สรุปว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่างเรื่องปากท้อง กับปัญหาความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน สำหรับโหวตเตอร์ไต้หวัน?
นี่คือหนึ่งในคำถามที่ The MATTER ได้ไปถามคนรุ่นใหม่ชาวไต้หวันจำนวนหนึ่ง ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ไต้หวันจะเกิดขึ้น
“ผมคิดว่าประเด็นเรื่องจีนยังคงสำคัญ” จาง ถิง ฮุ่ย (Chang Ting-Jui) หรือ เรย์ (Ray) ทนายความชาวไต้หวัน อายุ 29 ปี ที่กำลังศึกษา ป.เอก ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น บอกกับเรา “แต่ไม่ได้สำคัญที่สุดสำหรับสังคมของเราในการเลือกตั้งรอบนี้”
“สำหรับผม จุดยืนต่อประเด็นเรื่องจีนของแคนดิเดตเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ส่งผลต่อการโหวตของผมด้วย” ลิ้ว ปิ่ง เย่ (Liu Ping-Yeh) อายุ 25 ปี นักศึกษา ป.โท ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติหยางหมิงเจียวทง ที่ไต้หวัน เล่า
“แต่ผมรู้สึกว่า ประเด็นเรื่องจีนจะไม่ใช่แก่นหลักในการดีเบตนโยบายในการเลือกตั้งรอบนี้ เหตุผลหนึ่งก็คือ คนไต้หวันเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับประเด็นเรื่องจีนแล้ว”
เมื่อครบทุก 4 ปี การเลือกตั้งทั่วไปที่ไต้หวันก็กลับมาจัดขึ้นอีกครั้ง ในปีนี้จัดขึ้นวันที่ 13 มกราคม 2024 ซึ่งครอบคลุมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพื่อเฟ้นหาผู้นำของเกาะคนต่อไป หลังจากที่ ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ต้องลงจากตำแหน่ง เนื่องจากครบวาระ 8 ปี
แม้ชาวไต้หวันบางส่วนอาจมองว่าประเด็นเรื่องจีนไม่ได้สำคัญที่สุดในครั้งนี้ แต่นี่ก็เป็นการเลือกตั้งที่เป็นที่จับจ้องอย่างมาก ในฐานะปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของความสัมพันธ์ช่องแคบ (Cross-Strait relations – หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน) รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ จีน-สหรัฐฯ กระทั่งอาจเป็นตัวกำหนดว่าสงครามจะเกิด/ไม่เกิด
The MATTER ชวนทำความเข้าใจโจทย์ใหญ่เลือกตั้งไต้หวัน 2024
ใครเป็นใครในศึกเลือกตั้งไต้หวัน 2024
ชัดเจนว่า ไช่ อิงเหวิน จะไม่ได้กลับมาแล้ว เนื่องจากจะต้องลงจากตำแหน่ง หลังจากครบวาระ 8 ปี ดังนั้น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้ จะมีตัวละครสำคัญ ที่เป็นแคนดิเดตประธานาธิบดี 3 คน คือ
ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ผู้สืบทอดของ ไช่ อิงเหวิน จากพรรค DPP พรรครัฐบาลปัจจุบัน โหว โหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) จากพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang หรือ KMT) พรรคฝ่ายค้าน และ เคอ เหวินเจ๋อ (Ko Wen-je) จากพรรคประชาชนไต้หวัน (Taiwan People’s Party หรือ TPP) พรรคทางเลือกเกิดใหม่
ในจำนวนนี้ มีอดีตหมอถึง 2 คน เราขอเริ่มที่ ไล่ ชิงเต๋อ
ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) – พรรค DPP
ไล่ ชิงเต๋อ อายุ 64 ปี คือรองประธานาธิบดีไต้หวัน ภายใต้รัฐบาลของ ไช่ อิงเหวิน เขาคือแคนดิเดตจากพรรค DPP ที่ครองเสียงข้างมากในปัจจุบัน และขึ้นชื่อเรื่องการมีจุดยืนที่เอนเอียงไปทางการสนับสนุนความเป็นเอกราช (pro-independence) ของไต้หวัน
เขาเรียนจบด้านการแพทย์และสาธารณสุข เคยทำงานเป็นหมอมาก่อน ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น สส. ตัวแทนเมืองไถหนาน เมื่อปี 1996 และดำรงตำแหน่งมากกว่า 1 ทศวรรษ หลังจากนั้นก็เข้ามาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองไถหนาน เมื่อปี 2010-2017 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ไต้หวัน ช่วงปี 2017-2019 ท้ายที่สุดก็ได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดี เมื่อปี 2020
เป็นที่รู้กันดีว่า ก่อนหน้านี้ ไล่คือหนึ่งในหัวหอกสำคัญที่สนับสนุนเรื่องเอกราชไต้หวัน หมายถึงการประกาศตัวเป็นรัฐ ที่แยกออกมาต่างหากจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ช่วงหลังๆ ก็จะเห็นได้ว่า เขาเริ่มผ่อนจุดยืนให้เบาลง โดยบอกว่า ไม่จำเป็นต้องประกาศเอกราช เพราะเป็นรัฐอิสระอยู่แล้ว และจะพยายามรักษาสถานภาพเดิม (status quo) ที่เป็นอยู่ระหว่างจีนกับไต้หวัน
“สาธารณรัฐจีน (Republic of China) หรือไต้หวัน เป็นประเทศเอกราชอธิปไตยอยู่แล้ว” ไล่กล่าว เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา
โหว โหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) – พรรค KMT
ไม่ใช่หมอ แต่เป็นตำรวจ โหว โหย่วอี๋ วัย 66 ปี คือตัวแทนจากพรรค KMT ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ โหวทำงานเป็นตำรวจ และมีผลงานที่สำคัญ คือ เป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนคนหลักๆ ในคดีพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดี เฉิน ฉุยเปี่ยน (Chen Shui-bian) เมื่อปี 2004
ต่อมา โหวได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจของไต้หวันเมื่อปี 2006 ถือเป็นตำรวจที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ขึ้นมาในตำแหน่งนี้ แต่ตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญของโหว ก็คือ นายกเทศมนตรีของนิวไทเป ที่เขาได้รับเลือกมาตั้งแต่ปี 2018 และกลับมาอีกครั้งด้วยแลนด์สไลด์เมื่อปี 2022
“ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งของช่องแคบไต้หวันชัดเจนดีอยู่แล้ว เราอย่าไปทำให้มันสับสนเลย” โหวเคยกล่าวเอาไว้
สำหรับจุดยืนเรื่องความสัมพันธ์ช่องแคบของโหว ถือว่าไม่ค่อยชัดเจน และเขามักจะไม่ออกมาแสดงจุดยืนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์มากนัก เรื่องนี้ก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่เหมือนกัน แต่ก็พอบอกได้ว่า เขาไม่สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน และมีแนวโน้มที่จะประนีประนอมกับรัฐบาลจีนในกรุงปักกิ่งมากกว่า
เคอ เหวินเจ๋อ (Ko Wen-je) – พรรค TPP
เคยเป็นหมอ และอาจจะถูกจดจำในฐานะแร็ปเปอร์ด้วย เพราะวิดีโอแร็ปในช่วงที่เป็นนายกเทศมนตรีไทเป เคอ เหวิน เจ๋อ คือแคนดิเดตจากพรรค TPP พรรคที่เขาก่อตั้งเมื่อปี 2019 ซึ่งประกาศตัวว่าเป็น ‘ทางเลือกที่สาม’ ระหว่างพรรค DPP กับพรรค KMT
เคอ ปัจจุบันอายุ 64 ปี เคยเป็นศัลยแพทย์อุบัติเหตุฝีมือดี เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง หลังประกาศตัวสนับสนุน ‘ขบวนการทานตะวัน’ (Sunflower Movement) ขบวนการนักศึกษาที่ออกมาประท้วงต่อต้านอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 2014 จนกระทั่งในปลายปีเดียวกัน ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีของไทเป และดำรงตำแหน่งติดต่อกันเป็นเวลา 8 ปี
ในเรื่องจีน เขาประกาศตัวเป็นทางเลือกระหว่างพรรค DPP ที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ว่า สนับสนุนสงคราม และยั่วยุจีนมากเกินไป กับพรรค KMT ซึ่งเขาก็วิจารณ์ว่า นอบน้อมกับจีนมากเกินไป และเสนอว่า ในเรื่องนี้ จำเป็นต้องมีการสื่อสาร (communication) และการป้องปราม (deterrence) ไม่ให้เกิดสงคราม ด้วยการเพิ่มต้นทุนการทำสงครามให้กับจีน
“ผมว่าข้อดีที่เข้มแข็งที่สุดของผมก็คือ ผมเป็นแคนดิเดตเพียงคนเดียวที่จีนและสหรัฐฯ มองว่ายอมรับได้” คำแถลงของเคอ
ผลการเลือกตั้งจะสะท้อนเจตจำนงของคนไต้หวันอย่างไร?
เราได้พูดคุยกับ อ.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security & International Studies – ISIS Thailand) เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีต่อเวทีนานาชาติ – รวมถึงกระทั่งแม้แต่ไทย
เราชวน อ.พงศ์พิสุทธิ์ วิเคราะห์ว่า ถ้าหากใครคนใดคนหนึ่งคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนี้ขึ้นมา จะสะท้อนความต้องการทางการเมืองของประชาชนไต้หวันอย่างไร?
“ทางเศรษฐกิจ ถ้าเกิด DPP ชนะ ก็แสดงว่าคนก็ยังคงโอเคกับนโยบายเศรษฐกิจของ DPP ถึงแม้ว่าหลายๆ นโยบายยังไม่ได้ทำสำเร็จ (deliver) อย่างเต็มที่” คือความเห็นของผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
“ถ้าเกิด DPP ได้รับชัยชนะ ก็แสดงว่า หนึ่ง คนไต้หวันอาจจะค่อนข้างโอเค และอยากจะให้ DPP ทำต่อ”
อ.พงศ์พิสุทธิ์ ระบุ “หรือสอง ปัจจัยทางเศรษฐกิจอาจถูกปัจจัยทางการเมือง ความมั่นคงกับจีน กดทับไว้อยู่ ก็คือ เลือก DPP เพื่อที่จะทำให้ไต้หวันมีอิสระ และมีอัตลักษณ์ของตัวเองมากกว่า [การแก้] ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ก็อาจจะแปลได้หลายอย่าง”
“ด้านตรงข้ามของอันนั้นก็คือ ถ้าเกิด KMT ชนะ ก็คือ ไม่พอใจทั้ง 2 อย่าง”
กล่าวคือ ถ้าพรรค KMT ก็อาจจะแปลได้ว่า ประชาชนไม่พอใจนโยบายทางเศรษฐกิจของ DPP ซึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบัน ส่วนในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ช่องแคบ ก็จะเริ่มเห็นประชาชนที่สนับสนุน DPP หันมาเลือก KMT มากขึ้น เพราะรู้สึกว่า 8 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ช่องแคบย่ำแย่ลง ซึ่งส่งผลทำให้เศรษฐกิจแย่ตามลงด้วย
อีกปัจจัยหนึ่งที่ อ.พงศ์พิสุทธิ์ ยกขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการโหวต คือการเพิ่มระยะเวลาการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลภายใต้ DPP จากเดิม 4 เดือน เป็น 1 ปี ซึ่งจะเริ่มมีผลในปี 2024 นี้ อาจทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนับสนุน KMT หรือกระทั่ง TPP มากขึ้นได้เช่นกัน
ส่วนพรรคทางเลือก TPP นักวิชาการจากจุฬาฯ มองว่า “TPP กับ KMT ฐานเสียงคล้ายๆ กัน ในแง่ความรู้สึก (sentiments) ทางการเมือง ก็คือ ไม่พอใจในความสัมพันธ์ช่องแคบที่ DPP ทำ อยากจะหานโยบายกลางๆ ที่ทั้งพยายามรักษาสถานภาพเดิมของไต้หวัน และสามารถติดต่อกับจีนได้ เพื่อที่จะเอื้อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของไต้หวัน”
เขาชี้ให้เห็นว่า เคอ เหวินเจ๋อ เป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่เบื่อกับ 2 พรรคเดิม และต้องการหาพรรคทางเลือกใหม่ และมักเป็นเพศชาย ซึ่งก็อาจจะเป็นความชอบในตัวบุคคลของเคอมากกว่า “แต่ปัญหาคือ คนพวกนี้จะออกมาโหวตหรือเปล่า” คือคำถามจาก อ.พงศ์พิสุทธิ์
ผลกระทบต่อความสัมพันธ์มหาอำนาจ – รับรู้ได้ถึงไทย?
ในระดับของการเมืองระหว่างประเทศ ยังคงเป็นที่เข้าใจกันว่า การเลือกตั้งในไต้หวัน จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ช่องแคบ คือ จีน-ไต้หวัน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ คือ จีน-สหรัฐฯ ที่มีไต้หวันเข้าไปเป็นผู้เล่นสำคัญด้วย
“นักวิชาการทางด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ก็น่าจะมีความเห็นร่วมกันว่า ปัญหานี้ [ความสัมพันธ์ช่องแคบ] และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 ที่ส่งผลกระทบต่อความตึงเครียด และความร่วมมือระหว่างประเทศ ในปัจจุบันและอนาคต” อ.พงศ์พิสุทธิ์ อธิบาย
คำถามที่ตามมาคือ แล้วผลการเลือกตั้งจะส่งแรงสะเทือนอย่างไรบ้าง?
การเลือกตั้งที่ไต้หวัน “ก็คงเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง” อ.พงศ์พิสุทธิ์ กล่าว “ถ้าเกิด DPP ชนะ ก็เท่าที่ทราบกันอยู่ ถึงแม้ว่าตัว ไล่ ชิงเต๋อ พยายามจะลดระดับจุดยืนลง (tone down) ไม่ได้จะประกาศเอกราช เป็นอิสระสุดโต่ง แต่เขามีประวัติว่าสนับสนุนแนวคิดนี้ค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันเองไม่ดี [และ] ไปกระทบความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ด้วย
“ถ้า KMT ชนะ อาจจะดีหน่อย ในแง่ว่า ความตึงเครียดก็อาจจะลดลง เพราะว่า KMT ก็อยากจะคุยกับจีน อยากจะคุยเรื่องการรวมชาติ (reunification) ในที่สุด อันนั้นก็คือเป้าหมายสุดท้าย (ultimate goal) ของ KMT ด้วยเช่นกัน ก็อาจจะทำให้บรรยากาศมันดีขึ้น และมีการติดต่อระหว่างไต้หวันกับจีนมากขึ้น”
ส่วนไทยและอาเซียน จะรับรู้ถึงผลกระทบได้ไหม ก็ต้องถามว่า สงครามจะเกิดขึ้นหรือเปล่า?
“ถ้ามันไม่เกิดสงครามใน 4-5 ปีถัดไป ประเทศในอาเซียนก็แค่ระวังเอาไว้ แต่มันจะเป็นสัญญาณบอกให้หลายๆ ประเทศในอาเซียนระวังกับการดำเนินความสัมพันธ์กับไต้หวันมากขึ้น”
แต่แน่นอนว่าถ้าเกิดความตึงเครียดขึ้นในช่องแคบไต้หวัน ก็จะต้องมีแรงสะเทือนทางเศรษฐกิจ อ.พงศ์พิสุทธิ์ ยกตัวอย่าง หากเกิดกรณีที่รุนแรงอย่างการที่จีนปิดล้อม (blockade) ไต้หวัน สิ่งแรกที่จะส่งผลกระทบก็คืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งไต้หวันเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ คิดเป็นมากกว่า 60% ของโลก กรณีนี้อาจจะคล้ายคลึงกับในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่การผลิตต้องหงุดชะงัก
อีกประเด็นหนึ่งที่ อ.พงศ์พิสุทธิ์ ชวนจับตามอง คือ นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) ภายใต้การริเริ่มของรัฐบาล ไช่ อิงเหวิน ที่มุ่งหันมาให้ความสำคัญด้านการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนและเอเชียใต้มากขึ้น
“ถ้าเกิดรัฐบาลใหม่เป็น KMT จะเป็นอย่างนั้นต่อไปหรือเปล่า [ดำเนินนโยบายมุ่งใต้ใหม่] อาจจะสนับสนุนให้คนไปติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น การลงทุนในอาเซียนก็อาจจะลดลงจากไต้หวัน ดังนั้น มันก็เป็นผลกระทบที่เป็นข้อตระหนัก”
ปากท้อง หรือความมั่นคง อะไรคือตัวกำหนด?
เมื่อกลับมาดูในระดับของการเมืองภายในประเทศ เจิ้ง อี้ฉวน (Tseng Yi-hsuan) นักศึกษา ป.โท ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาวไต้หวันอีกคนหนึ่งที่เราได้พูดคุยด้วย เล่าว่า แท้จริงแล้ว ปัญหาเรื่อง ‘ความยุติธรรมด้านที่อยู่อาศัย’ (housing justice) ซึ่งกลายมาเป็นปัญหา เพราะราคาค่าเช่าในไต้หวันสูงขึ้น โดยไม่สอดคล้องกับค่าจ้างแรงงาน อาจเป็นปัญหาที่สำคัญพอๆ กับ หรือมากกว่า ประเด็นเรื่องจีนสำหรับคนรุ่นใหม่ด้วยซ้ำไป
“โดยส่วนตัว เราคิดว่า ประเด็นเรื่องความยุติธรรมด้านที่อยู่อาศัย คือประเด็นสำคัญที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะสำคัญที่สุด มากกว่าประเด็นเรื่องจีน อย่างน้อยก็สำหรับคนรุ่นใหม่ รัฐบาลจะทำอย่างไรให้คนอายุน้อยสามารถอยู่อาศัยในที่พักที่ราคาไม่แพงและปลอดภัยได้” เธอเล่า
สอดคล้องกับ อ.พงศ์พิสุทธิ์ ที่วิเคราะห์ว่า ประเด็นเรื่องจีนก็สำคัญ แต่อาจจะไม่ที่สุด “มันขึ้นอยู่กับบริบทมากกว่าช่วงนั้นมันเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องปัญหาปากท้องของคนรุ่นใหม่ ที่มองว่า พรรคอะไรจะทำนโยบายให้ได้สำเร็จมากที่สุด”
หลายคนเห็นตรงกันว่า ปัญหาเรื่องที่พักอาศัย คือปัญหาสำคัญในการเมืองไต้หวัน อ.พงศ์พิสุทธิ์ อธิบายให้ฟังว่า เป็นเพราะราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อความสัมพันธ์ช่องแคบแย่ลง เศรษฐกิจก็ถดถอย ทำให้ค่าแรง โดยเฉพาะของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา ก็ไม่ได้ถีบตัวสูงขึ้นตามราคาค่าเช่า
“คนรุ่นใหม่ สมมติว่า ถ้าเกิดไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ มาจากต่างจังหวัด อาจจะครึ่งหนึ่งของเงินเดือน ก็ต้องเอามาจ่ายค่าบ้าน ในไต้หวัน [เช่นเดียวกัน] มันก็ค่อนข้างจะขาดแคลนพอสมควร และหลายๆ ครั้ง คือ ค่าเช่ามันก็สูงขึ้นเรื่อยๆ”
