การสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 คือความสูญเสียครั้งสำคัญของประเทศไทย
ถ้าเฉพาะเหตุการณ์นั้น การเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. หรือคนเสื้อแดง เกิดขึ้นหลังจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (17 ธันวาคม 2551) กลุ่มคนเสื้อแดงมองว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ขึ้นสู่ตำแหน่งอย่างไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน จึงมีข้อเรียกร้องคือให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง เมื่อไม่บรรลุผล การชุมนุมเลยทวีความเข้มข้นจนเกิดการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2552 เวลานั้นมวลชนกระจัดกระจายกันไป ก่อนที่ 12 มีนาคม 2553 พวกเขาจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งด้วยข้อเรียกร้องเดิม จนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมที่มากด้วยความสูญเสีย
ระหว่าง 10 เมษายน จนถึง 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 92 ชีวิต – ทั้งจากฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน
ถ้ามากกว่าเหตุการณ์นั้น มวลชนนับหมื่น-นับแสนในปี 2553 จำนวนไม่น้อยสะสมความอัดอั้นมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 แม้ว่าหลังจากนั้นพวกเขาออกมาเลือกตั้งแล้วได้ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผู้นำกลับถูกจัดการให้ลงจากตำแหน่งอีกครั้ง ตามมาด้วย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับมติให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่กินเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น สุดท้ายก็เกิดรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน โดยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
พล็อตเดิมๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับสิทธิ์เสียงของพวกเขาอยู่นอกสมการประชาธิปไตยของประเทศไทย
‘ปืนลั่นแสกหน้า’ เป็นนามแฝงในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันของชายคนหนึ่งที่ทำงานในวงการโฆษณา เขาเป็นคนกรุงเทพฯ ศึกษาประวัติศาสตร์และติดตามข่าวการเมืองอยู่ตลอด จุดยืนคือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แม้ว่าในสังคมการทำงานจะเต็มไปด้วยคนเกลียดชังอดีตนายกฯ สนับสนุนการรัฐประหาร และชิงชังการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง แต่เขาไม่สนใจแรงต้านเหล่านั้น ทว่าจัดสรรเวลาลงพื้นที่ไปสัมผัสการชุมนุมทางการเมือง แล้วนำมาถ่ายทอดลงเว็บบอร์ดอยู่เสมอ
“ผมเหมือนเป็นพีอาร์ให้ม็อบเลย” เขาพูดถึงบทบาทของตัวเองในปี 2552-2553 แต่บทบาทนั้นไม่ใช่การว่าจ้าง เขาลงพื้นที่ด้วยความรู้สึกเห็นด้วยในแนวทางและเห็นใจผู้ชุมนุม
เมื่อ ‘สำนักพิมพ์อ่าน’ ติดต่อไป เขาตอบตกลง แล้วลงมือถ่ายทอดสิ่งที่เห็นเป็นหนังสือ ‘กรุงเทพฯ (ไม่) มีคนเสื้อแดง: บันทึกการต่อสู้ของคนเสื้อแดงกรุงเทพฯ’ เป็นเนื้อหาที่มากด้วยอารมณ์ร่วม และระหว่างบรรทัดที่บอกเล่ารายละเอียดได้อย่างเห็นชีวิตผู้คน
ขี้ข้าทักษิณ ขายสิทธิ์ขายเสียง คนโง่ คนจน คนเห็นแก่ผลประโยชน์ – เป็นภาพที่หลายคนมองคนเสื้อแดง
การเลือกผู้นำด้วยตัวเอง หนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ – เป็นข้อเรียกร้องและสิ่งที่พวกเขามองตัวเอง
ปี 2553 ความทรงจำที่มีฉากหลังเป็นควันทึบเทาลอยหนาอยู่กลางเมือง ตัดสลับด้วยเสียงกระสุนแหวกอากาศเข้าปะทะร่างผู้ชุมนุม น่าเศร้าที่ความสูญเสียฉับพลันทิ้งบาดแผลไว้ในใจเนิ่นนาน และน่าเศร้ายิ่งกว่าที่ผู้ลงมือและผู้สั่งการยังลอยพ้นคำพิพากษาที่ยุติธรรมกับผู้ถูกกระทำ
ไม่ว่าคุณจะมองเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 (และเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น) อย่างไร บรรทัดถัดจากนี้ คือประสบการณ์ของคนกรุงเทพฯ ที่สัมผัสเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งอ่าน ดู สนทนา และเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่จริง เป็นความทรงจำที่ช่วยให้เข้าใจบางแง่มุมของการเมืองไทยได้พอสมควร
ก่อนการรัฐประหารปี 2549 ชีวิตประจำวันของคุณเป็นยังไง
ผมทำงานวงการโฆษณา อยู่ในส่วนของโพสต์โปรดักชั่น ระหว่างวันก็ทำงาน เลิกงานกินเหล้ากับเพื่อน ขณะเดียวกัน ผมชอบอ่านประวัติศาสตร์การเมือง มันมีอะไรมากกว่าแค่ท่องจำ พออ่านเยอะๆ ก็สนใจการเมือง แต่ความเข้าใจยังแยกส่วน ประวัติศาสตร์ก็ส่วนหนึ่ง การเมืองก็ส่วนหนึ่ง ยังเชื่อมโยงเข้าหากันไม่ได้
ช่วงที่พันธมิตรออกมาไล่แม้ว (ทักษิณ ชินวัตร) ผมก็เอะใจ คนในประเทศเลือกมา ใช่เหรอวะที่จะไปไล่ พอมีเรื่องแม้วจะล้มเจ้า มีเรื่องนายกฯพระราชทาน ก็มองว่าไม่ใช่ มันมากกว่าแค่ไล่แม้วแล้ว เลือกตั้งครั้งก่อนหน้านั้นเป็นครั้งแรกที่ผมเลือกทักษิณ เมื่อก่อนเลือกประชาธิปัตย์มาตลอด แต่ไม่ได้โปรแม้วหรอก ผมชัดเจนว่าไม่เอารัฐประหาร พอเกิดรัฐประหารขึ้นมา ความรู้สึกคือ ท้อว่ะ ผิดหวังที่ประเทศไปทางนี้อีกแล้ว รัฐประหารมากี่ครั้ง ทุกครั้งก็พัง
นอกจากเหตุผลเรื่องอุดมการณ์ การรัฐประหารกระทบชีวิตคุณยังไง
ไม่เลย ผมไม่ได้เดือดร้อนอะไร (เงียบคิด) แต่มันไม่ถึงขั้นอุดมการณ์หรอก ผมแค่รู้สึกว่า สิทธิ์ของประชาชน คนในประเทศเลือกคนนี้มาแล้ว แย่ยังไงก็ต้องใช้การเลือกตั้งเอาเขาออกไป
ชีวิตหลังการรัฐประหารปี 2549 เป็นยังไง
ผมอ่านเว็บพันทิปห้องราชดำเนิน หลังจากนั้นก็ถูกปิดไป แล้วมีเว็บบอร์ดอื่นเกิดขึ้น เราตามไปอ่าน พอรู้ข่าวว่าจะมีการออกมาเจอกัน (6 ตุลาคม 2549 เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร นัดรวมตัวกันที่ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ผมก็อยากไปแสดงตัว ในใจคิดว่าหลายคนคงไม่เห็นด้วย ต้องออกมาเยอะแน่ แต่พอผมไปที่ธรรมศาสตร์ ปรากฏว่าคนน้อยมาก เวทีนั้นยังด่าแม้วอยู่เลย ไม่เอารัฐประหารด้วย ไม่เอาแม้วด้วย ทั้งที่ตอนนั้นรัฐประหารไปแล้ว ผมเลยเริ่มเข้าใจว่ามีพวก ‘สองไม่เอา’ อยู่ด้วย
คนที่ออกมาค่อยๆ รวมตัวจนเกิดเป็น ‘กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ’ พอเริ่มจุดติด ฝ่ายการเมืองก็ส่งสามเกลอออกมา เกิดเป็น นปก. เปลี่ยนชื่อเป็น นปช. พอแกนนำมีพาวเวอร์ในการดึงคน ทำให้คนออกมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ การชุมนุมก็ยกระดับ ช่วงแรกเป็นชั่วครั้งชั่วคราว ก็ยกระดับไปชุมนุมต่อเนื่อง
ตอนนั้นคุณเอาอะไรไม่เอาอะไร
ผมไม่เอารัฐประหาร ส่วนแม้วก็ต้องยอมรับสภาพ (เงียบคิด)
พอผมบอกว่าไม่เอารัฐประหาร ทหารมายึดอำนาจได้ยังไง คนรอบข้างบอกเลยว่า เป็นพวกแม้ว! กระแสเกลียดแม้วเข้มข้นมาก ด่าทหารปุ๊บ เป็นพวกแม้วทันที แต่ผมไม่ได้เชียร์ไง อยู่ในเว็บบอร์ดก็ไม่เคยเชียร์ เป็นอารมณ์เฉยๆ
ช่วงนั้นอึดอัดมาก แต่ถ้าคนส่วนใหญ่เลือกมา เราต้องยอมรับสภาพ โอเค เป็นพวกแม้วก็ได้ อีกอย่างคือพวกสองไม่เอาไม่มีฐานมวลชน สุดท้ายก็เคลื่อนไหวต่อไม่ได้
คุณออกไปม็อบคนเดียวเลยเหรอ
ใช่ ผมเคยชวนเพื่อนนะ แต่ไม่มีใครไป ช่วงแรกไม่รู้หรอกว่าใครเชื่อแบบไหน พอคุยแล้วรู้ว่าเกลียดแม้ว เราก็ไม่คุย คนเห็นด้วยมีบ้าง แต่น้อยมาก คนรอบตัวส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากยุ่งกับผมหรอก
คาดหวังอะไรจากการไปม็อบ
ผมต้องการแสดงตัวว่า พวกเราไม่เอานะเว้ย! แต่พอออกไปแล้ว ช่วยอะไรได้ก็ช่วย ในกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ผมไปช่วยทำป้าย ทำแบ็คดรอป สมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย การตั้งเวทีแต่ละครั้ง เราทำซีดีมาแจกด้วย พี่คนหนึ่งทำหนังสือทำมือมาแจก ผมก็เขียนคอลัมน์ส่งไป เนื้อหาเป็นการด่าคนที่อยู่เบื้องหลัง นอกจากการแสดงตัว ม็อบคือการแจกจ่ายไอเดียด้วย ช่วงนั้นผมค่อยๆ เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ที่อ่านมาเข้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น
คุณเริ่มจาก กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ หลังจากนั้นก็มีหลายกลุ่มหลายชื่อ จนกระทั่งกลายเป็น นปช. หรือ ‘คนเสื้อแดง’ เราสามารถเรียกคุณว่าเป็น ‘คนเสื้อแดง’ ได้ไหม
ได้ แต่ผมไม่ได้ใส่เสื้อแดงไปนะ ตอนนั้นบางคนเข้าร่วมกับ นปช. ไปเลย แต่ผมเป็นอิสระตลอด เข้าไปถ่ายรูป บันทึกเหตุการณ์ เจอเพื่อนก็ทักทายกัน
การเป็นคนเสื้อแดงท่ามกลางเพื่อนร่วมงานที่เกลียดทักษิณ คุณเจออะไรบ้าง
เพื่อนร่วมงานและลูกค้าที่ทำงานด้วย ส่วนใหญ่ไม่ชอบแม้ว เคยมีคนพูดถึงคนเสื้อแดงว่า “คนพวกนี้แดกหญ้าหรือเปล่าวะ!” ผมผ่านไปได้ยิน อยากเถียง แต่ต้องกัดฟัน เขาเป็นลูกค้า เราต้องทำเพื่อปากท้อง ตอนนั้นคือโลกคู่ขนานเลย ผมต้องแยกเรื่องงานและเรื่องการเมืองออกจากกัน ต่อให้ต้องทำงานอวยทหาร ผมทำได้ เราเป็นลูกจ้างบริษัท ไม่สามารถเลือกงานได้หรอก ก็ทำให้จบๆ ไป ถึงเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำ พอเวลาผ่านไป มันพิสูจน์แล้วว่าวิธีนี้ทำให้ชีวิตอยู่รอดได้
เคยพยายามอธิบายกับคนเกลียดทักษิณไหม
เคย
ผมบอกว่า “ทหารโค่นรัฐธรรมนูญนะ ทำแบบนี้ไม่ได้” พูดๆๆ สุดท้ายพอเขาเถียงไม่ได้ บทสนทนามักจบว่า “แต่ผมรักในหลวง แม้วล้มเจ้า” ถ้าเจอแบบนั้นก็เงียบ จบ ตัดการสนทนา คนแบบนี้อธิบายไปก็ไม่ฟังหรอก
ทำไมชนชั้นกลางที่เรียนจบสูง ติดตามข่าวสาร อ่านหนังสือเยอะ ถึงเกลียดทักษิณขนาดนั้น คำอธิบายคืออะไร
ผมเคยสงสัยนะ วงการของผมมีคนทำงานศิลปะเยอะ คนพวกนี้ต้องเป็นกบฎสิวะ แต่เอาเข้าจริงไม่ใช่ หลายคนเอาความคิดคนอื่นมาทำให้ตัวเองดูดี มันฉาบฉวย เพราะไม่ได้ศึกษาและกลั่นกรองอะไร หลายคนเกลียดแม้วเพราะกระแส ไม่อยากตกเทรนด์ คนไทยมีชนชั้นทางความคิด คนหัวๆ บอกมา งั้นเชื่อคนนี้ ในวงการโฆษณาคนนี้สุดยอด เขาพูด เราเชื่อ วงการดารานักร้องก็เป็น แล้วพวกหัวๆ ก็โยงกับอำนาจใหญ่ขึ้นไป แต่ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์อย่างเดียวหรอก บางคนก็มีอุดมการณ์ของตัวเอง ชีวิตอยู่แบบไหนก็เชื่อแบบนั้น ส่วนเรื่องคนอ่านหนังสือเยอะก็ไม่เกี่ยวอะไร ถ้าคุณอ่านแต่หนังสือโลกสวย มันไม่ได้ช่วยอะไรนะ
มีคนมาสะกิดว่าเห็นด้วยบ้างไหม
มี คนมาบอกว่า “สู้นะพี่ แต่ผมเองขออยู่เงียบๆ”
หลังการรัฐประหารปี 2549 มีการเลือกตั้งปี 2550 สมัคร สุนทรเวช ขึ้นมาเป็นนายก ต่อมาโดนคดีชิมไปบ่นไป แล้วมาเป็นนายกสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ช่วงเวลานั้นคุณออกมาม็อบบ้างไหม
พอประเทศไทยมีการเลือกตั้ง ผมไม่ค่อยอะไรแล้ว พอสมัครต้องลงจากตำแหน่ง มีคนออกมาเคลื่อนไหว ผมตามข่าวอย่างเดียว จนกระทั่งอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ (17 ธันวาคม 2551) ช่วงปี 2552 ผมออกมาอีกครั้ง ผมมองว่าเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งที่ไม่ใช่แล้ว บีบคนเก่าออกไป ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร อีกเหตุผลคือ ผมกับคนเสื้อแดงร่วมหัวจมท้ายกันมาแล้ว พอเขาออกมาไล่ ผมเลยออกมาอีก
การที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณได้รับผลกระทบอะไร
ไม่กระทบเลย เส้นกราฟชีวิตการทำงานของผมกำลังขึ้นไปเรื่อยๆ
ถ้าไม่ได้รับผลกระทบ คุณออกมาเพราะอะไร
เรารับไม่ได้กับการตั้งรัฐบาลแบบนี้ อีกอย่างคือเราร่วมหัวจมท้ายกับคนเสื้อแดงไปแล้ว เป็นหนึ่งในขบวน เริ่มกลมกลืนกับคนที่มาจากต่างจังหวัด เขาสู้เพื่อขอให้ยุบสภา ต้องการเอาการเลือกตั้งกลับมา เราก็ไปด้วย
ปี 2549 คุณอยากแสดงตัว ปี 2552-2553 คุณไปทำอะไรที่ม็อบ
ผมไปถ่ายรูปการชุมนุมมาลงเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน พิมพ์เล่าบรรยากาศในนั้น “ฝนตกหนักมาก ลำบาก แต่คนก็ยังอยู่ เด็กก็มา คนพิการก็มา” ผมเหมือนเป็นพีอาร์ให้ม็อบเลย (หัวเราะ) เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันมีกลุ่มคนสองไม่เอาเยอะ ไม่เอารัฐประหารและไม่เอาแม้ว ผมอยากเอาภาพในพื้นที่มาถ่ายทอด มาทางนี้สิ คนในม็อบออกมาด้วยเหตุผลนี้ แต่ละคนมีเหตุผลไม่เหมือนกัน มาเพราะเกลียดทหาร มาเพราะเกลียดอภิสิทธิ์ มาเพราะรักแม้ว จุดร่วมคือเขาต้องการผู้นำที่ตัวเองเลือก สิทธิ์เสียงต้องมี ถ้าคุณยืนยันหลักการนี้ ต้องตัดทิ้งไปว่าเขาออกมาเพื่อปกป้องใคร
ตั้งแต่ตอนนั้นจนกระทั่งตอนนี้ หลายคนยังบอกว่า คนเสื้อแดงถูกจ้างมา มันเป็นความจริงไหม
ก็มี มันคือค่าเสียเวลาที่มาจากต่างจังหวัด แต่อากาศร้อนๆ มานอนค้างคืนหลายวัน เป็นคุณจะมาไหม เราต้องเลิกมองว่าคนในม็อบเป็นสมุนของแม้ว แต่มองเขาเป็นคนหนึ่งคน มองอย่างมีศักดิ์ศรี ถ้ามองแบบนั้น เราจะเอาตัวเองไปแทนที่ ได้เงินเหรอ แต่เป็นกูไม่ทำหรอก มันไม่คุ้มหรอก ความบริสุทธิ์ของม็อบเป็นสิ่งที่แอ็คทิวิสต์คิดขึ้นมา มองว่าต้องไม่มีนักการเมืองมาเกี่ยวข้อง แต่ความเป็นจริงคือ เงินคือค่าเสียเวลา แต่ถ้าเขาไม่ได้คิดแบบนั้น ยังไงก็ไม่มาหรอก มันไม่คุ้ม
10 เมษายน 2553 ทหารสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ คุณอยู่ที่ไหน
พ่อแม่โทรมาบอกว่า “อย่าออกไปนะ” เมียก็ไม่ให้ไป พวกเขาร้องไห้เลย โอเค งั้นผมไม่ไป บางคนอาจมองว่า เราต้องออกไป ต้องละทิ้งทุกอย่าง ออกไปเพื่ออุดมการณ์ แต่ผมทิ้งคนใกล้ตัวไปไม่ได้ พวกเขาก็มีความหมายกับผม วันนั้นดูข่าวตลอด ทั้งทีวีและเว็บบอร์ด
ตอนรู้ข่าวว่ามีคนเสียชีวิตจำนวนมาก ความรู้สึกเป็นยังไง
เศร้ามาก คลิปในยูทูปมีคนมาพิมพ์ว่า “ยิงให้ตายไปเลย!” พิมพ์แบบนั้นเยอะมาก พวกเขาไม่ได้มองคนเสื้อแดงเป็นคนแล้ว บรรยากาศเหมือนย้อนกลับไป 6 ตุลาฯ พวกแม้ว พวกล้มเจ้า ตายไปให้หมดเลย ขอความสงบกลับมา
แต่วันรุ่งขึ้นก็ต้องไปทำงานตามปกติ
ใช่ มันโหดมาก ต้องแข็งใจไป ไม่ค่อยมีสมาธิ ลูกค้าและเพื่อนร่วมงานก็คุยกัน เขาเห็นด้วยกับการสลายการชุมนุม
งานก็ต้องทำ ม็อบก็ต้องไป คุณจัดการเวลายังไง
ผมไม่เคยลางาน ไม่เคยโดดงาน เสร็จงานค่อยไป ถ้าช่วงเช้าอีกวันไม่มีงาน บางวันก็นอนค้าง (เงียบคิด) ปี 2553 ผมฮาร์ดคอร์มากขึ้น เริ่มเข้าไปในจุดที่มีการปะทะ ได้ยินเสียงปืนเสียงระเบิด บรรยากาศเหมือนอยู่ในสงครามเลย
ตอนนั้นโกรธใคร
ไม่ใช่ความโกรธแล้ว มันเศร้า เราทำอะไรไม่ได้ มันไม่คุ้มเลย มันไม่คุ้มเลย ความพยายามของคนที่ไม่ได้อะไรกลับมา การเสียสละของคนหนึ่งไม่มีค่าอะไรเลย แล้วพอกลับมาทำงานในออฟฟิศ คนในอีกโลกกลับ เฮๆๆ ที่มีคนโดนยิง (เงียบคิด) ตอนนั้นไม่ได้โกรธ แต่แค้น
แค้นใคร
แค้นระบบ (ตอบทันที) เราไม่ได้แค้นคน ส่วนหนึ่งที่ผมยังทำงานในวงการโฆษณาต่อได้ เพราะคนเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่โดนกล่อม ชีวิตประจำวันพวกเขาก็เป็นคนดีในสังคม ตอนนั้นเขาอาจเกลียดผม แต่ผมไม่ได้เกลียดเขา
19 พฤษภาคม 2553 ทหารสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ คุณอยู่ที่ไหน
คืนวันที่ 18 ผมอยู่ที่ม็อบจนถึงเช้าวันที่ 19 ตอนนั้นทหารปิดทางหมดแล้ว เตรียมเข้าไปสลายการชุมนุม สักแปดโมงผมต้องกลับไปทำงานต่อ ตอนที่สลายการชุมนุมเสร็จ ผมอยู่ในออฟฟิศ เพื่อนร่วมงานและลูกค้าเปิดทีวี พวกเขาพูดกันว่า “สลายแล้วเว้ย สลายแล้วเว้ย” บรรยากาศคึกคัก แล้วก็มีเสียง “เฮ! (พูดเสียงดัง) สลายเสร็จแล้ว” เสียงลั่นเลย สักพักมีคนกลุ่มเล็กๆ มานั่งเศร้าด้วยกัน “ดูดิ พี่คนนั้นเฮใหญ่เลย”
ความรู้สึกคือเราพ่ายแพ้ แค้น และจะกลับมาเอาคืน หลังจากวันนั้นก็ Big Cleaning Day ผมด่าในใจแหละ พวกมึงโคตรเปลือกเลยว่ะ หลังจากนั้นก็ติดตามการเมืองมาเรื่อยๆ ครั้งไหนไม่เห็นด้วยก็ออกมาแสดงตัว เคยประท้วงการนิรโทษกรรมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยประท้วงการรัฐประหารปี 2557
คุณเขียนไว้ในหนังสือว่า ขณะที่ออกไปชุมนุม รู้อยู่ตลอดว่าการต่อสู้ไม่มีทางชนะ ถ้ารู้ว่าไม่ชนะ ทำไมถึงยังออกไป
เหมือนเราเป็นนักมวยที่ออกไปชิงแชมป์ เราต้องไปท้าชิงเรื่อยๆ แพ้ก็ไปซ้อมมาใหม่ กลับมาท้าชิงอีก แต่วันที่ล้มแชมป์ได้ มันแค่ครั้งเดียว อย่างน้อยขอให้ได้สู้ ดีกว่าไม่เอาอะไรเลย
หลังจากเหตุการณ์นั้น คุณจัดการความเศร้าของตัวเองยังไง
ผมมีกลุ่มเพื่อนที่คุยกันตลอด นัดกินข้าว คุยกับว่าในทางวัฒนธรรม เราทำอะไรกันได้บ้าง หนึ่งในนั้นคือหนังสือ กรุงเทพฯ (ไม่) มีคนเสื้อแดง พอคุณไอดา (ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน) ติดต่อมา ผมก็ตกลง มันคือส่วนหนึ่งของการบันทึกเหตุการณ์ คือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมด้วย
ทำไมเรื่องที่พื้นฐานมากๆ ในสังคมประชาธิปไตย คือ หนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์ ถึงยังเถียงกันมาเป็นสิบปีแล้ว
เราอยู่ในสังคมที่มีการปลูกฝังว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่เหนือกว่าคนอื่น คนจนต้องโง่ จน เจ็บ ต้องจน เครียด กินเหล้า ชนชั้นกลางมีศีลธรรมของตัวเอง แต่เขาอยู่ได้เพราะมีต้นทุนอยู่ อย่างเรื่องโควิดที่ชนชั้นกลางทำงานที่บ้านได้ พอเห็นคนออกมาข้างนอก บางคนพูดว่า ออกมาข้างนอกทำไม เขาต้องออกมาทำงานไง
นับจากการสลายการชุมนุม เวลาผ่านมากว่าสิบปีแล้ว คนรอบๆ ตัวของคุณ คนที่เคยเกลียดแม้ว เห็นด้วยกับรัฐประหาร และดีใจที่มีการสลายการชุมนุม มีใครเปลี่ยนความคิดบ้างไหม
ถ้าคนที่ฮาร์ดคอร์อยู่แล้ว ไม่มีใครเปลี่ยนเลย คนเคยอินมากๆ แสดงอารมณ์มากๆ ไม่มีทางเปลี่ยนหรอก บางคนมีอีโก้ด้วย ไปแล้วไปเลย ถ้าเวลาผ่านไปแล้วเปลี่ยนข้าง แสดงว่าตอนนั้นตัดสินใจผิด แต่คนที่อยู่ขอบๆ กระทบตัวเองก็ด่า กระแสอะไรมาก็ด่า คนพวกนี้ซอฟต์ลง เพราะตอนนี้รัฐบาลที่ตัวเองเชียร์โดนเยอะ แต่ลึกๆ อาจยังเชียร์รัฐบาลอยู่ก็ได้ สิ่งที่เปลี่ยนคือคนเสื้อแดงพูดได้มากขึ้น ในกลุ่มไลน์ศิษย์เก่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ผมพูดได้มากขึ้น คนพวกนั้นก็เงียบ แต่โดยหลักการพื้นฐานแล้ว ผมว่าไม่เปลี่ยนหรอก ถ้าแม้วกลับมาก็คงด่าอีก
เราสามารถเป็นเพื่อนกับคนที่เห็นต่างทางการเมืองได้ไหม
ได้ ช่วงหนึ่งผมห่างกับเพื่อนบางคนไปเลย ไม่คุยกันหลายปี มองหน้าแล้วหลบกัน จนกระทั่งเพื่อนแต่งงาน ผมมีคำถามว่า ไปดีไหมวะ สุดท้ายก็ไป เจอกันในงานก็ทักแบบเออะๆ อะๆ แต่เวลาผ่านไปสักพัก ต่างคนต่างช่างแม่งไปแล้ว ก็มาเจอกัน กินเหล้ากันได้ แต่ไม่คุยเรื่องการเมืองเลย
ถ้าคนที่ปักใจเชื่อว่าคนเสื้อแดงคือ ขายสิทธิ์ขายเสียง ขี้ข้าทักษิณ เผาบ้านเผาเมือง คุณจะบอกอะไร
เอาตามตรงนะ ไม่อยากจะพูด (หัวเราะ) เรื่องมันขนาดนี้แล้ว คุยไปก็ทะเลาะกัน ไม่ใช่ว่าไม่เคย ผมเคยอธิบายแล้ว พูดให้ฟัง ส่งลิงค์ให้ดู แล้วยังไง สุดท้ายก็จบที่ว่า เรารักในหลวง คนที่เชื่อแบบไหนไปแล้ว ต่อให้มีหลักฐานชัดเจนยังไง เขาก็มองในมุมตัวเองได้อยู่ดี
ในสังคมประชาธิปไตย ความแตกต่างหลากหลายเป็นความงดงามอย่างหนึ่ง ในประเทศไทยมีคนเห็นด้วยกับการรัฐประหารอยู่ไม่น้อย เราสามารถนับคนเหล่านั้นเป็นความงดงามได้ไหม
ไม่ได้สิ แบบนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย ความแตกต่างหลากหลายที่ว่าคือ ชอบนักการเมืองคนนี้ ไม่ชอบนักการเมืองคนนั้น ความแตกต่างเรื่องเพศ ความแตกต่างเรื่องสีผิว อะไรแบบนี้
เวลาผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว อะไรในตัวคุณเปลี่ยนไปบ้าง
ผมใจเย็นลง เวลาใครด่าก็ไม่ค่อยอารมณ์ขึ้นแล้ว เมื่อก่อนผมเอาข้อมูลไปสู้ ใครบอกว่า เสื้อแดงโง่โดนหลอก โดนปลุกระดม ผมเถียง ถ้าตอนนี้เจอแบบนั้น ช่างแม่ง (หัวเราะ) เราลองมาแล้ว มันไม่มีประโยชน์ คุยกับคนที่เปิดก่อนดีกว่า ถ้าเขาปิดอยู่ ไปจี้ๆๆ ก็ไม่ได้อะไร
มุมมองของโครงสร้างการเมืองเปลี่ยนไป เรามองทุกอย่างเป็นผู้เล่นการเมืองมากขึ้น มองมวลชนได้เคลียร์ขึ้น วิเคราะห์กระแสสังคมได้แจ่มชัดขึ้น ตอนนี้คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามและหาคำตอบกันเอง
แฮชแท็กในทวิตเตอร์เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีนะ เมื่อก่อนต้องลงถนน แต่โซเชียลมีเดียต่างๆ ทำหน้าที่การลงถนนไปได้เยอะ การชูป้ายก็เปลี่ยนเป็นแฮชแท็ค ฟังเวทีปราศรัย รับซีดีในม็อบ ก็เปลี่ยนเป็นอ่านข้อมูลและความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย เราไปแสดงตัวเป็นครั้งคราวก็พอ มันอาจเกิดผลที่ใกล้เคียงแบบก่อนก็ได้
เวลามีคนบอกว่า สุดท้ายแล้วมวลชนก็เป็นเครื่องมือของแกนนำ ออกไปก็ตายฟรี คุณเห็นด้วยไหม
บางส่วนก็ใช่ บางส่วนก็ไม่เชิง ถ้าเรามั่นใจแล้วว่าออกไปเพื่ออะไร ก็ไม่ต้องไปกลัวว่าเป็นเครื่องมือของใครหรอก เพื่อนของผมบางคน เกลียดแม้ว แต่ไม่เอารัฐประหาร วันหนึ่งเรากินเหล้ากัน ด่าอะไรไปเรื่อย อยู่ๆ เขาพูดว่า “มึงรู้ตัวหรือเปล่าว่าเป็นเครื่องมือของแม้ว” มันไม่ใช่หรอก ผมไปเพราะอัดอั้นเรื่องรัฐประหาร แม้วเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างพื้นที่ให้เราด้วยซ้ำ มันเสริมกันและกัน ถ้าเราชัดเจนในตัวเองแล้ว ต้องไม่แคร์ วันที่พ่อแม่และเมียห้าม ผมก็ไม่ออก เพราะพวกเขาก็มีความหมาย
ไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์ใหญ่โต การออกไปชุมนุมคือการทำเพื่อตัวเอง
ใช่ มันเพื่อตัวเอง ผมไม่ได้ทำเพื่ออุดมการณ์อะไรทั้งสิ้น ไม่ได้ออกมาเพื่อปกป้องใคร เราควรคิดแบบนี้ และต่อไปก็ควรคิดแบบนี้ เราเห็นสิ่งนี้ไม่ถูกต้องเลยออกมา รัฐประหารกระทบประโยชน์ของเรา แบบนี้คือทำเพื่อตัวเองนะ บ้านเราไปมองคำว่า ‘เห็นแก่ตัว’ ในด้านที่น่าเกลียด ผมทำเพื่อตัวเองเป็นหลัก เรื่องอุดมการณ์เป็นสิ่งที่ตามมา
คำว่า ‘ตาสว่าง’ อยู่ในหนังสือของคุณหลายครั้ง อยากรู้ว่าคุณมองเห็นอะไร และในสังคมไทยที่ไม่ได้มีเสรีภาพขนาดนั้น การมองเห็นยิ่งทำให้อึดอัดหรือเปล่า
ตาสว่างเกิดจากการเชื่อมโยง เหมือนต่อวงจรไฟฟ้า พอเชื่อมโยงครบ มันเกิดแสง ปิ๊ง! เรารู้จุดนี้ รู้จุดนั้น รู้ๆๆ เพิ่มขึ้น พอทุกอย่างเชื่อมโยงกัน อ๋อ.. คนนี้ทำแบบนี้เพื่อตรงนี้ อ๋อ.. อันนี้หมายความแบบนี้ ผลประโยชน์ขัดกันแบบนี้ อ๋อ.. ทุกอย่างคือการเมือง แล้วทุกคนเป็นหมด รู้แล้วร้อนวิชา อยากบอกคนอื่น แต่เราพูดไม่ได้ทุกเรื่อง ช่วงที่คุยกับใครไม่ได้ ก็อึดอัดนะ คุยกันทุกอย่างเป็นโค้ดลับ แต่ตอนนี้คนรู้กันหมดแล้วล่ะ
รู้แล้วทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้ไปเลยดีกว่าไหม
ไม่รู้ไปเลยโคตรอันตราย ถ้าเข้าไปในที่มืด ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน มันสะดุดล้มได้ แต่ถ้ารู้ เรามองสิ่งที่เกิดขึ้นออก วิเคราะห์ได้ เพราะอันนี้เลยเป็นแบบนี้
ทุกวันนี้คุณรู้สึกกับเหตุการณ์ปี 2553 ยังไง
ก็เสียใจ ถึงจะแพ้ แต่มันสร้างวัฒนธรรมหลายอย่างขึ้นมา มีสิ่งหลงเหลือต่อยอดมาถึงทุกวันนี้ เช่น คำว่า ‘สลิ่ม’ ก็เกิดในช่วงนั้น เกิดคำที่เป็นคู่ตรงข้ามกับเสื้อแดง เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ เกิดหมู่บ้านเสื้อแดงในพื้นที่ต่างๆ คนจำนวนมากเข้าใจและเชื่อมโยงการเมืองมากขึ้น ความเข้าใจของเด็กรุ่นใหม่ก็ต่อยอดมาจากการเคลื่อนไหวนั้น
ถ้ามองจากปัจจุบัน หันหลังไปเห็นอะไร มองไปข้างหน้าเห็นอะไร
ปี 2553 รัฐได้รับอนุญาตจากชนชั้นกลาง เขาเลยกล้าโหดเหี้ยมกับชนชั้นล่าง ถ้าในอนาคตเราชนะในสมรภูมิชนชั้นกลางได้ ชนชั้นกลางออกมาเยอะขึ้น น่าคิดว่าเขาจะยังทำแบบเดิมไหม ดังนั้นเราต้องเอาชนะในสมรภูมิชนชั้นกลาง แต่ไม่ใช่ฟาดฟันทางความคิด ต้องเป็นการชนะทางวัฒนธรรม แบบนั้นถึงจะมีความหวังกับการเมืองไทย โซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะ คนตาสว่างกันมาก กล้าด่าอะไรมากขึ้น ผมมีความหวังกับคนรุ่นใหม่นะ
อยากให้คนทั่วไปจดจำเหตุการณ์นั้นยังไง
โดยส่วนตัวนะ ผมอยากให้จดจำว่าคือการต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่ง แม้รู้ว่าออกไปแล้วแพ้ก็ยังสู้ อย่างน้อยก็สร้างความบาดเจ็บให้มากที่สุด เปิดแผลให้ได้มากที่สุด รุ่นต่อไปก็มาซ้ำแผลเดิมได้เลย