“ปัญหาของประเทศนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
คือประโยคที่ ‘เขา’ พูดกับเราไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ตลอดการสัมภาษณ์ที่กินเวลายาวนานชั่วโมงครึ่ง
หรือเฉลี่ย 1 ครั้งในทุกๆ ห้านาที
ในระหว่างที่คดี 112 ถูกหยิบมาใช้อย่างเหวี่ยงแห และแกนนำกลุ่มราษฎรคนสำคัญ อาทิ เพนกวิ้น รุ้ง ไมค์ ไผ่ อานนท์ สมยศ แอมมี่ ฯลฯ ต้องอยู่ในเรือนจำ เพราะศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างสู้คดี
เขา – ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ ก็ถอดเสื้อสีแดงและหยิบเสื้อสีดำขึ้นมาสวมแทน ไปร่วมกับแกนนำขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามบางคน จัดการชุมนุมภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘สามัคคีประชาชน’ ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน
จาก 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร การชุมนุมที่นำโดยผู้ยังมีตำแหน่งเป็นประธาน นปช. ลดข้อเรียกร้องเหลือเพียงข้อเดียว คือ ‘ประยุทธ์ออกไป’ – ที่อาจนำไปสู่อีกข้อเรียกร้องในอนาคต คือการ ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญ’
ข้อเรียกร้อง ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ นั้นหายไป ทำให้จตุพรถูกโจมตีว่ามาลดเพดานความเคลื่อนไหวนักศึกษา
แม้การชุมนุมจะยุติลงชั่วคราว หลังนัดหมายชุมนุมกันเพียง 3 วัน (4, 5 และ 7 เมษายน พ.ศ.2564 โดยงดการชุมนุมในวันจักรี) เพราะการกลับมาแพร่ระบาดของโรค COVID-19
The MATTER นัดหมายจตุพร ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวี ย่านนวลจันทร์ กทม. เพื่อพูดคุยถึงสารพัดข้อสงสัย โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ และข้อกล่าวหาว่า ตัวเขาเองเปลี่ยนไป ไม่เหมือนคนเดิม
ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ ‘ประยุทธ์’
จตุพรเล่าว่า การชุมนุมของกลุ่มสามัคคีประชาชน มีจุดตั้งต้นจาก ‘อดุลย์ เขียวบริบูรณ์’ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 2535 ที่รู้สึกอดรนทนไม่ไหว หลังจากเห็นที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2564 มีมติคว่ำร่างที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.ให้มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“มันเป็นคำร้องขอของคุณอดุลย์ซึ่งผมผูกพันมากว่า 29 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาฯ ปี พ.ศ.2535 ผมเองก็รู้ว่าคุณอดุลย์สุขภาพไม่ค่อยดี เป็นฮีตสโตรกมาและเพิ่งพูดได้ชัดไม่กี่วันนี้ ผมกับญาติวีรชนพฤษภาฯ 2535 อยากให้เขามีความสุขนะ เพราะการที่เขาเสียลูกไปเมื่อ 29 ปีที่แล้ว คนเรา ลูกตายก่อนพ่อก่อนแม่ มันทรมานนะ พอคุณอดุลย์ชวน ผมเลยอยากให้เขาได้เห็นภาพที่เป็นความสุขสักครั้ง คือภาพเหมือนเมื่อ 29 ปีที่แล้ว ที่ทุกฝ่ายซึ่งมาเป็นคู่ขัดแย้งช่วง 15 ปีหลัง ครั้งหนึ่งเราเคยอยู่ร่วมเวทีเดียวกัน และท่ามกลางความขัดแย้ง 15 ปีหลัง คนที่ได้อำนาจ เขาไม่ต้องการความสมานฉันท์ เพราะรู้ว่าประเทศนี้ ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ จะง่ายที่สุด ก็เลยปั่นให้เกิดความขัดแย้ง