ในขณะเดียวกัน นักรัฐศาสตร์จากจุฬาฯ เล่าต่อว่า ในสมัยของ ไช่ อิงเหวิน การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ค่อนข้างจะชะลอตัวพอสมควร เหตุผลหลักๆ คือ การโดนกดดันจากจีน และความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน ทำให้จีนแบนสินค้าบางอย่างจากไต้หวัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร
ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น “ก็เลยสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจพอสมควร ว่าจะสร้างรายได้อย่างไร การเติบโตของ GDP สมัย ไช่ อิงเหวิน เป็นประธานาธิบดี ประมาณ 3% กว่าๆ [โดยเฉลี่ย] อัตราการว่างงาน (unemployment rate) ก็ประมาณ 3-4% เหมือนกัน ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจมันเป็นปัญหาที่เป็นสิ่งแรกที่คนคิด
“ผมว่า เรื่องปัญหาช่องแคบอาจเป็นปัญหาที่สอง ที่มาเสริมกันมากกว่า” คือความเห็นจาก อ.พงศ์พิสุทธิ์
“ภูมิใจในประชาธิปไตยของไต้หวันไหม?” เราถามความรู้สึกของชาวไต้หวันที่ได้พูดคุยด้วย ในวาระการเลือกตั้ง
สำหรับเจิ้ง เธอตอบว่า รู้สึกภูมิใจ แต่ยังมีช่องที่จะพัฒนาต่อไปได้อีก
“เทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย เราคิดว่า เรากำลังทำได้โอเค แต่เราก็รู้สึกว่าระบบประชาธิปไตยอาจจะยังไม่ได้มีวุฒิภาวะมากเท่าที่คนอื่น เช่น สื่อต่างประเทศ คิด การเลือกตั้งที่เสรีเพิ่งมีมา 30 ปี มันก็อาจจะไม่ได้ยาวนานมากเป็นร้อยๆ ปี ก็เลยรู้สึกว่า ในหลายๆ แง่มุม กระบวนการประชาธิปไตยในไต้หวันอาจจะถูกโจมตีได้อยู่”
ขณะที่ลิ้วบอกว่า รู้สึกภูมิใจ และมองว่าประชาธิปไตยสำคัญในสังคมไต้หวัน “ผมว่า กระบวนการประชาธิปไตยแบบนี้ มันทำให้เราเข้าใจได้ว่า ประเด็นไหนสำคัญกับเราชาวไต้หวัน และเข้าใจทัศนคติของผู้อื่น เข้าใจสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ
“ด้วยความเข้าใจแบบนี้ มันทำให้เราทำงานก้าวข้ามความเห็นต่าง และสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ และผมคิดว่า นี่คือคุณค่าที่แท้จริงของการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยในไต้หวัน ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ผมหวงแหนจริงๆ” เขาอธิบายให้ฟัง
ในปี 2023 ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐฯ ได้ให้คะแนนไต้หวันว่าเป็นประชาธิปไตยที่เสรี โดยได้คะแนนเสรีภาพมากถึง 94 จาก 100 คะแนน ถือว่าเป็นแห่งหนึ่งที่มากที่สุดในเอเชีย และในวันเลือกตั้งทั่วไป 2024 ชาวไต้หวันที่มีสิทธิเลือกตั้งราว 19.5 ล้านคน ก็จะออกมาใช้เสรีภาพของตัวเองในคูหา เพื่อกำหนดทิศทางของไต้หวันต่อไปในอนาคต
ท้ายที่สุด ใครก็ตามที่ชนะ ก็จะได้เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปในวันที่ 20 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ และจะได้นั่งเก้าอี้นาน 4 ปี ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2028 – ส่วนจีนจะพอใจหรือไม่พอใจ และสหรัฐฯ จะเข้ามาเกี่ยวข้องแค่ไหน เรื่องนี้คงเป็นสิ่งที่เราจะได้รับรู้ต่อไปหลังจากนี้