“อย่าชักแม่น้ำทั้ง 5 เพื่อชี้นำประชาชนให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง พวกเขาเพียงต้องการดำรงสถาบันให้สอดคล้องกับยุคสมัย”
เมื่อคืนวานนี้ (13 กรกฎาคม) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ คณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า “ผมติดตามการประชุมตลอดทั้งวัน ฟังแล้วก็หงุดหงิด และเห็นว่าหลายท่านเข้าใจเรื่องเหล่านี้ผิด ราวกับเอาวิธีคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาอธิบาย จนอาจส่งผลให้สังคมเข้าใจเนื้อหาสาระและหลักการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขผิดเพี้ยนไปได้”
ส่งผลให้ในวันนี้ (14 กรกฎาคม) เวลา 12.00 น. ปิยบุตรจึงอภิปรายนอกสภาเพื่อโต้ ชาดา ไทยเศรษฐ์, คำนูณ สิทธิสมาน และสมชาย แสวงการ
ปิยบุตรเริ่มว่า วาระการประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่คงเห็นกันว่าการอภิปรายจะเน้นไปที่ม.112 และรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระราชฐานะของกษัตริย์ แต่กลับถูกพูดไปเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์แทน
โดยเขาเสริมว่า “ถือว่าเป็นเรื่องแปลก ที่วาระการประชุมต้องการเลือกคนมาเป็นนายกฯ กลับกลายเป็นการพูดถึงประเด็นสถาบันฯ และ ม.112 ทั้งที่ใน MOU ก็ไม่มีข้อที่ระบุว่าจะแก้ไขม.112”
ปิยบุตรย้ำว่า ดังนั้นมันจึงกลายเป็นเป็นหน้าที่ของ ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้ง 151 คน ที่จะเสนอร่างแก้ไขม.112 เข้าสภาเอง และในท้ายที่สุดมันจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลก้าวไกล, พิธา หรือพรรคร่วม 8 พรรคเท่านั้น แต่มันอยู่อยู่ที่ ส.ส และ ส.ว. ทั้งหมด
“อย่างไรก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ ส.ส. และ ส.ว. หลายท่านได้นำเรื่องสถาบันฯ และม.112 มาอภิปรายกันในสภา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเด็นเหล่านี้สามารถนำมาพูดคุยกันได้” เขากล่าว
นอกจากนี้ ปิยบุตรยังพูดเชิงสงสัยว่า ทำไมถึงนำเรื่อง ม.112, รัฐธรรมนูญมาตรา 6 และการลงนามให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่โยงกับสถาบันฯ มาอภิปรายในวันโหวตเลือกนายกฯ กัน
“วันนี้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เมื่อวานนี้หลายท่านเอาวิธีคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาอภิปรายในสภา ซึ่งมันไม่ใช่ความเห็นที่แตกต่าง แต่มันถือเป็นเรื่องผิด ทั้งๆ ที่ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ปกครองด้วยระบอบนี้แล้ว”
อย่างไรก็ตาม ปิยบุตรสรุปการอภิปรายในสภาออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่
1. เริ่มที่ประเด็นรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งปิยบุตรระบุว่า พวกเขาพยายามอธิบายรัฐธรรมนูญมาตรา 6 แบบผิดๆ โดยเขายกตัวอย่างคำพูดของส.ว. คำนูญ สิทธิสมาน ที่ว่า “มาตรานี้เขียนไว้ว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีม. 112”
โดยเขาแย้งกลับด้วยการเล่าย้อนที่มาของรัฐธรรมมาตรา 6 ว่า “ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ซึ่งผู้เติมข้อความดังกล่าวลงไปได้แก่ พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ซึ่งท่านกล่าวว่า ข้อความมีต้นแบบมาจากรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นในสมัยเมจิ”
อย่างไรก็ดี ปิยบุตรระบุว่า หยุด แสงอุทัย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบายข้อความนี้ไว้ว่า “มาตรานี้กำหนดให้สถาบันฯ ต้องอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลาง เพื่อจะให้พระองค์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ จึงมีหลักที่ว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King can’t do no wrong)’”
อธิบายง่ายๆ ก็คือ เมื่อสถาบันฯ เป็นกลาง ก็จะไม่สามารถตกอยู่ในการวิพากษ์วิจารณ์ในทางการเมือง และเขายังระบุอีกว่า ‘การเคารพสักการะ’ ไม่ใช่หมายความว่าแตะต้องไม่ได้ และคำว่า ‘ผู้ใดจะละเมิดมิได้’ ก็มีความหมายว่า ไม่มีใครสามารถฟ้องร้องสถาบันฯ ได้ ก็เพราะสถาบันฯ เป็นกลางทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มาจากประโยคที่ว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้’
“ดังนั้นที่มาของมาตรา 6 คือเราไม่ต้องการให้สถาบันฯ ถูกฟ้องร้อง เพื่อให้อยู่เหนือการเมือง โดยให้รัฐมนตรีผู้รับสนองรับผิดชอบเอง อย่างไรก็ตาม มาตรานี้กลับถูกตีความแบบผิดๆ เช่น เคารพสักการะเท่ากับแตะต้องไม่ได้ พูดถึงไม่ได้” ปิยบุตรกล่าว
2. ต่อมาประเด็นม.112 เขาอ้างถึงคำพูดของ คำนูณ สิทธิสมาน ที่อภิปรายในสภาว่า “มาตรา 6 เป็นหัวใจของม. 112 ซึ่งไม่ควรแตะต้อง”
“อย่าเอาวิธีคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาปะปนกับประชาธิปไตยและตัดต่อพันธุกรรมจนทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ถ้าพวกท่านเชื่อในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ปิยบุตรระบุ
3. ไม่เพียงเท่านี้ เขายังกล่าวถึงประเด็นการลงสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม หรือ ICC ว่า จนถึงปัจจุบันนี้ศาลอาญาระหว่างประเทศยังไม่เคยฟ้องร้องหรือดำเนินคดีกับกษัตริย์ของประเทศสมาชิกเลย
“เนื่องจากสถาบันฯ เป็นกลางทางการเมือง ดังนั้นที่ผ่านมา ICC จึงมักจะเข้าไปตรวจสอบและดำเนินคดีกับประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี นายพลทหาร และนักการเมืองที่เข่นฆ่าประชาชนหรือทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ ทำให้ไม่ควรมีใครนำ ICC มาโยงกับสถาบันฯ”
ทั้งนี้ ปิยบุตรระบุปิดท้ายว่า สมาชิกรัฐสภาไม่ควรนำประเด็นสถาบันกษัตริย์และการแก้ไขม.112 มาเป็นข้ออ้างไม่โหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าไม่เห็นด้วยกับม.112 พวกท่านก็สามารถโหวตคว่ำในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาได้ ไม่ควรนำมาเป็นประเด็นเลือกนายกฯ
อ้างอิงจาก