เมื่อปี ค.ศ. 2024 มาถึง ‘เอกสารปรีดี’ หรือ ‘Dossier de Pridi Panomyong’ ที่จัดเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุการทูต (Les archives diplomatiques) ของประเทศฝรั่งเศส ก็ทำให้ชีวิตของ ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง
ถ้าย้อนกลับไปดูเส้นทางชีวิต ปรีดี ผู้เป็นทั้งหัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส ต้องใช้เวลาลี้ภัยในต่างแดนโดยไม่ได้กลับไทยถึง 34 ปี (ไม่นับการลี้ภัยที่ได้กลับไทยก่อนหน้านั้น) หรือคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของช่วงชีวิต
การลี้ภัยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 2490 ทำให้ปรีดีต้องหลบหนีออกมายังสิงคโปร์ เพื่อไปประเทศจีน ก่อนจะกลับมาก่อ ‘กบฏวังหลวง’ เมื่อปี 2492 แต่ไม่สำเร็จ จึงต้องลี้ภัยกลับไปจีน เขาอยู่ที่นั่นยาวถึง 26 ปี ก่อนจะย้ายไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 2513 จนกระทั่งถึงแก่มรณกรรมในปี 2526
The MATTER ชวนย้อนดูชีวิตไกลบ้านที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ของผู้ลี้ภัยชื่อ ปรีดี พนมยงค์
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นเพียงการสรุปรวบยอดเส้นทางการลี้ภัยของ ปรีดี พนมยงค์ ใครที่สนใจ เราอยากเชิญชวนให้อ่านถ้อยคำของเขาเองในบันทึกอัตชีวประวัติ ที่: pridi.or.th
2490-2492: รัฐประหาร 2490 ถึงกบฏวังหลวง
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหาร นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) ที่ปรีดีเรียกในหนังสือ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน ว่าเป็น “พวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด และพวกคลั่งชาติ” ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นขั้วอำนาจของปรีดี นับเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้รัฐบุรุษอาวุโสต้องลี้ภัยในต่างแดน
ปรีดีเล่าว่า เขาหลบหนีออกไปได้อย่างหวุดหวิด และไปพักที่ฐานทัพเรือสัตหีบอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะเดินทางไปสิงคโปร์ เพื่อรอจังหวะกลับมาไทย
อย่างไรก็ดี ปลายเดือนพฤษภาคม 2491 ปรีดีก็ได้เดินทางออกจากสิงคโปร์ไปฮ่องกง ต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ โดยวางแผนว่าจะเดินทางผ่านซานฟรานซิสโกเพื่อไปลี้ภัยที่เม็กซิโก แต่ปรีดีเล่าว่า ด้วยการขัดขวางของรองกงสุลสหรัฐฯ ประจำเซี่ยงไฮ้ ที่ชื่อ นอร์แมน ฮันนาห์ (Norman Hannah) ซึ่งเข้ามาขีดฆ่าวีซ่าอเมริกันโดยพลการที่สนามบินเซี่ยงไฮ้ จึงทำให้เขาไม่สามารถเดินทางต่อได้
“เมื่อเจียงไคเช็กได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สนามบินเซี่ยงไฮ้แล้ว ก็ได้แสดงความปรารถนาจะให้ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในจีน โดยยืนยันกับข้าพเจ้าว่า ไม่เคยลืมคุณูปการของข้าพเจ้าที่มีต่อสัมพันธมิตรระหว่างสงคราม และเขาจะไม่ส่งข้าพเจ้าข้ามแดนกลับไป…” ปรีดีเขียนเล่า
จนกระทั่งปี 2492 ปรีดีและพวกได้เช่าเรือขนาด 20 ตัน เพื่อออกจากจีน และลักลอบเข้าไทยอีกครั้ง ไปก่อการยึดอำนาจ ที่ต่อมาจะเรียกกันว่า ‘กบฏวังหลวง’
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ 2492 โดยฝ่ายของปรีดีปักหลักอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง แต่กองกำลังของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำโดย พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้าปราบปรามอย่างรวดเร็วเด็ดขาด รวมถึงกำลังสนับสนุนฝ่ายปรีดีจากทหารเรือถูกสกัดกั้นโดยฝ่ายรัฐบาล จึงนำมาสู่ความพ่ายแพ้ของฝ่ายปรีดี
2492-2513: ลี้ภัย 21 ปีในจีน
หลังกบฏวังหลวงล้มเหลว ปรีดีได้ไปหลบซ่อนอยู่ในบ้านพักที่เขาเรียกว่า “บ้านของผู้รักความเป็นธรรมคนหนึ่ง” เป็นเวลาประมาณ 5 เดือน พอตระหนักได้ว่าจะไม่มีทางก่อการแบบเดิมได้อีก จึงตัดสินใจเดินทางออกจากไทย ผ่านสิงคโปร์ ไปกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังขึ้นสู่อำนาจพอดี
ด้วยการจัดแจงส่วนหนึ่งของ พูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของปรีดี เขาลงเรือประมงลำเล็กๆ ออกจากไทยในวันที่ 6 สิงหาคม 2492 ระหว่างทางก็อำพรางพิรุธด้วยการทำเป็นซื้อปลาจากชาวประมง และมาถึงสิงคโปร์ในวันต่อมา จนกระทั่งหลังจากนั้นไม่กี่วัน ปรีดีลงเรือเดินทางต่อไปยังฮ่องกง ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนชาวจีนที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์
วันที่ 12 กันยายน 2492 ปรีดีและเพื่อน 4 คน จึงลงเรือเดินทะเลที่เขาบอกว่ามีระวางขับน้ำ 3,000 ตัน ของพ่อค้าชาวจีน แต่จดทะเบียนเป็นเรืออังกฤษ เดินทางต่อไปยังประเทศจีน ซึ่งมาถึงท่าเรือชิงเต่าในเช้าวันที่ 18 กันยายน 2492
ปรีดีพักอยู่ที่เมืองชิงเต่า 3 วัน ก่อนจะเดินทางโดยรถไฟต่อไปยังเมืองจี่หนาน ซึ่งก็พักอยู่เป็นเวลา 2 วัน และเดินทางโดยรถไฟต่อไปยังกรุงปักกิ่ง ตลอดทั้งทริปในจีนแผ่นดินใหญ่ ประเทศที่ปรีดีเรียกว่า “สาธารณรัฐราษฎรจีน” เขาก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีโดยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ตั้งแต่ปี 2496 หลังจากที่พูนศุขได้รับการปล่อยตัวจากตำรวจสันติบาล เธอและลูกๆ ก็ได้เดินทางไปยังกรุงปารีส เพื่อเตรียมเดินทางมาประเทศจีนเพื่ออาศัยอยู่กับปรีดี จนกระทั่งปี 2498 เขาก็ได้ขอรัฐบาลจีนย้ายไปอยู่กวางโจว โดยมีนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล (Zhou Enlai) ดำเนินการให้ และได้ย้ายไปในเดือนมิถุนายน 2499
ปรีดีใช้เวลาลี้ภัยในจีนยาวนานถึง 21 ปี ตลอดระยะเวลาก็ได้พบปะกับบุคคลสำคัญของจีนเป็นจำนวนมาก เช่น เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) รวมถึงได้เป็นชาวต่างชาติไม่กี่คนที่ได้พยานเห็นการกสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2492 (ค.ศ. 1949) ด้วย
2513-2526: บั้นปลายชีวิต กับการลี้ภัย 13 ปีที่ฝรั่งเศส
เดือนพฤศจิกายน 2513 ปรีดีและครอบครัวเดินทางมาถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝ่ายจีนและฝรั่งเศสจำนวนหนึ่ง เช่น โจว เอินไหล ที่ดำเนินการออก “เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างชาติ” ให้ หรือฝ่ายฝรั่งเศส คือ กีโยม จอร์จ ปีโกต์ (Guillaume Georges-Picot) ที่ดำเนินการกับทางฝั่งกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส
ดิน บัวแดง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนในบทความ “ว่าด้วย ‘เอกสารปรีดี’ ที่ชานกรุงปารีส: การลี้ภัยของปรีดีจากจีนสู่ฝรั่งเศส” ระบุถึง ‘จุดเปลี่ยน’ 3 ประการ ที่ทำให้ปรีดีตัดสินใจออกจากจีนไปฝรั่งเศส ว่า
ประการแรก ช่วงทศวรรษ 1960 ฝรั่งเศสเริ่มถอยห่างจากความเป็นจักรวรรดินิยม มีนโยบายการต่างประเทศที่เริ่มเป็นอิสระ เริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐฯ แต่เป็นที่ถูกใจของปรีดี เพราะพยายามหาแนวทางที่อยู่ตรงกลางระหว่างสหรัฐฯ กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาตลอด
ประการที่สอง ในปี 2508 หรือ ค.ศ. 1965 ปรีดีเชื่อว่าจะกลับไทยได้ยากขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มทิ้งระเบิดในเวียดนามโดยมีไทยเป็นพันธมิตร แนวร่วมในไทยร่อยหรอและรัฐบาลเต็มไปด้วยศัตรูทางการเมือง ขณะที่รัฐบาลจีนเริ่มหนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มากขึ้น ในบริบทของสงครามเวียดนาม ปรีดีจึงแสวงหาความเป็นอิสระจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) มากขึ้น
ประการที่สาม บรรยากาศการเมืองจีนเต็มไปด้วยความวุ่นวายและตึงเครียด กล่าวคือ เป็นเพราะการ ‘ก้าวกระโดดไกล’ (Great Leap Forward) ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2501 หรือ ค.ศ. 1958 และการปฏิบัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2509 หรือ ค.ศ. 1966
ที่ฝรั่งเศส ปรีดีพำนักกับครอบครัวอยู่ที่ ‘บ้านอองโตนี’ ในชานเมืองทางตอนใต้ของกรุงปารีส เป็นระยะเวลา 13 ปี ก่อนจะถึงแก่มรณกรรมที่บ้านหลังดังกล่าว ด้วยอาการหัวใจวาย ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526
“C’est une belle mort.” (“เป็นการตายที่งดงาม”) แพทย์ประจำตัว กล่าวถึงการสิ้นใจของปรีดีกับ สุดา พนมยงค์ ลูกสาว ภายหลังยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัย
หลังจาก 34 ปีที่ใช้ชีวิตในต่างแดน อัฐิธาตุของปรีดีก็เดินทางถึงสนามบินดอนเมือง ประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2529 ปิดตำนานการลี้ภัยของรัฐบุรุษอาวุโส
“ถึงแม้วันนี้คุณพ่อจะจากไปแล้ว แต่มรดกที่คุณพ่อทิ้งไว้ให้ลูกๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง หากแต่เป็นอุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” ดุษฎี พนมยงค์ ผู้เป็นลูกสาว ได้กล่าวเอาไว้