‘รัฐธรรมนูญ’ กฎหมายสูงสุดของการปกครองประเทศ แม่บทของกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงในประเทศ
ซึ่งเมื่อพูดถึงก็อาจจะดูเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน มีภาษาทางการ แต่ในช่วงที่กระแสทางการเมืองในสังคมตื่นตัวกันมากขึ้น ประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อเรียกร้องในการชุมนุม และเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่สนใจกันมากขึ้น ก็คือเรื่องของรัฐธรรมนูญ และการแก้รัฐธรรมนูญ
ในการชุมนุม 19 กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ที่ท้องสนามหลวงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ และเยาวชน ที่มาเข้าร่วมการชุมนุมนี้ ถึงประเด็นรัฐธรรมนูญว่าพวกเขามองกฎหมายสูงสุดอย่างไร อยากให้เกิดการแก้ไขหรือไม่ และสุดท้ายแล้ว รัฐธรรมนูญในฝันที่พวกเขาอยากเห็นเป็นอย่างไร ?
รัฐธรรมนูญใกล้ตัวเรา หรือห่างไกล ?
เราเริ่มต้นคุยกับน้องๆ และผู้ที่มาร่วมชุมนุม ด้วยคำถามว่า พวกเขาเคยมองว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัว หรือไม่ ? ซึ่งคำตอบที่เราได้รับนั้น ก็มีทั้งคนที่มองว่าแต่ก่อนเคยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไปถึงคนที่ไม่เคยมองเลยว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัว
น้องนักศึกษาผู้มาร่วมชุมนุม วัย 24 ที่คลุมธงสายรุ้ง LGBT ไว้ที่หลัง บอกกับเราว่า แต่ก่อนตอนเด็กๆ เธอเคยมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ “ไกลตัวมาก ทุกปีเวลามีแก้ ตอนนั้นเด็กๆ ก็จะมีหนังสือสีเหลืองมาแจกที่บ้าน เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร ทำไมเปลี่ยนบ่อยจัง แล้วพอโตมาก็สงสัยว่า ทำไมฉบับนี้ยังไม่เปลี่ยนซักที ?”
“เพราะยังเด็ก เลยไม่ค่อยสนใจ” น้องนักเรียนวัย 13 ปี ซึ่งตอนนี้เธอเข้าร่วมขับเคลื่อนกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เล่าถึงมุมมองของเธอที่เปลี่ยนไป “ตอนนี้ก็เปลี่ยนความคิด เพราะว่ามันก็ใกล้ตัวกว่าที่คิดมาก ทั้งเรื่องปัญหา หรือประเด็นต่างๆ ที่เกิดในโรงเรียนก็มาจากรัฐบาล มาจากรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเธอยังเสริมว่า นอกจากเธอแล้ว เพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกันก็หันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น หันมาอ่านกฎหมาย เพราะกระแสต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย หรือทวิตเตอร์เอง ก็มีคนลงข้อมูลเยอะ ทำให้คนรุ่นเธอได้ศึกษา และไปอ่านกัน
รัฐธรรมนูญ ดูยาก ดูวุ่นวาย ก็เป็นอีกหนึ่งคำตอบที่หลายๆ คนบอกว่า นี่คือสิ่งที่เขาเคยมองถึงมัน
ชิบะ (นามสมมติ) นักเรียนวัย 17 ปี เล่าว่า “จริงๆ ‘รัฐธรรมนูญ’ พอพูดแล้วมันก็ดูยาก มีตั้ง 3 พยางค์ ว่ามันอะไรก็ไม่รู้ เวลาอ่านในหนังสือเรียนก็ไม่เข้าใจ” เช่นเดียวกับ ยอดหฤทัย และขิม (นามสมมติ) คู่เพื่อนนักศึกษาจบใหม่ และนักศึกษาปริญญาโทที่ตอบเราว่า รัฐธรรมนูญเคยดูเป็นอะไรที่วุ่นวาย เปลี่ยนยากไปหมด ดูเป็นเรื่องของผู้ใหญ่” แต่ตอนนี้ความคิดของพวกเขาก็เปลี่ยนไป
ขิมเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขารู้สึกว่า ตัวเขา และประเด็นของรัฐธรรมนูญอยู่ห่างจากกันประมาณนึง “แต่พอมันมีนักกิจกรรม หรือสื่อที่มาทำให้เรารู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมได้ เราทำอะไรได้ และมันง่ายกว่าที่คิด ก็ยิ่งรู้สึกตื่นเต้น และอยากจะทำ ความรู้สึกเหมือนตอนเลือกตั้งครั้งแรก” ด้านยอดหฤทัยเอง ก็บอกเราว่า ตอนนี้เธอรู้สึกว่า “แม้ว่ามันจะดูไกลตัวในทางนึง แต่สุดท้ายผลกระทบมันส่งถึงตรงๆ เลย และหลายๆ คนก็โดนผลกระทบ แล้วทำไมเราถึงจะไม่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย”
แต่สำหรับบางคนเอง แม้ว่าพวกเขาจะยังเป็นคนรุ่นใหม่ เขาก็บอกกับเราว่า ไม่เคยมองเลยว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัว
หยาง (นามสมมติ) นักศึกษาวัย 22 ปี ชี้ว่า “เราไม่ได้มองเป็นเรื่องไกลตัว เรามองเป็นเรื่องปกติ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าตอนเด็กๆ ในสมัยก่อน เราไม่ได้รับการศึกษาวิชาสังคมได้เท่าทุกวันนี้ มันเลยอาจจะไม่ได้ชัดเจน แต่ปัจจุบันทั้งสื่อด้วย หรืออะไรด้วย มันทำให้เราได้รู้อะไรมากขึ้น และกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวปกติ”
นอกจากนี้ อีกคำตอบนึงที่เราได้รับ คือหลายๆ คนมองว่า รัฐธรรมนูญ เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของพวกเขา
11r157 (นามสมมติ) และ ecopia (นามสมมติ) หนุ่มวัยทำงาน 2 คนตอบเราว่า “รัฐธรรมนูญใกล้ตัว ทุกอย่างส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ว่าคนเราจะมาเพ่งดู วิเคราะห์ดูตรงนั้นหรือไม่ ว่าทุกอย่าง ทุกกฎหมาย มันส่งผลต่อชีวิตของทุกคนในประเทศนี้”
“ไม่เคยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เราว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาตั้งนาน และมันเป็นชีวิตประจำวันของเราเลย ทุกๆ อย่างตั้งแต่เราตื่นเช้า กลับบ้านนอน มันจะเห็นความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมมาตั้งนานแล้ว” และ “มันเป็นสิ่งที่เหมือนกับว่า ต้องเจอในตอนที่เราโต และวัยทำงาน ไม่ว่าเรื่องเสียภาษี มันเป็นระเบียบในชีวิตประจำวันของเรา” นักศึกษา 2 คนจาก ม.ศิลปากรตอบเรา
กระแสและการเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
กระแสที่พูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญเอง มีการพูดถึงมากขึ้นในช่วงนี้ ทั้งจากการยื่นญัติแก้ไขของพรรคการเมือง หรือการล่ารายชื่อของภาคประชาชน เราเองได้พูดคุยกับผู้ชุมนุมถึงกระแสเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งทุกคนที่เราพูดคุยนั้น ก็ตอบว่าพวก เห็นด้วยกับการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น
“รู้สึกดีใจ ที่คนกล้าออกมาเรียกร้องสิทธิ จะเห็นบางคนที่มีความคิดว่า กฎหมายเป็นสิ่งที่แก้ไม่ได้ เป็นสิ่งที่ถูกเสมอ แต่ตอนนี้ประชาชนก็เข้าใจว่า มันก็มาจากมนุษย์เหมือนกัน และเราก็ควรมีสิทธิที่จะแก้ได้ ถ้าเราไม่เห็นด้วย ไม่เห็นว่ามันถูก และมันลิดรอนสิทธิคนอยู่”
หลายคนๆ ก็บอกเราว่า พวกเขาคิดว่า กระแสและการเรียกร้องที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะว่า ที่มา และเนื้อหาของมันไม่ชอบธรรม
“ไม่แปลกใจกับกระแสที่เกิดขึ้น เพราะว่าในความคิดผม สมควรจะต้องแก้” และ “เข้าใจว่าการแก้ไขเป็นเรื่องปกติ เพราะหลายคนอาจจะรู้สึกว่าที่มาของรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนตัวผมก็รู้สึกเช่นกัน” 2 หนุ่มวัยทำงานเล่า
ยอดหฤทัย ก็มองถึงที่มาของมันเช่นกันว่า “เรารู้สึกว่ารัฐธรรมนูญ มันผิดตั้งแต่คนเขียนแล้ว เขาฉีกรัฐธรรมนูญได้อย่างไร และเราก็คิดว่าคนกล้าที่จะสู้กับ คสช. หรือรัฐบาลมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ ใครออกมาสู้ ก็โดนทันที แต่ตอนนี้คนกล้าออกมาขึ้น รู้สึกดีใจ แต่ก็คงต้องใช้เวลา”
ขณะที่หยาง วัย 22 ปี ก็มองว่า เมื่อมีกระแสเรียกร้องการแก้ไขเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือต้องรับฟังประชาชนด้วย “พอมีคนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องการแก้ ก็อาจจะมีบางคนที่มองว่าไม่ต้องแก้ เพราะเขาอาจจะเสียผลประโยชน์หรือเปล่า แต่ในส่วนที่ออกมาพูดกัน ทั้งที่มีการล่ารายชื่อ ซึ่งตอนนี้รายชื่อก็เกิน 50,000 ไปแล้ว เราก็รู้สึกว่าต้องฟังเสียงคนตรงนี้บ้าง ไม่ใช่มองว่าคนที่ออกมาพูดตรงนี้เป็นเรื่องไร้สาระ และเราคิดว่ามันควรมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว”
การแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นเหมือนการปลดล็อก และทำให้การเมืองไทยเดินต่อได้ ก็เป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ผู้ชุมนุมหลายๆ คนมองตรงกัน
“อยากจะให้แก้ได้เร็วที่สุด เรามองว่ามันเป็นก้าวที่จะทำให้ประเทศพัฒนาได้” นักศึกษาคนหนึ่งตอบ ซึ่งคล้องกับอีกคนที่มองว่า “ถ้าเราสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ ก้าวมันก็จะใหญ่ไปมากกว่านี้ ถ้าเราได้แก้ เราก็จะมีสิทธิในการพูด ในการแสดงออกได้อย่างพลเมืองที่อยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เพราะว่าตอนนี้เรายังติดหลายอย่าง เพราะรัฐธรรมนูญนี้”
ทั้งการเคลื่อนไหวนี้ ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวระบบการเมืองอย่างที่ ชิบะมองว่า “คิดว่าเพราะเรามองว่าสุดท้าย พอเราจะลุยต่อไปในสนามการเมือง เรารู้สึกว่าประเทศตอนนี้มันถึงทางตันแล้ว กำแพงที่มัน หนา และใหญ่ในตอนนี้ ที่เราต้องทุบเพื่อให้ไปต่อได้ มันก็เลยเป็นกระแสที่ว่าเราจะไปต่อกัน เราต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งมันเป็นกระแสที่ดี เพราะตอนนี้เราไม่ได้มองว่าเบี้ยบนกระดานเป็นใคร เราสนใจในการแก้กติกาที่ใช้เดินเบี้ยบนกระดานแล้ว ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และทางที่ดีที่สุดในการแก้ไข แก้ที่ระบบ”
รัฐธรรมนูญในฝัน หน้าตาเป็นอย่างไร ?
รัฐธรรมนูญควรเป็นสิ่งที่ตอบสนองเจตจำนงของประชาชน อีกหนึ่งคำถามที่จะต้องพูดคุยกับทุกคนก็คือ รัฐธรรมนูญในฝันที่พวกเขาอย่างได้ เป็นแบบไหน ?
ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่หลายคนอยากเห็น
นักศึกษาศิลปากร เล่าว่า “อยากเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งถนน การจราจร สวัสดิการของหลายๆ คนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่”
ขณะที่อีกหนึ่งคำตอบที่โดดเด่น และเกือบทุกคนบอกกับเรา คือพวกเขาอยากเห็น ‘ทุกคนอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน’
“เรามีความฝันอยากให้ทุกคนอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่มีใครมีสิทธิเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ต้องแบ่งแยก ต่อให้คุณทำผิดก็คือคุณทำผิด” หยางบอกกับเรา
นักศึกษาวัย 24 ปี ก็บอกกับเราเช่นกันว่า “เธออยากให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเราสามารถมีเสรีภาพในการพูดเรื่องอะไรก็ได้ เหมือนประเทศโลกที่ 1 ที่พวกเขาสามารถเรียกร้องเรื่องต่างๆ ได้ โดยที่ไม่ต้องกลัวตำรวจคุกคาม” และนักเรียนวัย 13 ปี ที่คิดเช่นกันว่า อยากให้ไม่มีกฎหมายที่เอื้อกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย
ประเทศไทย เป็นหนึ่งประเทศที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญอยู่เป็นประจำ โดยที่ผ่านมาเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ และมีการถูกฉีกมาหลายครั้งโดยการรัฐประหาร ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายคนจะมองว่า พวกเขาไม่อยากเห็นการฉีกรัฐธรรมนูญอีกแล้ว และอยากให้ทหารออกจากระบบการเมือง
ขิม และยอดหฤทัยมองว่า “อยากให้รัฐธรรมนูญศักดิสิทธิ์กว่านี้ เลิกฉีกกันได้แล้ว แล้วให้มันคลอบลุมประชาชนทุกคน ไม่ต้องมาแก้ ไม่ต้องมีการเรียกร้องอะไรกันอีกแล้ว ทั้งเราไม่อยากให้มีรัฐประหารแล้ว” ส่วนด้าน 11r157 ก็ตอบเราว่า “นอกจากการที่ทุกคนอยู่เท่าเทียมใต้รัฐธรรมนูญแล้ว การได้มาของรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ควรมีการทำประชามติอย่างโปร่งใส และที่สำคัญที่สุด คือ การเอาทหารออกจากระบบการเมืองไทย”
ชิบะ นักเรียนวัย 17 ปี ตอบเราว่า “รัฐธรรมนูญในฝันต้องครอบคลุม ร่างมาจาก สสร. ที่มาจากคนทุกกลุ่มในสังคม ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เพื่อเราจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อทุกคน มาจากเจตจำนงของประชาชนจริงๆ และส่วนของเนื้อหา เราไม่ได้มองว่ามันจะเป็นยังไง แต่มันต้องเป็นกติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน ปัจจัยพื้นฐาน ระบบการศึกษา สิทธิ เสรีภาพ ทุกอย่างจะต้องครอบคลุม และอยู่ในกติกาที่เป็นธรรม สร้างพื้นที่ที่เป็นประชาธิปไตยต่อประชาชน