท เงินเข้าปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท
ใหญ่กว่ากระทรวงแรงงาน ใหญ่กว่ากระทรวงท่องเที่ยว ใหญ่กว่ากระทรวงพาณิชย์ ใหญ่กว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ถ้าเทียบเป็นประเทศ ไซส์ GDP ประกันสังคมเทียบเท่ากับเนปาลและกัมพูชาได้เลย
เวลาพูดถึงประกันสังคม สิ่งแรกที่คนมักจะนึกถึงคือ ‘การรักษาพยาบาล’ ซึ่งปัญหาหลักของเรื่องนี้คืออะไร?
ประเด็นด้านดูแลสุขภาพ ถือเป็น pain point หลักของผู้ประกันตน ผมต้องบอกว่าประกันสังคมมีมาก่อน 30 บาท สักประมาณ 10 ปี ซึ่งตอนนั้นเราไม่มีจินตนาการเรื่องการรักษาพยาบาลฟรี ดังนั้น การเกิดขึ้นของประกันสังคมก็ถือว่าเปลี่ยนชีวิตคนไทยได้ประมาณหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประกันสังคมไม่ได้เป็นผู้ที่มีความชำนาญด้านการรักษาพยาบาล
ผมเทียบคือเหมือนกับเป็นบริษัทประกันของรัฐ ในการที่เรียกโรงพยาบาลคู่สัญญามาทำสัญญา ในช่วง 10 หรือ 20 ปีแรกมันก็โอเคอยู่ เราต้องอย่าลืมว่าคู่สัญญาของโรงพยาบาลประกันสังคม ประมาณครึ่งหนึ่ง คือ โรงพยาบาลเอกชน และการที่ประเทศไทยปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชน unregulated หรือว่าอยู่เหนือการควบคุมอย่างมากก็เป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าอะไรต่างๆ ค่อนข้างแพง
สภาคุ้มครองผู้บริโภคก็ส่งเสียงมาว่า ทำไมยาข้างนอกขายราคานี้ แต่ทำไมโรงพยาบาลเอกชนขายแพงกว่ากัน 5 เท่า ทำให้ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนเฟ้อและแพงขึ้นเรื่อยๆ
และทุกปีโรงพยาบาลเอกชนก็จะมาของบกับทางประกันสังคมเพิ่ม แล้วประกันสังคมก็เพิ่มให้ ไม่ได้มีอำนาจในการต่อรองอะไร พูดง่ายๆ คือ เราเพิ่มกำไรให้โรงพยาบาลเอกชน โดยที่การรักษาพยาบาลเท่าเดิม ซึ่งในรายงานผู้ถือหุ้นของบริษัทเอกชน business model ของเขาคือ การเรียกเก็บจากประกันสังคมให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ก็จะมีงบประมาณส่วนเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งโรงพยาบาลถือว่าได้เป็น pocket money
แต่จะมีค่ารักษาพยาบาลที่เรียกว่าเป็นค่ารักษาพยาบาลตามจริง ส่วนนี้จะมีการเรียกเก็บตาม ความรุนแรงของการรักษา ซึ่งบางครั้งโรงพยาบาลเองก็มีปัญหาเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องการผ่าตัดกระเพาะ เพื่อลดความอ้วน ซึ่งมีการ detect เจอเหมือนกันว่าบางครั้งเป็นการรักษาแบบเกินจริง เพราะบางกรณียังไม่ต้องถึงขั้นการรักษาด้วยวิธีนี้ แต่ก็พบการส่งไปรักษาด้วยวิธีนี้ ดังนั้นค่ารักษาพยาบาลจึงแพงเกินจริง
เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลเอกชนเปิดใหม่ ต้องวิ่งเข้าหาประกันสังคมหมด ซึ่งส่วนนี้เป็นอำนาจของประธานบอร์ดแพทย์ประกันสังคม เป็นสิ่งที่สื่อควรจับตาเหมือนกัน
ในอีกด้านหนึ่งผมก็ต้องบอกว่า ถึงเวลาที่ต้องคิดเหมือนกันว่า เรื่องการรักษาพยาบาล การที่เราแยกเป็นกองทุนใหญ่ 2 กองทุน คือ คน 15 ล้านคนใช้ประกันสังคม แล้วคนอีกประมาณ 55 ล้านคนใช้บัตรทอง อาจจะต้องคิดฝันถึงการที่เราจะทำยังไง ให้มีการใช้เป็นสิทธิการรักษาพยาบาลแห่งชาติอันเดียวให้เกิดขึ้นให้ได้
สิ่งที่เราอยากเสนอระยะยาวคือ แนวคิดเรื่องประกันสังคมถ้วนหน้า ให้เหมือนกับประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็คือให้มีการประกันการศูนย์เสียรายได้ของคนอายุ 18-60 ปี ให้มีการประกันการขาดรายได้ ซึ่งผมต้องเรียนว่าใช้งบประมาณไม่เยอะเลย ปีหนึ่งเต็มที่สักประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ตีเป็น 10% ของ digital wallet
อีกทั้งจะทำให้ประชาชนได้รับการชดเชยเรื่องการเดินทางไปพบแพทย์ ชดเชยเรื่องการขาดรายได้จากการนอนโรงพยาบาล ชดเชยการสูญเสียรายได้จากอาชีพ ทั้งหมดสามารถทำได้ด้วยงบประมาณเพียงแค่ 4 หมื่นล้านบาทเอง
อนาคตของระบบประกันสังคมจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ถูกปรับปรุงแก้ไขอย่างถูกจุด
ผมว่าทุกสภาพขององค์กรทางการเมือง หรือองค์กรด้านสวัสดิการ ต้องมี point ที่เขาเรียกกันว่า creative destruction ก็คือการทำลายล้างเชิงสร้างสรรค์ คือประมาณว่าคุณต้องทุบสิ่งเก่าไปก่อน เพื่อสร้างสิ่งใหม่
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมว่ามันก็อยู่ใน process นี้เหมือนกัน ก็คือการรื้อให้เห็นภาพปัญหา อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่แก้ ไม่แก้ตอนนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้น ผมขอยกตัวอย่างตึก Sky Line ถ้าเราไม่ไปแก้ไขกรอบตัวนี้ ก็จะเกิด Skyline 2 3 4 5 ซึ่งยังไม่เห็นผลลัพธ์ใน 5 ปีนี้ แต่จะเห็นในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่คุณพบว่าตึกนี้ คือตึกเน่า
ปฏิทินเหมือนกัน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อีก 20 ปีข้างหน้า มันจะมีมูลค่า 4,000 ล้านบาท ถ้าคุณทำปฏิทินตัวนี้ต่อเนื่องไป เท่ากับคุณเสียเงิน 4,000 ล้านนะ สำหรับผมมันบ้าไปแล้ว คุณเสียเงิน 4,000 ล้านกับกระดาษเพื่อการประชาสัมพันธ์
ถามว่าทำไมเราต้องมาทำเรื่องเล็กเรื่องน้อยแบบนี้ มีคนกระซิบบอกผมว่า อาจารย์ก็ทำแต่เรื่องสิทธิประโยชน์ไป สมัยหน้าก็ชนะเลือกตั้ง ก็จบ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องมาแตะเรื่องพวกนี้ ประมาณว่าประกันสังคมมันก็ใหญ่พอ พอที่จะให้เหมือนว่าเป็นวัว ควรจะมีเหลือบ ไร ปรสิตอยู่ในลำไส้สักนิดหน่อยก็ช่างมันไปเถอะ คุณไปสู้กับพวกนี้เสียเวลา ไปแตะปฏิทินทำไม ทำไมไม่ไปแตะเรื่องใหญ่กว่านี้ ก็ทำแต่เรื่องสิทธิประโยชน์ไป เขาก็ไม่ได้ขวาง อย่างเช่นเรื่องเพิ่มเงินเด็ก เรื่องบำนาญ เรื่องอะไรต่างๆ ก็ทำแต่เรื่องแบบนี้สิ ไม่ต้องทะเลาะกับใคร
แต่สำหรับผมว่ามันไม่ทำไม่ได้ เรามองในภาพระยะยาว ไม่ได้มองเพียงแค่ผลทางการเมืองระยะสั้น และมันไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึกของประชาชนนะ แต่มันคือเรื่องทางวิทยาศาสตร์ เรื่องทางคณิตศาสตร์ คุณเอาไปลงทุนแบบโง่ๆ นะ คุณทิ้งเงิน 50 ล้านให้กับปฏิทิน แล้วคุณทำ 20 ปี มันไม่ได้จบแค่ 1,000 ล้านนะ มันคือเป็นมูลค่าทบต้นทบดอกประมาณ 4,000 ล้าน นี่คือจำนวนเงินที่ต้องเสียไป
บทเรียนจากต่างประเทศ ที่ไทยพอนำมาเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ หรือประยุกต์ใช้ได้
