ผมยืนนิ่งค้างมองสำรวจรอบบ้านทาวน์เฮ้าส์หลังในย่านรังสิต คลองสี่ สีฟ้าของตัวบ้านจางบางลงจากวันเวลา แสงแดด และสายฝน ภายในที่จอดรถมีเพียงจักรยานเก่าคันหนึ่งพิงอยู่กับฝาผนัง ไม่มีรถยุโรปหรูหรา และไม่มีแม้สวนเขียวขจีกว้างขวางให้พักสายตา
ยอมรับกันตรงๆ ผมคาดหวังว่า ในฐานะลูกชายของ ‘เชษฐบุรุษ’ คนสำคัญของไทย ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย เขาน่าจะมีความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่สุขสบายมากกว่านี้
ความคิดแล่นไปได้ไม่นาน ก่อนที่ชายสูงวัยคนหนึ่งจะร้องเรียก เปิดประตูบ้านและเชิญให้ผมและช่างภาพเดินเข้าไปนั่งในบริเวณห้องโถงเล็กๆ ของตัวบ้าน รูปร่างเขายังคงสมส่วน แข็งแรง ไม่มีเค้าของชายวัย 81 ปี แต่อย่างใด
ทันทีที่นั่งลง พ.ต.พุทธินาถ พหลพยุหเสนา บุตรชายคนที่ 4 ของ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา ก็เริ่มพาย้อนกลับไปสู่เรื่องราวในอดีต ตั้งแต่ครั้งที่คณะราษฎรตัดสินใจปลูกต้นประชาธิปไตยลงในผืนดินไทย จนกระทั่งกาลพลิกผันสู่สภาพสังคมที่แปลกประหลาด ตรรกะผิดเพี้ยนขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน
วันเวลากว่าแปดทศวรรษอาจจะดูห่างไกลจนเป็นภาพมัวซัวสำหรับใครบางคน แต่สำหรับชายผู้นี้มันกลับสดใส สว่างจ้าและตึดตรึงแน่นอยู่ภายในความรู้สึกและความทรงจำ
เลือดเนื้อแห่งคณะราษฎร
7 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรในปี พ.ศ.2475 พระยาพหลฯ หนึ่งในคณะผู้ก่อการคนสำคัญ และท่านผู้หญิงบุญหลง ได้ให้กำเนิดบุตรคนที่สี่ ในขบวนทั้ง 7 คน มีนามว่า ‘พุทธินาถ พหลพยุหเสนา’ หรือที่หลานๆ รุ่นหลังเรียกเขาว่า “ลุงแมว”
เขาเกิดและเติบโตขึ้นในรั้ววังปารุสก์ โดยมีชั้นหนึ่งของตัวอาคารเป็นสถานที่ทำงานของคณะราษฎรฝ่ายทหาร และชั้น 2 เป็นบ้านและสถานที่รับแขกของตระกูลพหลพลพยุหเสนา ขณะที่ฝั่งตรงข้าม หรือตึกศึกษาธิการ เป็นที่ทำงานของคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน อันนำโดยปรีดี พนมยงค์ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เด็กชายพุทธินาถจะเติบโตและถูกฟูมฟักด้วยแนวคิดประชาธิปไตยจากคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเต็มเปี่ยม
โชคชะตาหักเหครั้งแรก เมื่อเขาอายุได้ 8 ขวบ พระยาพหลฯ ผู้ซึ่งเป็นบิดาได้จากโลกไปด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ในวัยเพียง 60 ปี หลังจากนั้น เขาและครอบครัวก็ต้องย้ายออกจากวังปารุสก์ และมาอาศัยอยู่ในบ้านริมคลองเขตบางซื่อ โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและหนึ่งในสหายก่อการ เป็นทั้งผู้ยึดบ้านเดิมและผู้จัดหาบ้านใหม่ให้
เขาจบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลด้วยคะแนนที่ไม่สวยงามเท่าไรนัก ซึ่งเขาเล่าว่าเป็นเพราะบรรยากาศการเรียนไม่อำนวย ห้องเรียนมีนักเรียนถึง 75 คน และกลุ่มเพื่อนล้วนมีเรื่องเล่าในห้องเรียนไม่รู้จบ บวกกับกระแสวัฒนธรรมอเมริกันที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลพร้อมๆ กับการเข้ามาตั้งฐานทัพของกองทัพอเมริกัน พุทธินาถเริ่มหลงไหลในเอลวิส เพลสลีย์ (Elvis Presley) สุรา และซ่อง มากกว่าการเรียนหนังสือในห้องเรียน
อย่างไรก็ตาม อาจเพราะเลือดพ่อเข้มข้น หรือความหลงใหลในรถยานเกราะและหมวกเบเรต์ เขาตัดสินใจเลือกสมัครสอบเป็นนายสิบ เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนวัดเบญจมบพิตรในระดับ มศ.8
ขณะที่เขากำลังจะสอบวัดสมรรถภาพร่างกายเพื่อเข้าโรงเรียนนายสิบ พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัน (ยศในเวลานั้น) ได้เรียกเขาขึ้นไปพบและถามเขาว่า
“คุณเป็นอะไรกับพระยาพหลฯ”
“เป็นลูกครับ” พุทธินาถตอบด้วยกริยาสำรวม
“แล้วเป็นอะไรกับท่านผู้หญิงบุญหลง” นายทหารชั้นผู้ใหญ่ถามต่อ
“เป็นแม่ครับ” เขายังคงสำรวมและมองต่ำ
“คุณชาย!”
