ตัวบทกำกวมเปิดช่องให้ตีความกว้างขวาง อัตราโทษสูงไปแถมยังมีโทษจำคุกขั้นต่ำ ไม่รวมถึงการเปิดโอกาสให้ใครยื่นฟ้องก็ได้ จนที่สุดก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง
นี่คือเหตุผลหลักๆ ของฝ่ายที่อยากให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ม.112’ มักเอ่ยถึง
ตัวผู้เกี่ยวข้องเองก็น่าจะรู้ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่นี้ ช่วงกลางปี พ.ศ.2563 นายกรัฐมนตรีถึงกับเคยประกาศว่าจะไม่ใช้ ม.112 แต่ก็เปลี่ยนใจมาใช้ฟ้องร้องแกนนำกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมากกว่า 50 คนเข้าไปแล้ว บางคดีก็ถูกตั้งคำถามว่าเกี่ยวข้องกับมาตรานี้ ซึ่งมีเนื้อหาสั้นๆ ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” อย่างไร
ไม่รวมถึงการที่คนจากฝ่ายรัฐบาลขู่ว่าจะใช้ ม.112 ฟ้อง ส.ส.ฝ่ายค้านซ้ำแล้ว-ซ้ำเล่า จนแทบจะกลายเป็น ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ ไปแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นชัดถึงการนำกฎหมายนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง
แม้จะหลายฝ่ายจะเห็นตรงกันว่ากฎหมายนี้มีปัญหา แต่แทบไม่มีใครเข้าไปผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงๆ จังๆ เพราะถือเป็น ‘ของร้อนทางการเมือง’
สุทิน คลังแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ถึงกับเคยบอกว่า เรื่องนี้ต้องทำอย่างปราณีต ฟังสังคมอย่างละเอียด และประเมินกำลังให้ถูกต้อง “ถ้ารู้ว่ากำลังอ่อนกว่าก็อย่าเพิ่งทำ พอเรื่องนี้เข้ามา สงครามความคิดจะเกิดขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 พรรคก้าวไกลนำโดย ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ได้ยื่นเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก จำนวน 5 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือการแก้ไข ม.112 โดยสาระสำคัญคือให้ลดอัตราโทษลงเหลือจำคุกสูงสุด 1 ปี และกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่แจ้งความร้องทุกข์แทน ไม่ใช่ใครจะแจ้งความก็ได้เช่นปัจจุบัน
ถือเป็นก้าวย่างทางการเมืองที่น่าสนใจ และเป็นการเสนอแก้ไข ม.112 ครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่สามารถเข้าสู่สภาสำเร็จ (รอแค่จะบรรจุวาระให้สภาได้พิจารณาเมื่อใด) หลังจากก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.2555 เคยมีประชาชนกว่า 2.7 หมื่นรายชื่อยื่นแก้ไข ม.112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ แต่ประธานสภาไม่รับไว้พิจารณา
ถึงกระนั้น ส.ส.พรรคก้าวไกล 9 คน จากทั้งหมด 53 คน ก็ไม่ได้ร่วมลงชื่อในเอกสารเสนอร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับนี้ด้วย
The MATTER มีโอกาสได้นั่งคุยกับ ทิม-พิธา ถึงเหตุผลที่ยื่นแก้ไข ม.112 ดังกล่าว เป้าหมายที่ต้องการให้บรรลุคืออะไร มอง worst case ของการเสนอร่างกฎหมายนี้ไว้แบบไหนบ้าง จะถูกโต้กลับรุนแรงแค่ไหน นอกจากนี้ เรายังถามถึงอนาคตของพรรคก้าวไกลว่าจะเดินต่อไปอย่างไร ภายใต้ศึกนอกและศึกใน เช่น การแพ้เลือกตั้งซ้ำๆ และปัญหางูเห่า
ไปจนถึงคำถามเชิงสมมุติว่า หากวันหนึ่ง พรรคก้าวไกลไม่มีอยู่ในสารบบการเมืองไทยแล้ว อยากให้ผู้คนจดจำพรรคๆ นี้ในแง่มุมใด
ทำไมก้าวไกลถึงยื่นแก้ ม.112 และกฎหมายเสรีภาพการแสดงออกอื่นๆ ในช่วงเวลานี้
