แยกดินแดง พื้นที่ตัดกันระหว่างถนนดินแดง กับถนนวิภาวดีรังสิต ถูกรายล้อมด้วยที่อยู่อาศัย ทั้งแฟลตดินแดงสำหรับผู้มีรายได้น้อย ร้านรวง ตลอดจนคอนโดมีเนียม รวมถึงมีอีกหนึ่งความสำคัญทางการเมืองของพื้นที่คือเป็นทางผ่านไปสู่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (กรมทหารราบที่ 1) อันเป็นบ้านพักจากเงินหลวงของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
และนับจากคืนวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2564 ชื่อ ‘แยกดินแดง’ ก็อยู่ในความสนใจของคนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ในฐานะพื้นที่หลักในการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เริ่มจากกลุ่ม REDEM ประกาศเส้นทางการเคลื่อนขบวนการชุมนุมเพื่อไปยังกรมทหารราบที่ 1 อีกครั้งในวันดังกล่าว หลังจากการพยายามเคลื่อนขบวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ที่จบลงด้วยการโอบล้อมของตำรวจควบคุมฝูงชนเพื่อเข้าจำกัดพื้นที่และสลายการชุมนุม
โดยเช้าวันนัดหมาย ทางตำรวจได้นำตู้คอนเทนเนอร์สองชั้นมากั้นเป็นสิ่งกีดขวางบริเวณแยกดินแดง ก่อนเลี้ยวเข้าถนนวิภาวดีรังสิต ผิดจากครั้งก่อนที่การวางตู้คอนเทนเนอร์เป็นไปเพียงการล้อมรอบกรมทหารราบที่ 1 เท่านั้น

ม่านหมอกจากแก๊สน้ำตาที่ปกคลุมแยกดินแดงในช่วงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2564
ถนนที่ถูกปิดตายทำให้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ติดค้างอยู่ตรงถนนราชวิถี และถนนดินแดงหลังสามเหลี่ยมดินแดง ก่อนที่ภาพการชุมนุมช่วงบ่ายจนเกือบเย็นในวันนั้นจะเต็มไปด้วยกลุ่มควันจาก ‘แก๊สน้ำตา’ ต่อเนื่องหลายร้อยลูก กระสุนยางและรถฉีดน้ำแรงดันสูงถูกนำมาใช้เพื่อสลายการชุมนุมอย่างรวบรัดตัดตอน
แม้การชุมนุมในวันนั้น ผู้ชุมนุมจะไม่สามารถข้ามผ่านบริเวณดังกล่าวได้ แต่ใช่ว่าหลังจากนั้นจะไม่มีคนพยายามทลายกำแพงขนาดใหญ่ที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ที่เดิม เพราะวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2564 การเดินขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 1 ก็เกิดขึ้นอีกครั้งโดยกลุ่มทะลุฟ้า โดยจุดเผชิญหน้าขนาดย่อมเกิดขึ้นบริเวณหน้ากำแพงตู้คอนเทนเนอร์ ระหว่างตำรวจที่ใช้กระสุนยาง และแก๊สน้ำตาเป็นอาวุธ เข้าปะทะกับผู้ชุมนุมที่ใช้พลุ ประทัด และหนังสติ๊กยิงลูกแก้ว

ผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊กยิงหินและลูกแก้วใส่แนวเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2564
และนับจากวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นมา ต่อให้วันนั้นจะมีการนัดชุมนุมที่จุดในของกรุงเทพมหานครก็ตาม ช่วงเวลาราว 4-5 โมงเย็น พื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงก็จะเริ่มแปรเป็น ‘สมรภูมิ’
ภาพของคนกลุ่มหนึ่งที่ขับจักรยานยนต์ส่วนตัวเข้ามาขับฉวัดเฉวียนในพื้นที่ หรือว่าคนอีกกลุ่มที่มาพร้อมอุปกรณ์ปกปิดใบหน้าหากไร้อุปกรณ์ป้องกันตัวอื่น จนใครหลายคนเรียกเป็น ‘ตัวเปิดงาน’ จากนั้นก็จะตามมาด้วยเสียงประทัดหรือพลุ ก่อนปิดท้ายวันด้วยการสลายการชุมนุมจากกลุ่มตำรวจควบคุมฝูงชนที่มาพร้อมกับกระสุนยางและแก๊สน้ำตา
พวกเขาเป็นใคร พวกเขามาจากไหน พวกเขามีจุดประสงค์อะไรถึงตัดสินใจก้าวมาเป็น ‘แนวหน้า’ ในการปะทะบริเวณนี้ การนึกและคิดตัดสินเองอาจไม่สามารถทำให้เราทำความรู้จักพวกเขาได้ ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือการลงพื้นที่ไปคุยกับพวกเขาเอง
ท่ามกลางการปะทะตลอดสัปดาห์ เราเข้าไปพูดคุยทำความรู้จักกับพวกเขา ณ แยกดินแดง ในช่วงเวลาที่ยังมีเหล่าผู้ชุมนุมไม่ถึง 50 คนบริเวณหน้าตู้คอนเทนเนอร์ ก่อนที่จะต้องหยุดการสัมภาษณ์เอาไว้ชั่วคราวและถอนตัวออกจากหน้างาน เพราะแก๊สน้ำตาลูกแรกของวันตกลงมาห่างจากจุดที่เรายืนไม่ถึง 10 เมตรดี โดยที่ไม่ได้ยินเสียงแจ้งเตือนการใช้แก๊สน้ำตาจากอีกฟากแม้แต่น้อย

ภาพรถจักรยานยนต์เต็มถนน พร้อมนักขับวัยหนุ่มสาว กลายเป็นภาพที่เห็นได้ตลอดสัปดาห์กลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564
มาเพื่อเสรีภาพ
ภาพชาย 2 คนที่ยืนบริเวณรั้วเหล็กกั้นเส้นทางบนถนนราชวิถีก่อนถึงแยกดินแดง คอยตะโกนให้เหล่าบรรดารถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ขับผ่านทราบว่าพื้นที่ข้างหน้ามีการนำตู้คอนเทนเนอร์มากั้นเอาไว้และไม่สามารถขับผ่านได้ เป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนโดยทั่วไปนั้นเป็นของใครกันแน่
ไนท์ (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) คือชายอายุ 21 ปีที่เข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้ง และเขาเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมที่แยกดินแดงอย่างต่อเนื่อง
“มาเรียกร้องประชาธิปไตย แบบ มาเพื่อเอาเสรีภาพครับ”
เขาให้คำอธิบายเพิ่มเติมคำว่าการเรียกร้องเอาเสรีภาพนั้นเป็นเพราะว่าตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ในทุกด้าน ไม่ว่าจะในเรื่องของการรับมือกับโรคระบาดหรือว่าในเรื่องของเศรษฐกิจ ในมิติใดของชีวิตก็ยากไปหมด หรือเรียกได้ว่าไม่มีอะไรดีในชีวิตของเขาเลยแม้แต่อย่างเดียว

วัยรุ่นบนรถจักรยานยนต์คู่ใจ พร้อมเสียงเร่งเครื่องยนต์ดังสนั่นทั่วแยกดินแดงในช่วงเย็นตลอดสัปดาห์กลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564
สำหรับความย่ำแย่ที่ไนท์เจอกับตัวจนต้องออกมาออกมาชุมนุมนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะว่างงาน เพราะช่วงก่อนหน้านี้ตนเองทำงานอยู่ในโรงงาน แต่โรงงานนั้นก็ปิดตัวลงไปแล้ว จากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงวิกฤติโควิด-19
“คือมันอึดอัดใจครับ เขาบอกว่าใช้เวลาอีกไม่นานใช่ไหม ที่เพลงบอก …ตอนนี้ล้มเหลวหมดแล้วครับ”
สู่แนวหน้าเพราะอยากรู้
จากช่วงเวลาที่เราคุยกับไนท์นั้น บริเวณหน้าตู้คอนเทนเนอร์ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘จุดปะทะหลัก’ ยังไม่มีเหล่าผู้ชุมนุมปรากฏตัว เราจึงสอบถามต่อไปว่าจากประสบการณ์การมาชุมนุมที่ผ่านมาหลายครั้งของไนท์ นอกจากการมาช่วยให้ความสะดวกกับผู้สัญจรไปมาแล้ว เขาเคยไปอยู่บริเวณ ‘แนวหน้า’ หรือเปล่า
“เคยครับ ตอนเขาปะทะกัน ก็น่ากลัวนะ ตอนนั้นผมอยากรู้อยากเห็นมากกว่า”
โดยประสบการณ์ของไนท์เองก็เคยเข้าไปอยู่เป็นแนวหน้าหรือแนวปะทะเช่นกัน เขาเล่าว่าความรู้สึกของการไปอยู่จุดแนวหน้าก็มีความกลัวไม่น้อย เพราะเขาก็รับรู้ว่าการอยู่บริเวณนี้หมายความถึงการเพิ่มอัตราความเสี่ยงที่อาจจะถูกกระสุนยางจากตำรวจที่ขึ้นไปยิงจากบนสะพาน หรือว่าจะเป็นในส่วนของการยิงแก๊สน้ำตาที่ไม่ได้เป็นการยิงข้ามมาจากการอีกฝั่งของตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการยิงลงมาจากทางพิเศษเฉลิมมหานคร ซึ่งเรียกได้ว่ากระบอกแก๊สน้ำตานั้นสามารถลอยมาตกได้จากหลายทิศทาง
เราถามต่อไปว่าแล้วไนท์มีจุดยืนประจำระหว่างการชุมนุมหรือไม่ เขาตอบว่าสำหรับตัวเขาเองนั้นไม่ได้ยืนอยู่จุดหนึ่งจุดใดเป็นพิเศษ อยากไปประจำอยู่ตรงไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงเวลานั้นมีพื้นที่ใดที่ต้องการความช่วยเหลือ เขาก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วย
และหน้าที่หลักของไนท์ในเวลานี้ ณ จุดปะทะแยกดินแดง เขามองว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งของการ ‘เข้าไปห้าม’ ไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น

ไม่ใช่แค่ไนท์ แต่ผู้ชุมนุมหลายคนก็เลือกที่จะวางบทบาทในการคอยดูแลคนอื่นๆ และคอยห้ามทัพ
ทั้งเรียกร้องและเล่นสนุก
ในฐานะของคนที่มาชุมนุมหลายครั้ง เราขอให้ไนท์ช่วยอธิบายว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้แท้จริงคือใคร แล้วเพราะอะไรพวกเขาจึงมารวมตัวกันเพื่อปาระเบิด เผาสิ่งของ ยิงหนังสติ๊ก และประทัดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ พื้นที่สามแยกดินแดงแห่งนี้
“แล้วแต่คนนะ บางคนก็ออกมาเพื่อความสนุก บางคนก็ออกมาเรียกร้องจริงๆ ครับ”
โดยเขาให้คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ชุมนุมในจุดนี้ว่าไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนใหญ่กลุ่มเดียวที่มาด้วยกันทั้งหมด แต่เรียกได้ว่าต่างคนต่างมา บ้างก็มาคนเดียว บ้างก็เป็นการรวมกลุ่มขนาดเล็กในสังคมของคนรู้จักแล้วมาด้วยกัน อย่างตัวไนท์เองก็มากับเพื่อนอีกคนหนึ่ง มากันสองคนเท่านั้นเอง

