ว่ากันว่าคนกรุงเทพมองเห็นอนาคตได้ วันไหนฝนตกหนักก็ทำนายกันได้เลยว่าน้ำต้องท่วมแน่นอน ท่วมธรรมดาไม่พอยังต้องรอระบายกันอีกทั้งวัน เรื่องราวเหล่านี้ก็สะท้อนคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพกันได้พอสมควรเนอะ
เอาเข้าจริงๆ เรื่องน้ำท่วมนี่ก็คือปัญหาโลกแตกที่วนเวียนกลับมาหาพวกเรากันอย่างซ้ำซาก เท่าที่จำความกันได้ พวกเราก็อยู่กับชีวิตท่ามกลางน้ำท่วมกันมาตั้งแต่เด็ก (ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจกันเท่าไหร่) กลายเป็นเรื่องน่าตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วสาเหตุคืออะไร โทษฝน โทษน้ำ โทษสภาพแวดล้อมอย่างเดียวมันเพียงพอไหม หรือสาเหตุที่แท้มันยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย
The MATTER พูดคุยกับ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัย และข้อสนเทศเชิงพื้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยกันว่าสรุปแล้วอะไรคือต้นตอของปัญหาน้ำท่วมกรุง แล้วอุโมงค์ยักษ์ที่เรามีช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลยเหรอ แล้วอย่างนี้เราจะเดินออกจากปัญหาที่ว่ากันอย่างไร
The MATTER: กรุงเทพยังมีโอกาสเจอน้ำท่วมใหญ่อีกไหม
อ.ธนวัฒน์: กรุงเทพยังมีโอกาสเจอน้ำท่วมหนักเหมือนปี 2554 ปัจจัยสำคัญคือความแปรปรวนของภูมิอากาศ และ ฤดูฝนไม่ได้เกิดขึ้นแบบปกติอีกต่อไป เช่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหน้าแล้งแต่ฝนตกหนักมาก แพทเทิร์นของฝนมันเปลี่ยนไป ยิ่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายิ่งเห็นได้ชัดถึงความแปรปรวน บางพื้นที่ในกรุงเทพฝนตกหนัก เดือนสิงหาคมมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ มันสะท้อนได้ว่าสภาพอากาศมันแปรปรวนมาก
ปีนี้อุณหภูมิมันผิดปกติทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน ค่อนข้างจะร้อนขึ้น กระแสที่นำความชื้นมามันสูง โดยเฉพาะปีนี้มีพายุที่เกิดขึ้นในอันดามัน ซึ่งปกติในรอบ 50 ปีจะมีแค่ 2 ลูกเท่านั้น ปีนี้มหาสมุทรอินเดียก็ยังเกิดดีเพรสชั่นบนบกด้วย ถือเป็นเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก
The MATTER: นอกจากสภาพอากาศมันแปรปรวนแล้ว ยังถือว่ารุนแรงขึ้นด้วยรึเปล่า
อ.ธนวัฒน์: แน่นอน เช่น Irma ที่เพิ่งเกิดกับสหรัฐฯ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับกระแสน้ำอุ่นที่เปลี่ยนไปด้วย พูดง่ายๆ ก็คือแพทเทิร์นภูมิอากาศของโลกมันแปรปรวน และพลิกผันอย่างรุนแรง แต่ระบบพยากรณ์และเครื่องมือต่างๆ ของบ้านเรามันตามไปไม่ทัน หากเราไม่สามารถวิเคราะห์สภาพอากาศล่วงหน้าในหลายๆ วันได้ โอกาสลดความเสียหายมันก็ยิ่งน้อยลง
The MATTER: ระบบระบายน้ำของกรุงเทพเป็นอย่างไร ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มากน้อยแค่ไหน
อ.ธนวัฒน์: ระบบท่อระบายน้ำของกรุงเทพถูกทำไว้ตั้งแต่เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนท่อเหล่านี้เคยสูงกว่าแม่น้ำลำคลอง แต่มาวันนี้เมื่อเมืองเติบโตขึ้น มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เยอะจนทำให้คลองทรุดตัวลง กลายเป็นว่าน้ำในคลองอยู่ต่ำกว่าระดับ
การระบายน้ำจากท่อลงสู่คลองและจากคลองไปสู่แม่น้ำมันก็เลยยากขึ้น ยากเหมือนกับการปีนภูเขา พอปีนไม่ไหวน้ำมันก็เอ่อ ตรงกับคำศัพท์ว่า ‘น้ำรอระบาย’ คือมันระบายได้อยู่แต่ก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน
ท่อที่เราวางไว้มันมีขนาด 60 มิลลิเมตร ซึ่งตอนนี้ไม่เพียงแค่ทรุดตัวลง แต่ยังมีตะกอนและเต็มไปด้วยขยะมากมาย การระบายน้ำจึงทำได้ไม่ดีนัก เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ฝนตกลงมาหนัก เกินกว่าที่ศักยภาพของท่อจะรับได้ สุดท้ายน้ำก็ท่วม เดี๋ยวนี้แค่ประมาณ 40-50 มิลลิเมตรก็ท่วมได้แล้ว
อีกปัจจัยก็คือ คนทั้งกรุงเทพใช้น้ำกันวันละประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร มันก็ทำให้การระบายน้ำต้องเจอกับภาระที่หนักไปอีก ลำพังน้ำจากการใช้ของเราก็หนักอยู่แล้ว ถ้าเจอฝนตกลงมาก็แย่เข้าไปใหญ่
The MATTER: อาจารย์คิดว่าการเติบโตของเมืองมีส่วนด้วยไหม
อ.ธนวัฒน์: มันคือความล้มเหลวในการวางผังเมือง การระบายน้ำมันเดินตามการเติบโตของเมืองไม่ทัน รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการถมคลองเพื่อทำถนนต่างๆ จนทำให้น้ำมันระบายไม่ทัน
ตอนนี้กรุงเทพกลายเป็นตัวแบบที่กำลังถูกนำไปใช้กับเมืองอื่นๆ หมด ไม่ว่าจะเป็น พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ ทุกเมืองในประเทศกำลังเลียนแบบมาตรฐานและวิธีการอันย่ำแย่เช่นนี้หมด ‘โรคน้ำรอระบาย’ กำลังกลายเป็น ‘โรคติดต่ออุบัติใหม่’ เริ่มต้นจากกรุงเทพและแพร่กระจายไปทั่วประเทศ
The MATTER: การวางผังเมืองเป็นปัจจัยที่สร้างปัญหาอย่างไร
อ.ธนวัฒน์: คนวางผังเมืองไม่เคยวางผังน้ำ ไม่เคยสนใจว่าระบบที่มีมันระบายน้ำทันไหม ไม่เคยรับผิดชอบกันว่าผังเมืองมันจะช่วยระบายน้ำกันได้อย่างไร นี่คือความล้มเหลวของวิชาการวางผังเมืองบ้านเรา
ภาครัฐไม่เข้าใจปัญหา ยกตัวอย่าง การสร้างคอนโดในเมืองที่ไม่ได้คิดกันอย่างรอบคอบ คนหลายพันคนที่อาศัยอยู่บนคอนโดสูงๆ ใช้น้ำเท่ากับคลองแห่งหนึ่งได้เลย นี่คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กรุงเทพระบายน้ำกันไม่ทัน แม้ว่าจะมีฝนตกเพียงแค่ 40 มิลลิเมตรเท่านั้น ปัจจัยต่างๆ มันกำลังผูกพันกันไปหมด ส่งผลให้แก้ไขปัญหากันลำบากมาก
The MATTER: เราก็มีอุโมงค์ยักษ์นะ ทำไมมันไม่ช่วยแก้ปัญหาได้เลย?
อ.ธนวัฒน์: อุโมงค์ยักษ์คือการใช้งบประมาณที่ล้มเหลว คุณเอาไปตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับน้ำขึ้นน้ำลง สูบน้ำจากคลองมุดใต้ดินไปลงแม่น้ำ แม้กระทั่งคุณระบายน้ำลงคลองไป มันก็อยู่ต่ำกว่าแม่น้ำอยู่ดี มันเลยต้องใช้แรงดันระดับมหาศาล
แถมตรงปากอุโมงค์ยักษ์ยังมีขยะขวางทางอยู่เต็มไปหมด การมีอุโมงค์ยักษ์ก็เลยเหมือนกับคนไทยห้อยพระเอาไว้ป้องกันน้ำท่วม เหมือนเราอุ่นใจว่ามีพระแขวนคอ
ต่อให้ทำอุโมงค์ยักษ์เพิ่มขึ้นอีกสิบอัน แต่ระบบการระบายน้ำทั้งหมดมันไม่ถูกแก้ไข ปัญหาน้ำท่วมมันก็ไม่มีทางหายไป เสียเงินไปฟรีๆ แถมยังเสียงบประมาณในการดูแลอีกมหาศาล
The MATTER: เวลาเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นมา ก็มักจะมีข้อถกเถียงกันเสมอว่าที่มาของปัญหามาจากไหน ระหว่างปัญหาเชิงโครงสร้าง กับ พฤติกรรมคน
อ.ธนวัฒน์: ปัญหาน้ำรอระบายเกิดจากโครงสร้างและพฤติกรรมของคนพอๆ กัน พวกเราควรตระหนักว่า บางทีเราใช้น้ำกันอย่างฟุ่มเฟือย คนไทยเราใช้น้ำมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เฉลี่ยทั้งหมด 1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อวัน บางคนยังมีพฤติกรรมมักง่าย ชอบทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางจนเกิดปัญหาท่อระบายน้ำอุดตัน สิ่งหนึ่งที่จะช่วยบรรเท่าปัญหาได้ คือทุกคนต้องเริ่มช่วยกันประหยัดน้ำเป็นอันดับแรก
The MATTER: พอเป็นแบบนี้เราควรเริ่มแก้ปัญหาจากตรงไหนดี
อ.ธนวัฒน์: เริ่มจากการเอาตัวรอดไม่ให้น้ำรอระบายก่อน ประชาชนต้องช่วยประหยัดน้ำในช่วงหน้าฝน ทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง ส่วนภาครัฐต้องขุดลอกคลองด้วย เพราะมันทรุดตัวลงมาตลอด ใน 20 ปีที่ผ่านมานี้ ตะกอนในคลองมันสูงขึ้นปีละ 1-2 เซนติเมตร แต่บางคลองไม่เคยมีการลอกเลย พอมันสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลก็คือน้ำก็เอ่อล้นหนักขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องพร่องน้ำให้ดีขึ้น เราต้องมีประตูกั้นทดน้ำเป็นช่วงๆ สูบน้ำในคลองให้แห้งในหน้าฝนเพื่อรอรับที่น้ำที่จะเพิ่มขึ้นมา และต้องมีปั้มจากหัวคลองลงสู่แม่น้ำ นี่คือสิ่งที่ต้องทำเป็นระบบ
ในระยะกลางต้องวางระบบใหม่ เปลี่ยนท่อระบายน้ำให้มันใหญ่ขึ้น ส่วนระยะยาวนั้น ภาครัฐต้องออกกฎหมายบังคับให้ทุกคอนโดต้องมีที่เก็บน้ำ หรือถ้าให้ดีก็ควรเก็บค่าการระบายน้ำเพิ่มเข้าไปด้วย เพราะตอนนี้เรามีแต่ค่าใช้น้ำ แต่ไม่มีค่าการระบายน้ำ ถ้าไม่มีกฎเช่นนี้เราก็คงจะไม่หันมาประหยัดน้ำกันได้ง่ายๆ
The MATTER: คนทั่วไปอาจคิดว่าเราควรประหยัดน้ำแค่ในหน้าแล้ง แต่อาจารย์กำลังจะบอกว่า เราควรประหยัดน้ำกันในทุกช่วงเวลา?