เพราะคิดว่าเป็นกฎหมายที่มีปัญหา ม.112 เป็นปัญหาทั้งเรื่องโครงสร้าง สัดส่วนโทษ ผู้ร้องทุกข์ มีปัญหามาตลอดและไม่สอดคล้องกับยุคสมัย กับโลกาภิวัฒน์ และกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลังจากเราได้ทำงานมา 3-4 เดือน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 พรรคก้าวไกลถึงได้ยื่นแก้ไขชุดกฎหมาย Freedom of Speech Acts เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกรวม 5 ฉบับ ซึ่งการแก้ไข ม.112 ก็อยู่ในนั้น เพราะที่ผ่านมาถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายผู้เห็นต่างทางการเมือง
ตอนนี้สังคมไทยมาจุดที่ต้องหาสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกและการปกป้องชื่อเสียงและสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย เราคิดว่าโทษจำคุกอะไร ไม่ควรจะมีอีกต่อไป สำหรับบุคคลธรรมดา ยังมีหมิ่นประมาทอยู่ แต่เป็นโทษแพ่ง ไม่ใช่โทษอาญา แต่ในส่วนของพระมหากษัตริย์จะไปอยู่ในหมวดใหม่เรียกว่าหมวดคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ก็ยังมีคุ้มครองประมุขของรัฐอยู่ โดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี (ปัจจุบันโทษจำคุก 3-15 ปี) และกำหนดให้มีหน่วยงานในการแจ้งความ เพื่อไม่ให้เอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีกัน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยน่าจะพาหาฉันทามติต่อไปในอนาคต
ถ้าโฟกัสเฉพาะ ม.112 เท่าที่ทีมจากก้าวไกลได้ศึกษามา เห็นปัญหาอะไรบ้าง
ตัวอย่างที่เห็นได้ภายใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือมีคนถูกลงโทษสูงสุด 87 ปี (คดีของอัญชัญ ศรีเลิศ จากกรณีแชร์คลิปจากยูทูป) แม้จะได้รับการลดโทษแล้วก็ยังถือว่าสูงอยู่ดีสำหรับการแสดงความคิดเห็น ซึ่งการลงโทษนี้ไม่ได้เป็นคุณกับประชาธิปไตยและกับสถาบันพระมหากษัตริย์
คนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ไข ม.112 มักบอกว่าประมุขชาติอื่นก็มีกฎหมายคุ้มครอง
แต่สำหรับประเทศส่วนใหญ่จะเรียกว่า death letters คือเป็นตัวหนังสือที่ตายไปแล้ว เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ใช้จริง อาจจะยกเว้นแค่บางประเทศ เช่น โมร็อกโกที่ยังมีใช้อยู่ หรือแถบสแกนดิเนเวียก็มีโทษจำคุกแค่ไม่กี่เดือน และใช้น้อยครั้งจริงๆ
เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะหาวิธีอื่น คือใช้วิธีรัฐศาสตร์ ไม่ใช่ใช้วิธีนิติศาสตร์มารังแกประชาชน ใช้รัฐศาสตร์ กุศโลบาย ยุทธศาสตร์อย่างไรให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับประชาชนได้ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ การใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือฟ้องปิดปากฝ่ายตรงข้ามมันอาจจะทำได้ในอดีต แต่ในโลกปัจจุบัน ในสถานะที่เป็น new normal ทั้งทางสังคมและทางการเมือง ทั่วโลกเขาก็มอง แล้วคนในประเทศเขาก็รับไม่ได้ ก็ถือว่าเวลาที่ต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับยุคสมัย กับกระแสโลกาภิวัฒน์ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพราะเสรีภาพในการพูดก็เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มันขาดเสียมิได้และควรได้รับการคุ้มครอง ถ้ารัฐมีความจำเป็นจะจำกัดก็ต้องทำให้น้อยที่สุด และไม่ให้ไปกระทบกับสารัตถะเสรีภาพในการแสดงออก ไม่เช่นนั้น หากเราไม่สามารถแสดงออก-คิด-เขียนได้ มันขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตย ความคิดสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ freedom of expression เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง innovation นี่คือสิ่งที่ต้องได้รับการปฏิรูป ได้รับการแก้ไข
เราคาดหวังความสำเร็จกับความสำเร็จของการเสนอแก้ไข ม.112 แค่ไหน เพราะบางฝ่ายก็มองว่าแค่เสนอเรื่องนี้ขึ้นมาก็สร้างความขัดแย้งขึ้นในสังคมแล้ว
เราไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้ง เราคิดว่าอยากจะเผชิญกับความเป็นจริงกับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา อย่างมีวุฒิภาวะแล้วใช้รัฐสภาเป็นเวทีในการแก้ไข
เราก็ทำหน้าที่ของเราไง ส.ส.มีหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เสนอกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย ในสิ่งที่เราเห็นว่าจะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ให้สังคมมันเท่าเทียมมากขึ้น ให้คำนึงถึงว่าคนเท่ากันมากขึ้น ก็เป็นการเปิดพื้นที่ในการพูดคุย ถ้ามัวแต่ฟังสังคมแล้วไม่ได้ทำอะไรสักที ก็ไม่รู้จะมีสภาไว้ทำไม เพราะสภาเป็นตัวแทนของประชาชนที่มีความเห็นต่างมากมายของคนทั้งประเทศ ก็ต้องมาพูดคุยกันในที่นี่ ดีกว่าไปพูดคุยกันบนท้องถนน ส่วนจะแก้ไขแบบไหน เราก็ต้องฟังคนนอกสภาว่าแค่ไหนถึงจะเหมาะสมกับประเทศ จะมีคนที่เห็นด้วย คัดค้าน หรือไม่อยากทำอะไร ก็เป็นสิทธิเสรีภาพของเขา ไม่เป็นไร เป็นความสวยงามประชาธิปไตย
ทั้ง 5 ร่างกฎหมายที่ยื่นไป ร่างไหนมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด ร่างไหนท้าทายที่สุด
ที่มันเป็นไปแล้ว คือการยื่นกฎหมายลักษณะนี้เข้าสู่สภาเป็นครั้งแรก ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการโน้มน้าวความคิดของคนในสังคม การตรวจสอบว่าระบอบประชาธิปไตยยังทำงานอยู่ไหม หากประชาชนเห็นด้วย แม้เขาจะไม่ได้เลือกพรรคผม แต่เขาก็จะไปบอก ส.ส.ในพื้นที่เขาว่า ประเทศนี้ควรจะมีเสรีภาพในการพูด ในการคิด เป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คุณช่วยโหวตสนับสนุน ซึ่งมันก็เป็นไปตามกระบวนการ เป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น
แต่ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ ทางเลือกคืออะไร จะปล่อยให้อยู่บนโลกโซเชียล บนท้องถนน แล้วสภาไม่ตอบสังคม แล้วจะมีสภาไว้ทำไม
แปลว่า ที่พรรคก้าวไกลยื่นเสนอร่างกฎหมายนั้นเข้าไป รวมถึงการแก้ไข ม.112 เป้าหมายคือสร้างบทสนทนา ให้คนในสังคมมาถกเถียงกัน แล้วถ้าเห็นด้วยก็ไปจูงใจให้ ส.ส.โหวต
เราเข้าใจเลยว่า แม้แต่คนในพรรคก้าวไกลเองก็มีคนที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน มีทั้งคนที่ต้องการให้เข้มขึ้น ให้ก้าวหน้ามากกว่านี้ มีคนที่ต้องการให้น้อยกว่านี้ ทั้งหมดคือเพื่อให้เกิด conversation starter อย่างน้อยเราไม่หลบ ไม่หลีก เราไม่เคยกลัว เราไม่ได้เอาปัญหาไปซ้อนไว้ใต้พรม นี่คือหน้าที่ของสภา อะไรที่มันแหลมคม พูดคุยแล้วอันตราย ก็ทำให้มันเกิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องนี้อย่างมีวุฒิภาวะ ไม่ใช้ hate speech พูดกันด้วยเหตุผล
ถ้าเราไม่ disrupt ตัวเอง สักวันก็ต้องโดน disrupt ฉะนั้นนี่คือ ‘ความสำเร็จ’ ในมุมมองของผม ส่วนที่เหลือจะเป็นยังไง ผมก็คงเอาความเห็นของตัวเองไปชี้นำ เพราะนี่คือ parliamentary democracy (ประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา)
ตอนที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ แค่พยายามไปแตะกองทัพ ก็โดนโต้กลับมากระทั่งยุบพรรค แต่กรณี ม.112 หลายคนบอกว่าละเอียดอ่อนกว่ามาก คุณพิธาได้ประเมินโอกาสที่จะถูกตีกลับมา worst case (กรณีร้ายแรงที่สุด) อย่างไรบ้าง
เป็นเรื่องธรรมดาของระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องมีแรงสะท้อนกลับมา เราก็ต้องบริหารจัดการกันไป ไม่ได้กังวลหรือกลัว ไม่ได้ย่อท้อด้วย คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น เราก็ระวังและทำงานอย่างเต็มที่ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่การเมืองไทยควรจะก้าวข้ามอะไรพวกนี้ไปได้แล้ว พวกปัญหา ‘อำนาจจากนอกรัฐสภา’ ทั้งที่สภาได้รับมอบอำนาจตรงจากประชาชน มีอะไรก็โหวตกัน แต่ทุกวันนี้ เราเห็นได้ชัดว่า มันเป็นการใช้ระบบนอกรัฐสภาเยอะ มีอะไร เอะอะ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งจะทำให้กลไกของระบบมันบิดเบี้ยว ฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นอะไรที่เป็น ‘การเมืองแบบเก่า’ เราก็ยังยินดีเสนอวิธีคิด ‘การเมืองแบบใหม่’ โดยเสนอไปตามกลไกของสภา
แต่วิธีทางนอกรัฐธรรมนูญและนอกสภา ที่เตรียมจะบดขยี้เรา ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือไว้เช่นกัน “รุกได้ ถอยเป็น รับเป็น”
ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลจะถูกวิจารณ์ว่ายึดมั่นในอุดมการณ์เกินไป เอาแต่ทำในสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ ไม่ได้คำนึงถึงการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง เราคิดว่าข้อหานี้เป็นจริงแค่ไหน
เราก็ต้องถามกลับการยึดมั่นอุดมการณ์เป็นความผิดด้วยเหรอ คือมันเป็นคำถามที่ค่อนข้างน่าเศร้าสำหรับพี่น้องประชาชนที่เสียภาษีให้รัฐบาลเข้ามาทำงาน
ทุกอย่างมันเพิ่งเป็นจุดเริ่มต้น เราก็ทำงานในฐานะพรรคอนาคตใหม่ 1 ปี พรรคก้าวไกลอีก 1 ปี หนทางต่างๆ ยังมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันอีกเยอะ แต่ผมมองข้อกล่าวหานั้นในแง่ดีว่า พรรคผมหาเสียงยังไงก็แสดงกฎหมายแบบนั้น ซึ่งนั่นก็คือ KPI ของผมในฐานะตัวหัวหน้าพรรคเลย ถ้าหาเสียงไป ทำตามที่ได้หาเสียงไหม แม้จะเป็นฝ่ายค้านก็ไม่มีข้ออ้าง เราบอกว่าอยากจะทลายทุนผูกขาด ก็มี พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เราบอกว่าอยากปฏิรูปกองทัพ ก็มี พ.ร.บ.ปฏิรูปเกณฑ์ทหาร ถ้าเราพูดถึงคนไทยเท่าเทียมกัน ก็พูดถึง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
ผมก็ยังคิดว่าที่ผ่านมา ผมพอใจว่า กฎหมาย 14-15 ฉบับ แม้จะถูกปัดตกไปบ้าง แต่ก็ยังได้ทำตามสัญญา ได้ทำตามสิ่งที่หาเสียงไว้ทุกประการ ดีกว่าบางพรรค ที่เวลาหาเสียงก็สัญญาเป็นตัวเลข เป็นรูปธรรม แต่พอมาเป็นรัฐบาลกลับทำไม่ได้
เพราะฉะนั้น คำที่ถาม บางคนอาจมองว่ามันเป็นคำปรามาส แต่สำหรับผมถือเป็นคำชื่นชมว่า การเมืองแบบใหม่คือแบบนี้มิใช่หรือ คุณจะหาว่าเรา naive ใสซื่อ ไม่เข้าใจการเมือง แต่การเมืองแบบที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์นี่แหละ ที่จะผลักดันประเทศให้มันมีที่ยืนในสังคมโลกได้ ไม่ใช่วิธีการเมืองแบบเดิมๆ ที่เคยเห็นมา 10-20-30-40 ปี แล้วพาประเทศวนกลับมาที่เดิม สมัยก่อนเราเคยจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย แต่ตอนนี้เรากลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ ดูซิ กระทั่งนายกฯ ยังถามว่าทำไมเราสู้เวียดนามไม่ได้
ดังนั้น การที่หลายๆ คนมองว่า พรรคก้าวไกล naive ในมุมคุณพิธากลับเห็นว่าเป็นข้อดีด้วยซ้ำ
ต้องบอกว่า เราไม่ได้ naive ใสซื่อ ผมเองก็ผ่านการเมืองในทำเนียบรัฐบาล การเมืองในสหรัฐอเมริกา มันไม่ใช่เราไม่รู้ทันคนอื่น เรารู้ทันคนอื่น แต่ถึงเราจะรู้ทันคนอื่น เราก็ไม่ทำวิธีแบบเขา เขาก็ยังทำตามวิธีของเรา ในวิสัยทัศน์ของพรรคก็เขียนไว้ชัดเจนว่าจะเป็นพรรคที่ทำงานทางความคิดพร้อมกับลงเลือกตั้งให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ถ้าจะต้องไปทำวิธีแบบไม่ใส่ซื่อก็ได้ เพื่อให้ชนะเลือกตั้ง มีหัวคะแนนที่ใช้เงิน หัวคะแนนเราก็ไม่ปฏิเสธ แต่เป็นหัวคะแนนเชิงอุดมการณ์ เช่น เรามาผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าเถอะ ถ้าเห็นด้วยก็โหวตพรรคก้าวไกล