กลุ่มของผู้ชุมนุมวัยรุ่นขณะยิงระเบิดปิงปองด้วยหนังสติ๊กบริเวณใต้ทางด่วน แยกดินแดง
และตามธรรมชาติของผู้ชุมนุมที่ต่างพื้นเพ ต่อให้เป็นการเดินทางมาชุมนุมกันในสถานที่เดียวกันแต่ทัศนคติของแต่ละคนต่อกิจกรรมที่แสดงออกก็มีความแตกต่างกันออกไป
เขาเล่าให้ฟังว่าบางกลุ่มนั้นก็เป็นวัยคะนองที่ออกมาเพื่อความสนุกสนานของตัวเอง ได้จุดพลุ เล่นประทัด หรือว่าได้มาขับมอเตอร์ไซค์เล่นก็มีเช่นกัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตรงกับที่เราเดินคุยกับกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 ปีกลุ่มหนึ่ง โดยเขาบอกว่าที่มายังแยกดินแดงแห่งนี้เพราะว่าเห็นในโทรทัศน์ว่าที่นี่มีการปะทะและเล่นพลุไฟ พวกเขาจึงอยากมาบ้าง
โดยส่วนตัวแล้วเขาบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถห้ามหรือว่าบังคับกันได้ที่จะให้คนทุกคนที่มายังพื้นที่แยกดินแดงมาเรียกร้องประชาธิปไตย แม้ว่าตัวเขาเองจะไม่ได้เห็นด้วยกับการออกมาเพื่อความสนุกสนานก็ตาม

ขบวนจักรยานยนต์ผู้ชุมนุมหลังการสำรวจแนวปะทะของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทันทีที่อันตรายเริ่มเกิดขึ้น พวกเขาจะเร่งเครื่องและพุ่งตัวหนีออกมาอย่างรวดเร็ว
จะเอาอะไรไปสู้กับตำรวจ
สำหรับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจจะพูดได้ว่า เมื่อพูดถึงจุดการชุมนุมบริเวณพื้นที่แยกดินแดงแล้วนั้น ภาพที่เกิดขึ้นมักหลีกไม่พ้นภาพของการใช้พลุ ใช้ประทัด ก่อนที่ทางตำรวจจะใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางในการสลายการชุมนุมในช่วงเย็นไปจนถึงค่ำหรือดึกในแต่ละวัน
โดยมุมมองของไนท์ ต่อ ‘วิธีการต่อสู้’ ของผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงนั้น เขายอมรับว่าตัวเขาเองไม่อยากให้ทางผู้ชุมนุมใช้พลุสักเท่าไหร่ แต่จะให้ผู้ชุมนุมทุกคนต่อสู้ไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นไปไม่ได้
“ผมว่ามันก็รุนแรงเกินไปนะบางครั้ง แต่ว่าถ้าไม่ปะทะ จะเอาอะไรไปสู้ตำรวจจริงไหมครับ เขามีโล่ มีทั้งปืน มีทั้งแก๊สน้ำตา”

ผู้ชุมนุมใช้พลุยิงใส่แนวป้องกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการชุมนุม
ถึงอย่างไรก็ตาม เขาก็ยังอธิบายความเข้าใจในส่วนของเขาว่าเพราะอะไรผู้ชุมนุมบางคนจึงเลือกใช้อุปกรณ์จำพวกประทัด หรือว่าพลุในการตอบโต้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะว่าในขณะที่ฝั่งของตำรวจควบคุมฝูงชนนั้นมาพร้อมกับอุปกรณ์ในการป้องกันตัวและการสลายการชุมนุมที่ครบมือและครบครัน ฝั่งของผู้ชุมนุมนั้นบางคนเรียกได้ว่ามามือเปล่าและมีเพียงหน้ากากเอาไว้ป้องกันเรื่องของโรคระบาด
และเขาก็ยังเชื่อว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่เขาที่ยังคงยึดมั่นว่าจะเริ่มใช้อุปกรณ์เหล่านี้ต่อเมื่อ ‘ตำรวจเริ่มก่อน’ เท่านั้น
หากอย่างที่ไนท์ได้อธิบายก่อนหน้าไปแล้ว ว่าการชุมนุมในบริเวณแยกดินแดงนั้นมีความเป็นเอกเทศของผู้ชุมนุมสูง บางคนมาเพื่อเล่นสนุก มาเพื่อได้โยนประทัดหรือว่าพลุเท่านั้น เขาคนเดียวไม่สามารถที่จะเข้าไปห้ามทุกคนอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ได้ และนั่นก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่บางคน ‘เหมารวม’ และ ‘ตัดขาด’ กลุ่มผู้ชุมนุมที่ตั้งใจมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องออกไป
“ผมก็รู้สึกไม่ดีเหมือนกันนะ มันมีปนกันไง แล้วตอนนี้ทุกครั้งหน้างานเราก็ไม่รู้ว่าหน้าไหน ใครเป็นใคร เพราะไม่รู้ว่ากลุ่มไหนใช้บ้าง เราก็ไม่รู้เหมือนกัน”
หลังจากจบการพูดคุยกับไนท์บนถนนราชวิถี เราเดินตรงก่อนเลี้ยวซ้ายไปทางถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อพบกับตู้คอนเทนเนอร์สองชั้นห่างออกไปไม่ไกล เป็นเวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้วตั้งแต่ที่ได้เห็นกำแพงกั้นนี้ แล้วก็ได้แต่ตั้งคำถามที่ไม่มีคนตอบว่าเครื่องกีดขวางเหล่านี้จะตั้งปิดกั้นเส้นทางไปอีกนานเท่าใด
ระหว่างทางมีเหล่าสิงห์มอเตอร์ไซค์ขับเข้าออกบ้างแต่ก็คล้ายกับที่ไนท์อธิบายก่อนหน้าว่าบางคนก็แค่ขับเข้ามาแล้วก็ออกไป และเราก็เลือกที่จะเดินเข้าไปหาชายคนหนึ่งที่มาพร้อมกับผ้าโพกศีรษะอเนกประสงค์ (ผ้าบัฟ) ปิดหน้า มีง่ามไม้หนังสติ๊กเสียบเอาไว้ตรงกระเป๋ากางเกงชัดเจน
เศรษฐกิจแย่ก็เลยต้องออกมา
โป๊ง (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) ชายอายุ 22 ปี เล่าประวัติของตัวเองให้เราฟังคร่าวๆ ว่าเรียนจนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประกอบอาชีพเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่ปัจจุบันนั้นเรียกได้ว่าออกไปรับงานบ้าง ไม่รับงานบ้าง เพราะว่าต่อให้ออกไปทำงานก็ไม่มีลูกค้าใช้บริการ
“จากปกติ (มีรายได้) 600-700 บาท ปกติเป็น 1,000 บาทอย่างนี้ ทุกวันนี้ก็ได้ 100-200 บาท”
ภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นกับทั้งตัวโป๊งเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรายได้ของครอบครัวซึ่งแต่ก่อนได้วันละ 7,000-8,000 บาท ในปัจจุบันก็เหลือรายได้เพียง 1,000-2,000 พันบาทเท่านั้น และแน่นอนว่าตัวเลขนี้ไม่เพียงพอต่อการตัวเลขรายจ่ายจำนวนมากในแต่ละเดือน
จากคนที่นิยามตัวเองว่าสนใจการเมืองเพียงแค่เล็กน้อย ดูข่าวบ้างเป็นบางครั้ง การประท้วงในรอบปีที่ผ่านมาก็ไม่เคยเข้าร่วม เน้นไปทางการตามข่าวอยู่ที่บ้านเพราะว่าต้องออกไปประกอบอาชีพประจำวัน ก็กลายเป็นลุยเดี่ยว เข้าร่วมการชุมนุมทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2564 โดยเขามีความเชื่อว่าถ้าออกไปประท้วงเพื่อการเปลี่ยนแปลงแล้วรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงพวกพ้องพ้นจากการบริการประเทศ หน้าที่การงานของเขาและคนในครอบครัวเองก็จะดีขึ้นตามอย่างแน่นอน