หลังจากนั้น พลจัตวาชาติชายก็ถามเขาต่อว่า เพราะอะไรถึงมาเข้าโรงเรียนนายสิบ แทนที่จะเข้าโรงเรียนนายร้อย เขาให้เหตุผลอย่างเจียมตนว่า เขาชอบหมวกเบเรต์และไม่ต้องการเข้าโรงเรียนนายร้อย เพราะถึงแม้จะได้รับการช่วยเหลือให้สามารถเข้าได้ เขาก็คงไม่สามารถเรียนให้จบได้
และชีวิตในรั้วของกองทัพก็เริ่มต้นนับแต่นั้น
ราวปี พ.ศ.2511 เขาถูกส่งไปประจำการที่เวียดนาม ในตำแหน่งพลขับประจำรถหุ้มเกราะเอพีซีเป็นเวลา 1 ปี เมื่อกลับมา ก็ถูกส่งไปในสมรภูมิที่อันตรายต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือครั้งที่ต้องรับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่อยู่ในป่า
โชคชะตาเล่นตลกอีกครั้งในช่วงต้นปี พ.ศ.2529 พุทธินาถถูกกล่าวหาว่ากระทำการ ‘ซ่อมสุมกำลังปฏิวัติ’ ซึ่งเขาได้แต่ก้มหน้ารับข้อกล่าวหาทั้งที่ไม่มีมูลความจริงแต่ใด ก่อนที่ในช่วงปลายปีเดียวกัน เขาจะตัดสินใจลาออกจากกองทัพ และสมัครเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก จบชีวิตราชการที่ยศ ‘พันตรี’ ด้วยวัยเพียง 47 ปี
ทุกวันนี้ ลุงแมวในวัย 81 ปี จะขี่จักรยานไปหน้าปากซอย ก่อนโหนรถเมล์จากคลอง 4 เดินทางเข้าไปพบหมออายุรกรรมที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และหมอกระดูกและข้อที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกอยู่เสมอ
“พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัณ พูดกับนายสิบรุ่นพี่ให้เราได้ยินว่า มึงรู้ไหมที่เขาให้เกิดมา เขาให้เกิดมาสู้ ไม่ใช่เกิดมามีความสุข ชีวิตทุกชีวิตต้องสู้ทั้งนั้น ปัญหามากน้อยใหญ่เล็ก มึงก็ใช้ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถมึงฟันฝ่าไปให้ได้สิวะ เรื่องไหนยากใช้เวลานาน เรื่องไหนง่ายใช้เวลาน้อย สู้ไป เรื่องนี้เสร็จเรื่องใหม่ก็เข้ามา ทั้งชีวิตมันเกิดมาสู้ มึงนอนในโลงเมื่อไร นั่นแหละ ไม่ต้องสู้อีกแล้ว” ลุงแมวพูดถึงนายทหารรุ่นพี่ที่เคารพรัก และข้อคิดที่เขายึดไว้ประจำใจอยู่เสมอมาตั้งแต่สมัยหนุ่มแน่น
“ชีวิตลุงแมวผ่านอะไรมาเยอะ แต่ก็ช่าง…มัน ชะตาชีวิตเขากำหนดมาให้เราเป็นแบบนี้” เขาทิ้งท้ายเรื่องราวของตัวเอง
กองทัพที่ตกต่ำ
“ตอนเป็นผู้บังคับหมู่รถถัง มีหน้าที่ต้องทำให้กำลังพลของกองร้อยมีคุณภาพและพร้อมรบตลอดเวลา ชีวิตผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่ในมือเรา ทุกคนมีพ่อ-แม่ ลูก-เมีย เราจะดูแลชีวิตเขาอย่างไรให้ครอบครัวเขาไว้ใจว่า อยู่กับเราแล้วเขาปลอดภัย”
ลุงแมวระบายถึงความแตกต่างของกองทัพในสมัยเขาประจำการ และในปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 ซึ่งใช้งบประมาณไปหลายร้อยล้านบาท แต่ท้ายสุดอุปกรณ์ดังกล่าวกลับใช้ไม่ได้จริง และผลคำตัดสินของศาลในคดีความดังกล่าวกลับเป็นไปอย่างน่าฉงนสงสัย เพราะแม้จะมีการตัดสินให้จำคุกผู้ผลิตและผู้ขาย แต่กลับไม่มีการพิจารณาคดีกับผู้นำกองทัพแม้แต่คนเดียว
พุทธินาถกล่าวว่า การตัดสินใจซื้อเครื่องดังกล่าว ไม่ต่างกับการฆ่าทหารใต้บังคับบัญชาโดยเจตนา
สำหรับเขาแล้ว เมื่อประเทศเป็นบ้านที่ประชาชน อันคล้ายครอบครัวใหญ่อาศัยอยู่ กองทัพก็ต้องเสมือนรั้วของบ้าน ดังนั้น รั้วต้องถูกปักขึงไว้ให้พร้อมปกป้องผู้ที่อยู่ภายในตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งของกองทัพ ต้องเริ่มต้นจากความเข้มแข็งของประชาชน ประชาชนต้องกินดีอยู่ดี มีเงินใช้สอยพอไม้พอมือเสียก่อน เพื่อให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษี และถ้าเหลือพอใช้จึงค่อยนำไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ใช่สักแต่ว่าจะซื้อ แต่กลับไม่มีบุคลากรที่ใช้เป็น
เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า เห็นด้วยที่ยังให้มีการเกณฑ์ทหารภาคบังคับ การมีทหารรับใช้ไม่ใช่เรื่องที่ผิดในสายตาของเขา แต่ควรทำอย่างไรมากกว่าที่การทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะในระบบกองทัพต้องมีการแบ่งระดับชั้นการบังคับบัญชา ต้องมีผู้บังคับ-ผู้ใต้บังคับบัญชา เปรียบกับนิ้วมือทั้งห้าของคนเรา ถ้าหากเท่ากันหมดจะใช้งานได้อย่างไร มันต้องมีความแตกต่างและแต่ละคนต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดี เพื่อให้เกิดทีมเวิร์ก
“ถ้าคุณพ่อได้มาเห็นกองทัพตอนนี้ คุณพ่อฆ่าตัวตายแล้ว ไม่อยู่หรอก” เขาทิ้งท้าย
สังคม-บ้านเมือง ในสายตา 81 ปี
พุทธินาถเล่าย้อนไปถึงช่วงที่สังคมไทยเผชิญกับภัยคอมมิวนิสต์ราวปี พ.ศ.2510-2525 ว่า ในสมัยนั้นคนชาวบ้านเข้าป่าเพราะบ้านเมืองมีความไม่เป็นธรรม คนตัวเล็กตัวน้อยถูกเอารัดเอาเปรียบ พวกเขาจึงต้องหนีเข้าป่าไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์
อย่างชาวบ้านบนภูเขาที่ต้องการนำข้าวโพดไปขายให้พ่อค้า ก็ถูกกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้หันไปค้าขายและติดต่อกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ต่อมาพ่อค้าก็นำไปบอกเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และกลายเป็นเสียว่าชาวบ้านกลายเป็นคอมมิวนิสต์เสียแบบนั้น
วันดีคืนดีนายอำเภอเข้าไปเยี่ยมหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ต้องล้มปศุสัตว์ของตัวเองเพื่อเลี้ยงต้อนรับ ซ้ำร้าย บางครั้งยังพรากลูกพรากเมียไปจากอ้อมอกของครอบครัวเสียอีก และในเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจะให้ชาวบ้านในสมัยนั้นทำอย่างไร อยู่ในเมืองก็ถูกกดขี่ สู้หนีเข้าป่าเป็นไทแก่ตัวไม่ดีกว่าหรือ
“ลุงแมวโชคดีที่เกิดในยุคบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข และอยู่เรื่อยมาถึงยุคที่มันย่ำแย่ ก็เลยเปรียบเทียบได้ว่า 2 ยุคแตกต่างกันอย่างไร” เขากล่าวเสริมว่า ยุคที่บ้านเมืองมีอารยะและประชาธิปไตยงอกงามที่สุดคือช่วงปี พ.ศ.2476-2490 แต่หลังจากนั้น ทุกอย่างก็ค่อยๆ แย่ลง
“สมัยนี้โกหกทั้งนั้น มีอะไรใครเขาพูดจริงบ้าง สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ โทษนะ จะสร้างไปเพื่ออะไร ในเมื่อจิตใจเสื่อมทรามเหลือเกิน พระพุทธรูปช่วยอะไรได้ คนไม่มีที่อยู่ แต่มีที่ให้พระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ เอาไปปลูกบ้านให้คนจนได้ตั้งเท่าไร ทำไมไม่คิดกันบ้าง” หางเสียงเขาตวัดด้วยอารมณ์ขุ่นมัว
มรดกคณะราษฎร
เมื่อครั้งพุทธินาถอายุได้ 35 ปี และกำลังประจำการอยู่ที่กองพันทหารม้าที่ 11 กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ฯ (ม.4 พัน 11 รอ.) จังหวัดสระบุรี ได้เข้ามาขอยืมเงินจากท่านผู้หญิงบุญหลงที่กรุงเทพฯ เพื่อไปซื้อที่ดินและปลูกบ้านให้ภรรยาและลูกในจังหวัดสระบุรี คุณแม่ได้เห็นดังนั้น จึงยอมรับว่าลูกชายมีความคิดอ่านเติบโตขึ้น จึงนำเอกสารฉบับหนึ่งมาให้อ่าน
เอกสารดังกล่าวระบุถึงการโต้ตอบจดหมายระหว่างพระยาพหลฯ กับบุคคลระดับสูง ว่าด้วยข้อกล่าวหาต่อเค้าโครงเศรษฐกิจที่ปรีดี พนมยงค์ เขียนขึ้นและถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนถูกกดดันให้ต้องเดินทางออกนอกประเทศ แต่เมื่อพระยาพหลฯ เชิญนักกฎหมายต่างชาติมาร่วมพิจารณา ผลออกมาว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง บิดาของพุทธินาถจึงเรียกปรีดีกลับประเทศ ก่อนจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตามมา
เมื่อลุงแมวอ่านจบ ท่านผุ้หญิงบุญหลงก็เผาเอกสารฉบับดังกล่าวทิ้ง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับลูกชายของตัวเอง และที่ให้อ่านก็เพราะอยากให้ลูกชายรู้ว่าสิ่งใดจริง-เท็จ เพื่อให้ไม่ถูกใครหลอกได้ในอนาคต
เอกสารดังกล่าวเหลือเพียงเถ้าถุลี แต่เนื้อหาภายในยังคงติดตรึงอยู่ในความคิดและสติปัญญาของบุตรชายแห่งผู้ก่อการ
พุทธินาถยังเล่าอีกว่า คณะราษฎรตระหนักดีว่าประชาธิปไตยจำเป็นต้องมาพร้อมการศึกษาของราษฎร ดังนั้น เมื่อปรีดีกลับมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีจึงได้กู้เงินจากกระทรวงการคลังเป็นจำนวน 380,000 บาท เพื่อซื่อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์ และจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขึ้นในปี พ.ศ.2477 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นตลาดวิชา ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนใดๆ ทั้งสิ้น
แต่เมื่อมีหนี้ต้องจ่ายให้แก่กระทรวงการคลัง จึงหารายได้โดยการให้พนักงานชวเลขเข้าไปนั่งจดเลคเชอร์ในห้องเรียน ก่อนตีพิมพ์ขายเป็นตำราวิชาการ ร่วมกับเก็บเงินจากค่าสมัครสอบต่างๆ จึงจ่ายหนี้ทั้งหมดคืนให้กระทรวงการคลังได้ในที่สุด
นอกจากนี้ ปรีดียังได้แก้สัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเสียเปรียบอีกหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือข้อตกลงสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับ 12 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน
เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงตรงนี้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามเขาว่า รู้สึกอย่างไรกับการที่ หมุดคณะราษฎร ตลอดจนรูปปั้นของคณะราษฎรหลายท่านถูกรื้อถอน เขาตอบว่า
“ไม่รู้สึกอะไรหรอก แต่ต้องถามทุกคนที่เป็นคนไทยว่ารู้สึกอย่างไร หรือด้านจนไม่รู้สึกอะไรแล้ว”
ไม้ใกล้ฝั่ง – ความหวังถึงสังคมและชาติบ้านเมือง
“ถ้าเกิดมีการชุมนุมหรือมีเหตุการณ์อะไรในเร็วๆ นี้ คิดว่าจะออกไปร่วมด้วยหรือไม่” ผมถามขึ้นด้วยความสงสัย หลังจากพูดคุยกันไปร่วม 2 ชั่วโมง
“ลุงแมวอายุ 81 ปีแล้ว จะให้ไป เย้วๆ ได้อย่างไร แต่จะคอยอยู่ข้างหลัง ใครอยากมาคุยหรือปรึกษาก็มาได้ เพราะข้างหน้ามันเป็นเหว มีแต่มารร้ายทั้งนั้น ถ้าไม่รู้จักข้างหลังเป็นอย่างดี เดินไปข้างหน้าก็ถูกมารร้ายกระทืบตาย เราต้องรู้หลังเป็นอย่างดี เพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างสบาย”
เขาอยากฝากให้ตระหนักว่าต้นไม้แห่งประชาธิปไตยนี้ คณะราษฎรยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อปลูกขึ้น ก่อนมอบให้ประชาชนทุกคนซึ่งเป็นเจ้าของร่วมกัน หวังให้คอยดูแล รดน้ำ พรวนดิน ฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อที่วันหนึ่งมันจะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปให้กว้างไกล
ในสายตาของพุทธินาถ มองว่าหากเกิดการต่อสู้ในระดับโครงสร้างสังคมอีกครั้ง จะต้องเกิดความรุนแรงอย่างแน่นอน เพราะทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะต้องงัดเล่ห์กลมนต์คาถาออกมาอย่างเต็มที่ และความพ่ายแพ้น่าจะต้องเท่ากับการสูญพันธุ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นอกจากนี้ เขายังมองไม่เห็นสัญญาณที่บอกว่าจะมีการประนีประนอมเกิดขึ้นใดๆ ได้เลย เพราะอย่างน้อยที่สุด การอุ้มฆ่าก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ แม้กระทั่ง รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ก็ยังไม่แน่ว่าจะปลอดภัยไปได้นานแค่ไหน
บุตรชายของพระยาพหลฯ วาดฝันว่า วันใดที่ประเทศชาติกลายเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ต้องจัดให้มีศาลของประชาชนเกิดขึ้น และต้องนำคดีความการทุจริต รวมถึงการใช้อำนาจโดยมิชอบทั้งหมดกลับมาตัดสินกันใหม่ทั้งหมด
ก่อนที่เราจะกดปุ่มหยุดอัดเสียง เขาทิ้งท้ายไว้ประโยคหนึ่งว่า
“ต้นไม้ประชาธิปไตยวันนี้โดนแมลงชอนไช ซึ่งมันขึ้นอยู่กับเจ้าของต้นไม้ว่าจะจัดการดูแลต้นไม้อย่างไร ถ้าเกิดกลัวตาย ทั้งที่อย่างไรก็ต้องตาย ก็ช่างมัน แต่ถ้าเผื่อบอกตัวเองว่าต้องทำเพื่อลูกหลาน ถ้าจะตายขอฝากชื่อไว้ในแผ่นดิน ก็เอา”