“แต่ผมก็เข้าใจว่า แต่ละองค์กรมีความทุกขเวทนา จากความตาย บาดเจ็บ สูญสิ้นอิสรภาพ มีประวัติที่ขมขื่นมากกว่า พี่น้อง นปช. คนเสื้อแดงอยู่ในสภาพที่เจ็บปวดมาก ประวัติศาสตร์ของคนเสื้อเหลือง กปปส. ก็อาจจะอีกแบบหนึ่ง ผมก็เลยสื่อความกับคุณอดุลย์ว่าอย่าให้มาเป็นองค์กรกันเลย ให้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ 15 ปีนี้ธำรงอยู่อย่างนั้น อย่าไปเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ แต่ให้การเข้ามารอบนี้เป็นการ ‘สามัคคีเฉพาะหน้า’ เอา พล.อ.ประยุทธ์ลงเสียก่อน เพราะเขาเป็นคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดในช่วง 15 ปีแห่งความขัดแย้ง
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์คือคนที่ได้รับอานิสงส์สูงสุด เมื่อคุณอดุลย์ชวน ก็ชวนหลายๆ คน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นไม่ต่างกัน แต่ก็ติดอะไรบางอย่าง เราก็บอกว่าไม่เป็นไร ขอเราเป็น ‘ชุดล่วงหน้า’ ก่อน คงมาไม่ได้ทั้งหมด”
“และเราก็เตรียมทำใจนะ เพราะฝ่ายรัฐก็เตรียมต่อต้านใส่ร้าย ฝ่ายพวกเดียวกันเองก็จะไม่เห็นด้วย เพราะเราพกอารมณ์ความขัดแย้งมา 15 ปี ก็เป็นไปตามที่คิด ฝ่ายรัฐกล่าวหาเลยว่ามาร่วมล้มสถาบัน คนแวดล้อมนายกฯ ให้นิยามอย่างนี้ อีกซีกนึง แม้ว่าไม่ต้องการ พล.อ.ประยุทธ์ ก็กล่าวหาว่ารับงานมาลดเพดานเด็ก ผมก็บอกกับคณะว่าเราต้องทำใจ เพราะเราทำสิ่งที่ไม่เห็นกันมา 29 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นก็ให้เวลา ผมเองก็บอกว่าเราพร้อมปิดประตู พยายามไม่คิดอะไรให้สำเร็จรูป และต้องอดทนรอคอยกัน”
จตุพรอธิบายรวดเดียวถึงความเป็นมาของกลุ่มสามัคคีประชาชน กับการชุมนุมที่ไม่มีข้อเรียกร้องที่ 3 ของกลุ่มราษฎร – ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’
“ผมไม่ได้มาลดเพดานใคร”
จตพรยังกล่าวย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ไม่ได้ต้องการมา ‘ลดเพดาน’ ใครอย่างที่กล่าวหา แต่ที่ต้องลดข้อเสนอเหลือเพียงข้อเดียวก็เพราะถ้าไม่ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่ง ก็คงจะไม่สามารถเดินหน้าทำบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยไปได้เลย โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ผมไม่ได้มาลดเพดาน ผมพยายามอธิบายว่า ระบอบประชาธิปไตย ความสวยงามอยู่ที่ความแตกต่างกัน ใครเชื่ออย่างไรก็รักษาความเชื่อนั้นไว้ ที่สำคัญคือต้องยึดหลัก ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง’ แปลความว่าอะไรที่เป็นจุดร่วม ก็ร่วมกันได้ จุดต่าง เราจะไม่มีปัญหาระหว่างกัน”
ในมุมมองของเขา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนผิดคำพูดเอาข้อหาร้ายแรงอย่างคดี 112 มาใช้เล่นงานแกนนำกลุ่มราษฎร ทั้งที่เคยประกาศว่าจะไม่ใช้เมื่อกลางปี พ.ศ.2563 ผลคือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย
“ผมไม่ได้มาเพื่อลดเพดานใคร เพียงแต่อย่างน้อย 2 ข้อ ซึ่งเป็นความเชื่อผมนะ น้องๆ เชื่ออีกอย่าง ก็เป็นเสรีภาพเขา ผมเชื่อแบบนี้
“ที่กลุ่ม Re-Solution จัดงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2564) เพื่อล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความจริงก็คิดไม่ต่างกัน แต่ทุกอย่างวันนี้ต้องเข้าใจ อาณาจักรมันกว้างใหญ่ไพศาล ใครถนัดเรื่องอะไร ก็ทำในสิ่งนั้น เราไม่จำเป็นต้องทำในเรื่องที่เหมือนกันเลย แต่สุดท้ายแล้ว เป้าหมายคือทำให้ประเทศมันดีขึ้น เดินหน้าต่อไป และเป็นประเทศที่มีอนาคต”
จตุพรยังพยายามย้ำว่า แม้มีข้อเรียกร้องแตกต่างกัน แต่เขาพร้อมยืนเคียงข้างคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยทุกคน “สมรภูมินี้ แม้ว่าผมจะไม่ได้ชักดาบสู้เป็นคนแรก แต่จะขอเก็บดาบเป็นคนสุดท้าย”
คำถามถึงข้อเสนอที่ ‘หายไป’
ประสบการณ์ทำกิจกรรมทางการเมืองและทางสังคมมากว่า 3 ทศวรรษ ทำให้จตุพรมีประสบการณ์ต่างๆ มากมาย มาเล่าให้คนรุ่นหลังฟัง
“หลายๆ ครั้งเราก็ต้องยอมรับความเป็นจริง ความจริงก็เป็นตำราโลก ‘จะไม่ทำสงครามที่ไม่มีโอกาสได้รับชัยชนะ’ เราผ่านสงครามที่ไม่มีโอกาสชนะมาแล้ว เช่น นปช.เคยสู้กับเครือข่ายอำมาตยาธิปไตย เรียกร้องให้มีการยุบสภา ปรากฎว่า ตายเป็นร้อย บาดเจ็บสองพัน สูญสิ้นอิสรภาพอีกนับไม่ถ้วน ดังนั้น มุมมองของเราก็คือว่า วันนี้องค์ประกอบที่สำคัญก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่หากไม่อยู่สักคนเดียว ทุกอย่างจะแปรเปลี่ยน
“ถ้าเราไม่คิดมุมนี้ เราไม่มีวันจะได้อะไรเลยนะ นอกจากน้องๆ เขาก็ติดคุกกันอยู่แบบนี้”
จตุพรยังเล่าถึงประสบการณ์พลิกฟื้นคนเสื้อแดง ที่เคยถึง ‘จุดต่ำสุด’ หลังเหตุสลายการชุมนุมปี พ.ศ.2553 ด้วยการชักชวน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย และพรรคพวกแกนนำ นปช.ไปปลุกปลอบขวัญคนเสื้อแดงทั่วประเทศ ซึ่งขณะนั้นเผชิญกับข้อกล่าวหา ‘เผาบ้านเผาเมือง-ผู้ก่อการร้าย-ล้มล้างสถาบัน’ ใช้เวลานับปี กว่าจะประสบผล คือพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554
เราถามถึงข้อเรียกร้อง ‘ที่หายไป’ เรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
“ผมเองก็เห็นซึ่งความพยายามตั้งแต่ตอนยังอยู่ในเรือนจำ ก่อนหน้านี้ คดี 112 ตัดสินหนักมาก แต่หลังจากนั้นก็งดเว้นการบังคับใช้ แต่เป็นการงดเว้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อย่างมีศิลปะ เช่น คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ก็ไม่สั่งฟ้อง คดีอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ ก็ไม่สั่งฟ้อง คดีอยู่ในศาลก็พิพากษายกฟ้อง แทบ 100% ปรากฎแบบนี้เลยที่ปรากฎชัด และเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ต่อไปนี้ คดี 112 ไม่ใช่ใครจะฟ้องเล่นงานใครก็ได้ และให้อำนาจอัยการสูงสุดหารือกับสำนักเลขาธิการพระราชวังวินิจฉัย ก็เป็นความที่ทราบกัน แต่อยู่ในวงจำกัด เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ประกาศต่อสาธารณะ นี่คือเหตุการณ์หลังจากที่ ส.ศิวรักษ์ ไปเข้าเฝ้าฯ ตามที่ทราบกัน
“ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างก็มีความพยายาม หลายเรื่องเราก็เพิ่งเคยเห็น เกิดมาชั่วชีวิตนี้ คงไม่ต้องบอกว่ามีอะไรบ้าง แต่ผมเห็นว่ามีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นผมว่า ณ จุดนี้ หลากหลายเรื่องราวถ้ามันได้รับการคลี่คลาย คนไทย สุดท้ายมันต้องคุยกันว่า ในแต่ละเรื่องราวเราจะว่ากันอย่างไร”
‘คำแนะนำ’ ถึงแกนนำราษฎร
แม้แกนนำกลุ่มราษฎรจะไม่ได้มีแต่นักเรียนนิสิตนักศึกษา แต่จตุพรจะเรียกถึงแกนนำของกลุ่มนี้ว่า ‘นักศึกษา’ อยู่ตลอด
เขากล่าวถึงพลังของนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาในปีก่อนจนถึงปีนี้ไว้ในแง่บวก พร้อมกับให้คำแนะนำในฐานะผู้มาก่อนไว้อย่างน่าสนใจ
“การปรากฎกายของนักศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมา ผมผ่านเหตุการณ์พฤษภาฯ ปี พ.ศ.2535 บอกได้เลยว่านักศึกษายุคนี้รวมตัวได้มากกว่ายุคนั้น ถามบรรดาพี่ๆ จากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี พ.ศ.2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ปี พ.ศ.2519 เขาก็จะบอกว่านักศึกษายุคนี้มากกว่า คือทุกคนที่เคยผ่านสมรภูมิกันมา ต่างมีความตื้นตันใจกันทั้งสิ้น
“เมื่อวันที่กระแสเดินมาสูงสุด แล้วเมื่อกระแสมันลดลงมา ให้คิดแบบที่ผมเคยคิด ให้กลับไปพลิกฟื้น ‘ไปตามพี่-ตามเพื่อน-ตามน้อง ตามญาติ’ ว่าอะไรที่เป็นจุดร่วมกันได้ ขอให้กลับคืนมา เหมือนอย่างที่เราเคยทำหลังเหตุการณ์ปี พ.ศ.2553
“ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริง อย่างน้อยๆ คำว่า ‘สะสมชัยชนะ’ มีเหตุผล ได้ประโยชน์ รู้ประมาณ วลีนี้เป็นหลักสำหรับการต่อสู้ได้เสมอ”
“ถ้าเราไม่สิ้นหวัง ไม่ยอมแพ้ อย่างไรเราก็ไม่แพ้ ฉะนั้นให้เขาตัดสินใจ ผมเองก็เห็นว่าทุกคนต่างก็รู้แล้วว่า การจะต้องเข้าไปในคุก เพราะอะไร ฉะนั้น หลากหลายเรื่องราวก็ต้องใช้ศิลปะมากขึ้น เพื่อไม่ต้องเข้าไปในคุก เพราะเข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้ จริงอยู่ อาจจะใช้เครื่องไหวได้ แต่ก็ทำได้ภายใต้ข้อจำกัด ฉะนั้นต้องใช้ศิลปะมากขึ้น ใช้ความคิดมากขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้องกลัว ให้ใช้สติปัญญามากกว่าความรู้สึก”
จตุพรยอมรับว่า ลูกของตนไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎรหลายครั้ง ซึ่งก็เคารพการตัดสินใจ ดีที่สุดคือเตือนให้ระมัดระวัง วันนี้มันเป็นวันของเขา จะเลือกเรียน เลือกวิชาชีพ เลือกชีวิตอย่างไร ไม่เคยไปยุ่ง ให้เขาตัดสินใจเลือกของเขาเอง ไม่ทำตัวเป็น ‘เจ้าของชีวิต’ เพราะไม่เพียงจะอึดอัด แต่ลูกจะอยู่ไม่ได้ ในวันที่ไม่มีตนแล้ว
“โลกยุคนี้เป็นของคนรุ่นใหม่ ต้องให้เขาตัดสินใจเลือกเองว่าจะไปยังไงต่อ”
สายสัมพันธ์กับ ‘น้องชาย’ ชื่อณัฐวุฒิ
เราถามถึงสายสัมพันธ์กับ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ที่เคยร่วมสู้กับในหลายๆ สมรภูมิภายใต้ชื่อ นปช.-คนเสื้อแดง
จตุพรเล่าว่า เขามองณัฐวุฒิเหมือนเป็นน้องชายคนหนึ่ง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ปี พ.ศ.2553 ไม่ต่างกับที่เขาเคยมองอุสมาน ลูกหยี ผู้ล่วงลับ ว่าเป็นน้องชาย หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ ปี พ.ศ.2535
“ความพยายามที่จะแยกผมกับณัฐวุฒิมีมายาวนาน..”
พอพูดถึงตรงนี้ จตุพรก็เล่าถึง ‘วิกฤตเล็กๆ’ ที่เขาพบช่วงเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ.2562 เมื่อสมัยที่ยังอยู่ในเรือนจำ มีคนของทักษิณ ชินวัตร มาชวนให้ไปช่วยพรรคเพื่อชาติ กว่าจะออกมาจากเรือนจำแล้วรู้ว่า ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไปช่วยพรรคไทยรักษาชาติ “ผมเพิ่งออกมาจากคุก ก็ไม่รู้ใครไปเตรียมการเรื่องอะไร ผมเข้าใจว่าข้างนอกจะจบหมดแล้ว” โดยระหว่างนั้น ณัฐวุฒิกับธิดา ถาวรเศรษฐ์ อดีตประธาน นปช. ก็ย้ายไปตั้งออฟฟิศยูดีดีนิวส์ ที่แยกแคราย จ.นนทบุรี
หลังจากนั้น แม้ได้พบหน้ากันตอนไปศาลหรือโทรศัพท์หากันบ้าง แต่จตุพรยอมรับว่า จะหลีกเลี่ยงคุยเรื่องการเมือง โดยเฉพาะหลังจากณัฐวุฒิได้พักโทษออกมานอกเรือนจำ และได้ถอดกำไล EM ก่อนแถลงจุดยืนทางการเมืองไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ที่เขายอมรับว่า จนถึงวันนี้ยังไม่ได้อธิบายความอะไรกับณัฐวุฒิตรงๆ
การมาร่วมจัดตั้งกลุ่มสามัคคีประชาชน เขาบอกว่าจะไปชวนณัฐวุฒิมาร่วมแน่ แต่คงชวนเป็นคนท้ายๆ เพราะถ้าชวนมาเป็นคนแรกๆ คนจากฝ่ายอื่นจะไม่กล้าเข้ามา แต่ตนกับณัฐวุฒินั้น ตัดกันไม่ขาดหรอก
“ความเป็นผม รบในสมรภูมิท้ายๆ บางครั้งต้องปล่อยให้คนดูแคลน คนเข้าใจผิด ไม่เป็นไร ผมรู้ว่าชีวิตผมคิดอะไรอยู่ เหมือนการกล่าวหาว่า ย้ายขั้ว-สลับข้าง ทั้งที่เอาเรื่องเท็จมาปั้นเลย
“หลายคนบอกว่า ผมน้ำเสียงเบาลง จะไม่เบาลงได้ยังไง อีก 4 ปีผมจะครบ 60 แล้ว มันจะไม่เหมือนวัย 20 30 40 เพราะวัยใกล้เกษียณอายุราชการ แรงมันจะไม่เท่า แต่ผมยังร้องเพลงเดิมอยู่นะ ผมไม่เคยเปลี่ยนเพลงใหม่ แต่บางเวลาผมต้องเปลี่ยนคีย์หน่อย เพราะคอของผมจะพัง ก็เท่านั้นเอง เนื้อความก็เหมือนเดิม ไม่มีตอนไหนที่เนื้อความเปลี่ยน”