ถ้าจะเล่นการเมืองแบบเดิม ผมก็ไม่ต้องมาลงเลือกตั้ง ผมก็ไปโหวตให้พรรคที่มันมีอยู่แล้วดีกว่า
ฉะนั้น วิสัยทัศน์ของพรรคนอกจากจะเข้าสู่อำนาจรัฐ เป็นรัฐบาลให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสมมุติกับการเมืองแบบใหม่ การที่จะเป็น changemaker เป็นคนที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง มันจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจริงๆ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงผ่านรัฐสภา
ถ้าเราจะใช้วิธีลัด เพื่อให้เข้าสู่อำนาจอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะเปลี่ยนได้ แต่มันไม่ไปไหน เราจะเล่นการเมืองแบบ ‘สถาบันการเมือง’ และอยู่ระยะยาว ไม่ใช่ว่าเข้ามาสู่การเมือง 1-2 ปีได้เป็นรัฐบาล แต่แก้อะไรไม่ได้เลย
ที่ถามเรื่องพรรคก้าวไกลอุดมการณ์เกินไป เพราะอยากรู้ว่า อย่างการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หลายคนมองว่าเป็นของร้อน แต่พรรคก้าวไกลก็ยังไปแตะสิ่งเหล่านี้อยู่
มันเป็นเรื่องที่ต้องทำในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ คือแก้ไขกฎหมาย ออกกฎหมาย ทำยังไงเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ รักษา constitutional monarchy ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องทำอย่างปราณีต ทำอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเรื่องพระราชอำนาจ พระฐานะ ที่ต้องให้สอดคล้องกับประเทศไทยในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 ฉะนั้นเราก็ต้องทำตามทางเดินของเราในรัฐสภา ถ้าจะให้เป็นรูปเป็นร่างก็ต้องทำแบบนี้
หรืออย่างเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยก็บอกว่า เขาเจ็บมาเยอะ ถ้าจะยกเลิกหมดสุดท้ายจะไม่ได้อะไร เลยเสนอแก้ไขโดยเก็บหมวด 1 หมวด 2 เอาไว้ไม่ให้แตะต้อง แต่ของพรรคก้าวไกลบอกว่าจะแก้ไขทั้งทีต้องแก้ไขได้ทุกหมวด
มันก็คนละมุมมอง คนละวิธีคิด ผมพูดแทนพรรคเพื่อไทยไม่ได้ แต่ในมุมของผม เรากำลังจะปลดล็อกจากรัฐธรรมนูญที่ล็อกเยอะที่สุด ด้วยการแก้ไข ม.256 ไปจัดตั้ง ส.ส.ร. แล้วต้องมีประชามติอีก เป็นล็อก 3 ชั้น ถ้าไปกำหนดว่าไม่ให้แตะต้องบางหมวด ก็เหมือนกับออกจากล็อกนึงไปเจออีกล็อกนึง
และการที่เราจะให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง มันจะไปผูกขาดความคิดไว้แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึง่ไม่ได้ แล้วยังจะต้องถามประชาชนผ่านการทำประชามติอีก เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะไปล็อกใดๆ เพราะถ้าไปล็อกมันจะทำให้เกิดความแปลกประหลาด เพราะในอดีต หมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ก็แก้ไขได้ และถูกแก้ไขมาโดยตลอด ฉะนั้นการไปล็อกไว้ ห้ามแก้ไข ก็เหมือนกับออกจากล็อกนึงไปติดอีกล็อกนึง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม
นั่นคือสาเหตุที่เราไม่ได้ร่วมลงชื่อของญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย แต่ไปเสนอญัตติของพรรคก้าวไกลเอง แต่ในเมื่อไม่สามารถโน้มน้าวให้ ส.ส.และ ส.ว.รับญัตติของพรรคก้าวไกลได้ เราก็ยังพร้อมเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ โดยเตรียมอภิปรายในวาระสองและสาม ถ้าไม่โดนดึงเบรกมือแรงๆ เหมือนญัตติที่คุณไพบูลย์ (นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ) เสนอ (ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภาจะตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่) มันตลกตรงที่ว่า เหมือนเท้าเหยียบคันเร่งไปด้วย แต่มือกลับดึงเบรกมือไว้ รถยนต์มันก็จะดริฟต์ไปดริฟต์มา ก็ทำให้เกิดอันตราย เพราะผมคิดว่าเราเรียนหนังสือมาฉบับเดียวกันเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ สิ่งที่คุณไพบูลย์ทำ เหมือนเป็นปฏิปักษ์กับรัฐสภาเลย คือต้องการจะถามศาล เพื่อลดทอนอำนาจตัวเอง
ซึ่งต้องอธิบายว่า มันเป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 โดยเฉพาะ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 กำหนดไว้ว่า หากมีความขัดแย้งกันจนหาทางออกไม่ได้ ค่อยให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีความขัดแย้งอะไร แต่เกิดมึนงงในอำนาจของตัวเอง ก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ผมคิดว่ามันเหมือนเอาความไว้วางใจของประชาชนทั้งประเทศ 30-40 ล้านคน ไปให้กับตุลาการไม่กี่คนสามารถ veto ได้ ซึ่งอันนี้อันตราย
พรรคก้าวไกลถูกวิจารณ์ว่ามัวแต่เดินตามมวลชนนอกสภา ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับมวลชนแท้จริงเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าเราเดินคู่กับประชาชน ซึ่งรวมถึงมวลชนด้วย เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เราต้องรับผิดชอบ บางเรื่องที่เรามีข้อมูลมากกว่าเขา เช่น วัคซีน COVID-19 เราก็ตั้งคำถามในกรรมาธิการ เราเป็นคนเปิดประเด็น แล้วก็มีมวลชนหรือประชาชนคอยตั้งคำถามต่างๆ ตามมาในมุมมองต่างๆ ให้มีสารัตถะในการพูดคุยเกิดขึ้น
บางเรื่องเราติดข้อจำกัดของสภา ถ้าจะให้เดินนำเขาต้องใช้ทางลัด แต่นั่นจะทำให้กลไกสภาบิดเบี้ยวไป ฉะนั้นบางอันอาจจะเร็วกว่า บางอันอาจจะช้ากว่า แต่โดยเฉลี่ยแล้วคือการเดินควบคู่ข้างกับประชาชนกันไป ซึ่งคำว่าประชาชนก็มีหลายรูปแบบ เช่น ประชาชนที่ขาดสิทธิทำกินเพราะการผูกขาดด้านสุรา เราก็ทำให้เขา ประชาชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ต้องช่วยเขา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการให้งบประมาณกับทหารมากไป นอกจากนี้ เรายังทำเรื่องของบำนาญ รัฐสวัสดิการ การกระจายอำนาจ ชาติพันธุ์ SME ประมง การเกษตร นวัตกรรม การศึกษา นี่คือสิ่งที่เราคิด ไม่ได้หมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราไม่ได้สนใจแต่เรื่องการเมืองๆๆ แต่ยังสนใจปัญหาปากท้องและความเดือดร้อนของประชาชนด้วย
ย้อนกลับมาเรื่องการเมือง กรณี ‘งูเห่า’ กลายเป็นภาพจำของพรรคก้าวไกลไปแล้ว เราจะแก้ปัญหาอย่างไร
ไม่ยุติธรรมกับพรรค เพราะจริงๆ เรื่องงูเห่ามีมาตลอดในการเมืองไทย จะแก้ปัญหายังไงคงยังตอบไม่ได้ แต่แน่นอนว่าต้องมีการบริหารจัดการที่เข้มข้นขึ้นไม่ให้ผิดซ้ำ ในการคัดกรองคนสำหรับลงเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องเข้มข้นขึ้นและเริ่มต้นเร็วขึ้น หนึ่งในหมุดหมายของปีนี้คือการเตรียมตัวลงเลือกตั้ง ถึงแม้สภาปีนี้จะเป็นแค่ปีที่ 2 จากทั้งหมด 4 ปี แต่ถ้ามีอุบัติเหตุให้ยุบสภา เราก็ต้องพร้อม ในการเริ่มหาคนที่มีความชัดเจนกับพรรค ชัดเจนกับอุดมการณ์ ชัดเจนกับนโยบาย และสนใจในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนจริงๆ ในการตรวจทานตรวจสอบก่อนจะส่งใครลงสมัคร ก็เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นไป ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ
รวมถึงนโยบายใหม่ๆ ที่กำลังจะเริ่มขึ้น ปีนี้ พรรคมีโครงสร้างใหม่ คือมี think tank ของพรรคเอง ในการคิดนโยบายที่มันแหลมคมและยากๆ ส.ส.ที่ต้องทำงานวันต่อวันอาจจะไม่มีเวลาคิด ทั้งเรื่องการทำแท้ง ทำกาสิโนถูกกฎหมาย ค้าประเวณีถูกกฎหมาย เรื่องแบบนี้แหลมคมและถูกถกเถียงในประเทศมาระยะเวลาหนึ่ง จึงต้องหาใครที่สามารถมองในระยะยาว เพื่อให้พร้อมเป็นนโยบายในการเลือกตั้งในอนาคต
พรรคก้าวไกลมองว่าอยากจะให้เป็น ‘สถาบันทางการเมือง’ แต่จุดสูงสุดในการเลือกตั้งสำหรับพรรค น่าจะอยู่ที่การเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2562 หรือเปล่า เพราะหลังจากนั้น มีเลือกตั้งซ่อมกี่ครั้งก็แพ้หมด
ก็เป็นเรื่องธรรมดาของการเลือกตั้งที่มีแพ้มีชนะ แล้วนี่มันเพิ่งเริ่มต้นเอง พรรคก้าวไกลยังมีอายุไม่ครบปีเลย (ยิ้ม) ฉะนั้นมันก็มีแพ้บ้างชนะบ้าง การทำงานแบบตรงไปตรงมา แบบสุจริต ก็อาจจะใช้เวลา ในการทำงานทางความคิด เราไม่สามารถที่จะเอาความผิดไปยัดเยียดให้คนได้ แต่ถ้ามันเปลี่ยน มันจะเปลี่ยนตลอด ไม่มีวันหวนกลับมาแบบเดิม แต่ถ้าทำงานแบบลวกๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ชนะได้เร็ว แต่มันไม่ยั่งยืน พอทรัพยากรแบบนั้นมันหมดไป ก็ไม่ชนะ
ผมต้องการปูฐาน ให้คนไทยกล้ามีความหวังอีกครั้ง ให้คนไทยกล้าเชื่อในศักยภาพของตัวเองอีกครั้ง ให้คนไทยรู้ว่าเราไม่แพ้ใครในโลกถ้าโครงสร้างที่อยุติธรรมทั้งหลายโดยทลายลง ไม่ว่าจะในระดับไหน
เมื่อมีการกระจายอำนาจ สิ่งที่ไม่มีในประเทศไทยจะถูกแก้ในสิ่งที่มีในประเทศไทยแต่ไม่เคยถูกเอามาใช้ด้วยความเหลื่อมล้ำต่างๆ ทั้งทางอำนาจ ทางเศรษฐกิจ และทางรายได้ บางทีเวลาเราคุยกัน ก็บอกว่า ประเทศไทยคนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพยากร 90% แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผิวที่สุด ถ้าปอกหัวหอมเข้ามาจนถึงในสุด ก็จะรู้ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ จะทำให้มีคนแค่ไม่กี่คนไม่กี่ตระกูลเท่านั้น ที่เข้าสู่อำนาจได้ ทำให้นโยบายที่ออกมายิ่งไปสร้างความเหลื่อมล้ำทางทรัพยากร และไปสร้างความเหลื่อมล้ำทางสถานะและทางรายได้อีกทีหนึ่ง ผมอยากให้คุณตั้งใจทำงานเพื่อจะมีรายได้เลี้ยงครอบครัวคุณได้ นี่คือความฝันที่โคตรจะเรียบง่าย ไม่ใช่ว่าต้องไปทำงาน 3 กะแล้วยังหาเงินไปซื้อนมให้ลูกไม่ได้ จนต้องคิดสั้นฆ่าตัวตาย มันทรมานเกินไป
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกลจะส่งลงไหม เพราะหลายคนวิเคราะห์ตรงกันว่า ถ้าพรรคก้าวไกลส่งผู้สมัคร พร้อมกับคุณชัชชาติ (สิทธิพันธุ์) ที่น่าจะอาศัยฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย แพ้แน่นอนเพราะไปตัดคะแนนกันเอง
แต่เป็นตัวเลือกที่ดีของประชาชนคน กทม.นะ มันคงแปลกมากสำหรับพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนน popular vote จากการเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ กทม.ลำดันต้นๆ แต่กลับไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คือถ้ามองในมุมว่าถ้ามีคนจากฝั่งเดียวกันลงหลายคนแล้วจะตัดคะแนนกันเอง ส่วนตัวไม่เชื่อการคิดแบบเป็นยุทธศาสตร์แบบนี้ที่จะให้ได้มาซึ่งชัยชนะ แต่ทำให้คน กทม.ไม่มีทางเลือก ในอดีตเราเคยมีผู้ว่าฯ กทม.หลายรูปแบบ ทั้งสายโครงสร้าง สายอาชญากรรม สายธุรกิจ แต่ถ้าผมมีตัวเลือกใหม่ๆ เป็นคนจากสาย universal design สายดิจิทัล สายสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเสนอนโยบายได้โดยใจคน กทม. แล้วคน กทม.จะไม่อยากให้ผมส่งผู้สมัครลงเหรอ อยากได้ผู้ว่าฯ กทม.แบบเดิมๆ เหรอ
ถ้ามีผู้สมัครหลายๆ แบบ ผมก็คิดว่าถ้าได้ความคึกคักทางนโยบาย ก็อาจจะทำให้คน กทม.ออกมาโหวตมากขึ้น เกินกว่า 70-80% เพราะเขาอึดอัดมานาน ยังดีกว่ามีผู้สมัครแค่ 2 คน แล้วออกมาแค่ 50% เหมือนอย่างการเลือกตั้ง อบจ. ที่มีคนออกมาโหวตแค่ 50% อันนั้นถือว่าเป็นความล้มเหลวของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฉะนั้นถ้ามีผู้สมัครมากเท่าไร ถือเป็นผลดีต่อประชาธิปไตย ไม่ว่าเราจะชนะหรือไม่ชนะ โอเค ถ้าผมไม่มีอะไรที่ใหม่กว่า ไม่มีอะไรที่ชัดกว่า ซ้ำซากแบบเดิมๆ อันนี้อีกเรื่อง แต่ผมคิดว่ามีข้อเสนอที่น่าจะโดนคน กทม.มากกว่า แล้วไม่เหมือนกับคนอื่น แล้วมันตอบโจทย์กับสิ่งที่คน กทม.เผชิญอยู่ ถ้าผมไม่ส่งผู้สมัครก็เท่ากับทรยศตัวเอง ทรยศพรรค ทรยศสมาชิกพรรค หรือทรยศคนที่โหวตให้กับพรรคก้าวไกลด้วย
บทบาทคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ต่อพรรคก้าวไกล เทียบกับบทบาทคุณทักษิณ (ชินวัตร) ต่อพรรคเพื่อไทยได้ไหม เราวางความสัมพันธ์กันยังไง
ผมคงพูดแทนพรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณไม่ได้ แต่สำหรับพรรคก้าวไกล ผม และคุณธนาธร ก็คือคนที่ร่วมต่อสู้ด้วยกันมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เรามีแนวคิดเรื่อง demilitarize เอากองทัพออกจากการเมือง decentralize การกระจายอำนาจ demonopolize การทลายทุนผูกขาด ทำให้คนไทยเท่าเทียมกัน-เท่าทันโลก นี่คือสิ่งที่เป็น DNA ร่วมกันมา แต่ถึงเวลามันก็มีคนใช้อำนาจนอกระบบมาทุบเราให้เป็น 2 ก้อน ทางเขาก็เป็นคณะก้าวหน้า ทำงานทางความคิดและการเมืองท้องถิ่น ผมก็นำทัพอยู่ในสภา มีหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นฝ่ายค้าน ตรวจสอบรัฐบาล เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนในสิ่งที่รัฐบาลยังไม่ทำ
อาจพูดได้ว่ามีจุดเริ่มต้นเดียวกัน และปลายทางก็อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย มีความเท่าเทียมทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมืองมากขึ้น แต่ระหว่างทางก็อาจจะเดินคนละทาง คือในสภากับนอกสภา และให้เกียรติซึ่งกันและกัน
สมมุติว่าการเมืองไทยตัดจบวันนี้ คิดว่าคนไทยจะจำพรรคอนาคตใหม่มาจนถึงพรรคก้าวไกลในรูปแบบไหน คุณูปการอะไรที่เราทิ้งไว้ให้กับสังคมไทยบ้าง
จุดประกาย จุดความหวัง ยังเป็นพรรคการเมืองที่ทำให้เขารู้สึกมีหวังที่ยังเป็นคนไทยอยู่
ก่อนที่จะมาเล่นการเมืองผมรู้สึกว่าช่วงชีวิตของผมตอนอายุ 10-20 ปี แม้จะอยู่เมืองนอกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีคนพูดถึงประเทศไทยว่าจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย จะเป็นประเทศนิกส์มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า พออายุ 20-30 ปีก็มีเรื่องของตลาดทุน อุตสาหกรรมหนักใหม่ๆ ต่อมาอายุ 30-40 ก็เป็นเรื่องของสตาร์ตอัพ เทคโนโลยีใหม่ๆ ไทยแลนด์ 4.0 ยังรู้สึกว่าประเทศมันมีความหวังว่า อย่างน้อยๆ ถ้าผมทำงานหนัก ผมจะสามารถเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน สามารถดูแลครอบครัวของผมได้ แต่ย้อนหลังไป 7-8 ปี ตั้งแต่โดนยึดอำนาจมาก จากที่ไทยเคยถูกเปรียบเทียบกับไต้หวัน ก็มาเป็นมาเลเซีย ล่าสุดก็เวียดนาม ลาว กัมพูชา มันถดถอยลงมา ทั้งๆ ที่ ประเทศเราศักยภาพกับทรัพยากรมีเยอะมาแต่ไหนแต่ไร
แม้ว่าพรรคของเราจะอายุสั้นหรือยาว ก็จะขอเป็นพรรคแห่งความหวัง politics of hope ว่า มันยังมีพรรคที่ทำงานแบบนี้ ไม่ได้หวังผลประโยชน์ของตัวเอง ของพวกพ้อง ของครอบครัว แต่กล้าพูดเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ของคนไทยทุกคน
แต่หวังว่าจะได้อยู่ยาวครับ ผมเพิ่งอายุ 40 ปีเอง ยังมีเวลาทำการเมืองอีกเยอะ ให้ผมได้ทำงานต่อไปดีกว่า (หัวเราะ)