ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลที่คุกรุ่น หลังมีกระแสข่าวตลอดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 31 ส.ค.-3 ก.ย.2564 ว่า ‘ผู้กอง’* จะท้าทาย ‘นายพล’ โดยวันเผด็จศึก คือวันลงมติ 4 ก.ย.2564
จนพี่น้อง 3 ป. ต้องเข้าไปเคลียร์ใจกันในค่ายทหาร
ก่อนจะได้บทสรุปว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นับร้อยชีวิตไม่มีใคร ‘แตกแถว’ ไปโหวตอย่างอื่นยกเว้น ‘ไว้วางใจ’ ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีก 5 รัฐมนตรี ที่ถูกยื่นซักฟอกในคราเดียวกัน
มีเพียงคนเดียวเท่านั้น ‘เดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี’ หรือที่หลายๆ สื่อเรียกว่า ‘มาดามเดียร์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไปลงมติงดออกเสียง ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ผู้สวมอีกหัวโขนคือ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคร่วมรัฐบาลสำคัญ
เป็นอีกครั้งที่เธอ ไม่โหวต ‘ไว้วางใจ’ คนจาก ภท. หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อนก็ลงมติเช่นนี้ไปแล้ว กับ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รมว.คมนาคม และเลขาธิการ ภท. (แม้ครั้งนี้จะมาคนเดียว ส่วนอีก 4-5 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ในพรรคพลังประชารัฐคนอื่นๆ โหวตไปตามมติของพรรค)
คล้อยหลังผลการลงมติปรากฎออกมาไม่นาน วทันยาต้องชี้แจงสื่อหลายหนถึงเหตุผลที่ ‘สวนมติพรรค’ โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกโหวตกลายเป็นคนจาก ภท.-คู่กรณีเก่า ที่เคยเป็นประเด็นความขัดแย้งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งโยงใยไปเรื่องธุรกิจสื่อที่เธอเคยเป็นผู้บริหาร (และสามียังเป็นเจ้าของถึงปัจจุบัน) ก่อนโดดลงมาเล่นการเมือง
และกลายเป็น ‘คำถามภาคบังคับ’ ที่เธอต้องตอบ ทุกครั้งที่มีจุดยืนอะไรบางอย่างที่ขัดแย้งกับ ภท.
The MATTER มีโอกาสคุยกับ ส.ส.สมัยแรกรายนี้หลังการลงมติ ซึ่งเธอบอกว่าอยากจะพูดเรื่อง ‘เอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง = อิสระของผู้แทนที่จะได้สะท้อนความต้องการประชาชน = กลไกตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร’ ยาวๆ เราจึงนัดหมายกันในบ่ายวันหนึ่ง
วทันยาออกตัวว่า ไม่รู้ว่าคนจะเชื่อสิ่งที่เธอกำลังจะพูดแค่ไหน แต่ขอให้ลองรับฟังกันดู
เราจึงชวนเธอคุยหลายเรื่องราว ทั้งเหตุผลในการลงมติเช่นนั้น ความขัดแย้งกับแกนนำ ภท. ไปจนถึงคำถามเรื่องอนาคตทางการเมือง ในเมื่อภาพลักษณ์ของเธอกลายเป็น ‘เด็กดื้อ’ ของผู้ใหญ่ใน พปชร.
จนไม่รู้ว่า เส้นทางบนถนนการเมืองของเธอ จะอยู่ใต้ร่มของพรรคโลโก้ธงชาติรูปทรงวงกลมนี้ ไปได้อีกนานแค่ไหน
*หมายเหตุ: ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ฯ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
วงสนทนานี้เกิดขึ้น เพราะคุณวทันยาบอกว่า อยากจะพูดเรื่อง ‘เอกสิทธิ์ ส.ส.’ มันสำคัญอย่างไร ทำไมถึงทำให้กล้าโหวตสวนมติพรรค
ข้อแรก เรามักจะมีความรู้สึกว่า ส.ส.ที่ไม่ทำตามมติพรรคเป็นเหมือน ‘ส.ส.ที่กระทำความผิดอยู่’ ทั้งที่จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 124 ก็เขียนไว้ชัดเจนเรื่องเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในการจะอภิปรายรวมถึงการลงมติ ที่ถือเป็นเอกสิทธิ์ของผู้แทน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องมิได้
ข้อที่สอง การทำงานของ ส.ส. จะต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง โดยปราศจากการชักจูงโน้มน้าวหรืออิทธิพลอื่นใดมาครอบงำ
แล้ววันนี้เดียร์มาทำหน้าที่ ส.ส. มันก็เป็นที่ทราบกันดีว่า มีหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือออกกฎหมายในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นกลไกถ่วงดุลกับรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหาร ก็คือให้อำนาจในการตรวจสอบข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น เลยมองว่าเอกสิทธิ์ของ ส.ส.มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเกิดว่า ส.ส.ได้ใช้อำนาจที่มีอยู่โดยสุจริต มันก็จะทำให้กลไกที่ถูกออกแบบให้มีการถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นไปอย่างสมบูรณ์อย่างแท้จริง
แต่วันนี้ มันกลายเป็นว่า สิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ห้ามครอบงำ ส.ส. แต่มติพรรคกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่และเหนือไปกว่าความคิดเห็นและวิจารณญาณของ ส.ส.
ซึ่งเดียร์เชื่อว่าทุกคนที่ได้รับเลือกเข้ามา ยังไงก็มีคุณสมบัติและมีวุฒิภาวะในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ คนที่เลือกเข้ามาก็คือประชาชน ส.ส.จึงควรจะได้ทำหน้าที่ในการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนจริงๆ แต่พอจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘มติพรรค’ เลยทำให้หลักการที่ควรจะเป็น หรือการที่จะได้สะท้อนสิ่งที่ประชาชนคิดเห็นจริงๆ มันไม่เกิดขึ้น
เลยเป็นจุดที่อยากจะออกมา voice out ว่า เราในฐานะนักการเมือง อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุกความคิดของสังคมใหม่หรือเปล่าว่า อะไรมันคือสิ่งที่ถูกต้อง และอะไรกันแน่ ที่กำลังทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญถูกบิดเบือน
พูดตรงๆ ว่าวันที่ไปโหวต เราเข้าไปนั่งแล้วมองไปรอบๆ แล้วมีความคิดหนึ่งที่ว่านี่คือ ‘สภาอันทรงเกียรติ’ แต่ในข้อเท็จจริง มันไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนั้นจริงๆ ก็เลยรู้สึกว่าอยากจะทำอะไรบางอย่าง ประกอบกับพอโหวตจบ ได้มีโอกาสไปติดตามนักวิเคราะห์การเมือง อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ วิเคราะห์ว่า “วันนี้สภาไม่ได้เป็นที่พึ่งเป็นทางออกให้กับประชาชนอย่างแท้จริง” ก็แสดงว่าสิ่งที่เรารู้สึกตอนก่อนจะโหวต กับสิ่งที่ประชาชน นักวิเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญเห็น ก็ไม่ได้รู้สึกต่างไปจากเรา
ก็เลยอยากจะออกมาพูดอะไรบางอย่าง ไม่อยากให้ทุกอย่างมันจบแล้วก็แล้วไป ไปรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบใหม่ ซึ่งตามปกติ เราจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจกันราวๆ เดือน ก.พ.ของทุกปี แต่ครั้งนี้ฝ่ายค้านขอเลื่อนขึ้นมาเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 นั่นแปลว่า อีก 1 ปีข้างหน้าก็จะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกแล้ว
แต่ถ้า ส.ส.ทุกคนมีเอกสิทธิ์ free vote ได้อิสระ โดยไม่ต้องฟังมติพรรค ‘ความเป็นพรรคการเมือง’ ก็ไม่จำเป็นหรือเปล่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบการเมืองไทย ความเป็น ‘พรรค’ ก็ยังมีความสำคัญ ดังนั้นในทางปฏิบัติมองว่าควรมีความยืดหยุ่นในการฟังเสียงสมาชิกพรรค การจะทำให้ free vote มาสู่การปฏิบัติได้จริงๆ ต้องเริ่มจากการโหวตภายในพรรคเองก่อน แล้วนำมาสู่มติพรรค พรรคต้องมีพื้นที่เปิดกว้างมากพอในการแสดงความคิดเห็น เพื่อหาข้อสรุปที่นำไปสู่มติพรรคได้จริง
แนวทางปฏิบัติแบบนี้จะทำให้มติของพรรคก็ยังดำรงอยู่ต่อไป ส่วน ส.ส.ก็มีเอกสิทธิ์ในการร่วมตัดสินใจหรือแสดงออกอย่างแท้จริง ไม่อยากให้มันเกิดบรรยากาศที่เข้าไปลงคะแนนแล้วจบ เพราะมันไม่เกิดการถ่วงดุลตรวจสอบที่ชัดเจน
การโหวตสวนมติพรรครอบก่อนก็โดนลงโทษไปไม่น้อย คิดว่ารอบนี้จะได้รับบทลงโทษอะไรอีกบ้าง
ถึงตอนนี้ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร แต่ก่อนที่จะลงมติก็มีโอกาสไปกราบเรียนทางผู้ใหญ่ของ พปชร.ท่านหนึ่งว่า ขอยืนยันในเจตนารมณ์ของเราว่าเราทำการบ้านมา หลังจากนี้ ไม่ว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร ในฐานะสมาชิกก็พร้อมน้อมรับ
เหตุผลที่คุณวทันยาตัดสินใจลงมติ ‘งดออกเสียง’ กับคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด คือเรื่องอะไร
มี 2 เหตุผลหลัก คือเรื่องวัคซีน และ ATK (ชุดตรวจด่วน Antigen Test Kit)
สำหรับเรื่องวัคซีน จากที่ฟังฝ่ายค้านอภิปรายรวมถึงที่มีโอกาสได้ติดตามการทำงาน เห็นถึงกระบวนการจัดการ COVID-19 ที่ล้มเหลวของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ผ่านมารัฐบาลเปิดทางให้ สธ.จัดซื้อวัคซีนอย่างเต็มที่ ออก พ.ร.ก.เงินกู้ เมื่อปี 2563 ให้เงินมา 4.5 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นวงเงินที่เพียงพอจะหาวัคซีนรวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น แต่มาจนถึงวันนี้เงินส่วนนั้นกลับยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่
ประกอบกับเกิดการระบาดระลอกที่สาม ซึ่งมีรายงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 แต่จนถึงเดือน พ.ค.2564 งบประมาณเพิ่งเบิกใช้ไปทั้งสิ้น 7 พันล้าน จากที่ขอไป 1.2 หมื่นล้าน ยังไม่รวมการขาดแผนสำรองในการจัดการ COVID-19 กลายพันธุ์ สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นถึงการบริหารงานที่ผิดพลาด
สำหรับประเด็น ATK ที่ผ่านมา สธ.มีบทเรียนจากเรื่องวัคซีนแล้ว ว่าการเข้าถึงวัคซีนช้าสร้างความสูญเสียมากแค่ไหน การเข้าถึง ATK ช้าก็ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน ดังนั้น สธ.จึงควรเร่งกระจาย ATK ตั้งแต่มีการปลดล็อกเดือน ส.ค.2564 แต่กลับเพิ่งมาเร่งกระจายในช่วงกลางสัปดาห์นี้เอง
นอกจากนี้ ยังเห็นถึงการตอบคำถามอภิปรายที่ไม่ชัดเจน ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมาและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายเรื่อง ‘ส่วนต่าง’ เงินจัดซื้อวัคซีน Sinovac ระหว่างวงเงินที่อนุมัติกับราคาที่จัดซื้อจริง ทาง รมว.สาธารณสุขก็ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจน บอกว่าเงินส่วนต่างจะไหลกลับสู่คลัง แต่ตามหลักการแล้วเป็นไปไม่ได้
อีกทั้งในบางประเด็นที่ฝ่ายค้านถามไป รมว.สาธารณสุขก็ไม่ตอบคำถามเอง แต่มอบหมายให้ข้าราชการ สธ.มาแถลงควบคู่ที่ใต้ถุนรัฐสภา เหตุการณ์นี่ไม่ควรเกิดขึ้น ข้าราชการควรจะเป็นฝ่ายที่ถ่วงดุลกับนักการเมือง อย่างนี้ต่อไปประชาชนจะเชื่อมั่นในข้าราชการได้อย่างไร แล้วถ้าเอาตามหลัก การจะใช้ข้อมูลใดๆ ตัดสินใจเพื่อลงมติไม่วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ต้องยึดคำของที่รัฐมนตรีที่ชี้แจงในสภาเป็นหลัก การให้ข้าราชการมาแถลงข้างล่างจึงไม่นับเป็นการอภิปรายในสภา
ถ้าเห็นว่าชี้แจงไม่ชัดเจน แล้วทำไมไม่ลงมติ ‘ไม่ไว้วางใจ’ ไปเลย
ในฐานะของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ยังต้องให้เกียรติมติพรรค แต่ก็ถือว่าการงดออกเสียงในครั้งนี้เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของเราแล้วว่าเรารู้สึกถึงความไม่ชอบธรรม จึงไม่สามารถไว้วางใจท่านได้
หากจะมองว่า ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา COVD-19 แล้ว ทำไมงดออกเสียงแค่กับ รมว.สาธารณสุข แต่กับนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้อำนวยการ ศบค.เอง กลับโหวตไว้วางใจล่ะ มีสองมาตรฐานหรือเปล่า
นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ศบค.มีหน้าที่หลักจริงๆ แค่ควบคุมนโยบาย ไม่สามารถดำเนินการโดยตรงได้ ต้องมอบหมายให้หน่วยงานย่อยไปปฏิบัติ ดังนั้นนายกฯ ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการโดยตรง หน้าที่ส่วนนี้คือ สธ. ภายใต้การนำของรัฐมนตรีอนุทิน
อีกส่วนคือ รู้สึกติดใจกับเรื่องวัคซีน หากย้อนกลับไปช่วงต้นการระบาด อำนาจการจัดซื้อวัคซีนทั้งหมดคือ สธ. โดย ศบค.เพียงแค่ให้นโยบายว่าต้องไปหาวัคซีนมา แต่จะเป็นยี่ห้อใด จำนวนเท่าไหร่ ระยะเวลาการนำเข้า ล้วนเป็นอำนาจในการกำหนดของ สธ. ซึ่งหลังจากที่เกิดการทำงานที่ผิดพลาด โดยเฉพาะในช่วงระบาดใหญ่ระลอกที่สาม นายกฯ เลยเข้ารวบรวมอำนาจ เพื่อให้สามารถสั่งการต่างๆ ได้โดยตรงไม่ต้องผ่านหน่วยงานย่อยเหมือนที่ผ่านมา
ซึ่งก็แปลว่า ตั้งแต่รวบอำนาจเข้ามากลางปี 2564 ตัวนายกฯ เองก็ต้องรับผิดชอบกับความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนด้วย ใช่หรือไม่
หลังจากที่มีการโอนอำนาจ ภาพที่เราเห็นคือ เริ่มมีการหารือกับเครือ รพ.เอกชน ปลดล็อกการนำเข้าวัคซีนให้ง่ายขึ้นและหลากหลายขึ้น แต่การที่เพิ่งมาเริ่มดำเนินการในช่วงกลางปี 2564 นี้มันก็มีข้อจำกัด ไม่ใช่ว่าสั่งวัคซีนวันนี้แล้วจะได้โดยเร็ว ต้องผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลา
ฉะนั้น พอมองกลับมาแบบนี้ ในแง่ของการทำงานที่แสดงถึงความล้มเหลวผิดพลาด ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบโดยตรงคือ รมว.สาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
ทำไมภาพของคุณวทันยาดูจะมีปัญหากับคนจาก ภท. อภิปรายไม่ไว้วางใจคราวก่อน ก็งดออกเสียงคุณศักดิ์สยาม มาคราวนี้ก็งดออกเสียงคุณอนุทิน
ส่วนตัวไม่เคยมีปัญหากับใครใน ภท. ทั้งคุณศักดิ์สยามและคุณอนุทิน ทุกครั้งที่เจอในสภาก็ทักทายให้ความเคารพ แต่เรามีเส้นแบ่งระหว่างเรื่องความสัมพันธ์กับการทำงานอย่างชัดเจน
อย่างกรณีที่โหวตไม่ไว้วางใจศักดิ์สยามรอบเดือน ก.พ.2564 เพราะมีประเด็นเรื่องที่ดินเขากระโดง กับการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเฉพาะกับประเด็นหลังที่เรามีโอกาสติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ประกอบกับข้อมูลที่พรรคฝ่ายค้านอภิปราย ก็ต้องยอมรับว่ามันมีความไม่ชอบมาพากลเรื่องการจัดทำ TOR เกิดขึ้นจริงๆ ณ ตอนนั้นศาลปกครองมีคำสั่งชัดเจนว่าให้กลับไปยึดร่างฉบับแรก แต่ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม) กลับเลือกที่จะยกเลิกมติทั้งหมด พูดง่ายๆ คือ รู้ว่าเกมที่เดินไปไม่เป็นคุณ ก็คือคว่ำกระดานล้มมันซะ ถ้าทำอย่างนี้กฎหมายจะดำรงความศักดิ์สิทธิ์ต่อไปได้อย่างไร นั่นเป็นจุดที่เรารับไม่ได้
แต่ในครั้งนี้ เราก็ให้ความไว้วางใจกับศักดิ์สยาม เพราะประเด็นที่ฝ่ายค้านหยิบมาคือที่ดินเขากระโดงอีกครั้ง ซึ่งไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมมากนัก และฝ่ายค้านก็ไปยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้ว ที่เรายังติดใจอยู่คือเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่การอภิปรายรอบนี้ไม่ได้พูดถึงหัวข้อนี้ ฝ่ายค้านหยิบเอาประเด็นที่มีข่าวเรื่องเสเพล และเป็นต้นเหตุของการระบาด COVID-19 ระลอกสาม ซึ่งสิ่งที่อภิปรายยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นตามข้อกล่าวหาจริงๆ เลยตัดสินใจลงมติไว้วางใจไป
แต่ก็มีคนสังเกตว่า ท่าทีของเราเจาะจงไปที่รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลแค่จาก ภท.อย่างเดียว ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เองก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยทุกครั้ง
การลงมติจะต้องผ่านการพิจารณาตามประเด็นและการดำเนินการ อย่างในการอภิปรายครั้งที่แล้วมีประเด็นเรื่องหน้ากากอนามัยของคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ (ซึ่งเป็นหัวหน้า ปชป.) เราเห็นว่าพอเกิดปัญหา ท่านก็เร่งดำเนินการ ไม่ได้เพิกเฉย ส่งเรื่องทั้งหมดเข้า ป.ป.ช.ด้วยตัวเอง เราก็เห็นว่ารัฐมนตรีไม่ได้นิ่งดูดาย ซึ่งคล้ายกันกรณีของศักดิ์สยามในครั้งนี้
ยืนยันว่าไม่ได้ขัดแย้งกับแกนนำ ภท. เรื่องผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวเงินโฆษณาธุรกิจสื่อที่มีการพูดๆ กัน
ไม่มีแน่นอน การตัดสินใจของเราขึ้นอยู่กับเหตุผลการทำงานตรงหน้า และยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องทางผลประโยชน์กับสื่อใดๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะตั้งแต่วันที่สมัครเป็นสมาชิก พปชร. ก็ลาออกจากทุกตำแหน่ง ขายหุ้นทั้งหมด หรือแม้แต่ตอนเรายังอยู่ในองค์กรก็ไม่เคยแทรกแซงการทำงานของกองบรรณาธิการ เราให้ความสำคัญและเคารพอิสระของการทำงานสื่อ เพราะเชื่อมั่นว่านี่คือสิ่งที่ทำให้องค์กรดำรงอยู่ต่อไปได้ เรามีเส้นแบ่งแบบนี้มาโดยตลอด จนถึงวันที่มาทำงานสายการเมืองก็ยังคงเป็นเช่นนั้น
การทำงานในกองบรรณาธิการเนชั่นจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานของเดียร์ เช่นเดียวกันเดียร์ไม่ได้แทรกแซงเนชั่น เนชั่นก็ไม่ได้มีอิทธิพลหรือมากำหนดการตัดสินใจในการทำงานของเดียร์ได้
การโหวตสวนมติพรรคจะกระทบต่อเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลไหม
ประเด็นนี้ต้องถามผู้ใหญ่ว่ามันมีผลกระทบหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ หรือเปล่า แต่เราเชื่อว่า 1 เสียงของเราไม่ได้ส่งผลถึงความสัมพันธ์ขนาดนั้น เพราะวันนี้เรื่องสำคัญคือการแก้ไขปัญหา COVID-19 การเยียวยา เศรษฐกิจ คิดว่าผู้ใหญ่คงไม่เอาเรื่องนี้มาเป็นอุปสรรค
ถึงจะอยากแสดงจุดยืนยังไง คุณวทันยาก็แค่ ‘เสียงเดียว’ ทำไมไม่โหวตตามติพรรคไปให้จบๆ แล้วไม่ต้องมีปัญหาตามมาด้วย
เราเป็นคนชัดเจนในการทำงาน ไม่อยากทำงานบนความ ‘หยวนๆ กันไป’ คือเราไม่รู้หรอกว่าในอนาคตข้างหน้าเนี่ย เส้นทางของตนเองกับคนอาชีพการเมืองมันจะยืนยาวไปเท่าไร จะสั้น จะยาว หรือจะอย่างไร แต่เราก็ไม่อยากนึกย้อนกลับมา แล้วมาเสียใจกับสิ่งที่เรายอมแค่ว่าหยวนๆ กันไป
แน่นอนว่า เสียง 1 เสียงอาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่ก็หวังว่าเสียงนี้จะดังพอที่จะส่งไปถึงผู้นำหรือผู้ดำรงตำแหน่ง เพื่อให้เกิดการตั้งคำถามและนำมาสู่กระบวนการแก้ไขปรับปรุง
เรามาทำงานในสภา มันก็มาจากเสียงของประชาชน ฉะนั้น ถ้าจะต้องเห็นใครสำคัญที่สุดก็ต้องย้อนกลับไปยึดโยงกับประชาชน นี่จึงเป็นเหตุผลที่อยากพูดเรื่องเอกสิทธิ์ของ ส.ส. เพราะอยากให้เจตนารมณ์ของสิ่งนี้ได้ถูกนำมาใช้จริงๆ
เคยคิดไหมว่า ตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทาง
ต้องถามคนอื่นมากกว่าว่าเดียร์อยู่ผิดที่ผิดทางหรือเปล่า เพราะก็มีหลายคนทักอยู่ โอเค ในฐานะสมาชิกพรรค พปชร. เรื่องอื่นๆ เราก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ ไม่ใช่ไม่ให้ความร่วมมือเลย ไม่เช่นนั้นก็คงลงมติไม่ไว้วางใจไปแล้ว แต่ก็ไม่อยากจะฝืนความรู้สึกจริงๆ อย่างที่บอก ไม่อยากให้พอไปถึงอนาคตมองย้อนกลับมาแล้วต้องเสียใจกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า COVID-19 มันเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ควรจะปล่อยให้แค่ว่า หยวนๆ กันไป
มีโดนผู้ใหญ่ใน พปชร.เตือนอะไรมาบ้าง
ไม่ได้ตักเตือนในมุม ภท. แต่ตักเตือนในมุมของบรรทัดฐานพรรค ที่อยากให้สมาชิกปฏิบัติตามนโยบายพรรคมากกว่า แล้วเดียร์ก็เชื่อว่าผู้ใหญ่คงทราบดีเรื่องการทำงานของเราว่า เราเป็นคนแบบไหน
รู้สึกอย่างไร ถ้าต่อไปนี้ภาพลักษณ์ ‘เด็กดื้อ’ จะติดตัวไปเรื่อยๆ
คงห้ามความคิดใครไม่ได้ แต่คาดหวังว่าสังคมไทยจะใจกว้างพอที่จะมองจุดยืนและเจตนารมณ์ รวมถึงเหตุผลที่เราตัดสินใจไปแบบนั้น ในครั้งนี้ไม่สามารถหยวนไปกับมติพรรคได้ เพราะถ้าทำแบบนั้น เรามองไม่เห็นคำตอบว่าประชาชนหรือสังคมจะได้ประโยชน์อะไร ก็หวังว่า 1 เสียงของเราอาจจะเป็นเสียงเล็กๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
อนาคตในวงการการเมือง
ตอนนี้ ยังไม่ได้คิดจะต้องโยกย้ายไปไหนหรือจะเตรียมตัวยังไง เอาเข้าจริงๆ แล้วจะไปต่อหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย มันก็ย้อนกลับมาสู่อย่างที่ถามตั้งแต่ต้นว่าทำไมถึงเลือกที่จะแสดงตัวตนแบบนี้ เพราะจะไปต่อหรือเปล่ายังไม่รู้เลย เลยไม่อยากจะทำอะไรที่ไม่ต้องหวนกลับมาแล้วรู้สึกว่าเสียใจกับการกระทำตัวเองอยากจะทำมันให้ดีที่สุดแค่ไหน
2 ปีเศษที่อยู่ในการเมืองในฐานะ ส.ส. ได้เห็นภาพการเมืองไทยชัดเจนขึ้นไหม เห็นความอัปลักษณ์ อุปสรรค ปัญหาของมันมากน้อยแค่ไหน และคิดว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงได้บ้าง
ถ้าจะให้เปลี่ยน คงต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะในข้อเท็จจริงของสังคมไทย มันยังหนีจากวังวนของระบบอุปถัมภ์เกื้อกูลกันไม่ได้ ซึ่งมันฝังรากลึกจนก็ยังนึกไม่ออกว่าจะแก้ไขอย่างไร
ส่วนตัวคิดว่า สิ่งที่จะทำให้ประเทศก้าวข้ามจุดนั้นได้คือเรื่องของการศึกษา ต้องทำให้คนในสังคมได้รับการศึกษาที่แพร่หลายที่สุดและมีคุณภาพ แต่ก็เป็นเรื่องที่พวกเรารู้กันดีว่า นโยบายการศึกษาเริ่มทำวันนี้ กว่าจะเห็นผลก็ต้องรออีก 10-20 ปีข้างหน้า มันไม่ใช่อันที่โยนเมล็ดหว่านลงไปแล้วเห็นผลได้ทันที แต่ก็เป็นสิ่งที่อยากเรียกร้องไปยังผู้บริหารประเทศ ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ว่า ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ อย่านิ่งเฉย หรือปล่อยให้มันผ่านไป
ส่วนเรื่องเอกสิทธิ์ ส.ส.ที่พูดกันตั้งแต่ต้น การที่ให้มี ส.ส.ได้ลงมติอย่างอิสระ ก็จะทำให้เกิดการถ่วงดุลตรวจสอบรัฐบาลหรือรัฐมนตรี คืออย่างน้อยๆ หากจะคอร์รัปชั่นหรือทำอะไรที่ไม่ดี ก็ต้องเกรงกลัวกฎหมาย เกรงกลัวการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ท้ายที่สุดแล้ว ผลดีก็จะตกอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง