“ให้เวลาคุณคิดว่าจะสัมภาษณ์ดิฉันหรือมีคนอื่นน่าสนใจมากกว่า เพราะพูดเรื่องนี้บ่อย กลัวคนจะเบื่อ”
แต่ The MATTER ยืนยันว่ายังอยากสัมภาษณ์อยู่ พร้อมกับส่งคำถาม 3 ข้อไปให้พิจารณา ว่าด้วย 1.) การซุกปัญหาไว้ใต้พรม 2.) การลอยนวลพ้นผิด และ 3.) ความทรงจำกับการก้าวให้พ้นการทำผิดซ้ำเดิม
ในวาระ 10 ปี เหตุการณ์ความรุนแรงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยและบาดเจ็บอีกหลายพันคน
เรานัดหมาย พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) พูดคุย เพราะไม่เพียงรายงานหนา 1,200 หน้าจะทำให้เราตื่นตาตื่นใจเกือบอดหลับอดนอนอ่าน แม้ในช่วงที่ได้ work from home ก็ตาม
โดยรายงานดังกล่าว ให้ข้อเท็จจริงเหตุการณ์ปี 2553 ที่ต่างจาก ‘ฉบับทางการ’ ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่หนา 276 หน้าในหลายจุด ไม่รวมถึงการให้ข้อมูลการเสียชีวิต 94 คนได้ละเอียดกว่า (ส่วนคอป.ระบุว่า เสียชีวิต 92 คน)
อีกประการสำคัญ อ.พวงทองเป็นคนที่เดินสายพูดเรื่อง ‘การลอยนวลพ้นผิด (impunity)’ ของผู้มีอำนาจในรัฐไทยจากเหตุการณ์ปี 2553 ได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอคนหนึ่ง
จึงนึกไม่ออกว่าจะมีใครน่าสนใจกว่านี้ ที่จะชวนมาพูดคุยเรื่องของการทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว
เรานัดกันปลายเดือน เม.ย.2563 ท่ามกลางแดดเปรี้ยง แต่จู่ๆ ฝนก็เทลงมาห่าใหญ่ เป็นความไม่ปรกติในฤดูร้อน ที่บางคนอาจมองว่าก็ไม่เห็นจะผิดปรกติอะไร ในยุคสมัยที่สภาวะอากาศแปรปรวน
เฉกเช่นเดียวกับหลายๆ เรื่องในสังคมไทย ที่ผิดปกติมายาวนาน จนผู้คนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ – อย่างการทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดชอบของผู้มีอำนาจ ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา
1.
บทสนทนาเราเริ่มต้นด้วยการชวนคิดว่า ถ้าจะให้เล่าถึงเหตุการณ์ปี 2553 กับคนรุ่นใหม่ฟังจะเล่าอย่างไร?
อ.พวงทองเกริ่นนำว่า เหตุการณ์ปี 2553 มีคำอธิบายมากกว่าหนึ่งทาง ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่จุดไหนของแนวความคิดการเมืองขณะนั้น
“แต่ถ้าจะให้สรุปว่าการชุมนุมของ นปช. หรือคนเสื้อแดงครั้งนั้นเริ่มต้นได้อย่างไร ต้องย้อนไปดูว่าเขาเข้ามาใน กทม. และเริ่มประท้วงระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. ข้อเรียกร้องคือให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อพิสูจน์ว่าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศเลือกใคร เพราะเขาเชื่อว่ารัฐบาลขณะนั้น หนึ่ง ใช้เครือข่ายอำนาจยุบพรรคพลังประชาชนที่เป็นพรรคของทักษิณ (ชินวัตร ก่อนหน้านพรรคเพื่อไทย) สอง มีทหารเข้ามากดดันให้พรรคอื่นๆ ร่วมจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร นี่คือความเข้าใจของคนเสื้อแดงในเวลานั้น
“สิ่งที่เขาเรียกร้องก็ไม่ได้ละเมิดหลักประชาธิปไตย แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ปฏิเสธ ตลอดทั้ง 3 เดือนจึงเกิดความตึงเครียดขึ้นมา มีการปะทะกันหลายจุด นำไปสู่ความเกลียดชังทักษิณ คนเสื้อแดง เพราะตลอดเวลาที่ชุมนุมทำให้คน กทม.เดือดร้อนมาก ไม่รวมถึงการปรากฎตัวของชายชุดดำ มีข้อกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย นี่ไม่ใช่การชุมนุมที่สงบ ในที่สุดก็มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาปราบ ..ซึ่งรัฐบาลก็รอจังหวะนี้อยู่แล้ว”
หลังเหตุการณ์ยุติ รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ตั้ง ‘คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)’ ขึ้นมาตรวจสอบและค้นหาความจริง โดยมีคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน และมีสมชาย หอมลออ เป็นหัวหน้าชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง
อ.พวงทองเล่าว่า เมื่อเห็นการทำงานของ คอป.แล้ว กลุ่มเพื่อนนักวิชาการ เอ็นจีโอ ภาคประชาชน ก็คุยกันเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงคู่ขนานกันไป “เพราะเราไม่ไว้วางใจ คอป. ซึ่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เป็นคู่ขัดแย้ง และดูหน้าตากรรมการแต่ละคนก็รู้ว่ามีอคติกับคนเสื้อแดง” – นำมาสู่การเกิดขึ้นของ ‘ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.)’ ซึ่งเธอรับบทบาทเป็นผู้ประสานงาน
เธอยังให้ข้อมูลน่าสนใจว่า ใน ศปช. มีชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและร่วมทำงาน เช่นเดียวกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เลือกเดินบนเส้นทางการเมือง เป็นหนึ่งในผู้บริจาคเงินที่ใช้ในการดำเนินการ
ศปช.จึงกำเนิดขึ้นมา เป็นองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงคู่ขนาน ที่คล้ายตรวจสอบการทำงานของ คอป.ในอีกทางหนึ่ง
และผลที่ออกมาก็น่าสนใจยิ่ง
2.
“ข้อมูลที่ ศปช.ทำ เพื่อมา balance กับข้อมูลที่ออกมาจากอีกฝั่ง ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าจริง เพราะข้อสรุปของเรากับเขาหลายอันมันแตกต่างกัน”
อ.พวงทองชี้ว่า รายงานสรุปเหตุการณ์ปี 2553 ของทั้ง คอป. รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ตามมาภายหลัง เป็นการออก ‘ใบอนุญาต’ ให้รัฐบาลขณะนั้น ‘ลอยนวลพ้นผิด’ โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะรายงานทั้ง 2 ฉบับ พยายามชี้ให้เห็นว่าการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมนั้น เป็นเรื่อง ‘สมเหตุสมผล’
“รายงานของ คอป.พยายามพูดถึงแต่ชายชุดดำ เพราะมีชายชุดดำ เจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องใช้ความรุนแรงตอบโต้ เลยทำให้ประชาชนเสียชีวิต โดยไม่แสดงหลักฐานเลยว่าชายชุดดำเป็นยังไง ในหลายเหตุการณ์อ้างเพียงคำให้สัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่มีรูปถ่าย ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น หรือกระทั่งกรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม คอป.ก็ยังบอกว่ามีชายชุดดำอยู่ แต่มีคนถ่ายคลิปมา ไม่เห็นมีชายชุดดำ ไม่มีการยิงตอบโต้ มีเพียงทหารยิงใส่วัดอย่างเดียว คำวินิจฉัยของศาลคดีไต่สวนการตายก็บอกว่าไม่มีชายชุดดำ แต่ คอป.บอกว่ามีชายชุดดำ
“พล็อตเรื่องของ คอป.จะอยู่ที่ชายชุดดำตลอด แสดงว่าคุณกำลังสร้างข้อแก้ตัวให้กับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และรัฐบาลอภิสิทธิ์โดยอัตโนมัติ”
อีกข้อแตกต่างสำคัญระหว่างรายงานของ ศปช. และของ คอป. ก็คือคำถามเรื่องการ ‘ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ’ โดยรัฐบาลและกองทัพในขณะนั้น