ผมมองว่า เรื่องความโปร่งใส อย่างกองทุนบำนาญในเดนมาร์ก หรือแม้แต่กองทุนในหมู่เกาะเคย์แมน เขายังเปิดเผยให้สาธารณชนเห็นเลย สินทรัพย์นอกตลาด ที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น เขาก็ต้องเปิดเผยให้ประชาชนเห็นว่าคุณไปซื้ออะไรบ้าง คุณมี protocol เรื่องการลงทุนอะไรยังไง คุณไปสนับสนุนประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอะไรไหม ก็มีการเปิดเผยตัวนี้
หรือว่าในกรณีของสวีเดน เขาไม่ได้กังวลเรื่องการขาดทุนหรือล้มละลาย เพราะว่ามีการกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. มี auto balancing ก็คือ ถ้าพบว่าตัวกองทุนเริ่มขาดสภาพคล่อง รัฐบาลก็จะมีการ top up ให้ทันที แต่ของเราตรงกันข้าม รัฐบาลก็จะขอยืม ขอแปะ ขออะไรต่างๆ เป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง
ดังนั้น ผมว่าสิ่งที่ประกันสังคมไทยนำมาปรับใช้ได้ คือ เรื่องความโปร่งใส บทบาทของรัฐที่เข้ามาจัดการ แล้วก็ความเป็นองค์กรอิสระ ที่ยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้
ส่วนไหนบ้าง ที่ประกันสังคมไทยสามารถนำมาปรับใช้เลยได้ทันที?
ผมว่ามันมีระดับที่ทำได้เลย กับระดับที่ต้องเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง แต่ว่าสิ่งที่ผมอยากย้ำสุดท้ายจริงๆ เลยคือ ประกันสังคมเป็นสวัสดิการที่สำคัญสำหรับคนไทย ถ้าไม่มีประกันสังคมเราแย่กว่านี้สำหรับคนทำงาน
เรื่องบำนาญ เรื่องการดูแลบุตร เรื่องว่างงาน เรื่องทุกข์คุณภาพ เป็นส่วนที่ประกันสังคม สามารถที่จะพยุงชีวิตของคนธรรมดาได้อย่างมาก ดังนั้นหากประกันสังคมมีปัญหา สิ่งที่จะแก้เพื่อที่เราจะไปจัดการกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ได้ คือเราต้องการ พ.ร.บ.ใหม่ เราต้องการแรงจูงใจในระดับสภา เราต้องการนายกรัฐมนตรีที่จะมาจัดการเรื่องนี้แบบจริงจัง รัฐบาลเพื่อไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย ไม่เคยเมนชั่นเรื่องประกันสังคมเลย
เราต้องการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง เราต้องการ พ.ร.บ.ใหม่ ต้องการสภาที่เห็นชอบเรื่องนี้ ต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีแรงจูงใจเรื่องนี้ แต่เรื่องระยะสั้นที่ทำได้เลยเพื่อกู้สถานการณ์ คือ การเปิดเผยข้อมูล ซึ่งทำได้เลย
เราพยายามกดดันให้ทำ แต่ว่าได้น้อย ได้แค่สรุปมติการประชุมมาเผยแพร่ จริงๆ แล้วการเปิดเผยบันทึกการประชุมทั้งหมดก็ทำได้เลยเช่นกัน หลายๆ องค์กรเขาก็ทำกัน ก็เอาแค่อันนี้ก่อน เดี๋ยวประชาชนเขาก็จะมาช่วยกันตรวจสอบ ช่วยอะไรต่างๆ
ซึ่งผมต้องเรียนว่าในบอร์ดใหญ่ไม่ได้มีอะไรน่ากลัวขนาดนั้น เหมือนกับว่าคนที่ค้านเรา คือแบบตีตนไปก่อนไข้ เพราะว่าบอร์ดใหญ่ส่วนมากคือ approve ภาพใหญ่ ที่ผมก็ต้องบอกว่าในชุดนี้มันไม่ได้มีอะไรน่ากลัว แบบเอาใครเข้าคุก อาจจะโดนด่า โดนทัวร์ลงนิดหน่อย แต่มันก็เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลง
โดยสรุปแล้วอย่างสำคัญคือ สำนักประกันสังคมต้องเปิดเผย เป็นสิ่งที่ทำได้เลย ไม่ต้องไปใช้ พ.ร.บ. ไม่ต้องใช้อะไร เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับรู้