ในวัยเบญจเพศ อายุ 25 ปี คุณกำลังทำอะไร หรือคิดจะทำอะไร?
สำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ขวบปีนี้อาจจะเป็นช่วงชีวิตที่จำได้ไม่รู้ลืม ทั้งจัดการชุมนุมที่หยิบเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ ทั้งนำมวลชนเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมประกาศให้นายกรัฐมนตรีลาออกภายใน 3 วัน
ที่สำคัญก็คือ เธอและผู้ชุมนุมกลุ่ม ‘ราษฎร’ เดินทางไปที่สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบว่ามีการใช้พระราชอำนาจบนแผ่นดินเยอรมนีหรือไม่
หลายคนได้ยินคำปราศรัยของเธอแล้วรู้สึกเป็นห่วงในสวัสดิภาพ
หลายคนกังวลเรื่องคดีความที่จะตามมา ในฐานะผู้อยู่ตรงข้ามกับรัฐ
แต่เธอกลับบอกว่า “หนูก้าวพ้นความกลัวมาหมดแล้วพี่”
‘หนู’ ที่ว่า คือคำสรรพนามที่เธอมักใช้เรียกแทนตัวเอง ‘มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และหนึ่งในแกนนำกลุ่ม ‘ราษฎร’
1.
“ขอโทษจริงๆ พี่ หนูหลง!”
มายด์สารภาพตรงๆ ถึงสาเหตุที่มาช้ากว่าเวลานัด 15 นาที หลังจากขอเลื่อนนัดมาแล้วหนึ่งครั้ง เพราะติดธุระต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมจากพนักงานอัยการ
เรานัดหมายกันที่ co-working space แห่งหนึ่งในสยามสแควร์ แต่เธอเดินวนไปหาที่สยามเซ็นเตอร์อยู่นาน ก่อนจะตัดสินใจโทรศัพท์ผ่านแอพพลิเคชั่น Telegram ที่เราใช้ติดต่อกันเพื่อความปลอดภัย แล้วถึงพบว่าอยู่คนละที่กัน (จริงๆ เป็นทางเราที่เขียนจุดนัดหมายไม่ชัดเจนเองด้วย) โดยเธอให้เหตุผลว่า เพราะปกติจะอยู่ย่านหนองจอก นานๆ ถึงจะเข้าเมืองมาสักครั้ง
วินาทีแรกที่เจอกัน มายด์เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ผมฟู หน้าตาง่วงเหงา จนเราต้องเสนอให้เธอไปล้างหน้าล้างตาก่อนพูดคุย ซึ่งช่วยให้เธอดูสดชื่นขึ้นแค่นิดหน่อย
แต่ทันทีที่การสัมภาษณ์เริ่มต้น ก็เหมือนจุดไฟอะไรบางอย่างในตัวเธอ ให้พลังงานค่อยๆ พวยพุ่งออกมา กลั่นเป็นคำพูดที่ดูสวนทางกับภาพลักษณ์เด็กซนๆ
“ต้องบอกแบบนี้ว่า ที่หนูต่อสู้จนถึงตอนนี้ คือไม่มีความกลัวเหลืออยู่แล้ว มันคือการที่เราเข้าใจแล้วว่า เรามาต่อสู้เรื่องนี้เพราะอะไร แล้วเรามั่นใจในหลักการของเราว่า หลักการในการต่อสู้ของเรามันไม่ได้ผิด การที่เราออกมาพูดถึงเรื่องที่มันเป็นปัญหาในสังคม วัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะหาทางออก ต้องการแก้ไขปัญหาให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม”
มายด์กับเพื่อนๆ ร่วมกันจัดการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย ไล่คนที่รู้ว่าเป็นใคร’ ที่ใช้คอสตูมเป็นบรรดาผู้วิเศษจากภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2563 ซึ่งไฮไลต์ของการชุมนุมวันดังกล่าว คือการที่อานนท์ นำภา ขึ้นพูดถึง 3 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นข้อเสนอที่เธอบอกว่าเป็นการ ‘แง้มฝ้า’
ก่อนจะถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ลานพญานาค ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563 ที่มาพร้อม 10 ข้อเรียกร้อง ที่เธอมองว่าเป็นการ ‘พังเพดาน’ ไปเลย
“(ตั้งแต่ม็อบแฮร์รี่ฯ) เป็นจุดประสงค์ของหนูเองที่อยากจะหยิบยกเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์มาพูดในที่สาธารณะ ในเมื่อมันเป็นปัญหาที่คนไทยเก็บมานานมาก ไม่กล้าพูดถึง ถูกซุกอยู่ใต้พรมมาเป็นเวลานาน แต่คนชอบเอาไปพูดในที่ลับ และทำให้เกิดการบิดเบือนของข้อมูล ความเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างในสังคมไทย ทำให้เกิดความขัดแย้งได้
“หนูเลยคิดว่า ในเมื่อสิ่งที่เป็นปัญหา และทำให้เกิดความขัดแย้ง มันจะต้องหยิบมาคุยกันในที่แจ้งไหม เพื่อจะได้ถกเถียงกันสิว่า อะไรที่มันเหมาะ อะไรที่มันไม่ควร อะไรที่มันเหมาะสม และจะอยู่ร่วมกันได้ หนูว่าการพูดคุยมันคือการหาทางออก ถ้าเราไม่หยิบปัญหาขึ้นมาพูดกันสักที มันก็จะคาราคาซังอยู่แบบนั้น”
2.
มายด์เป็นคน จ.สระบุรี พ่อทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ส่วนแม่ขายเครื่องสำอาง โดยพื้นเพถือเป็นชนชั้นกลางธรรมดา และรอบๆ ตัวเธอก็ไม่ค่อยมีคนสนใจการเมืองมากนัก
ความตื่นตัวของเธอเกิดขึ้น เมื่อเหตุภาพตำรวจลากถูนักศึกษาที่ไปชุมนุมในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการยึดอำนาจ คสช. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไปขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง เมื่อปี พ.ศ.2558 จึงเริ่มสนใจการเมืองและศึกษาหาความรู้ทางด้านนี้
เธอเริ่มต้นเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงๆ จังๆ ไม่นานมานี้ และเริ่มสะสมชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านคำปราศรัยอันตรงไปตรงมา
ถ้อยคำที่กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียง ไม่ว่าจะโทรโข่งหรือลำโพง จึงทรงพลัง
กระทั่งสื่อมวลชนหลายๆ คนติดต่อมาขอสัมภาษณ์ และเธอก็ถูกเชิญไปร่วมงานสัมมนาเวทีแล้วเวทีเล่า
แต่เชื่อหรือไม่ว่า เจ้าตัวบอกว่าเพิ่งจะเริ่มต้นเป็น ‘นักปราศรัย’ จริงๆ จังๆ ได้ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้เอง ก่อนหน้านี้ เธอมักรับบทบาทเป็นเพียง ‘พิธีกร’ หรือ MC ค่อยดำเนินกิจกรรมบนเวทีชุมนุมต่างๆ ให้ราบรื่น และเพิ่งขึ้นปราศรัยเองในช่วงหลัง ระยะแรก ยอมรับว่าเป็นคนพูดในที่สาธารณะได้แย่มาก พูดวกไปวนมา ถึงขนาดต้องเขียนบทก่อนพูด และมีพลังที่จะปราศรัยได้เต็มที่แค่ 30 นาทีเท่านั้น (แต่ช่วงหลังทำได้ดีขึ้น)
เราถามว่า มีใครเป็นต้นแบบในการปราศรัยไหม มายด์ไม่ได้ตอบเป็นตัวคน แต่บอกว่า
“เวลาพูด หนูพูดออกมาจากความรู้สึกทั้งหมด คือคิดยังไง รู้สึกยังไง จะพูดอย่างนั้น หนูต้องการให้คนที่ฟังรู้สึกอย่างไร ก็จะพูดออกมาแบบนั้น ก็ฝึกกับตัวเอง กับเพื่อน ให้ลองฟังซิว่า ฟังแล้วรู้สึกยังไง ตรงกับที่เราอยากสื่อสารไหม”
ชื่อเสียงที่เพิ่มพูนขึ้น สร้างผลกระทบต่อชีวิต 2 ด้าน
หนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาคอยติดตามตัว และไปข่มขู่พ่อแม่ถึงที่บ้าน
สอง มีคนเข้ามาพูดคุยและขอถ่ายรูปในที่สาธารณะ จนเคยไปร่วมชุมนุมครั้งหนึ่งแล้วถูกขอถ่ายรูปกระทั่งไปไม่ถึงเวทีปราศรัย
ส่วนที่ถูกแซวว่าชอบแทนตัวเองว่า ‘หนู’ บ่อยๆ (เราคุยกับเธอครึ่งชั่วโมง มายด์แทนตัวเองว่า ‘หนู’ ถึง 79 ครั้ง) มายด์หัวเราะร่วนแล้วบอกว่า โดนแซวเยอะจนชินแล้ว แต่ที่ใช้คำนี้จนติดปากเพราะเป็นคำสอนของแม่ที่บอกไว้ตั้งแต่เด็กๆ ว่า เวลาไปไหน สิ่งที่ต้องพกไปด้วยเสมอคือสิบนิ้วกับรอยยิ้ม มันคือมารยาทในการเข้าสังคม ไม่จำเป็นต้องทำตัวก๋ากั่นหรือเบ่ง เรานอบน้อมกับทุกคนได้ เราปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไร ก็ได้รับแบบนั้นกลับมา
“การที่หนูนอบน้อมและให้เกียรติทุกคน มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด และควรจะทำด้วยซ้ำ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่คนในสังคมจะมีให้กันอยู่แล้ว และหนูก็เลยติดแบบนี้ คือเราให้เกียรติคนอื่นก่อนเสมอ ถ้าเราอยากได้รับเกียรตินั้นคืนมาเหมือนกัน เราให้ต้องให้เกียรติเขาก่อน”
เธอพูดจบแล้วยิ้มกว้าง ให้เห็นลักยิ้มบนแก้มที่เป็นเอกลักษณ์
3.
หลังนั่งคุยกันเสร็จ เราก็ชวนเธอเดินไปที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อทบทวนถึงเหตุการณ์ที่คนจำนวนมากออกร่วมชุมนุม หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล และประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. อันถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิด flash mob ชนิดแมวไล่จับหนู หรือกลยุทธ์ ‘ไม่ต้องมีแกนนำ’ ในเวลาต่อมา
มายด์ยืนอยู่บน skywalk แยกราชประสงค์ตรงใกล้ศาลพระพรหมเอราวัณแล้วชี้ให้ดูว่า ในเย็นวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2563 มีคนมาร่วมชุมนุมมากมายเกินคาดจนเธอที่ยืนปราศรัยอยู่บนรถกระบะมองไม่เห็นหางแถว แสดงให้เห็นว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ทนไม่ไหว จนต้องออกมาชุมนุมเพื่อส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจ
ระหว่างทางเดินจากสยามไปราชประสงค์ มายด์เล่าให้เราฟังถึงความเป็นห่วงของพ่อ (เธอเรียกว่า ป๊า) กับแม่ ที่ไม่อยากให้ลูกสาวคนเดียวออกมานำการชุมนุม ถึงขั้นยื่นคำขาดอะไรบางอย่าง
แต่หลังการชุมนุมที่สถานทูตเยอรมนี แม่ของมายด์ก็เขียนสเตตัสว่าภูมิใจในตัวลูกสาวคนนี้ที่สุด
“เขาค่อนข้างเป็นห่วง เป็นห่วงมากๆ เลย แต่ว่าในส่วนของอุดมการณ์ การเคลื่อนไหวเขาก็ไม่ได้ติดขัดอะไร หนูว่าเขาก็คงจะเข้าใจแหล่ะว่าการที่หนูต่อสู้อยู่ตรงนี้มันทำเพื่อคนส่วนใหญ่ และเราไม่ได้ทำแค่คนรุ่นเรา”
มายด์กำมือแน่บ หลังจากเราถามถึงเหตุสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2563 – ที่เธอไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย
“วันนั้น หนูขอตัวไปอ่านหนังสือสอบ หลังจากทำกิจกรรมติดๆ กันมาหลายวัน ..ก็เจ็บใจตัวเองที่ไม่ได้อยู่กับเพื่อนๆ ด้วย”
ถึงปัจจุบัน ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหากับเธอแล้ว 4 คดี โดยมีคดีหนึ่งที่เธอตำรวจกองปราบไปดักซุ่มจับเธอในยามวิกาลโดยไม่พกหมายจับมาด้วย กระทั่งเธอต้องไปค้างคืนที่ ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
หลังทำกิจกรรมต่อเนื่องมาหลายเดือน การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน หลากหลายกลุ่มจึงรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘ราษฎร’ ได้ตกผลึกเป็น 3 ข้อเรียกร้อง
- ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลาออก
- เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม
- ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย
“สามข้อเรียกร้องนี้ เราไม่ได้ต้องการปุ๊บปั๊บขนาดนั้น คือประชาชนทุกคนเข้าใจถึงกระบวนการทำงานของรัฐ เข้าใจถึงกระบวนการทางกฎหมาย แต่ที่ทุกคนออกมาวันนี้มีจุดประสงค์ร่วมกัน คือให้ประยุทธ์ลาออก อันเนี้ยคือสิ่งที่ประชาชนคิดว่ารัฐบาลทำได้เร็วและทำได้เลย ถ้าบอกให้ ‘ถอยคนละก้าว’ อันนี้คือถอยที่ประชาชนจะยอมรับได้มากที่สุด
เหลือเพียงสอบอีกเพียงหนึ่งวิชา และทำโปรเจ็กต์จบ เธอก็จะพ้นจากสถานะ ‘นักศึกษา’ เราถามเธอว่า คิดจะทำอะไรต่อไป?
“หนูไม่รู้ว่าเรียนจบแล้วจะทำอะไร อาจจะทำกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพไหน อาจจะเป็นวิศวกรก็ได้ แต่จะไม่ทิ้งงานด้านประชาธิปไตยแน่นอน …เวลาอยู่ข้างเรา อันนี้จริง ส่วนอำนาจอยู่ข้างเขา ก็แค่ช่วงนี้เท่านั้นแหละ”
ส่วนจะสำเร็จหรือไม่? มายด์ยกคำที่อานนท์ นำภา ชอบเขียนลงท้ายจดหมายที่ส่งจากคุกมาให้สาธารณชนได้รับทราบว่า ‘เชื่อมั่นและศรัทธา’
“หนูโคตรชอบ 2 คำนี้เลย เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้เรายังขับเคลื่อนต่อ ถึงแม้จะเจออำนาจรัฐบาลที่โหดร้ายขนาดไหน แต่เรายังไม่หยุดที่จะเดินหน้าต่อ หนูยังคงขับเคลื่อนประชาธิปไตยต่อไปเรื่อยๆ ยังคงเรียกร้องให้ประเทศนี้มีประชาธิปไตยให้กับประชาชนให้ได้”
นี่คือ มายด์-ภัสราวลี ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาขับเคลื่อนสังคมให้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ภายใต้ภาพจำ หญิงสาวตัวเล็กๆ ใส่เสื้อยืดสีดำ สกรีนรูปชูสามนิ้ว และคำว่า democracy ผู้คอยเดินถือโทรโข่งในที่ชุมนุม พร้อมกล่าวคำปราศรัยที่มักเริ่มต้นด้วยคำว่า “พี่น้องคะ!”