ตอนอยู่ในห้องเรียน เราได้เรียนเรื่องของคณะราษฎรกันมากน้อยแค่ไหนนะ?
ผ่านมาแล้ว 88 ปี นับจากที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปฏิวัติในครั้งนั้น ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญของประเทศ ที่บางคนอาจจะรู้จักเหตุการณ์นี้เป็นอย่างดี บางคนก็อาจรู้เรื่องราวคร่าวๆ ขณะที่ บางคนก็อาจจะเคยได้ยินผ่านๆ เท่านั้น
The MATTER ขอพาทุกคนมาเปิดตำราเรียนประวัติศาสตร์ ผ่านหนังสือเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ทั้ง 5 เล่ม เพื่อสำรวจว่าเด็กไทยเรียนรู้เรื่องราวของคณะราษฎรกันยังไงบ้าง?
[หมายเหตุ: รวบรวมข้อมูลจากหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทยชั้น ม.4-6 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551]
พูดถึงคณะราษฎรคนไหนบ้าง และพูดถึงกี่ครั้ง?
จากทั้ง 5 เล่ม พบว่า สมาชิกคณะราษฎรที่ถูกพูดถึงในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทยของนักเรียน ได้แก่
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์): 35 ครั้ง
พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม: 15 ครั้ง
พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา: 10 ครั้ง
หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์): 10 ครั้ง
พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน): 3 ครั้ง
พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ): 3 ครั้ง
พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูกลิ่น): 2 ครั้ง
พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก (ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี): 2 ครั้ง
น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน): 2 ครั้ง
น.ต.หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย): 2 ครั้ง
หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี): 2 ครั้ง
ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี: 3 ครั้ง
ตั้ว ลพานุกรม: 2 ครั้ง
แนบ พหลโยธิน: 2 ครั้ง
จรูญ สืบแสง: 1 ครั้ง
คณะราษฎรถูกพูดถึงว่าอะไรบ้าง?
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์): หัวหน้าฝ่ายพลเรือน ประธานและหัวหน้าคณะราษฎรชั่วคราว นำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวทูลเกล้าถวาย ร.7
พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม: ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสมทหารในกรุงเทพฯ ในการปราบกบฏ เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา: หัวหน้าคณะราษฎร เป็นผู้คุมเสียงข้างมากอยู่ในคณะรัฐมนตรี
หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์): เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน): ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ): ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูกลิ่น): ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก (ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี): ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน): ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
หลวงโกวิทอภัยวงค์ (ควง อภัยวงศ์): ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
น.ต.หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย): ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี): ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี: ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
ตั้ว ลพานุกรม: ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
จรูญ สืบแสง: ผู้ก่อการคณะราษฎรที่สำคัญ
นอกจากนี้ แต่ละสำนักพิมพ์ก็เล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งได้ดังนี้
สำนักพิมพ์อักษร: “พระองค์ยังได้ทรงมีพระราชดำริให้มีการร่างรัฐธรรมนูญสำหรับใช้ในการปกครองประเทศ แต่ก็ยังมิได้ประกาศใช้ เพราะสมาชิกในอภิรัฐมนตรีสภาบางส่วนเห็นว่าสถานการณ์ในขณะนั้นยังไม่ถึงเวลาที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จนกระทั่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ โดยคณะราษฎรในที่สุด”
สำนักพิมพ์แม็คเอ็ดดูเคชั่น: “ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ: “เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นช่วงเวลาที่แนวคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดกำลังแพร่หลายในกลุ่มปัญญาชน และขุนนางข้าราชการ รัชกาลที่ ๗ ต้องเผชิญปัญหากดดันทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และความแตกแยกไม่พอใจในหมู่เจ้านายข้าราชการรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก ปัจจัยต่าง ๆ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ รัฐกาลที่ ๗ ทรงประกาศสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗”
สำนักพิมพ์เอมพันธ์: “พระองค์ทรงเห็นว่าการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในที่ต่างๆ จะเป็นสิ่งที่สอนให้ประชาชนรู้จักสิทธิในการเลือกตั้ง เป็นการให้ความรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อประชาชนมีความรู้ทางการเมืองเพิ่มขึ้นแล้ว พระองค์ก็จะพระราชทานอำนาจการปกครองคืนแก่ประชาชนตามลำดับ จนเกิดเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยในที่สุด แต่เนื่องจากแนวพระราชดำริของพระองค์ยังเป็นเรื่องใหม่จึงประสบปัญหามากมายและยังไม่ทันที่จะประสบความสำเร็จก็ถูกคณะราษฎรเข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน”
กระทรวงศึกษาธิการ: “เช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ คณะราษฎร ประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน .. ได้นำกำลังทหารและพลเรือนเข้ายืดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ โดยเข้าควบคุมเจ้านายและขุนนางชั้นสูงมิให้คิดต่อต้าน จากนั้นจึงกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสด็จนิวัติพระนครทรงดำรงพระประมุขของชาติภายใต้รัฐธรรมนูญ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวการยึดอำนาจในพระนครแล้วพระองค์ ทรงเชิญเจ้านายชั้นสูงและแม่ทัพนายกองซึ่งตามเสด็จมายังพระราชวังไกลกังวลเข้าร่วมประชุมปรึกษา หารือว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป ที่ประชุมเสนอความเห็นต่างๆ กันไป บางท่านเสนอให้ใช้กำลัง ทหารในต่างจังหวัด ยึดอำนาจคืน บางท่านเสนอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในที่สุด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยยอมรับข้อเสนอของคณะราษฎร เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขและความเรียบร้อยของประเทศ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติถึงพระนครโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งพิเศษเมื่อตอนดึกของคืนวันที่ ๒๕ มิถุนายน ในตอนสายของวันที่ ๒๖ มิถุนายน คณะราษฎรได้ส่งผู้แทนเข้าเฝ้า ณ วังศุโขทัย พร้อมกับทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว วันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๒๔ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรมนูญฉบับชั่วคราวพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย เรียกชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕”
ต่อมาในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรและทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย
โดยในหนังสือเรียนเล่มนี้ ยังมีการตีพิมพ์ข้อความในจดหมายที่ พ.อ.พระยาพหลพยุหเสนา ส่งถึง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และจดหมายตอบกลับจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงคณะราษฎรด้วย
พูดถึงกี่ตัวอักษร?
เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475 ในหนังสือเรียน หากเราแบ่งตามสำนักพิมพ์แล้ว จะจำแนกได้ดังนี้
กระทรวงศึกษาธิการ: 8,929 คำ
สำนักพิมพ์เอมพันธ์: 2,322 คำ
สำนักพิมพ์อักษร: 2,087 คำ
สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ: 143 คำ
สำนักพิมพ์แม็คเอ็ดดูเคชั่น: 20 คำ
สรุปแล้ว จากทั้งหมดที่รวบรวมมา พบว่า เล่มที่เล่าถึงเรื่องราวของคณะราษฎรเยอะที่สุด คือ หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนเล่มที่เล่าถึงน้อยที่สุด คือ หนังสือเรียนของแม็คเอ็ดดูเคชั่น