โป๊งพร้อมจักรยานยนต์คู่ใจ แยกดินแดงกลายเป็นจุดประจำการของเขา แม้แนวปะทะจะถูกขยับไปทางถนนวิภาวดีแล้วก็ตาม เมื่อการจับกุมเริ่มรุนแรง เขาก็จะล่าถอยทันที
ชีวิตแหลกสลายใกล้ตัว
โป๊งยังเสริมรายละเอียดว่าเพราะอะไรเขาถึงมีความเชื่อว่าหากรัฐบาลของประยุทธ์ออกไปแล้ว สภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้น โดยเล่าในส่วนของสภาพเศรษฐกิจในครอบครัวที่เคยรุ่งเรืองในอดีต อย่างเช่นในยุคการบริหารงานของทักษิณ ชินวัตร สถานะทางบ้านของโป๊งเรียกได้ว่ามีกินมีใช้ไม่ขาด มีบ้านพักอาศัยสองหลัง มีรถยนต์ รถกระบะ รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนตอนนี้เขาและสมาชิกในบ้านต้องย้ายมาอยู่ในห้องเช่า
“ตั้งแต่ท่านประยุทธ์ขึ้นมาเศรษฐกิจก็ย่ำแย่”
แต่ตัวเขาเองก็ยังยอมรับว่าความยากลำบากทางด้านเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าปากท้องของทางบ้านตัวเองนั้นอาจจะยังดีกว่าคนรอบตัวหลายคน ยกตัวอย่างกรณีที่ประสบมาด้วยตัวเองคือเพื่อนบ้านในละแวกห้องเช่าของเขาที่ทุกวันนี้กลายเป็นคนเร่ร่อน ทั้งที่ในช่วงก่อนหน้าวิกฤติโควิด-19 นั้นเรียกได้ว่าเพื่อนบ้านรายนี้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงกว่าบ้านของเขาด้วยซ้ำไป

วัยรุ่นจำนวนมากพกหนังสติ๊กใส่กระเป๋ากางเกง และเดินทางสู่พื้นที่ชุมนุม
แนวหน้าผู้คอยช่วยเหลือ
โป๊งยังได้อธิบายให้ฟังว่าเหตุผลที่เขามาอยู่ที่ ‘จุดแนวหน้า’ ก็เพื่อช่วยเหลือ คอยสอดส่องว่าสถานการณ์แนวหน้าเป็นอย่างไรบ้าง มีการใช้กระสุนยาง มีการใช้แก๊สน้ำตาแล้วหรือไม่ รวมถึงการช่วยจัดหาน้ำมาล้างตาของผู้เข้าร่วมชุมนุมรายอื่นที่อักเสบจากสารเคมีเป็นต้น
“คือถ้าผมโดนเอง อันนี้ไม่สำคัญครับ ผมอยากช่วยเหลือมากกว่า จะได้ไม่มีใครเจ็บตัว”
เขายังเล่าต่อว่าในการชุมนุมวันก่อนๆ มีครั้งหนึ่งที่เขาพยายามเข้าไปช่วยผู้ชุมนุมที่รถมอเตอร์ไซค์ล้มระหว่างจังหวะชุลมุน จนกลายเป็นว่าตัวเขาเองตกอยู่กลางกลุ่มแก๊สน้ำตา และในท้ายที่สุดโป๊งที่ไม่ได้มีอุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตาก็ต้องให้ผู้ชุมนุมรายอื่นช่วยกันพาตัวออกมา
การระแวดระวังความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่โป๊งพยายามจะทำ เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งเขาเคยเจอชายที่อายุน้อยกว่าเข้ามาในพื้นที่พร้อมกับอาวุธที่คล้ายปืน โป๊งจึงเข้าไปตรวจสอบก่อนที่จะพบว่าเป็นปืน BB Gun
ซึ่งเขาก็ได้เตือนไปว่าอุปกรณ์เหล่านี้อาจทำให้ฝั่งของตำรวจเข้าใจผิดว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธปืนของจริง ซึ่งอาจนำไปสู่การปะทะกันด้วยอาวุธที่มีความรุนแรงใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นตัวโป๊งเองก็ยังพยายามที่จะห้ามปรามเหล่าวัยรุ่นที่พร้อมเข้าปะทะทุกเวลา แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่เสียงเดียวของเขาจะสามารถหยุดเหตุการณ์เหล่านั้นได้
ถ้าอย่างนั้นแล้ว ไม้ง่ามหนังสติ๊กในกระเป๋าของโป๊งใช้สำหรับทำอะไร เขาเล่าจุดประสงค์ที่แท้จริงสำหรับการพกอุปกรณ์นี้ว่าเป็นการพกเพื่อ ‘ป้องกันตัว’ เสียมากกว่า
“จริงๆ ผมเอาไป ผมไม่ได้เอาไปปะทะ ผมเอาไปติดตัวไว้เฉยๆ ไม่ต้องการที่จะยิงใส่ คฝ. (ตำรวจควบคุมฝูงชน) ผมต้องการที่จะยิงให้เขากลัวนิดหนึ่ง ยิงไปจุดที่ไม่มีคน เป็นการยิงขู่มากกว่า”
โดยเขาจะยิงให้เกิดเสียงดังในช่วงที่ตำรวจดันโล่เข้ามา เป็นการยิงขู่เพื่อให้ตำรวจเกิดจังหวะหยุดหรือถอย ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่าตัวเองมีการใช้ประทัดเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างเสียงดัง เพื่อให้ฝ่ายของตำรวจหยุดชะงักเช่นกัน แต่สำหรับตัวเขาเองจะไม่มีการใช้ไปถึงขั้นพลุแต่อย่างใด

รถจักรยานยนต์ที่ล้มระเนระนาด หลังการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยการใช้กระบองไล่ฟาด ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2564
ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่
โป๊งเองยอมรับว่าการที่ผู้ชุมนุมนั้นประกอบด้วยไปด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางความคิด ทำให้เป็นการควบคุมสถานการณ์เป็นเรื่องยาก บางครั้งคนที่เริ่มยั่วยุหรือการปะทะเกิดขึ้นจากฝั่งของผู้ชุมนุมเอง และเมื่อชนวนของการปะทะนั้นเริ่มต้นขึ้นแล้ว ทางฝั่งตำรวจมีการเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมสถานการณ์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ส่วนที่เขาไม่พอใจคือระดับการใช้กำลังที่สร้างความอันตรายมากขึ้นทุกครั้งที่มีการชุมนุมอย่างเห็นได้ชัด
จากตอนแรกที่ยิงแก๊สน้ำตาเพียงแค่ไม่กี่ลูก ก็กลายเป็นการยิงต่อเนื่องไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหน มีการใช้กระสุนยางจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง หรือว่ารถฉีดน้ำที่ฉีดไปทุกที่ และในปัจจุบันที่เขารับไม่ได้คือการทำร้ายร่างกายของผู้ชุมนุม
“เขาไม่น่าทำร้าย เพราะว่าฝั่งเขาเข้าจับ เขาอยู่กันสามสี่คนเขาล็อกก็อยู่แล้ว ไม่ต้องถึงขั้นทำร้ายร่างกายขนาดนั้น ทำเกินกว่าเหตุมาก”

ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งที่มีเยาวชนรวมอยู่ด้วย ถูกจับมัดมือไพล่หลัง ระหว่างการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2564
สิ่งที่โป๊งห่วงและกังวลคือเรื่องของการที่ตำรวจเข้าทำร้ายร่างกายประชาชนในลักษณะที่เรียกได้ว่า ‘มั่ว’ คือไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนด้วยซ้ำว่าผู้คนเหล่านั้นเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมหรือว่าเป็นชาวบ้านที่จำเป็นต้องใช้เส้นทางนี้ในการเดินทาง อย่างที่เห็นได้จากข่าวสารที่ปรากฏบนโลกออนไลน์
ในช่วงเวลาที่การเรียกร้องเพื่อปากท้องที่ดีกว่าเต็มไปด้วยข้อถกเถียงเรื่องความรุนแรงระหว่างการชุมนุม บ้างก็ตั้งประเด็นเรื่องการชุมนุมโดยสันติ บ้างก็ตั้งประเด็นเรื่องการต่อสู้ด้วยประทัดหรือพลุก็อาจจะไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จ เราจึงตั้งคำถามว่าแล้ววิธีการใดที่จะนำพาเหล่าผู้ชุมนุมไปสู่จุดหมายที่ต้องการ
“อันนี้มันยังพูดไม่ได้ เพราะว่าสถานการณ์ตอนนี้มันเริ่มรุนแรงแล้ว เราจะไปยืนเรียกร้องเฉยๆ มันก็ไม่ได้ ก็เหมือนวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2564 เราไปยืนเรียกร้อง แล้วเขาก็ยิงตอบโต้มา คือสันติก็อาจจะไม่ได้ผล ระเบิดก็อาจจะไม่ได้ผล”