รายงานของ คอป.มีเพียงเปอร์เซ็นต์จำนวนกระสุนที่กองทัพใช้ แต่กลับไม่บอกจำนวนเต็มของกระสุนที่ถูกใช้ทั้งหมด ทว่ารายงานของ ศปช.ซึ่งอ้างรายงานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรอีกที พบว่า กองทัพใช้กระสุนไป 117,923 นัด เป็นกระสุนพลซุ่มยิงกว่า 2,120 นัด
หรือที่กองทัพอ้างว่า ในช่วงปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ วันที่ 10 เม.ย.2553 ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรก ทหารใช้อาวุธปืนในช่วงค่ำหลังถูกชายชุดดำยิง ทั้งๆ ที่รายงานของ ศปช.พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากกระสุนจริงที่ถูกยิงจากฝั่งทหารตั้งแต่ช่วงบ่ายวันเดียวกัน
ขณะที่ช่วงปฏิบัติการกระชับวงล้อม ระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค.2553 ศปช.พบว่า ผู้เสียชีวิต 20% ถูกยิงที่ศีรษะ และ 50% ถูกยิงตั้งแต่ท่อนบนขึ้นมา นี่จึงไม่ใช่การยิงเพื่อป้องกันตัว -ต่ำกว่าเข่า- แบบที่ภาครัฐในเวลานั้นกล่าวอ้างเสมอ
“อีกเรื่องที่เรายืนยันได้คือทุกคนที่เสียชีวิตไม่มีอาวุธในมือ”
แต่ผ่านมาสิบปีแล้ว คนบางกลุ่มก็ยังเชื่อข่าวลวงที่ปล่อยออกมาโดยผู้ใหญ่ใน ศอฉ.เวลานั้นว่า คนเสื้อแดงยิงกันเองเพื่อโยนความผิดให้ทหารและรัฐบาล
3.
อ.พวงทองชี้ว่า เหตุที่คนบางกลุ่มยังเชื่อในวาทกรรมเดิมๆ ทั้งที่มีข้อเท็จจริงปรากฎมามากมายภายหลัง เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังรากลึกในสังคมไทยนับสิบปี
“กรณีปี 2553 มันทำให้รอยปริร้าวระหว่างคนเสื้อเหลือง-คนเสื้อแดง มันขยายกว้างมากขึ้นจนคุยกันไม่รู้เรื่อง พอยกเรื่องปี 2553 มา เชื่อว่าต้องทะเลาะกันแน่ๆ คุณอาจจะเป็นเพื่อนกัน คุยเรื่องอื่นได้หมด น้ำท่วม โรคระบาด แต่พอยกเรื่องปี 2553 มาพูด เคยเชื่ออย่างไร ก็ยังเชื่ออย่างนั้น”
ตลอดสิบปีที่ผ่านมา จึงมีคนหาประโยชน์จากความขัดแย้งนี้ในทางการเมืองอยู่ตลอด เช่นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในปี 2556 หรือการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562
ถ้าเช่นนั้นจุดเปลี่ยนจะมาถึงได้อย่างไร? เมื่อใดผู้สูญเสียจะได้รับความยุติธรรม?
อ.พวงทองหยุดคิดเล็กน้อย ก่อนจะบอกว่า มันต้องเปลี่ยนที่ระบบ (regime change) ต้องถอดรื้อโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ตอนนี้ก่อน
“ถ้าถามดิฉัน 5 ปีก่อน ก็จะบอกว่าไม่เห็นทางเลยว่าจะเปลี่ยนได้อย่างไร แต่ถ้าถามตอนนี้ เราเริ่มเห็นแล้วว่ากลุ่มอำนาจต่างๆ เขาอยู่ในภาวะที่สูญเสียความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่เริ่มมองเห็นแล้วว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) พล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ) แต่เป็นเรื่องของกลไกทั้งหลายแหล่ที่มาค้ำจุนระบอบอำนาจนี้ไว้ ทั้งกองทัพ ศาล องค์กรอิสระ แน่นอนว่าไม่ง่าย อาจต้องใช้เวลา อาจต้องรอเป็นสิบปี แต่เชื่อว่าหลายคนรอได้”
เธอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่อาร์เจนติน่า ซึ่งเคยมีรัฐบาลทหารที่เรืองอำนาจมาก แต่ถึงวันหนึ่งก็ล้ม นายทหารหลายคนถูกนำตัวขึ้นศาล
เกิดอะไรขึ้นที่อาร์เจนติน่า?
ในช่วง ค.ศ.1976-1983 รัฐบาลเผด็จการทหารในอาร์เจนติน่าอุ้มคนหนุ่มสาวที่เห็นต่างจากรัฐในเวลานั้นไปฆ่า ผู้เสียชีวิตมีราว 30,000 คน ในยุคที่เรียกว่า ‘สงครามสกปรก (Dirty War)’ แม้มีการเรียกร้องให้ตามหาคนที่ถูกอุ้มไป แต่สังคมส่วนใหญ่ก็ยังไม่สนใจ กระทั่ง กลุ่มแม่ผู้สูญหายนัดรวมตัวประท้วงที่ลานหน้าทำเนียบประธานาธิบดี ชื่อ Plaza de Mayo ทุกวันพฤหัส มีผู้เข้าร่วมจากห้าคน สิบคน ไปเป็นหลายร้อยคน แกนนำกลุ่มแม่ 2 คนถูกอุ้มหาย แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อ กระทั่งเกิดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่อาร์เจนติน่าเป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ.1978 แล้วมีนักข่าวต่างชาติเข้ามาทำข่าว ทำให้เรื่องนี้ถูกขยายกลายเป็นประเด็นของทั้งโลก และรัฐบาลสูญเสียความชอบธรรม
ต่อมา อาร์เจนติน่าเกิดปัญหาเศรษฐกิจ แล้วรัฐบาลตัดสินใจผิดเปิดสงครามชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กับอังกฤษ คิดจะปลุกกระแสชาตินิยม แต่ปรากฎว่าแพ้สงครามอย่างยับเยิน ทำให้ประชาชนออกมาต่อต้านจนรัฐบาลเผด็จการทหารต้องลงจากอำนาจ ขณะที่ขบวนการของแม่ก็เติบโตขึ้น
แม้ประธานาธิบดีอาร์เจนติน่าที่มาจากการเลือกตั้งภายหลังจะประนีประนอมกับกองทัพออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้อง Dirty War แต่พอกระแสสังคมเปลี่ยน ศาลเองก็ลู่ตามลมด้วย ศาลอาร์เจนติน่าตัดสินว่ากฎหมายนิรโทษกรรมนั้นขัดรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีผลบังคับใช้
“แม้จะใช้เวลาหลายสิบปี แต่ที่สุดทหารเหล่านั้นก็ถูกนำตัวขึ้นศาล นี่คือสิ่งที่ดิฉันอยากเห็นในสังคมไทย ถ้าอนาคตมีผู้พิพากษารุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จะสามารถนำตัวแกนนำรัฐบาลไทยขณะเวลานั้น เช่น อภิสิทธิ์ สุเทพ (เทือกสุบรรณ) รวมถึงผู้นำทหารที่เกี่ยวข้องขึ้นสู่ศาลได้”
เป็นความหวังของผู้ประสานงาน ศปช.รายนี้
4.
ช่วงท้าย เราถามถึงเรื่องความทรงจำและบทเรียนจากความสูญเสียในปี 2553
สังคมได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ปี 2553 หรือเหตุการณ์ความรุนแรงก่อนหน้านี้ ทั้ง 6 ต.ค.2519 หรือพฤษภาทมิฬ ปี 2535 บ้าง
ดิฉันคิดว่า กลุ่มผู้มีอำนาจเขาไม่ได้รู้สึกว่าต้องเรียนรู้อะไร เพราะเขาเป็นฝ่ายชนะตลอด ตั้งแต่ 6 ตุลาฯ เขาไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไร มีกลไกที่ทำให้เขาลอยนวลพ้นผิด ยังมองไม่เห็นว่าตัวเองเสื่อมถอยอย่างไร คนไม่เชื่อมั่นไม่เป็นไร กฎหมายอยู่กับฉัน ไม่ต้องนอนคุกก็พอ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เขาใช้กำลังกับประชาชนได้ง่าย รวมถึงครั้งต่อไปด้วย เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดอะไร
อาจารย์เขียนไว้ในบทนำของรายงาน ศปช.ว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยเลือก ‘ความปรองดอง’ มากกว่า ‘ความจริง’ ทำไมสองสิ่งนี้มันต้องเลือกด้วย จะเดินไปด้วยกันไม่ได้หรือ
คนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียง เขากลัวการเปลี่ยนแปลง เขาต้องการจะรักษา status quo นี้ไว้ เพราะเขาคิดว่ามันจะไปทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเป็นสิ่งที่คาดหวังไม่ได้ ฉะนั้นอะไรที่เกิดไปแล้วก็เกิดไป เราเดินหน้าต่อไป move on ป้องกันอย่าให้มันเกิดขึ้นอีก ปัญหาคือมันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ทำให้ผู้มีอำนาจถูกลงโทษเวลาที่ทำอะไรผิด เพราะเขาก็จะใช้อำนาจต่างๆ ละเมิดสิทธิของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า
คนที่เสียชีวิตไปแล้ว มีแนวโน้มจะไม่ได้รับความยุติธรรมไหม
ที่ดิฉันยังพูดถึงเหตุการณ์ปี 2553 อยู่เสมอ เพราะคิดว่าตัวเองยังมีความหวัง 10 ปี 20 ปี จะมีการรื้อฟื้นคดีนี้กลับมา ต่อให้มีการนิรโทษกรรมคนที่เกี่ยวข้อง เราก็ยังสามารถทำให้กฎหมายนั้นๆ เป็นโมฆะได้ เราต้องทำให้เห็นว่าความรุนแรงในปี 2553 รัฐใช้ความรุนแรงในการละเมิดประชาชนอย่างไร
อีกอย่างหนึ่ง คือในปี 2553 เรามีข้อมูลเยอะมาก เมื่อเทียบกับปี 6 ตุลาฯ หรือพฤษภาทมิฬ เรามีชื่อคน รู้ว่าเขาอยู่ตรงไหนอย่างไร ฉะนั้นข้อมูลที่เรามี มันไม่หายไป แล้วเราหวังว่าสักวันหนึ่ง มันจะถูกกลับมาใช้
แต่ถ้าในอนาคต หลายสิบปีข้างหน้า ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ปี 2553 เสียชีวิตไปหมด แปลว่าเราไม่มีโอกาสได้ความยุติธรรมเลยหรือไม่
ถ้าถึงวันนั้น มันเหมือนกรณี 6 ตุลาฯ ผู้เกี่ยวข้องเสียชีวิตไปหมดแล้ว ขั้นต่ำก็คือเปิดให้มีการไต่สวนว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วทำความจริงให้ปรากฎออกมา อาจจะโดยคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับโดยคนส่วนใหญ๋ หรือโดยศาล ที่ระบุว่ามีกรณีไหนบ้างที่รัฐใช้อำนาจกระทำเกินกว่าเหตุ
แล้วรัฐบาลในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ ขอโทษในนามของรัฐ แล้วก็ยอมรับว่านี่เป็นการกระทำผิดของรัฐ ที่จะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก ..เรื่องนี้ต้องทำให้คนเห็น
ในบทนำของรายงาน ศปช. เปิดฉากด้วยคำประกาศที่เขียนโดย อ.พวงทองว่า
“..วัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล และการเหยียบย้ำสิทธิในชีวิตและความเป็นคนจะต้องยุติลงในสังคมไทยเสียที ถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่จะต้องช่วยกันรื้อถอนวัฒนธรรมการเมืองอันน่ารังเกียจที่ครอบงำสังคมไทยนี้ เราขอเน้นย้ำว่าความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญมากกว่าความปรองดองอันหลอกลวงฉาบฉวย ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมใหม่ ที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกชนชั้นต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน..”
Photo by Watcharapol Saisongkhroh
Illustration by Sutanya Phattanasitubon