อ.ธนวัฒน์: ในหน้าแล้งเราแย่งน้ำกัน พอมาหน้าฝนก็แย่งการระบาย คนเรามีนิสัยเป็นแบบนี้กันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นคนในเมืองหรือชนบท
The MATTER: พักหลังมานี้มีข่าวลือว่ากรุงเทพจะจมในปี 2563 กันอยู่บ่อยๆ ในฐานะที่อาจารย์อยู่กับงานวิจัยเรื่องนี้มานาน ตกลงมันจริงไหม?
อ.ธนวัฒน์: ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหานี้เป็นคนละเรื่องกับน้ำรอระบาย แต่มันเกิดจากสภาพที่กรุงเทพติดกับทะเล เคยมีข่าวลือกันในอินเทอร์เน็ตว่า กรุงเทพจะจมในปี 2563 นั้นไม่ใช่เรื่องจริง เพราะกรุงเทพมันจมลงไปแล้วเรื่อยๆ ต่างหาก
กรุงเทพมีพื้นที่ติดทะเลอยู่ประมาณ 4-5 กิโลเมตร มันจมในแบบถาวร ค่อยเป็นค่อยไปและเร็วกว่าธรรมชาติที่ควรจะเป็น จากข้อมูลที่รวบรวมมาพบว่า ใน 30 ปีที่ผ่านมากรุงเทพหายไปแล้วกว่า 1 กิโลเมตร หลักฐานมันมีอยู่จริงๆ ว่ากรุงเทพมันกำลังจะจม ปัจจัยมันมาจากภาวะโลกร้อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การสูบน้ำบาดาลในจำนวนเยอะๆ จนทำให้แผ่นดินมันทรุด ถ้าเรายังไม่ทำอะไรเลย มันก็จมลงไปอีกเรื่อยๆ
The MATTER: แล้วภาครัฐเข้าใจเรื่องนี้ไหม?
อ.ธนวัฒน์: ผมตอบแทนเขาไม่ได้ แต่ถ้าภาครัฐเข้าใจปัญหากันจริงๆ ป่านนี้ก็แก้ไขกันไปแล้ว แต่มันผ่านมากว่า 30 ปีไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย จนป่านนี้หน่วยงานบางแห่งยังไม่รู้เลย มันก็ได้คำตอบในตัวเองอยู่แล้ว
The MATTER: เราต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับปัญหากรุงเทพจมกันอย่างไร
อ.ธนวัฒน์: เริ่มจากทำให้คลื่นที่ซัดเข้าแผ่นดินมันน้อยลง สูบตะกอนที่มันกัดผิวดินให้มันกลับเข้ามา รวมถึงการสร้างป่าชายเลน อันนี้คือคำตอบว่าหน่วยงานภาครัฐเข้าใจปัญหานี้ดีแค่ไหน ผมถามว่า ถ้ารัฐเข้าใจก็เอางานวิจัยเหล่านี้ไปทำให้มันเกิดขึ้นจริงไปแล้ว ป่านนี้ยังไม่ทำ ก็แปลว่าเขาไม่เข้าใจ
ภาครัฐตอนนี้เขายังใช้ไม้ไผ่อยู่ วิกฤติของภัยพิบัติมันยิ่งใหญ่มาก แต่ตอนนี้เราเหมือนเอาไม้จิ้มฟันไปสู้กับยักษ์
The MATTER: อยากให้อาจารย์วิเคราะห์ปัญหาภาวะอากาศในภาพรวม
อ.ธนวัฒน์: ปัญหาหนักขึ้นแน่นอน สมัยก่อนปฏิวัติอุตสหกรรมเมื่อราว 150 ปีที่แล้วเรามีความหนาแน่นคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศประมาณ 278 ppm แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นถึง 410 ppm ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ภูมิอากาศมันแปรปรวน ยิ่งถ้ามันเพิ่มขึ้นไปถึง 550 ppm แล้วคนในโลกเรายังคุยกันไม่รู้เรื่อง มันก็สามารถเพิ่มขึ้นไปถึง 1,000 ppm ได้แน่นอน ถ้ามีคนอย่างทรัมป์ซัก 200 คนมันทะลุแน่ๆ
ถ้าเราช่วยกันหยุดยั้งไม่ได้ ซักวันหนึ่ง คนทั้งโลกคงต้องมาก่ายหน้าผากคิดว่าเราทำอะไรกันลงไป นี่ไม่ใช่เรื่องที่เรามาทำให้คนหวาดกลัว เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วผมพูดเรื่องภาวะโลกร้อนแต่แทบไม่มีคนเชื่อ ตอนนี้กลับกันคือไม่มีใครไม่เชื่อแล้ว เพราะมันมีข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เก็บรวบรวมกันมาอย่างเป็นระบบ ซึ่งพิสูจน์ว่ามันเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้จริง ตอนนี้มีนักวิทยาศาสตร์ในจำนวนน้อยมากๆ ที่ไม่เชื่อในภาวะโลกร้อน
The MATTER: ตอนนี้ยิ่งกลายเป็นว่าโลกร้อนมันกลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศ อาจารย์มองเห็นทิศทางการแก้ปัญหาในอนาคตอย่างไร
อ.ธนวัฒน์: หลังจากนี้การพูดคุยกันในเวทีระหว่างประเทศจะรุนแรงขึ้น เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงาน พลังงานแบบดั้งเดิมจะยังมีอยู่ แต่มันจะน้อยลง พลังงานสะอาดมันจะกลับเข้ามา ซึ่งมันจะช่วยพลิกโฉมโลกของเราได้
The MATTER: อาจารย์ยังมีความหวังอยู่ไหมว่าคนทั้งโลกจะช่วยกันแก้ปัญหาได้
อ.ธนวัฒน์: มันขึ้นอยู่กับว่าพวกเราจะรณรงค์ให้คนทั้งโลกตระหนักถึงปัญหาได้แค่ไหน รวมไปถึงนักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนจะช่วยกันกระตุ้นให้คนตื่นตัวด้วย ถ้าทำได้มันก็จะช่วยให้ปัญหาโลกร้อนมันผ่อนคลายลงได้
โลกใบนี้ไม่ได้มีเฉพาะคนไทย มันต้องมีมวลมนุษย์ตั้งแต่คนชาวเผ่าต่างๆ ในป่าไปจนถึงคนในตึกสูงที่นิวยอร์กเห็นพ้องกันว่า พวกเราต้องทำอะไรซักอย่างหนึ่ง
วันนี้คาร์บอนไดออกไซด์ที่เราส่งขึ้นไปในชั้นบรรยากาศหนึ่งตัว มันจะอยู่คงตรงนั้นยาวนานถึง 300 ปี มันสะสมไปเรื่อยๆ ถ้าวันนี้เราเปลี่ยนใจ เริ่มหันมาช่วยเหลือโลกใบนี้อย่างจริงจังมันก็หมายถึงการช่วยเหลือคนรุ่นลูกหลานของเรา หากวันนี้เรายังทำตัวเหมือนเดิม ปัญหามันก็สะสมต่อไป และทวีความรุนแรงเป็นเรื่อยๆ
The MATTER: ท่ามกลางปัญหาที่มากมาย เราควรปรับตัวกันอย่างไร
อ.ธนวัฒน์: ผมไม่อยากให้พวกเราเสียแรงฟรีไปเคี่ยวเข็ญให้คนไทยทำนู่นทำนี่ แต่คนทั่วโลกเขาไม่ทำ อย่างน้อยๆ อยากให้ตระหนักว่า กิจกรรมที่เราทำทุกอย่างมันมีผลกระทบทั้งหมด ควรปลุกจิตสำนึกของตัวเองให้ดีก็พอแล้ว
อย่าไปโทษว่าทำไมเราทำแล้วแต่คนอื่นไม่ทำบ้าง ถ้าเราอยากช่วยเหลือโลกใบนี้ก็ทำในส่วนของตัวเองให้เต็มที่