ผู้ชุมนุมรายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมระหว่างการชุมนุม พร้อมระเบิดปิงปองเต็มกระเป๋า
จากผู้เข้าร่วมที่ตั้งใจมาห้ามความรุนแรง และผู้เข้าร่วมที่มุ่งประเด็นไปที่การช่วยเหลือผู้ชุมนุมรายอื่นจากความเสี่ยงอันตราย เรายังไม่หยุดตามหาผู้เข้าร่วมที่เลือกใช้อุปกรณ์อื่นเช่นพลุในการตอบโต้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเสียงพลุและเสียงระเบิดกลายเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของภาพการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงไปเสียแล้ว จนพบกับดรีม (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) เด็กชายวัย 16 ปี ที่ยอมรับว่าตนเองนั้นมีการใช้พลุในพื้นที่ชุมนุม
การเมืองเพื่อปากท้อง
ดรีมบอกว่าตัวเองเคยเป็นเด็กเกเร ทำให้พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วก็เลือกที่จะออกมาช่วยทางบ้านขายของ และแน่นอนว่าการที่เขาต้องทำงานคลุกคลีกับการค้าขายทำให้เขารับรู้ได้ว่าสภาพเศรษฐกิจที่บ้านตอนนี้กำลังแย่ลง
“เจอกับตัว ต้องออกมาสู้แล้ว ถ้าเราไม่สู้เราก็แพ้”
เขาเล่าพื้นหลังชีวิตว่าแต่ก่อนนั้นเขาไม่ได้มีความสนใจในเรื่องของการเมืองเลยแม้แต่น้อย ไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมหรือว่าสนใจการประท้วงครั้งไหน ทว่าวิกฤติโควิด-19 ที่กระทบกับสถานะทางการเงินของบ้านโดยเฉพาะในระลอกล่าสุด (เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564) ข่าวสารที่เขาได้รับว่าทางตำรวจมีการใช้อุปกรณ์สลายการชุมนุมจนมีคนรู้จักเขาได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง รวมถึงคำชวนจากเหล่าเพื่อนฝูงให้ออกมาช่วยกันเรียกร้องเพื่อปากท้อง ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม จากทางพิเศษเฉลิมมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นไปตามขั้นตอนการสลายการชุมนุมตามหลักสากลหรือไม่
โดยลักษณะของการชวนกันมานั้นไม่ได้มีใครเป็นหลักหรือว่าเป็นแกนนำในการชักชวนที่ชัดเจน หรือว่าไม่ได้มีการตามเพจหนึ่งเพจใดในเฟซบุ๊กที่มักจะเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือตัวกลางในการกระจายข่าว แต่จะเป็นในลักษณะของคนรู้จักกันทักมาชวนปากต่อปากให้เข้าร่วมผ่านช่องทางออนไลน์ ในทำนองของการบอกว่าออกมาช่วยปกป้องคนในที่ชุมนุมจากความเป็นไปได้ที่ตำรวจจะใช้ความรุนแรง โดนไม่ได้สนใจว่าใครจะเป็นกลุ่มจัดกิจกรรมในวันนั้น
“ชวนๆ กันมา มาช่วยเขา ช่วยพวกรุ่นพี่มาปกป้องประชาชน”
เพราะมีแค่พลุให้ใช้
พลุ นับเป็นหนึ่งอาวุธแห่งความตื่นตระหนกในการปะทะที่แยกดินแดง ทั้งเสียงอันดังสนั่น ทั้งประกายไฟ ทั้งวิถีการยิงที่กระจัดกระจายไปทั่ว ดรีมได้เล่าถึงสาเหตุการเลือกใช้พลุเป็นอาวุธประจำกายได้อย่างน่าสนใจ
เขาเล่าย้อนไปว่าการมาเข้าร่วมการชุมนุมในครั้งแรกของเขานั้นเป็นการมาที่เรียกได้ว่ามาตัวเปล่า เป็นการมาตามคำชวนของรุ่นพี่ที่บอกว่า ‘ให้มาช่วยกันหน่อย’ ไม่ได้มีความคิดในเรื่องของการนำพลุหรือว่าระเบิดอะไรติดตัวมาด้วยเลย หากพอเขามาถึงบริเวณแนวหน้าของการชุมนุมแล้วก็เจอกับตัวเองว่าทางตำรวจมีการใช้อาวุธในการสลายการชุมนุมอย่างเช่นพวกแก๊สน้ำตา กระสุนยาง หรือว่ารถฉีดน้ำความดันสูง

ผู้ชุมนุมวัย 15 ปีถูกกระสุนยางเข้าที่ใบหน้าหลังขับจักรยานยนต์เข้าใกล้แนวป้องกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“เพื่อนผมโดนแล้วครับ โดนกระสุนยางบ้าง แก๊สบ้าง แล้วใช้อย่างอื่นตอบโต้มันไม่ได้ เดี๋ยวเขาหาว่าทำเกินกว่าเหตุ”
เมื่อการไปมือเปล่าตามมาด้วยการบาดเจ็บของทั้งตัวเองแล้วก็เพื่อนฝูง สภาวะของการป้องกันตัวและตอบโต้ของชายในช่วงวัยรุ่นจึงเกิดขึ้น นั่นจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ดรีมยอมรับว่ามีการนำอุปกรณ์บางอย่างเช่น พลุและระเบิดติดตัวไปด้วย ถึงอย่างไรก็ตามดรีมก็อธิบายว่าที่เลือกใช้พลุ เพระว่าเป็นการตอบโต้ที่ยังอยู่ในขอบเขต และไม่เคยโยนสุ่มสี่สุ่มห้า รวมถึงจะให้ใช้อุปกรณ์ที่มีความรุนแรงมากอย่างเช่นปืนก็คงไม่ได้ เพราะเป็นอันตรายกับคนรอบข้างมากเกินไป
“ถ้าเราไม่ป้องกัน เราก็โดนครับ เราไม่ได้จะไปฆ่าเขา เราไปป้องกันตัว …ผมว่าการใช้พลุและระเบิดยังน้อยไป เขาทำประชาชนหนักกว่านี้อีกครับ ผมว่ามันไม่ใช่อะไรที่แรงเกินไป”
ไม่เก็บคำพูดของคนอื่นมาคิด
ต่างคนต่างที่มา ต่างจิตต่างใจ นอกจากข้อถกเถียงเรื่องของระดับความสันติในการชุมนุม การใช้ระเบิดหรือว่าพลุในที่ชุมนุม อีกหนึ่งประเด็นที่อยู่ในความสนใจคือการ ‘แบ่งแยก’ กลุ่มของผู้ชุมนุมที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ออก หรือบางครั้งถึงกับมีการประกาศว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มของผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
ดรีมเกริ่นว่ามันเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากลุ่มคนที่มายังจุดปะทะดินแดงมาพร้อมกับจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน สำหรับบางคนนั้นก็มาเพื่อก่อกวน เพื่อปะทะกับเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้สนเรื่องของการเรียกร้องไม่ว่าจะเรื่องของปากท้องหรือว่าประชาธิปไตยจริงๆ แต่ส่วนตัวเขาแล้ว หากมีคนมาประกาศว่าคนที่ขว้างพลุหรือระเบิดไม่ใช่กลุ่มของผู้ชุมนุมแล้ว เขาก็เลือกที่จะวางเฉย

นอกจากพลุ หนังสติ๊ก และระเบิดปิงปอง การเผาสิ่งของก็เป็นอีกกิจกรรมในการแสดงออกของผู้ชุมนุมบนแยกดินแดง
“ผมก็ปล่อยเขาอะครับ เขาจะพูดอะไรก็ช่าง นี่คือวิธีการปกป้องคนอื่นของผม คือว่าเรามาช่วยก็คือมาช่วยครับ คำพูดไม่ได้มีผลอะไร แต่ส่วนใหญ่ถ้าพวกตำรวจไม่แรงมาพวกผมก็ไม่แรง พวกผมก็คุย ถามว่ามีไหมมันก็มีพวกแรง แต่ว่าไม่ใช่พวกผม”
เราถามต่อว่า ตั้งแต่ที่ดรีมเริ่มลงมาช่วยเหลืออยู่บริเวณแนวหน้า เขารู้สึกว่าตัวเองทำไปด้วยความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มในการชุมนุมหรือเปล่า
“ก็ช่วยนะ แต่ก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอะไรขนาดนั้น”
ถูกจับออกจากจุดชุมนุม
ด้วยบุคลิกและการแต่งกายของดรีมในการเข้าร่วมการชุมนุมที่มีความคล้ายคลึงกับผู้ที่พร้อมจะปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดเวลา ทำให้ในบางครั้งเขาเองก็เผชิญกับปัญหาเรื่องของการโดนกันออกจากจุดชุมนุม เพราะมีหลายคนกังวลว่าคนกลุ่มนี้อาจจะเข้ามาพร้อมกับความรุนแรง
ดรีมยกตัวอย่างเช่นการชุมนุมในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2564 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ของกลุ่มทะลุฟ้า ที่มีการเดินต่อไปยังบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเขาเองก็ตั้งใจที่จะเข้าร่วมเช่นกัน
“ผมก็ถือหนังสติ๊กไป เขาก็บอกว่าอย่าไปใช้นะ เขาไม่ให้ใช้นะ มันรุนแรงไป ผมก็โอเค ผมก็เงียบ มีคนหนึ่งบอกว่า ในตัวมีระเบิดไหม แล้วก็จับออกเขตเลย แต่ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร”
แต่ถามว่าดรีมรู้สึกเสียใจหรือว่าโกรธกับการที่มีคนมาตัดสินการกระทำไปล่วงหน้า แล้วพาเขาออกจากเขตการชุมนุมหรือเปล่า เขาตอบว่าเข้าใจว่าในบางครั้งบางกลุ่มก็แฝงเข้ามาเพื่อก่อกวนจริงๆ
หรือว่าในบางครั้งก็มีคนที่เดินเข้ามาชี้หน้าแล้วบอกว่าการใช้พลุตอบโต้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาบอกว่ารู้สึกเฉยๆ กับคำพูดเหล่านั้น
บ้านไม่ได้ห้าม แต่ห่วงเรื่องความปลอดภัย
ด้วยช่วงอายุที่เด็กกว่าผู้ให้สัมภาษณ์รายอื่น ปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวทางบ้านของดรีมย่อมต้องมีความห่วงใยต่อการเข้าสู่การชุมนุมที่เต็มไปด้วยการปะทะ ดรีมอธิบายว่าครอบครัวไม่ได้ห้ามการมาชุมนุม แต่จะแสดงความเป็นห่วงเรื่องของความปลอดภัยมากกว่าเพราะในช่วงหลังนั้นภาพการสลายการชุมนุมโดยความรุนแรงมันมีมากขึ้น
ในสายตาของดรีม การออกมาในทุกวันนี้ที่อาจจะตามมาด้วยอันตรายที่เกิดขึ้นกับตัวเองในทุกเมื่อ และไม่มีใครรู้ได้แน่ชัดว่าการชุมนุมของคนไทยทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่จุดแยกดินแดงจะพาพวกเขาไปถึงจุดไหน
ดรีมเองก็ยังมองอนาคตได้ไม่ชัดเจนนัก จากการก้าวออกมายืนอยู่ที่แนวหน้าของการปะทะ
“อยากให้เขา (ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ออก แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะออกไหม แต่ว่าก็อยากจะช่วยคนอื่น ทำอะไรที่เราทำได้”
ตลอดการพูดคุยมีเพียงความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่มีการประดิษฐ์ถ้อยคำเพื่อใช้ประกอบการเล่าเรื่อง หากเต็มไปด้วยความซื่อตรงและจริงใจ
ไม่ใช่แค่ไนท์ โป๊ง และดรีม เรายังได้สอบถามและบันทึกเรื่องราวของผู้คนบริเวณแยกดินแดงอีกจำนวนหนึ่ง โดยจุดร่วมบางอย่างที่เห็นได้ชัดคือคนเหล่านี้คือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
โดยเฉพาะการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดที่มีความรุนแรงระดับสูง โรงงานปิดตัว ขายสินค้าไม่ได้ ตัวเลขของรายได้ที่ลดถอยลงมากว่าครึ่งในขณะที่รายจ่ายในแต่ละเดือนยังคงเท่าเดิม การบริหารที่ล้มเหลวและไม่มีทีท่าว่าจะสามารถลุกขึ้นมายืนได้ในเร็ววันทำให้พวกเขาต้องออกมาเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ดีกว่าให้ตัวเอง
การออกมาชุมนุมของพวกเขานั้นมีความน่าสนใจในมิติของการรวมตัวโดย ‘ไร้แกนนำ’ โดยแท้
เห็นได้ชัดจากการปะทะบริเวณแยกดินแดงในช่วงหลังนั้นเกิดขึ้นสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเย็น แม้ไม่มีกลุ่มกิจกรรมใดเป็นแม่งาน หรือว่าไม่มีการนัดหมายจากใคร กลายเป็นเรื่องที่รู้กันไปโดยปริยายว่าต่อให้ในวันนั้นจะมีการชุมนุมเกิดขึ้นบริเวณจุดอื่นรอบกรุงเทพมหานครหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายแล้วแยกดินแดงก็จะเป็นสมรภูมิที่มีผู้เข้าร่วมจากทุกสารทิศเสมอ

ความโกลาหลเกิดขึ้นทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มตอบโต้ด้วยกระสุนยาง น้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตา เหล่าสิงห์มอเตอร์ไซค์วัยรุ่น พุ่งตรงออกจากแนวปะทะอย่างรวดเร็ว เพียงเพื่อป้องกันตัวจากการโดนจับ
ความต้องการที่รอไม่ได้
เรานำประเด็นที่น่าสนใจเหล่านี้ไปสอบถามกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.กนกรัตน์ ให้ข้อสังเกตว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงเพิ่งออกมาเข้าร่วมการชุมนุม ทั้งที่การชุมนุมเรียกร้องเพื่อ ‘ไล่รัฐบาล’ เกิดขึ้นมาได้เกือบครบหนึ่งปีแล้ว
“กลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ ‘เพิ่งได้รับผลกระทบโดยตรง’ จากนโยบายการบริหารงานในช่วงโควิด-19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล พวกเขาคือคนที่ตกอยู่ในสภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เป็น ‘เรื่องใกล้ตัว’ ที่ไม่สามารถหาเลี้ยงประทังชีพได้เพียงพอในแต่ละวัน”

ผู้ชุมนุมรายหนึ่งแสดงสัญลักษณ์ปืนจ่อที่ศีรษะตนเอง ระหว่างการชุมนุมที่แยกดินแดง
ซึ่งเมื่อเทียบกับการชุมนุมช่วงปีที่ผ่านมา จากมุมมองของผู้คนเหล่านี้แล้วข้อเรียกร้องไม่ว่าจะเรื่องของการปรับลดงบประมาณแผ่นดิน เรื่องของการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ ‘ไกลตัว’ และไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างเห็นได้ชัดเจนในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีความสนใจในเรื่องของการเมืองหรือว่าการชุมนุมก่อนหน้าแต่อย่างใด
แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 หรือระลอกล่าสุด ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาทางตรง ตอนนี้พวกเขาทำมาหากินไม่ได้ ถูกจำกัดการเดินทาง ไม่มีรายได้สำหรับการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน และเมื่อพวกเขารับรู้แล้วว่า ความยากลำบากที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นผลโดยตรงมาจากนโยบายระดับภาครัฐ นั่นจึงเป็นจุดที่พวกเขาเริ่มออกมาเรียกร้องเพื่อขับไล่รัฐบาลชุดนี้
กล่าวคือเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกว่าตนเองกำลังลำบากหรือกำลังจะอดตาย เขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแกนนำคนใดในการกู่ร้องออกประกาศถึงความยากลำบากที่ตัวเองกำลังเผชิญ เขาพร้อมที่จะเริ่มต้นด้วยตัวเอง เพราะเขาคือคนที่เดือดร้อนและรอไม่ได้
ในทางหนึ่งการชุมนุมที่ผ่านมาก็มีการพยายามเรียกร้องให้เกิดม็อบที่ไม่มีแกนนำขึ้นมา ในแง่หนึ่งกลุ่มคนที่ออกมาที่แยกดินแดงก็เป็นภาพสะท้อนของม็อบรูปแบบที่ว่า คือเป็นม็อบที่ไม่มีแกนนำ เป็นม็อบที่มีข้อเรียกร้องเป็นของตัวเอง และ มีการชุมนุมกันเองโดยไม่ผ่านแกนนำ (Self-Organize)
“เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจถ้าลักษณะการออกมาเรียกร้องของพวกเขานั้นมีความเป็นเอกเทศ ไม่ต้องขึ้นตรงกับการจัดงานของกลุ่มกิจกรรมใดกลุ่มกิจกรรมหนึ่ง ไม่อิงกับวิธีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องของใคร และไม่ต้องรอให้มีการประกาศนัดการชุมนุมแต่อย่างใด”
ส่วนเรื่องของการขว้างปาสิ่งของ หรือว่าการใช้ระเบิดและพลุเป็นเรื่องของความรุนแรงหรือไม่ และเกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักสันติวิธี ดร. กนกรัตน์ตั้งคำถามกลับมาว่า
“แล้วถ้าเขาไม่ได้รับรู้ถึงข้อถกเถียงในเรื่องสันติวิธีเหล่านี้เลยล่ะ?”
ซึ่งขณะเดียวกันเป็นโจทย์ของการชุมนุมในประเทศไทยว่าในวันที่การชุมนุมมีการกระจายตัวอย่างมหาศาล ไม่ได้อยู่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่เพียงหนึ่งหรือสองก้อนอย่างที่ผ่านมา โดยปลายทางของคนทุกกลุ่มต่างมุ่งตรงไปยังเป้าหมายเดียวกันคือการล้มรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทำอย่างไรให้ผู้ชุมนุมไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ตามเข้าใจเหตุผลและเบื้องหลังการแสดงออกที่แตกต่างกัน ให้ระหว่างการเรียกร้องในครั้งนี้ ไม่ได้ทิ้งใครหรือกลุ่มใดเอาไว้กลางทางเพราะมิติที่ผิดแผกของวิถีการต่อสู้

ผู้ชุมนุมที่แยกดินแดง มักเลือกรวมตัวกันเป็นกลุ่มขนาดย่อย ไม่เกิน 20 คน ซ้อนท้ายจักรยานยนต์อยู่ร่วมกัน และจะมุ่งตรงเข้าสู่แนวหน้า เมื่อกลิ่นอายของการปะทะมาถึง
สมรภูมิดินแดงจึงอาจเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาของรูปแบบการชุมนุมในประเทศไทยที่ทลาย ‘ชุดความคิดเดิม’ ของวิถีการชุมนุมโดยเฉพาะในช่วงเวลาความขัดแย้งการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของประเภทของกลุ่มคนที่มาร่วมชุมนุม ปัญหาที่ทำให้พวกเขาก้าวข้ามมาเพื่อรวมตัว หรือว่าจะเป็นวิธีการในการเรียกร้อง
เป็นอีกหนึ่งมิติของการต่อสู้ทางการเมือง ที่ไม่ใช่เรื่องงบประมาณแผ่นดิน เรื่องของการคอร์รับชันระดับประเทศ หรือว่าเรื่องของการเป็นคนดี แต่เป็นเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับปากท้องของคนตัวเล็กที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ชายขอบของสังคมเสมอ ว่าพวกเขาเองก็กำลังเดือดร้อนแล้วต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอดไปอีกหนึ่งวัน โดยมีพลุเหล่านั้นเป็นวิธีการส่งเสียงตะโกนร้องเพื่อให้ ’คนไทย’ หันมาสนใจ
และพวกเขาจะไม่มีวันหยุดสู้
เพราะมันเดิมพันด้วยชีวิตของพวกเขา