สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน กลายเป็นสิทธิที่คนทั่วไปเริ่มรู้จักมากขึ้น หลังมีปรากฏการณ์ ‘ร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งแสนชื่อ’ หรือการร่วมลงชื่อของประชาชนไม่น้อยกว่า 100,000 คนเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา
แต่ทว่า ‘สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย’ เป็นสิทธิที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาไม่น้อยกว่า 22 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 โดยมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นกฎหมายที่รับรองให้เกิดการใช้สิทธิดังกล่าวในทางปฏิบัติ
ตลอดระยะเวลากว่า 22 ปี ‘พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย’ มีการปรับปรุงแก้ไขมาแล้ว 3 ฉบับ โดยฉบับที่ 3 เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2564
ซึ่งสาระสำคัญ คือ การอำนวย ‘ความสะดวก’ ให้กับประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เช่น ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สำนักงานเลขาสภาฯ) มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และที่สำคัญ คือ การเข้าชื่อเสนอกฎหมายไม่จำเป็นจะต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนเป็นเอกสารประกอบอีกต่อไป อีกทั้งยังเตรียมเปิดระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านระบบออนไลน์อีกด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ว่า พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ฉบับใหม่จะมีความก้าวหน้าในการอำนวยสิทธิของประชาชน แต่ทว่า ‘กฎหมายประชาชน’ ก็ยังต้องเจออุปสรรคขวางกั้นจนไปไม่ถึงฝั่งฝันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการปัดตกกฎหมายเกี่ยวกับการเงินของนายกรัฐมนตรี หรืออำนาจปัดตกกฎหมายของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
จากบังคับถ่าย ‘สำเนาทะเบียนบ้าน’ สู่การลงชื่อ ‘ผ่านทางออนไลน์’
รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 ได้วางรากฐานเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนไว้ ในมาตรา 170 ว่า “..ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้พิจารณากฎหมาย..” ต่อมา เมื่อมีการตรา พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ปี พ.ศ.2542 ก็มีการกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้
โดยวิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คือให้ผู้ที่ต้องการเสนอกฎหมาย ยื่น ‘ร่างกฎหมาย’ พร้อมกับเอกสารแบบฟอร์มที่แสดงชื่อ ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายและผู้แทนการเสนอกฎหมายตามที่รัฐสภากำหนด รวมถึงต้องแนบ ‘สำเนาทะเบียนบ้าน’ และ ‘สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน’ หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตน อย่างใดอย่างหนึ่งด้วย
ต่อมา ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550 มีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยเปลี่ยนจำนวนผู้มีสิทธิเสนอกฎหมาย จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน ‘ให้เหลีอเพียง 10,000 คน’
ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงที่ผ่านการถอดบทเรียนถึงความยากลำบากในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ผ่านมา ทว่าแม้รัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขแล้ว แต่กว่า พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ จะถูกปรับปรุงแก้ไขก็ต้องใช้เวลานานกว่า 6 ปี ถึงออกมาเป็น พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ปี พ.ศ.2556
ใน พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี พ.ศ.2556 ได้เปลี่ยนแปลงจำนวนผู้มีสิทธิเสนอกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คือ ใช้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,000 ชื่อ แต่ความก้าวหน้าที่สำคัญในกฎหมายฉบับนี้คือการ ‘ยกเลิกการใช้สำเนาทะเบียนบ้าน’ ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จากเดิมที่ประชาชนต้องใช้เอกสารถึง 3 ฉบับ ก็ลดเหลือ 2 ฉบับได้แก่ 1.แบบฟอร์มลงลายมือชื่อที่รัฐสภาเป็นคนกำหนด กับ 2.สำเนาบัตรประชาชนพร้อมลายเซ็น
พอมาถึงรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2560 สิทธิการเข้าชื่อกฎหมายยังคงกำหนดไว้เหมือนเดิม แต่ว่าฝ่ายการเมืองนำโดยรัฐบาลและพรรคก้าวไกล พยายามปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ จนกระทั่งวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ฉบับใหม่
โดยหนึ่งในความก้าวหน้าของกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายทำได้โดยการกรอกเอกสาร ‘แบบฟอร์ม’ ที่แสดงชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อ ตามที่รัฐสภากำหนดเท่านั้น ‘ไม่จำเป็น’ จะต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนอีกต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เมื่อกรอกแบบฟอร์มการเข้าชื่อที่รัฐสภากำหนดแล้ว ก็สามารถส่งเอกสารมายังผู้ที่กำลังเข้าชื่อเสนอกฎหมายอยู่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ เช่น การส่งผ่านอีเมล์ เฟซบุ๊ก หรือไลน์ อีกทั้ง ยังกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เปิดช่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ‘ผ่านระบบออนไลน์’ อีกด้วย
จาก ‘กกต.’ สู่ ‘สำนักงานเลขาธิการสภาฯ” การเปลี่ยนผ่านหน่วยงานสนับสนุน
ย้อนกลับไปในสมัยที่ยังใช้ พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ปี พ.ศ.2542 หน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คือ ‘คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)’ โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ยื่นขอให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ผ่านการยื่นคำขอร้อมกับร่างกฎหมายที่จะเสนอให้กับประธาน กกต.
เมื่อประธาน กกต. รับทราบ ให้ดำเนินการจัดส่งร่างกฎหมายและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปให้ กกต. ประจำจังหวัดหรือผู้ที่ กกต.จังหวัดแต่งตั้ง ดำเนินการประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดทราบและให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามระยะเวลาและสถานที่ที่กำหนด ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาเข้าชื่อต้องไม่น้อยกว่า 90 วันนันแต่วันประกาศ
หลังจากผ่านเวลามากว่า 22 ปี ในร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี พ.ศ.2564 ได้เปลี่ยนมือจาก กกต. เป็น ‘สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร’ ซึ่งความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในกฎหมายฉบับใหม่ คือ การกำหนดหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ให้มีความชัดเจน ได้แก่ การช่วยจัดทำร่างกฎหมายและเอกสารประกอบตามที่ประชาชนร้องขอภายในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน กับมีหน้าที่ช่วยประชาสัมพันธ์และเป็นผู้รับและรวบรวมหลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ขาดหายไปใน พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี พ.ศ.2564 คือ ‘การสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย’ เพราะจากเดิมใน พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี พ.ศ.2556 กำหนดให้ ประชาชนสามารถร้องขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองตามกฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมืองได้
‘กำแพง 4 ชั้น’ ที่กีดขวาง ‘กฎหมายประชาชน’ ไม่ให้ถึงปลายทาง
แม้ว่าสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายจะได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 22 ปี แต่รัฐธรรมนูญเองก็เป็นตัวการที่ ‘ขัดขวาง’ หรือเป็น ‘อุปสรรค’ สำคัญต่อการออกกฎหมายที่มาจากประชาชน โดยอุปสรรคนี้สามารถจำแนกออกมาได้ 4 อย่าง ได้แก่
- อำนาจของนายกรัฐมนตรีในการให้คำรับรองร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน
ในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับจะกำหนดให้การเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน เช่น กฎหมายที่ต้องมีการจัดสรร โอน หรือจ่ายงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน ต้องได้รับ ‘คำรับรองจากนายกรัฐมนตรี’ เสียก่อนจึงจะสามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา หรือหมายความว่า หากร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอเข้ามาเป็นร่างกฎหมายที่มีการใช้เงินงบประมาณ ร่างกฎหมายนั้นก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากนายกฯ แล้วถึงจะได้เข้าสภาฯ
ถ้านับเฉพาะหลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2562 มีร่างกฎหมายประชาชนที่นายกฯ ต้องพิจารณาให้คำรับรองอย่างน้อย 54 ฉบับ โดยมีเพียง 1 ฉบับ ที่นายกฯ ให้คำรับรอง คือ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นรอนายกฯ พิจารณา อย่างน้อย 9 ฉบับ และ นายกฯ ไม่ให้คำรับรอง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ และ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
- อำนาจของประธานสภาฯ ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักการของร่างกฎหมาย
นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา การเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชนมีกรอบอยู่ว่า ต้องเป็นกฎหมายตามตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ โดยผู้ที่จะวินิจฉัยว่า “ร่างกฎหมายที่เสนอมีหลักการเป็นไปตามหมวด 3 หรือ หมวด 5 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่” คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอถูกประธานสภาฯ ปัดตก อย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 (ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) ที่ประธานสภาฯ วินิจฉัยว่า มีหลักการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหมวด 1 พระมหากษัตริย์
- อำนาจของประธานสภาผู้ฯ ในการจัดระเบียบวาระ
โดยทั่วไป การพิจารณาบรรุจกฎหมายใดเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาของสภาฯ จะเป็นการตัดสินใจของประธานสภาฯ ผ่านความเห็นของ ‘คณะกรรมการประสานงาน’ หรือที่นิยมเรียกกับว่า ‘วิป’ ทั้งจากวิปพรรคร่วมรัฐบาล และวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ด้วยเหตุนี้ ทำให้กฎหมายของประชาชนมีโอกาสถูกพักไว้ไม่ถูกพิจารณา และบางครั้งอาจจะตกค้างอยู่ในระเบียบวาระไปจนสิ้นอายุของสภาฯ อันเป็นผลให้กฎหมายต้องตกไปในที่สุด
ตัวอย่างของกฎหมายประชาชนที่ถูกทิ้งค้างไว้ไม่มีการหยิบขึ้นมาพิจารณาก็เช่น ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย รวม 35 ฉบับ ที่ได้ยื่นต่อประธานสภาฯไปตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2562 แต่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก็ยังไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาโดยสภาฯ แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ไม่ยอมนำร่างกฎหมายของประชาชนขึ้นมาพิจารณา จนกระทั่ง ส.ส. หรือ ครม. ได้เสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน ‘มาประกบ’ จึงจะได้พิจารณา ซึ่งผลที่ตามมาคือ สภาฯจะให้ยกร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดย ส.ส. หรือ ครม. เป็น ‘ร่างกฎหมายหลัก’ ในขณะที่ร่างกฎหมายประชาชนจะใช้เป็นเพียงร่างกฎหมายที่นำมา ‘พิจารณาประกอบ’
- อำนาจของคณะกรรมาธิการวิสามัญในการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย
โดยทั่วไป การพิจารณาร่างกฎหมายจะทำการพิจารณาทั้งสิ้น 3 วาระ โดยวาระที่หนึ่ง คือ วาระรับหลักการ หากว่าสภาฯ ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายในวาระที่หนึ่ง ก็จะมีการตั้ง ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.วิสามัญ)’ ขึ้นหนึ่งชุด เพื่อจัดทำร่างกฎหมายให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนจะนำไปพิจารณารายมาตราในวาระที่สอง หลังจากนั้นถึงให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายในวาระที่สาม
โดยในชั้น กมธ.วิสามัญจะถือเป็นชั้นสำคัญในการออกกฎหมาย เพราะการตัดสินใจเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายทั้งหมดแทบจะอยู่ในชั้นนี้ และแม้ว่ารัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้มีตัวแทนผู้เสนอร่างกฎหมายเข้ามาเป็น กมธ.วิสามัญไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
แต่ผลการพิจารณากฎหมายก็ยังคงมีเสียงข้างมากเป็นสมาชิกสภาฯ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ เนื้อหาของร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอถูกปรับแก้ไขจนอาจจะตกหล่นสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยประชาชน
การเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชน ตลอด 22 ปี แม้จะมีการขจัดอุปสรรคไปบ้างตามลำดับ แต่จะให้ผ่านมาบังคับใช้จริงๆ จึงยังเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก